พึ่งเปิดตัวในบ้านเราและเริ่มจำหน่ายไปได้ไม่กี่วันนี้เอง สำหรับ Motorola One Vision มือถือสเปคสุดคุ้มในราคาไม่ถึงหมื่นบาท แต่มาพร้อมกับฟีเจอร์เด็ดๆ มากมาย ทั้งหน้าจออัตราส่วน 21:9, กล้องหลังคู่ที่ใช้เซ็นเซอร์ความละเอียดสูง 48MP พร้อมโหมดถ่ายภาพกลางคืน แถมยังลื่นปรื๊ดไม่มีสะดุดเพราะเป็นมือถือในโครงการ Android One อีกด้วย ส่วนการใช้งานจริงๆ จะเป็นยังไงบ้างนั้น.. มาดูกันได้เลยจ้า

มีอะไรอยู่ในกล่อง?

แน่นอนว่าแกะกล่องออกมาแล้วก็จะเจอกับเจ้า Motorola One Vision นอนอยู่ (ถ้าเปิดมาแล้วเจอมือถือรุ่นอื่นให้รีบเอาไปเปลี่ยน) โดยเครื่องที่เราได้มาทดสอบในครั้งนี้ ด้านหลังเครื่องจะเป็นสีทองแดง Bronze Gradient เงาวับเป็นประกายเมื่อกระทบแสงในทิศทางต่างๆ ที่ส่วนตัวแล้วคิดว่ามันดูสวยงามหรูหราซู่ซ่าใช้ได้จนไม่อยากจะใส่เคสเลยล่ะ

ตรงมุมซ้ายบนมีกล้องหลังคู่แนวตั้งที่นูนออกมาเล็กน้อย ถัดลงมาเป็นแฟลช LED ลงมาอีกนิดนึงบริเวณกลางเครื่องเป็นเซ็นเซอร์สแกนนิ้วมือวงกลมที่มีโลโก้ Motorola ติดอยู่ ที่ปัจจุบันน่าจะเป็นเพียงเจ้าเดียวที่ซ่อนเซ็นเซอร์เอาไว้ใต้โลโก้แบบนี้ได้ ดูแล้วไม่รกด้านหลังที่สวยงาม นอกจากนี้ฝาหลังยังใช้กระจกแบบ Corning Gorilla Glass 4D ที่สามารถป้องกันรอยขีดข่วนได้ในระดับนึง และยังป้องกันคราบน้ำเกาะได้อีกด้วยนะ

พลิกกลับมาดูที่หน้าจอก็จะสังเกตได้ว่ามันดูยาวผิดปกติมากกว่ามือถือทั่วไปในตลาด เนื่องจาก Motorola One Vision มีสัดส่วนหน้าจอแบบ 21:9 หรือที่เรียกว่า CinematicVision ซึ่งเป็นสัดส่วนแบบที่ภาพยนตร์หลายๆ เรื่องใช้กัน (ในตอนนี้มีมือถืออยู่ไม่กี่รุ่นที่ใช้หน้าจอแบบ 21:9 ก็คือ Sony Xperia 1, 10, 10 Plus  และรุ่นนี้แหละ)

Motorola One Vision เป็นมือถือที่ไม่มี Notch แต่จะใช้การเจาะรูบนหน้าจอมุมซ้ายบนสำหรับวางกล้องเซลฟี่ ซึ่งเราได้เห็นลักษณะการดีไซน์แบบนี้มาแล้วบน Galaxy S10 นั่นเอง ซึ่งจนถึงตอนนี้แล้ว น่าจะมีเพียง Motorola นี่แหละที่นำเอาไปใช้ ซึ่งมันก็ดูๆ สวยงามและซ่อนได้ดีไปอีกแบบ แต่ติดอยู่นิดหน่อยว่ามันใหญ่ไปนิดนึง ไม่รู้ว่าเหลือพื้นที่รอบข้างของเลนส์ไว้ทำไมตั้งเยอะ อาจเป็นไปได้ว่าจับยัดเอาเซนเซอร์ต่างๆไปไว้รอบนั้นก็เป็นได้

ขอบเครื่องด้านบนมีรูหูฟัง 3.5 มม. อยู่ทางขวา ทางซ้ายเป็นรูไมค์, ขอบเครื่องด้านซ้ายมีช่องใส่ถาดซิมแบบ Hybrid ให้เลือกว่าจะใส่ 2 ซิม หรือ 1 ซิม + MicroSD card, ขอบเครื่องด้านขวามีปุ่มปรับเสียง และขอบเครื่องด้านล่างมีลำโพง 1 ตัว ไมค์ 1 ตัว พอร์ท USB-C 2.0

ส่วนของในกล่องก็มีให้มาแบบครบๆ ไม่ต้องซื้ออะไรเพิ่มเติมอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นฟิล์มกันรอยหน้าจอ, เคสพลาสติกแบบนิ่ม (แต่ดันเป็นสีขุ่นๆ เลยไม่ได้โชว์ฝาหลังงามๆ เลย), หูฟังแบบมีสาย, เข็มจิ้มถาดซิม และที่คุ้มสุดคืออแดปเตอร์ชาร์จไฟแบบ TurboPower 15W ที่ไม่ต้องไปหาซื้อเพิ่มเอาเอง

สเปค Motorola One Vision

  • หน้าจอขนาด 6.3 นิ้ว ความละเอียด FHD+ (2520 x 1080) อัตราส่วน 21:9 CinematicVision (432 ppi)
  • CPU : Exynos 9609
  • RAM : 4GB
  • ความจุ : 128GB (UFS) รองรับ MicroSD Card 512GB (Hybrid)
  • กล้องหลัง : เซ็นเซอร์ความละเอียด 48MP (f/1.7, OIS) + 5MP
  • กล้องหน้า : เซ็นเซอร์ความละเอียด 25MP (f/2.0)
  • การเชื่อมต่อ : Bluetooth 5.0, Wi-Fi ac, NFC, USB-C
  • รองรับ 2 นาโนซิม
  • สแกนนิ้วมือด้านหลังเครื่อง
  • มีรูหูฟัง 3.5 มม.
  • แบตเตอรี่ 3500 mAh รองรับระบบชาร์จไว TurboPower Fast Charging 15W
  • สีที่วางจำหน่าย : สีน้ำเงิน (Saphire Gradient) สีทองแดง (Bronze Gradient)
  • ระบบ Android 9 (Android One)

UI และการใช้งาน

Motorola One Vision จะใช้ UI แบบ Pure Android คือไม่มีการครอบด้วย UI ของแบรนด์ และไม่มี Bloatware ให้รกเครื่องอีก โดยมือถือรุ่นนี้มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Android 9.0 Pie เรียบร้อยแล้วด้วย ซึ่งหน้าตาของมันก็จะออกมาแบบเรียบง่ายเลยล่ะ แต่สำหรับคนที่ไม่เคยใช้ UI ของ Android 9 มาก่อนอาจจะงงๆ นิดหน่อยที่ปุ่ม Recent Apps มันหายไปแล้ว จะเหลือแค่ปุ่ม Back และปุ่ม Home ที่เป็นแถบสั้นๆ ด้านล่าง

ถ้าเราอยากจะไถดูแอปก่อนหน้านี้ ก็ทำได้ด้วยการรูดหน้าจอจากด้านล่างขึ้นมาแทน และถ้าอยากดูว่าในเครื่องเรามีแอปอะไรอยู่บ้างก็ให้รูดขึ้นอีกทีนึงเพื่อดูแอปทั้งหมดในเครื่อง (จะคล้ายๆ App Drawer แต่สร้าง Folder ไม่ได้)

รูดขึ้นมาทีนึงเพื่อดู Recent Apps > ถ้ารูดขึ้นอีกครั้งนึงจะโชว์แอปทั้งหมดในเครื่อง

Do more with Moto

ถึงแม้ว่า Motorola One Vision จะเป็นมือถือที่มี UI แบบ Pure Android แต่ก็ยังมีลูกเล่นในการใช้งาน Gesture หรือการใช้นิ้วลากบนหน้าจอเพื่อเปิดแอปหรือสั่งงานต่างๆ ให้มาด้วย อย่างเช่น ใช้ 3 นิ้วแตะบนหน้าจอแล้วลากลง จะเป็นการจับภาพหน้าจอ, เปลี่ยนให้แถบ Navigation Bar เหลือแค่ปุ่มเดียว แต่จะใช้การลากปุ่มเพื่อสั่งงานแทน (ลากไปซ้ายคือปุ่ม Back, ลากไปขวาคือกลับไปที่แอปก่อนหน้า, ลากขึ้นเพื่อเปิด Recent Apps), เขย่าเครื่อง 2 ครั้งเพื่อเปิดไฟฉาย และสุดท้ายคือบิดข้อมือ 2 ครั้งเพื่อเปิดกล้อง (หน้าจอปิดอยู่ก็เรียกกล้องขึ้นมาได้เลย)

ประสิทธิภาพเครื่อง และการเล่นเกม

การใช้งานทั่วๆ ไป ของ Motorola One Vision ไม่ว่าจะเป็นการเล่นโซเชียล เข้าเว็บ ดูวิดีโอจาก YouTube หรือแอปอื่นๆ ก็ไม่พบปัญหาอะไรทั้งสิ้น สามารถใช้งานได้ลื่นๆ สบายๆ ส่วนผลการทดสอบประสิทธิภาพจากแอป AnTuTu ก็ออกมาตามนี้

มาถึงส่วนสำคัญที่เป็นตัวชี้วัดสำหรับใครหลายๆ คนว่าควรจะซื้อรุ่นนี้ดีรึเปล่า ก็คือประสิทธิภาพในการเล่นเกมนั่นเอง ซึ่งจากการทดสอบเล่นเกมสุดฮิตอย่าง RoV ก็พบว่ามันสามารถปรับระดับกราฟฟิคได้สุดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเฟรมเรทสูง ภาพ HD ฯลฯ รวมถึงเปิดหมอกในเกมก็ได้ด้วย ส่วนเรื่องของเฟรมเรทก็ถือว่าทำได้ดีเพราะเวลานัวๆ กัน ยังไม่เคยเจอร่วงลงมาต่ำกว่า 53 – 54 fps เลย

สำหรับเกมกินสเปคอย่าง PUBG ถ้าหากปรับกราฟฟิคอยู่ที่ระดับ HD (เป็นระดับ Default ตั้งแต่เปิดเกมครั้งแรก) ก็สามารถเล่นได้ลื่นๆ ไม่มีปัญหา เช่นกัน

ทดสอบด้วยเกมกราฟฟิคโหดอื่นๆ อย่าง Full Metal Monsters และ Shadowgun Legends ก็เล่นได้ไม่มีปัญหาเลยล่ะ (ปรับกราฟฟิคระดับกลางนะ)

หน้าจอ CinematicVision อัตราส่วน 21:9

หน้าจอของ Motorola One Vision จะแปลกตากว่ามือถือรุ่นอื่นๆ ในตลาดเนื่องจากมันใช้อัตราส่วนแบบ 21:9 ทำให้หน้าจอยาวเป็นรีโมททีวีเลยล่ะ โดย Motorola เรียกหน้าจอแบบนี้ว่า CinematicVision คือเหมาะกับการดูภาพยนตร์เพราะจะไม่มีขอบดำด้านบน-ล่างนั่นเอง (แต่หนังบางเรื่องก็ไม่ได้ฉายในสัดส่วน 21:9 เหมือนกันนะ) แต่ปัญหาก็คือมันจะเหมาะกับการดูไฟล์หนังที่เราอัดใส่เครื่อง หรือเป็นคลิปวิดีโอ 21:9 จาก YouTube เท่านั้น เพราะแอปดูหนังอย่าง Netflix หรือ iflix ไม่มีหนังเรื่องไหนที่รองรับอัตราส่วนแบบนี้เลย ทำให้หน้าจอเหลือเป็นขอบดำๆ อยู่แบบนั้น ไม่สามารถขยายให้เต็มจอได้ ส่วน YouTube สามารถขยายเต็มจอได้ แต่ถ้าหากมันไม่ใช่วิดีโอแบบ 21:9 ภาพก็จะถูกตัดส่วนล่าง-บน ทิ้งไป

และการเล่นเกมก็เป็นแบบนั้นด้วย คือไม่สามารถแสดงผลแบบเต็มจอได้ เหลือเป็นขอบดำทิ้งไว้เปล่าๆ แบบนั้นแหละ

ขอบดำๆ ทางซ้ายนั่นแหละ ที่ขยายออกไปสุดไม่ได้

อ้อ! และอีกเรื่องนึงก็คือ Motorola One Vision แม้ว่าจะรองรับ Widevine L1 แต่ทางเราพบว่าตัวแอป Netflix ไม่เปิดให้ไม่สามารถดูหนังระดับ HD ได้นะ

Motorola One Vision รองรับ Widevine L1 แต่ไม่มีตัวเลือก HD ให้

ถ้าเป็นรุ่นที่รองรับจะมีโลโก้ HD อยู่ที่ใต้ชื่อเรื่อง

ไปเช็คดูจาก Netflix ก็เลยรู้ว่า Motorola One Vision ไม่มีรายชื่ออยู่ในรุ่นที่รองรับการดูหนังแบบ HD จริงๆ

กล้องหลังเซ็นเซอร์ 48MP

กล้องหลังของ Motorola One Vision เป็นกล้องคู่ที่มีเซ็นเซอร์หลักความละเอียด 48MP และเลนส์จับความลึก 5MP โดยเซ็นเซอร์ 48MP จะใช้เซ็นเซอร์ Samsung GM1 ไม่ใช่ Sony IMX586 ที่มักจะใช้ในมือถือระดับกลางๆ ขึ้นไปจนถึงระดับเรือธง แต่คุณภาพที่ออกมาก็ถือว่าใช้ได้เลยล่ะ ส่วนใครที่เห็นว่ากล้องมีความละเอียดสูงถึง 48MP แล้วภาพที่ถ่ายออกมาจะมีความละเอียด 48MP จริงๆ ก็ต้องขอบอกเลยว่าไม่ใช่นะครับ เพราะกล้อง 48MP ตัวนี้จะใช้เทคโนโลยี Pixel Binning ที่จะรวมเม็ดพิกเซล 4 เม็ด ให้กลายเป็น 1 เม็ดพิกเซลขนาดใหญ่ ทำให้ภาพที่ออกมาก็จะเหลือขนาดอยู่ที่ 12MP แต่ไฟล์ที่ได้ก็จะมีคุณภาพที่ดีกว่า คมกว่า แถมยังมีระบบกันสั่น OIS ที่จะทำให้ถ่ายภาพในที่แสงน้อย หรือที่มืดได้โดยไม่ต้องพึ่งขาตั้งกล้องเลย

 

 

Motorola One Vision มีโหมดถ่ายรูปให้เลือกเล่นได้หลายโหมดอยู่เหมือนกัน ทั้ง Portrait (หน้าชัดหลังเบลอ), Cutout (ถ่ายหน้าคนแล้วตัดขอบออกให้เหลือแต่หน้า), Spot Colour (เปลี่ยนภาพให้เป็นขาวดำ ยกเว้นสีที่เลือกไว้), Night Vision (โหมดถ่ายกลางคืน), Cinemagraph (ถ่ายภาพนิ่งแบบมีการเคลื่อนไหวอยู่ด้วยในภาพเดียวกัน), Panorama, และ Live filter

โหมดถ่ายภาพกลางคืน Night Vision

สำหรับโหมดถ่ายภาพในที่แสงน้อย Night Vision ที่ถือว่าเป็นจุดเด่นอีกอย่างนึงของ Moto One Vision ก็ทำมาได้ดีเลยล่ะ เพราะจากการทดสอบถ่ายภาพตอนกลางคืนเทียบกันระหว่างตอนเปิด Night Vision กับตอนไม่ได้เปิด จะเห็นว่าภาพมีความสว่างขึ้นมา แถมยังสามารถเก็บรายละเอียดของภาพได้ดี แม้จะถ่ายด้วยมือเปล่าก็ตาม (แต่มือก็ต้องนิ่งนิดนึงนะ) ซึ่งกลไกการทำงานของโหมดนี้ก็จะใช้การเปิดหน้ากล้องให้นานขึ้น และใช้ระบบ AI เข้ามาช่วยประมวลผลภาพอีกทีนึง ในขณะที่ระบบกันสั่น OIS ก็จะช่วยให้ภาพออกมาคมชัดไม่เบลอจากอาการมือสั่นอีกทีนึง

ปิดโหมด Night Vision

ปิดโหมด Night Vision

ปิดโหมด Night Vision

เปิดโหมด Night Vision

ปิดโหมด Night Vision

เปิดโหมด Night Vision

ส่วนโหมดที่น่าสนใจและทำให้ภาพถ่ายมีลูกเล่นเก๋ๆ ขึ้นมาก็คือ โหมด Cinemagraph ที่จะผสมผสานภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวเอาไว้ด้วยกันในภาพเดียว

Play video

โหมด Cinemagraph (จริงๆ แล้วโหมดนี้จะเซฟมาเป็นไฟล์ GIF นะครับ)

Motorola One Vision ยังมีโหมด AI ที่จะใช้จำแนก Scene เวลาถ่ายภาพได้ด้วย แต่ยังดูเหมือนว่าจะปรับแต่งไม่เสร็จดีเท่าไหร่ เพราะจากที่ลองแล้วมันตรวจจับอะไรไม่ได้เลยนอกจากแนะนำได้ว่าให้เปิดโหมดถ่ายกลางคืนหากตรวจจับได้ว่าแสงน้อย, Scene อาทิตย์ตกดิน และอีกอย่างคือการถ่ายอาหาร (Food) เท่านั้น เพราะเอากล้องไปส่องหมาก็ดันไม่ขึ้น แมวก็ไม่ขึ้น ส่องดอกไม้ดันขึ้น Food ก็มี.. ก็เลยคิดว่าน่าจะต้องรออัพเดทอีกทีให้ AI แม่นกว่านี้

บางทีก็รู้ว่าเป็นพระอาทิตย์ตก

บางทีก็เห็นต้นไม้เป็นอาหาร..

สำหรับการถ่ายวิดีโอ 4K กล้องหลักที่มีระบบกันสั่น OIS มาให้ด้วย ถือว่ามีประสิทธิภาพดีพอสมควรเวลาเดินถ่ายปกติ ดูค่อนข้างนิ่งใช้ได้ แต่พอเริ่มวิ่งก็จะสั่นตามการลงเท้าเป็นธรรมดา แต่ไม่ได้สั่นเป็นเจ้าเข้าจนดูแล้วเวียนหัว

Play video

นอกจากนี้ยังมีโหมดถ่ายสโลว์โมชั่นให้เลือกเล่น 2 แบบ คือ 120fps ที่ความชัด FHD และ 240fps ที่ความชัด HD

Play video

สโลว์โมชั่น 120fps ความชัดระดับ FHD

กล้องหน้าความละเอียด 25MP

กล้องหน้าของ Motorola One Vision มีความละเอียดสูงถึง 25MP มีทั้งโหมดถ่ายหน้าชัดหลังเบลอ, Spot colour, Cinemagraph, Group selfie และ Live filter แต่น่าเสียดายที่ไม่มีโหมดสติ๊กเกอร์ดุ๊ดดิ๊กติดมาให้เล่นด้วย.. แต่ถึงยังไงก็ไปหาแอปมาติดตั้งเองได้อยู่แล้ว

ระบบเสียง Dolby กับหูฟังที่แถมมา

Motorola One Vision มีระบบเสียง Dolby Audio ที่มีโหมดให้เลือกปรับทั้ง ฟังเพลง, ดูหนัง, Auto และ Custom สำหรับปรับแต่งเสียงเอง จากที่ลองใช้ระบบ Auto ที่จะปรับเสียงให้เหมาะกับคอนเทนท์ได้เอง

จากการดูหนังหรือฟังเพลง ก็พบว่าหูฟังที่แถมมาให้เสียงที่พอใช้ได้อยู่ ไม่แหลมบาดหู เบสมีนิดๆ ใช้ฟังเพลงทั่วไปได้สนุกๆ ไม่ต้องไปหาซื้อใหม่ถ้าไม่ได้ต้องการเสียงเทพอะไรขนาดนั้น ส่วนลำโพงเครื่องให้เสียงปกติ ไม่ได้ดังมากแต่ก็พอใช้เล่นเกม เปิดเพลง เปิดหนังดูได้ แบบไม่ต้องใส่หูฟัง โดยลำโพงจะอยู่ตรงตูดเครื่องด้านขวา ทำให้มือไม่ไปบังเวลาเล่นเกม

แบตเตอรี่และระบบชาร์จ TurboPower 15W

จากการทดลองใช้งาน Motorola One Vision แบบทั่วๆ ไป ใส่ซิมใช้ 4G และ WiFi เวลาอยู่ที่ออฟฟิศ กับอยู่ที่บ้าน เล่นเน็ต, เล่นเกมประมาณ 40 นาที, ถ่ายรูปเล่น, เปิด GPS, ดู YouTube, เล่นโซเชียล ฯลฯ ก็พบว่ามันอยู่ได้ถึง 2 วัน เลยทีเดียว

ส่วนระบบชาร์จไว 15W ใช้เวลาชาร์จจาก 1% – 100% อยู่ประมาณ 1 ชม. 40 นาที โดยความเร็วในช่วงชาร์จแรกๆ ค่อนข้างไวเลยล่ะ ประมาณ 10 นาที ขึ้นมา 10% กว่าๆ แต่ความเร็วจะลดลงไปตอนที่แบตใกล้จะเต็ม (เป็นเรื่องปกติของระบบชาร์จไวอยู่แล้ว)

สรุป

Motorola One Vision เป็นมือถือราคาไม่ถึงหมื่น (ทอน 10 บาท) ที่ครบเครื่องรุ่นนึงเลยสเปคจัดมาให้แรงกว่าหลายๆตัวในตลาดที่มีราคาเดียวกัน เด่นที่เรื่องของซอฟท์แวร์มีความเพียวในระดับนึง สามารถเล่นเกมได้ลื่นๆ ไม่กระตุกไม่หน่วงให้หงุดหงิด แถมยังมีระบบทัชที่โอเคอีกด้วย เพราะเท่าที่ลองแล้วยังไม่เคยเจออาการทัชหลุดหรือทัชเพี้ยนเลย ส่วนการดูหนังก็เต็มตาดี แต่จะติหน่อยคือไม่สามารถขยายภาพให้เต็มจอได้ในบางแอป (รวมถึงเกมด้วย) ทำให้มันเหลือขอบดำเอาไว้เฉยๆ แบบนั้น ส่วนเรื่องกล้องก็ถือว่าใช้ได้เลย (ถ้าไม่นับระบบ AI ที่น่าจะต้องรออัพเดทอยู่) ทั้งการถ่ายภาพทั่วไป และการถ่ายภาพในที่มืดที่ออกมาชัดเจนดี ก็นับว่า Motorola One Vision เป็นมือถือในราคา 9,990 บาท ที่น่าสนใจรุ่นนึงสำหรับการใช้งานได้แบบครบครันเลยล่ะ

Play video

นอกจากนี้ยังมีโปรโมชั่นสำหรับลูกค้า Truemove H ให้เป็นเจ้าของ Motorola One Vision ได้ง่ายกว่าเดิมในราคาเริ่มต้นเพียง 4,990 บาท เมื่อสมัครแพ็คเกจรายเดือน 4G Fun Unlimited 699 บาท ขึ้นไป พร้อมจ่ายค่าบริการล่วงหน้า 1,500 บาท (สัญญา 12 เดือน)

หรือจะซื้อผ่านตัวแทนจำหน่ายอย่าง Shopee ก็จะได้เครื่องราคาพิเศษ พร้อมของแถมอีกด้วยนะ ใครสนใจก็เข้าไปดูกันได้เลย