จากวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา กสทช. ได้มีการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลและโทรคมนาคมแสดงความจำนงค์ขอรับความช่วยเหลือจาก กสทช. ภายใต้คำสั่งหัวหน้าคสช. (ม.44) ที่ 4/2562 ผลปรากฎว่ามีผู้ประกอบการจำนวนมากออกมายื่นหนังสือขอรับสิทธิ์ โดยทีวีดิจิตอลจะหายไป 7 ช่อง และในส่วนของ Mobile Carrier ทั้ง 3 เจ้า AIS | TRUE | DTAC นั้นมากันครบยื่นหนังสือขอใช้สิทธิ์ขยายเวลาชำระเงินค่าประมูลคลื่น 900 MHz งวดสุดท้ายออกไปจากปี 2563 เป็น 2569 แถมไม่ต้องเสียดอกเบี้ยตามมาตรการช่วยเหลือ คิดเป็นเม็ดเงินราวๆ 19,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
กสทช. ควักไม่อั้น ซื้อใจทีวีดิจิตอล และ ผู้ให้บริการเครือข่ายสู่ยุค 5G
ตั้งแต่ปลายปี 2018 กับความพยายามบริหารจัดการคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz กันใหม่ เพื่อจัดสรรให้แก่การพัฒนาเทคโนโลยี 5G แบบเร่งรัด เร่งรัดมากจริงๆ เพราะเบื้องต้นทางผู้ให้บริการเครือข่ายแบรนด์หลักทั้ง 3 ค่ายยังพร้อมใจกันสงวนท่าทีเอาไว้ในการเข้าร่วมประมูลหากเกิดการจัดสรรขึ้นในเร็ววันนี้โดยให้เหตุผลในด้านความพร้อมของอุปกรณ์ ความจำเป็นหลายด้าน รวมถึงมูลค่าเพิ่มของเทคโนโลยี ส่วนคลื่นความถี่ 700 MHz ที่ว่านี้เป็นย่านเดียวกับที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลใช้กันอยู่นั่นเอง ล่าสุดทางกสทช.จึงมีมติให้เรียกคืนคลื่นความถี่ย่านนี้จากผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลที่ไปไม่สวยสักเท่าไหร่ เพื่อนำมาจัดสรรใหม่ให้กับผู้ประกอบการเครือข่ายแทน
อ่านเพิ่มเติม: กสทช. รับคืนใบอนุญาต 7 ช่องทีวีดิจิทัล ดึงคืนคลื่น 700MHz พร้อมจ่ายเงินเยียวยาให้รอบวง กว่า 30,000 ล้าน!
สำหรับมาตรการและเงื่อนไขนั้น กสทช. ได้มีมติให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ถือคลื่นความถี่ 900MHz อยู่สามารถยื่นหนังสือขอรับความช่วยเหลือจาก กสทช. รับสิทธิ์ขยายเวลาค่างวดสุดท้ายของการประมูลคลื่นดังกล่าวออกไปจากเดิมสิ้นสุดในปี 2563 แบบ 5 ปี 4 งวดเป็น 10 งวดสิ้นสุดที่ปี 2569 แทน แถมไม่ต้องเสียดอกเบี้ยในค่างวดที่ขยายระยะเวลาออกไป ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ผู้ประกอบการจะต้องเข้าร่วมประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 700 MHz ที่ทางกสทช.จะจัดขึ้นเร็วๆนี้ ส่วนเงื่อนไขอย่างละเอียดจะมีการจัดทำและเปิดเผยอีกทีในเดือน พ.ค. นี้ หากผู้ประกอบไม่พอใจเงื่อนไขสามารถขอยกเลิกรับสิทธิ์ได้ ถือเป็นการมัดมือชกอยู่กลายๆว่า ต้องประมูล 5G (700 MHz) เท่านั้นถึงจะได้รับสิทธิ์ขยายค่างวด 900 MHz
เบื้องต้นทั้ง 3 ค่าย AIS | TRUE | DTAC ต่างพร้อมใจกันยื่นหนังสือแสดงความจำนงค์ขอรับความช่วยเหลือไปแล้วในวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีทั้ง 3 ค่ายต่างมีแถลงการณ์ออกมาไปในทิศทางเดียวกันว่า ยังไม่มีการตัดสินใจใดๆในการเข้าร่วมประมูลคลื่น 700 MHz ตามเงื่อนไขของ กสทช. จนกว่าจะได้เห็นรายละเอียดที่น่าพอใจอีกครั้งนึง เรียกว่าเป็นการดึงเชิงพร้อมกดดัน กสทช. กันแบบเปิดเผยไปเลยราวกับว่า ถ้าดีลไม่ดีพอ ก็ไม่สนใจประมูล 5G ในตอนนี้ ซึ่งสร้างกระแสวิจารณ์และความน่าสนใจอยู่ไม่น้อยว่าเบื้องลึก เบื้องหลังตรงนี้มีความคิดอะไรอยู่บ้างนั่นเอง
Update (14 พ.ค. 62 | 15:30น.): ล่าสุดทาง กสทช. ได้มีประกาศเพิ่มเติมถึงรายละเอียดของการจัดสรรคลื่น 700 MHz ออกมาแล้วว่าจะมีการแบ่งใบอนุญาตออกเป็น 3 ใบ โดยแต่ละใบอนุญาตจะมีแถบคลื่นความถี่ (bandwidth) อยู่ที่ใบละ 10 MHz ด้วยกัน และจะมีราคาที่ใบอนุญาตละ 17,548 ล้านบาท โดยมีหลักเกณฑ์ขอรับใบอนุญาตดังนี้
- ต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตใช้คลื่น 900 MHz มาก่อน (ลงตัว 3 ยักษ์ใหญ่หน้าเดิมนอนมา ที่เหลือคือเอาหรือไม่เอา)
- แต่ละรายขอรับจัดสรรได้ 1 ใบอนุญาตเท่านั้น
- เกณฑ์การชำระเงินจะแบ่งออกเป็น 10 งวด
- อายุใบอนุญาต 15 ปี นับตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563
เล็งผลประโยชน์ร่วม 20,000 ล้านให้ 3 ค่ายยักษ์ใหญ่ที่กิจการไม่ได้มีปัญหาอะไร…
สำหรับ “มาตรการช่วยเหลือ” ตามที่ กสทช. ได้มีการประกาศออกมานั้น ประเด็นหลักๆจะตกไปอยู่ที่ การยืดอายุเวลาการชำระค่างวดออกไปให้กับผู้ประกอบการเครื่อข่าย ปัญหาอยู่ที่ว่า การยืดเวลาให้สำหรับกิจการที่ไม่ได้มีปัญหาอะไรหากมองจากผลประกอบการทั้ง 3 เจ้าที่ปี 2561 AIS และ TRUE มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 29,682 และ 7,035 ล้านบาทตามลำดับ ส่วน DTAC ขาดทุนราวๆ 4,000 กว่าล้านแต่เป็นผลมาจากการจ่ายเงินก้อนใหญ่ระงับข้อพิพาทกับ CAT ซึ่งหมายความว่าผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีสถานทางการเงินที่มั่นคงอย่างมาก นักวิชาการหลายสำนักต่างออกมาแสดงความกังวลกันว่าต่อให้ธุรกิจจะขาดทุน แต่ก็นับเป็นความเสี่ยงปกติที่ธุรกิจต้องมี ไม่ควรตกเป็นภาระของรัฐที่ต้องเข้ามาช่วยโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายนั้นๆ เป็นกลุ่มทุนใหญ่ หรือกลุ่มทุนข้ามชาติที่มีศักยภาพสูงอยู่แล้ว งานนี้ กสทช. ถูกมองเป็นพี่ใหญ่ใจดีหวังล่อซื้อให้ 3 เจ้าเดิมเข้าร่วมประมูลคลื่น 5G อันสุดรีบร้อนภายในปีนี้เลยนั่นเอง
ยิ่งไปกว่านั้นคือ ในเงื่อนไขการยืดเวลาชำระค่างวดออกไปอีกราวๆ 5 ปี ไม่มีการกำหนดถึงดอกเบี้ยในการชำระเงินใดๆเลยซึ่งในทางปกติควรต้องมีเอาไว้ (เหมือนเรากู้ยืมเงินเพื่อลงทุน ซื้อบ้าน รายการใหญ่ๆ แต่ได้ดอกเบี้ย 0%) กล่าวคือ รัฐจะไม่ได้ประโยชน์ใดๆเลยในการขยายอายุเวลา แต่เอกชน 3 รายรับทรัพย์เต็มๆรวมกันใกล้เคียงตัวเลขนับ 20,000 ล้านเพราะหากธุรกิจไม่มีศักยภาพในการชำระแล้วต้องไปกู้เพิ่มอีก 5 ปี AIS และ TRUE จะได้ผลประโยชน์เรื่องดอกเบี้ยไปราวๆ 8,500 ล้านบาทส่วนดีแทคก็จะประมาณ 2,500 ล้านบาทเลยทีเดียว (การคำนวณโดยประมาณใช้ WACC สำหรับธุรกิจโทรคมนาคมที่ 9% ต่อปี) ส่วน K-Securities ของกสิกรไทยประเมินตัวเลขนี้ไว้ที่กรอบ 18,456 – 28,393 ล้านบาทเลยทีเดียว
กสทช. สร้างเงื่อนไขบังคับลงทุน 5G เอาไว้แล้ว แต่ถูกมองยื่นมือเข้าช่วย 3 เครือข่ายผูกขาดโทรคมนาคมไทยต่อไปอีกนาน
จากการชี้แจงของทางกสทช. และ คสช. (ในฐานะเจ้าของโล่ทางกฏหมายยี่ห้อ ม.44) ระบุว่าการมอบสิทธิพิเศษในการยืดอายุการชำระค่างวดปลอดดอกเบี้ยราวกับโปรฯ ผ่อนทีวี 0% นาน 10 เดือนนั้น เกิดขึ้นเพราะต้องการสนับสนุนการจัดสรรคลื่นความถี่ 700 MHz ให้เกิดขึ้นได้โดยเร็วเพื่อผลประโยชน์ในระยะยาวของประเทศชาติที่จะได้ใช้ 5G กันเร็วขึ้น และทางเอกชนเองจะได้แบกรับภาระทางต้นทุนที่ต่ำลงซึ่งจะไปสะท้อนอยู่ในภาระปลายทางที่ผู้บริโภคต้องจ่าย คือลดแลกแจกแถมเพื่อให้บริการโทรคมนาคมมีค่าบริการที่ถูกลงไปอีก อันนี้ต้องรอพิสูจน์ด้วยเวลาอย่างเดียว แต่ต้องถูกลงเยอะมากเลยล่ะ เพราะปัจจุบันที่เต็มไปด้วยโปรโมชั่นเสริม โปรโมชั่นลับ ลด 50% จากราคาเต็มรายเดือน ก็สร้างกำไรให้ผู้ประกอบการได้อยู่อย่างต่อเนื่อง ถ้าตีกลมๆแปลว่าทุกคนต้องได้ใช้ 5G ที่ราคาถูกลงกว่าปัจจุบันไปอีกนะ…!
อย่างไรก็ตามทางผู้ประกอบทั้ง 3 ราย (ณ ตอนที่ยังไม่ทราบเงื่อนไขและรายละเอียดของคลื่น 700 MHz รวมถึงราคาประเมินที่ประกาศออกมาแล้วที่ใบละ 17,548 ล้านบาท ถูกลงไปร่วม 30% จากที่คาดการณ์กันไว้) ต่างออกมาให้ความเห็นต่อการประกอบกิจการ 5G ไปในทิศทางเดียวกันว่า เป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ด้วยต้นทุนที่ต้องลงทุนเพิ่มเติมมหาศาล รวมไปถึงความพร้อมของอุปกรณ์ต่างๆสำหรับผู้บริโภคในภาคธุรกิจและบริโภคนั้น ประเทศไทยยังต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ๆกว่าที่โครงสร้างพื้นฐานของ 5G นั้นจะสร้างประโยชน์ให้กับเราได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
5G ประมูลดีๆ… ไม่ต้องไว 3G เราประมูลกันช้าไปจริงเป็นที่ยอมรับ เสียโอกาสไปเยอะ ส่วน 4G ที่ช้ากว่าประเทศแรกเพียง 6 ปีซึ่งก็ไม่ได้น่าเกลียดอะไร แต่สำหรับ 5G นั้นเพิ่งเริ่มใช้กันราวๆปีเดียว มีอยู่ 4 ประเทศในโลกที่ผลิตอุปกรณ์ ตรงนี้ต้องถามว่าประมูลช้าหรือไว… ผลประโยชน์ของใครกำหนด
ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ | Thailand Development Research Institute – 28 ก.พ. 62
ในทางนึงความเห็นเรื่องความพร้อมของประเทศไทยสู่ 5G เต็มรูปแบบก็น่าสนใจไม่น้อยว่า ไทยจำเป็นต้องเร่งรัดให้ทันประเทศกลุ่มศักยภาพสูงอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีเลยหรือไม่ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้ความเห็นเรื่องนี้เอาไว้ว่า ถึงแม้เราจะสู่การให้บริการระบบ 3G และ 4G ช้ากว่าชาติอื่นๆพอสมควร แต่เราไม่ใช่เจ้าของเทคโนโลยีสำคัญอย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลี หรือสหรัฐฯที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีและอุปกรณ์ 5G การเข็นเอาเทคโนโลยีนี้ออกมาก่อนในตลาดโลกย่อมส่งผลทันที แต่สำหรับประเทศไทยทดลองใช้ไปเลยนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ตัดสินใจอีกที 3 ปีก็ไม่สายเพราะอธิบายง่ายๆว่าประมูลไปก็ยังไม่เกิดการใช้งานในทันที จึงตีเป็นมูลค่าไม่ถูก การเร่งรัดเช่นนี้มองได้แค่ว่าเป็นการอุ้มกลุ่มทุนทั้งทีวีดิจิตอลและยักษ์ใหญ่มือถือนั่นเอง
อ้างอิง: Prachachat | TDRI | MGR Online | Isranews | The E Leader
Comment