เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา กสทช. ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลแสดงความจำนงค์ขอคืนใบอนุญาตฯทีวีดิจิทัลได้ โดยมีผู้แสดงความจำนงค์ขอคืนใบอนุญาตมากถึง 7 ช่อง จนกลายเป็นประเด็นอยู่ในเวลานี้ เพราะนอกจากจะให้คืนใบอนุญาตกันง่ายๆแล้ว ทาง กสทช. ยังประกาศให้เม็ดเงินช่วยเหลือและเยียวยาทั้งวงการด้วยวงเงินกว่า 30,000 ล้านบาท

กสทช. ดึงคืนคลื่น 700MHz เพื่อทำ 5G

ตั้งแต่ปลายปี 2018 เป็นต้นมา ทางกสทช.ได้มีความพยายามบริหารจัดการคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz กันใหม่ จากที่ปล่อยประมูลสำหรับธุรกิจทีวีดิจิทัลไปก่อนหน้า แต่อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่าธุรกิจทีวีช่วงหลังมานี้ ไปได้ไม่สวยเท่าไหร่ จากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน คนเลิกดูทีวีและหันไปรับชมเนื้อหาต่างๆจากช่องทางออนไลน์กันแทน ซึ่งนั่นหมายถึงเม็ดเงินโฆษณาที่หายตามไปด้วยเช่นเดียวกัน และเมื่อรายได้ไม่ได้อู้ฟู่ตามที่คาดการณ์ไว้ในตอนแรกจึงทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลหลายรายประสบปัญหาขาดทุนกันเป็นแถบ

แต่ด้วยความที่ว่าคลื่น 700MHz นี้ สำหรับอุตสาหกรรมโทรคมฯ มีมูลค่าที่สูงมาก การจะปล่อยให้ธุรกิจทีวีดิจิทัลที่ประสบปัญหาไม่ทำกำไรใช้งานต่อ ก็ดูจะไม่คุ้มค่าและเกิดปัญหากับทุกฝ่าย แทนที่จะได้คลื่นมาพัฒนาทำเครือข่ายดีๆ กลับกลายต้องเป็นภาระของผู้ประกอบการหลายราย ทางกสทช. น่าจะเห็นดังนี้จึงปิ๊งไอเดีย ขอดึงคืนใบอนุญาตคืนสำหรับช่องที่สมัครใจ เพื่อจะนำเอาคลื่นมาใช้พัฒนาเทคโนโลยี 5G ต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นการเรียกคืนก่อนหมดอายุใบอนุญาตไปถึง 10 ปีเลยทีเดียว (ใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลจะหมดอายุปี 2029) และแน่นอนว่าเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาและข้อกฎหมายที่อาจจะตามมาได้ในอนาคต จึงได้ขอใช้ ม.44 ในการออกคำสั่งครั้งนี้ เพื่อสร้างเกราะป้องกันการฟ้องร้องที่จะเกิดตามขึ้นมาได้นั่นเอง

ค่ายมือถือมองปริบๆ ยังไม่ตอบรับประมูลคลื่น 700MHz

เบื้องต้นทางผู้ให้บริการเครือข่ายทั้ง 3 ค่ายหลักยังพร้อมใจกันสงวนท่าทีในการเข้าร่วมประมูลหากทางกสทช. เปิดประมูลคลื่น 700MHz ขึ้นในเร็ววันนี้ ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะ

  • ความพร้อมทางด้านการลงทุน
  • ราคาของใบอนุญาต
  • กฎกติกาการประมูลยังไม่ชัดเจน
  • โมเดลธุรกิจการทำ 5G ทั่วโลกยังไม่ชัดเจน
  • คลื่นความถี่ 700 MHz ไม่ใช่คลื่นหลักสำหรับ 5G
  • กสทช. ไม่มีแผนการประมูลคลื่นความถี่อื่นๆในระยะยาวออกมา

สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับเครือข่ายมือถือและคลื่น 700MHz นี้เดี๋ยวขอยกไปอีกบทความนึงนะครับ

สำหรับมาตรการจัดสรรคลื่น 700MHz ใหม่ตามมติกสทช.นั้น มี Options ให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลทั้ง 22 รายที่ประกอบการอยู่เลือก 2 รูปแบบคือ

  • เลือกย้ายไปดำเนินการบนคลื่นความถี่ช่วง 470-510 MHz แทน ซึ่งจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่เหลืออยู่ (หรือเรียกง่ายๆว่าใช้ฟรี) รวมไปถึงค่าใช้จ่ายเช่าบริการจัดสรรโครงข่ายระบบทีวีดิจิตอล (MUX) ตลอดอายุสัญญาคงเหลือรวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆในการย้ายคลื่นอีกด้วย
  • เลือกยื่นหนังสือแสดงความจำนงค์ขอคืนใบอนุญาตใช้คลื่นและประกอบการทีวีดิจิตอลโดยจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมที่เหลืออยู่รวมถึงค่าชดเชยพิเศษตามสูตรคำนวณของกสทช.อีกด้วย (ท่อนหลังนี้แหละที่เป็นประเด็นกันอยู่ตอนนี้ เพราะเหมือนให้เลิกสัญญาได้โดยนอกจากไม่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาตที่ไม่ไปต่อกันแล้ว ยังได้เงินไปหมุนกันอีกซะอย่างนั้น)
7 ช่องที่ขอคืนใบอนุญาต ทำเอาช่องเด็ก-ครอบครัวสูญพันธุ์

หายไป 7 ช่อง พร้อมรับเงินอุดหนุนกันถ้วนหน้า กสทช. เปย์อีกกว่า 30,000 ล้านบาท!

ผลอย่างเป็นทางการปรากฎว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการฯมากถึง 7 ช่องยื่นเรื่องแสดงเจตจำนงค์ขอคืนใบอนุญาต ได้แก่

  1. ช่อง 3 Family (13)
  2. MCOT Family (14)
  3. Springnews (19)
  4. Bright TV (20)
  5. Voice TV (21)
  6. Spring 26 (26)
  7. 3 SD (28)

โดยล้วนชี้แจงเหตุผลที่สอดคล้องกันด้านการจัดการความสามารถในการแข่งขันทั้งภายในอุตสาหกรรมทีวีด้วยกัน รวมไปถึงกลุ่มสื่อ OTT ทั้งหลายที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งผู้ชมไปอย่างมีนัยยะสำคัญ ไหนจะต้นทุนที่ไม่สัมพันธ์กันส่งผลให้เกิดการขาดทุนต่อเนื่องนับตั้งแต่เริ่มให้บริการมา 5 ปี

โดยทาง กสทช. ได้มีการประเมินเงินชดเชยเอาไว้เบื้องต้นสำหรับ 7 ช่องที่ขอคืนใบอนุญาตรวมกันจ่อจะมากถึง 4,000 ล้านบาท แถมบางช่องอาจมีได้มากสุดถึง 900 ล้านบาทเลยทีเดียว โดยทางกสทช.ให้เหตุผลตามตัวเลขประเมินนี้เอาไว้ว่าทางผู้ประกอบการต้องนำไปพยุงกิจการและรวมถึงเยียวยาพนักงานจำนวนกว่า 1,500 ชีวิตที่คาดว่าจะต้องเปลี่ยนงานเพราะเหตุคืนใบอนุญาตเลิกประกอบกิจการทีวีดิจิตอล

นอกจากนั้นแล้ว อีก 15 ช่องที่เหลือ ที่ยังตัดสินใจดำเนินกิจการต่อนั้น จะได้รับการยกเว้นค่าใบอนุญาตส่วนที่เหลืออีก 10 ปีคิดเป็นเงินราวๆ 9,700 ล้านบาท รวมถึงงบประมาณอุดหนุนค่าเช่าโครงข่าย (MUX) ตลอดเวลาที่เหลือตามใบอนุญาตอีกกว่า 18,000 ล้านบาท สิริรวมเป็นวงเงินกว่า 30,000 ล้านบาทที่กสทช.ต้องจ่ายให้บรรดาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลนี้ ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียวหากมองว่าหลายส่วนควรจะเป็นรายได้เข้ารัฐต่อเนื่องได้ งานนี้นอกจากไม่ได้รายได้จากใบอนุญาตแล้วยังต้องจ่ายเงินอุดหนุนให้ผู้ประกอบการอีกด้วย

อดีตกรรมการกสทช.ร้อง ทำแบบนี้ก็ได้เหรอ

แน่นอนว่าไม่ใช่แค่คุณที่รู้สึกแปลกๆ ว่ากสทช.ชุดนี้ทำแบบนี้ก็ได้เหรอ เพราะการออกคำสั่งม.44 ในครั้งนี้มันคือการอุ้มนายทุนขั้นสุด ซึ่งหนึ่งในคนที่ทราบเรื่องดีที่สุดก็ไม่ใช่ใครแต่เป็นคุณสุภิญญา กลางณรงค์ ซึ่งเป็นอดีตกรรมการของกสทช.เอง ที่ออกมาทวงถามหลายเรื่องจากการออกคำสั่งในครั้งนี้

สำคัญกว่านั้นคือจะไปถอนเงินหลายพันล้านเป็น Pocket Money ให้เอกชนไปเริ่มต้นใหม่ได้เขียน TOR เงื่อนไขที่จะดูแลพนักงานไหม และต้องให้คืนประโยชน์แก่คนดูทีวีด้วยไหมกับแผนที่จะให้สิทธิพิเศษกับช่องที่ยังประกอบการต่ออีกด้วย แบบนี้ก็ได้หรือ อันนี้ถามจริงๆด้วยความห่วงใยทุกฝ่าย…

คุณ Supinya Klangnarong | อดีตกรรมการ กสทช.

Digital TV ไทยปรับตัวไม่ทัน แข่งกันเองก็ไม่ไหวแล้ว ไหนจะต้องเจอ Netflix, YouTube, Facebook เข้าไปอีก…

รายได้จากค่าโฆษณาที่จะหายไปพร้อมการคืนใบอนุญาตของ 7 ช่องนั้นอยู่ที่ราวๆ 3% ของมูลค่ารวมในตลาดของทีวีดิจิตอล ซึ่งหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าในทางสถานภาพของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ จะไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก เชื่อว่ากลุ่มสื่อออนไลน์จะเข้าใช้ประโยชน์ทางช่องว่างของมูลค่าตลาดตรงนี้ได้อย่างรวดเร็วและโดยง่ายเพราะปัจจุบันสื่อโฆษณาผ่านช่องทาง Online (รายการผ่านรูปแบบ Over-the-Top รวมไปถึง Social Media ต่างๆ) และ Out of Home (สื่อโฆษณานอกบ้าน เช่น ป้ายโฆษณาตามรถไฟฟ้าหรือทางด่วน) ก็ค่อยๆแย่งส่วนแบ่งจากมูลค่าการโฆษณาของช่องทางโทรทัศน์ไปเรื่อยๆอยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นอีกสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลจำนวนมากเริ่มเจอกับทางตัน ไม่ใช่แค่เฉพาะ 7 ช่องที่ขอคืนใบอนุญาต แต่รวมไปถึงช่องที่ตัดสินใจสู้ให้บริการกันต่อไปด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการปรับตัวว่าเปิดรับเอาเทรนด์ใหม่ๆของการบริโภคเข้ามาเป็นส่วนนึงของกิจการได้มากน้อยเพียงใด

สำหรับมูลค่าของตลาดการโฆษณาของประเทศไทยรวมทุกรูปแบบนั้นอยู่ที่ราวๆ 89,500 ล้านบาทสำหรับปี 2018 โตขึ้น 3.5% จากปี 2017 โดยถูกคาดการณ์ว่าในปี 2019 จะโตต่อเนื่องไปอีกราวๆ 5-10% จากกำลังบริโภคและช่องทางของการโฆษณาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยปัจจุบันส่วนแบ่งหลักๆระหว่าง โฆษณาโทรทัศน์แบบดั้งเดิมอยู่ที่ 45% ลดลงปีละราวๆ 10-15% ในขณะที่รูปแบบสื่อ Online และ Out of Home นั้นมีส่วนแบ่งอยู่ที่ 14% และ 10% ตามลำดับ หากแต่ทั้ง 2 รูปแบบหลังนี้เติบโตต่อเนื่องที่อัตรากว่า 23% ทำให้ชัดเจนว่ากินส่วนแบ่งของมูลค่าโฆษณาของกิจการโทรทัศน์ไปเรื่อยๆนั่นเอง

ถ้ามองอย่างเข้าใจความยากลำบากของผู้ประกอบการทีวีเหล่านี้ ถึงแม้รายได้จากการโฆษณาโทรทัศน์ยังเป็นเม็ดเงินมหาศาลสำหรับประเทศไทยอยู่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอัตราการเติบโตที่สวนทางกันอย่างชัดเจนกับสื่อออนไลน์นั้น แสดงให้เห็นว่าการเข้าสู่การให้บริการทีวีดิจิตอลในประเทศไทยนั้น อาจมาในช่วงเวลาที่พอดิบพอดีกับพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างเราๆที่เปลี่ยนไปใส่ใจ Online Content มากขึ้น ซึ่งอีกสิ่งนึงที่สวนทางกันก็คือต้นทุนอันมหาศาลของผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลเทียบกับเจ้าของช่อง YouTube เพจ Facebook หรือแม้แต่รายการบน Netflix ก็ตามเพราะกลุ่มสื่อออนไลน์เหล่านี้ไม่ต้องมีต้นทุนเรื่องการถือครองหรืออาศัยคลื่นความถี่เองเพื่อถ่ายทอด (แน่นอนว่ามีต้นทุนมหาศาลในด้านโครงสร้างพื้นฐานของระบบอยู่กับเจ้าของสื่อกลุ่มนี้ แต่ก็มีฐานลูกค้าและผู้ผลิตสื่อที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ประเทศไทย)

ลองนึกภาพกันดูง่ายๆว่า “ทุกวันนี้พวกเรานั่งดู TV ไปพร้อมๆกับการไถหน้าจอ Facebook Feed ส่องชีวิตเพื่อนๆ ในสังคมออนไลน์ที่เรามีส่วนร่วมในการกดไลค์คอมเม้นท์หรือแชร์ได้ เราจดจ้องอยู่กับสิ่งใดมากกว่ากัน นี่ยังไม่นับว่าเผลอๆ TV ที่เปิดดู เราเปิด Youtube | Netflix ดูอยู่ด้วยนะ เพราะเราเลือกสิ่งที่ต้องการดูได้เอง เรียกว่าจัดการเวลาออกอากาศได้เองเลยล่ะ”

อ้างอิง: Prachachat | Bangkok Post | Techsauce | Twitter คุณ Supinya Klangnarong