จากเหตุการณ์ที่หน่วยงานและบริษัทหลายแห่งในประเทศไทย ตกเป็นเป้าโจมตีของแฮกเกอร์เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีข้อมูลส่วนตัวของคนไข้ แพทย์ และลูกค้า หลุดออกไปขายเกลื่อนดากร์เว็บ สำนักงาน คปภ.จึงเสนอให้ทุกหน่วยงานรัฐทำประกันภัยไซเบอร์ โดยได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการกลั่นกรองการประกันภัยภาครัฐแล้ว และจะมีการหารือร่วมกับตัวแทนกรมธนารักษ์กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อยื่นเรื่องให้ ครม.พิจารณาต่อไป

สำหรับความคุ้มครองของประกันภัยไซเบอร์ จะมีทั้งความคุ้มครองรายบุคคลและภาคภาคธุรกิจ ส่วนใหญ่เป็นการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายจากการดำเนินการหลังถูกโดนผลกระทบจากภัยไซเบอร์ เช่น คุ้มครองความรับผิดต่อข้อมูลส่วนบุคคล ความคุ้มครองความรับผิดต่อข้อมูลของบริษัท ความคุ้มครองความรับผิดต่อการจ้างงาน เป็นต้น

นอกจากนี้ นายอาภากร ปานเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย คปภ.ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า อัตราเบี้ยประกันจะมีความหลากหลายต่อทุนประกันภัย แต่โดยปกติจะไม่แพง และหากองค์กรมีการวางแผนระบบป้องกันที่ดีจะมีส่วนลดค่าเบี้ยให้ด้วย ส่วนบริษัทประกันภัยในประเทศไทยที่มีการเปิดขายประกันภัยไซเบอร์แล้ว มีด้วยกัน 8 แห่ง ดังนี้

  • ทิพยประกันภัย
  • กรุงเทพประกันภัย
  • เมืองไทยประกันภัย
  • อาคเนย์ประกันภัย
  • ชับบ์สามัคคีประกันภัย
  • เอไอจีประกันภัย
  • เอ็มเอสไอจีประกันภัย
  • มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์

ประกันภัยไซเบอร์ยังค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่จากเหตุการณ์ที่แฮกเกอร์อาละวาดหนักในรอบสัปดาห์ที่ผ่าน หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ น่าจะตื่นตัวกันมากขึ้น โดยคาดว่า ธุรกิจที่จำเป็นต้องดำเนินงานโดยอาศัยข้อมูลของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง มีแนวโน้มจะเป็นกลุ่มแรกที่ทำประกันภัยไซเบอร์ เช่น โรงแรม โรงพยาบาล ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกันภัย เป็นต้น

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ