OpenAI เปิดตัวฟีเจอร์ AI Agents ใหม่สำหรับ ChatGPT ที่เรียกว่า ‘Deep Research’ ซึ่งระบุว่าฟีเจอร์นี้จะสามารถวางแผนและดำเนินการแบบหลายขั้นตอนแบบอัตโนมัติ เพื่อค้นคว้าหาข้อมูลที่ต้องการ รวมถึงสามารถติดตามข้อมูลที่ซับซ้อนและตอบสนองต่อข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ และยังสามารถแสดงสรุปของกระบวนการในแถบด้านข้าง แทนที่จะสร้างข้อความเพียงอย่างเดียว
ผู้ใช้สามารถถามคำถามโดยใช้ข้อความ รูปภาพ และไฟล์เพิ่มเติมได้ เช่น PDF หรือสเปรดชีต เพื่อเพิ่ม context จากนั้นจะใช้เวลาตั้งแต่ 5 ถึง 30 นาทีในการพัฒนาคำตอบที่ให้ไว้ในหน้าต่างแชท และยังสัญญาว่าในอนาคต จะสามารถใส่รูปภาพและแผนภูมิไว้ได้ด้วย
โดย OpenAI กล่าวว่ารู้สึกตื่นเต้นที่จะแนะนำ Deep Research ใน ChatGPT ซึ่งเป็นฟีเจอร์ใหม่ปฏิวัติวงการ ที่ช่วยให้สามารถค้นคว้าข้อมูลหลายขั้นตอนบนอินเทอร์เน็ตสำหรับงานที่ซับซ้อนได้ ความสามารถ AI Agents นี้ สามารถทำงานวิจัยให้สำเร็จได้ภายในเวลาไม่กี่นาที เทียบกับมนุษย์ที่ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง
Deep Research คือนวัตกรรมล่าสุดของ OpenAI ซึ่งช่วยให้ ChatGPT สามารถทำงานได้อย่างอิสระ และจัดทำรายงานที่ครอบคลุมในระดับของนักวิเคราะห์วิจัย ขับเคลื่อนด้วย OpenAI o3 รุ่นปรับปรุงใหม่ ซึ่งใช้การใช้เหตุผลขั้นสูงเพื่อค้นหา ตีความ และวิเคราะห์ข้อมูลออนไลน์จำนวนมหาศาลได้อย่างรวดเร็ว ความสามารถนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการบรรลุเป้าหมายของ OpenAI ในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป (AGI) ด้วยการสังเคราะห์ความรู้ Deep Research จึงวางรากฐานสำหรับการสร้างความรู้ใหม่และอาจผลิตงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่แปลกใหม่ได้
ฟีเจอร์ Deep Research จะให้การค้นหาสูงสุด 100 รายการต่อเดือน สำหรับผู้ใช้ที่สมัคร ChatGPT Pro ที่จ่ายค่าธรรมเนียมรายเดือน 200 ดอลลาร์ โดยผู้สมัครแบบ Plus, Team และ Enterprise จะสามารถเข้าถึงได้แบบจำกัดเช่นกัน เนื่องจากฟีเจอร์นี้ต้องใช้การประมวลผลอย่างเข้มข้น OpenAI จึงกำหนดขีดจำกัดการใช้งานในช่วงแรก และสัญญาว่าจะเพิ่มขีดจำกัดเหล่านี้ในอนาคตเมื่อมีการพัฒนาเวอร์ชันที่เร็วกว่าและคุ้มต้นทุนกว่า
โมเดลที่ขับเคลื่อน Deep Research ถือว่าประสบความสำเร็จด้วยคะแนนความแม่นยำสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 26.6% ในเกณฑ์มาตรฐาน AI “Humanity’s Last Exam” ซึ่งถามคำถามระดับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งสูงกว่าคะแนน 3.3% ของ GPT-4o และคะแนน 13% ของโมเดล o3-mini (high) ของ OpenAI
แต่อย่างไรก็ตาม OpenAI ยังยอมรับว่า Deep Research ยังมีข้อจำกัดอยู่ โดยกล่าวว่าบางครั้งอาจเกิดภาพหลอนและแต่งเรื่องขึ้นมาเอง รวมถึงมีปัญหาในการแยกความแตกต่างระหว่างข้อมูลที่น่าเชื่อถือและข่าวลือด้วย
ที่มา openai
Comment