สวัสดีเพื่อนสมาชิก Droidsans ทุกท่าน กลับมาพบกันอีกแล้วนะครับ คราวนี้ผมได้มีโอกาสรีวิวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ในตระกูล R7 จาก OPPO ที่เพิ่งจะวางจำหน่ายในประเทศไทยไปเร็วนี้ๆ เจ้ารุ่นที่เราจะมาดูรายละเอียดกันคือ OPPO R7 Lite น้องเล็กในตระกูล R7 ที่ถึงชื่อจะเล็กแต่ความสามารถนั้นไม่เล็กเลยล่ะครับ รุ่นนี้มีวางจำหน่ายด้วยกัน 2 สีคือ เงินและทอง ในราคา 10,990 บาท เรามาดูดีกว่ามันคุ้มค่าตัวมั้ย
ก่อนหน้านี้ทางเว็บมีปล่อย รีวิวของพี่ใหญ่ในตระกูล R7 อย่าง OPPO R7 Plus ไปเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งถ้าจะว่ากันตามจริงมือถือในตระกูล R7 มีทั้งหมด 3 รุ่นด้วยกันคือ R7 Plus, R7 และ R7 Lite แต่ OPPO เลือกวางจำหน่ายในประเทศไทยเพียง 2 รุ่นเท่านั้นคือ R7 Plus และ R7 Lite ส่วน R7 ไม่ได้เอาเข้ามาจำหน่าย เข้าใจว่าสเปกของ R7 และ R7 Lite ค่อนข้างใกล้เคียงกันมาก แต่ R7 Lite สามารถทำราคาได้ดีกว่าจึงเหมาะกับตลาดประเทศไทยที่เน้นมือถือราคาถูกมากกว่า อย่างไรก็ตามถึงแม้ R7 Lite จะเป็นนน้องเล็กสเปกน้อยสุดในตระกูล มันก็ไม่ได้หมายความว่ามือถือรุ่นนี้จะด้อยคุณภาพและประสิทธิภาพแต่อย่างใด ว่าแล้วก็มาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า
สเปกของ OPPO R7 Lite
ชื่อและรหัสเครื่อง : OPPO R7 Lite (R7kf)
สัดส่วน : 71 x 143 x 6.3 มิลลิเมตร
น้ำหนัก : 147 กรัม
หน้าจอ : AMOLED ขนาด 5 นิ้ว ความละเอียด HD 1280 x 720 พิกเซล (294 ppi)
เครือข่ายที่รองรับ :
4G LTE : B1/B3/B5/B7/B8/B40 (รองรับทุกเครือข่ายในประเทศไทย)
3G : HSPA 850/900/1900/2100 (รองรับทุกเครือข่ายในประเทศไทย)
2G : GSM 850/900/1800/1900
SIM : 2 SIM แบบ Micro-SIM และ Nano-SIM
CPU : Qualcomm Snapdragon 615 Octa-core 1.5GHz
GPU : Adreno 405
RAM : 2 GB
หน่วยความจำภายใน : 16 GB (เพิ่ม MicroSD card ได้ที่ช่อง SIM 2)
กล้องหน้า : 8 ล้านพิกเซล f/2.4
กล้องหลัง : 13 ล้านพิกเซล f/2.2 พร้อม LED flash และระบบโฟกัสแบบ Phase Detection
แบตเตอรี่ : Li-Po 2,320 mAh (ถอดเปลี่ยนเองไม่ได้)
OS : Android 5.1.1 Lollipop พร้อม ColorOS 2.1
NFC : ไม่มี
OTG : มี (เปิด-ปิดได้ในการตั้งค่า)
การเชื่อมต่ออื่นๆ :
Wi-Fi 2.4GHz b/g/n พร้อม Wi-Fi Direct support
Bluetooth 4.0
GPS/A-GPS/Glonass/BDS
USB 2.0
หูฟัง 3.5 มิลลิเมตร
Sensors :
เซ็นเซอร์วัดระยะทาง
เซ็นเซอร์วัดแสง
G-sensor
E-compass
งานออกแบบตัวเครื่อง
OPPO R7 Lite นั้นมีงานออกแบบที่สวยงามเน้นความบางของตัวเครื่อง ตอนจับจะรู้สึกได้เลยว่ามันบางจริงอะไรจริง วัสดุที่เลือกใช้จะเป็นโลหะทั้งตัวจับแล้วรู้สึกได้ถึงความพรีเมียมของตัวเครื่อง ดังนั้นเมื่อเครื่องมีการประมวลผลหนักๆจะรู้สึกได้ถึงความร้อนที่ระบายออกมา แต่ก็ไม่ถึงกับร้อนมากจนจับถือไม่ได้นะครับ ในทางตรงข้ามเมื่อโดนแอร์เย็นๆนี่ก็เย็นได้ใจเหมือนกัน ว่าแล้วเราลองมาดูรอบตัวเครื่องกันดีกว่า
มาเริ่มกันที่ด้านหน้าของตัวเครื่อง ส่วนบนจะประกอบด้วยกล้องหน้า, ลำโพงสนทนา และจุดรวมเซ็นเซอร์ เช่น Proximity และเซ็นเซอร์วัดแสง
อ้อ! รุ่นนี้มี Notification LED อยู่ทางด้านซ้ายสุด ถัดไปจากกล้องหน้าด้วยครับ
สำหรับส่วนล่างของหน้าจอจะมีปุ่มสัมผัสแบบ capacitive อยู่ 3 ปุ่ม คือ ปุ่มเมนู, ปุ่ม Home และ ปุ่ม Back
แวะมาดูงานออกแบบกันสักนิด จุดเด่นที่ทำให้มือถือรุ่นนี้มีความพรีเมียม จับสัมผัสแล้วรู้สึกดี คือ การเลือกใช้กระจกขอบโค้งแบบ 2.5D ประกบเข้ากับโลหะแมกนีเซียมอัลลอยที่ใช้ในงานอากาศยานที่ออกแบบเป็น Unibody ยิ่งเครื่องรีวิวนี้เป็นสีทองด้วย ต้องบอกว่าสวยงามจริงๆ ครับ เดี๋ยวนี้มือถือระดับกลางราคาหมื่นนิดๆ มากันถึงจุดนี้แล้วเหรอเนี่ย
ด้านล่างของตัวเครื่องมีพอร์ต USB อยู่ตรงกลางและไมค์สนทนาอยู่ทางด้านซ้าย ส่วนเส้นพลาสติกสองอันนั้นเข้าใจว่าเป็นส่วนรับสัญญาณมือถือ
ด้านบนมีเพียงพอร์ตหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตรและเส้นพลาสติกรับสัญญาณอีกเส้น
ด้านซ้ายของตัวเครื่องที่ปกติมือถือ Android ส่วนใหญ่จะเว้นว่างไว้ไม่ให้มีปุ่ม แต่ของ OPPO R7 Lite เอาปุ่ม Power มาไว้ตรงนี้ ซึ่งผมว่าเป็นจุดเสียของรุ่นนี้เลย เพราะนิ้วพลาดไปกดปุ่ม Power บ่อยมาก ไม่ว่าตอนใส่หรือเอามือถือออกจากกางเกง ตอนกำลังถ่ายรูปหรือวิดีโอแล้วเผลดไปโดนปุ่มหน้าจอดับ หรือตอนที่จับตั้งมือถือในแนวนอนกับพื้นราบเพื่อดูวิดีโอก็กลายเป็นกดค้าง shutdown เครื่องไปเลย
ด้านขวาของตัวเครื่องมีปุ่มปรับเสียงและช่องใส่ SIM ซึ่งต้องใช้เข็มจิ้มออกมาเพื่อใส่ SIM อีกทีเหมือนกับมือถือสมัยใหม่ทั่วไป
พอจิ้มเอาถาด SIM ออกมาก็จะเห็นว่ามี SIM อยู่ 2 ช่อง เพราะมือถือรุ่นนี้รองรับการใช้งาน 2 SIM โดยช่อง SIM1 เป็น MicroSIM เป็นช่องหลักที่รองรับ 3G/4G ส่วน SIM2 เป็น NanoSIM จะรองรับ 2G เท่านั้น ดังนั้นใส่ SIM ให้ถูกช่องนะครับ
นอกจากนั้นช่อง SIM2 ยังเป็นแบบ Hybrid คือสามารถใส่ MicroSD card แทนได้ในกรณีที่เราใช้ SIM เดียว ดังนั้นจะสามารถใส่ SIM ได้ 2 รูปแบบคือ แบบ 2 SIM และแบบ SIM เดียวพร้อม MicroSD card ดังในรูป
พลิกมาด้านหลังก็เห็นแผ่นโลหะสีทองแบบเต็มๆ สวยงามมาก ซึ่งทาง OPPO เคลมว่ามีอัตราส่วนของโลหะมากถึง 92.3% และกว่าจะออกมาเป็นรูปร่างแบบที่เห็นก็ผ่านกระบวนการขัดเกลาถึง 48 ขั้นตอนเลยทีเดียว
ซูมเข้ามาดูส่วนบนของด้านหลังเครื่องจะมีกล้องความละเอียด 13 ล้านพิกเซลอยู่มุมบนซ้าย ตัวกล้องนูนออกมาจากเครื่องนิดเดียวไม่น่าเกลียดเหมือน R5 ถัดมาด้านล่างจะเป็นไฟ LED แฟลช และจุดดำๆนั้นคือ ไมค์สำหรับตัดเสียงรบกวน
ส่วนล่างจะมีลำโพงอยู่ ซึ่งต้องบอกว่ามีคุณภาพเสียงที่ดีกว่าลำโพงมือถือทั่วไป ถึงจะไม่มีเบส แต่ก็ให้เสียงที่ใสและดังมากเลยทีเดียว ส่วนปุ่มเล็กๆที่อยู่ตรงกลางนั้นเอาไว้ยกตัวเครื่องขึ้นมาให้มีเสียงลอดออกมาจากลำโพงได้เวลาที่มือถือวางราบกับพื้นโต๊ะ ซึ่งต้องบอกว่าช่วยได้นิดหน่อย
สิริรวมเรื่องงานออกแบบและวัสดุที่ใช้ของ OPPO R7 Lite ถือว่าเยี่ยมเลย จะเสียก็ตรง การวางตำแหน่งของปุ่ม Power ไว้ด้านซ้ายของเครื่องนั้น โดยส่วนตัวผมว่ามันผิดที่ผิดทาง เพราะมีการไปโดนปุ่ม Power อยู่บ่อยครั้งในระหว่างการใช้งาน อีกเรื่องคือ เอาลำโพงไว้ด้านหลัง ก็จะขาดพลังเสียงไปเวลาวางราบกับพื้น แต่เข้าใจว่าอยากทำให้เครื่องบางที่สุด จึงต้องเอาไปไว้ตำแหน่งนี้แทน
ว่ากันเรื่อง Software
OPPO R7 Lite มาพร้อมกับ ColorOS 2.1 ซึ่งทำงานอยู่บน Android 5.1.1 Lollipop โดย ColorOS 2.1 นั้นมีการปรับปรุงหลายอย่างจากเวอร์ชันเดิมพอสมควร โดยเฉพาะในส่วนของประสิทธิภาพ OPPO เคลมว่า ความเร็วในการ Boot เพิ่มขึ้น 30% และสามารถเปิดใช้งาน App ได้อย่างรวดเร็วภายในเวลา 311 ms (ละเอียดขนาดนั้น) ซึ่งโดยส่วนตัวลองใช้งานมาประมาณ 1 อาทิตย์ก็ต้องบอกว่า “ไม่ได้โม้” จริงๆด้วย เพราะการใช้งานนั้นลื่นไหลน่าพอใจเป็นอย่างมาก การตอบสนองทำได้ดีในทุกการกระทำ นอกจากนั้นยังมี Theme ที่ optimized มาสำหรับ ColorOS 2.1 ให้เลือกใช้อีกถึง 252 แบบ ผมพบว่า ColorOS 2.1 คือจุดเด่นอย่างหนึ่งของมือถือรุ่นนี้เลย เรามาดูสิ่งที่น่าสนใจของ ColorOS กันดีกว่าครับ
Homescreen
หน้า Homescreen ของ ColorOS นั้นก็มีความคล้ายคลึงกับของมือถือที่เป็นแบรนด์จีนอีกหลายเจ้าคือ “ไม่มี App Drawer” ดังนั้น App ทุกตัวจะถูกติดตั้งอยู่บนหน้า Homescreen ทั้งหมดเหมือนกับของ iOS และ App เหล่านี้สามารถอยู่ปนกันไปกับ Widget ต่างๆได้ด้วยเช่นกัน ด้านซ้ายสุดของ Homescreen จะมีส่วนที่เรียก “Music space” คือเป็นส่วน player สำหรับการฟังเพลงโดยเฉพาะ
การปรับแต่งหน้า Homescreen นั้นสามารถทำได้โดยการแตะค้างบนหน้าจอหรือจะกดปุ่ม “เมนู” ก็ได้ เพื่อเข้าสู่การแก้ไข โดยเราสามารถย้ายตำแหน่งของ App และ Widget รวมไปถึงการเพิ่มลบ Widget และการ ลบ App ออกจากเครื่องไปเลย ส่วนเวลาเปิดปิด App ต่างๆ ก็จะมี effect สวยงามดูลื่นไหลเลยทีเดียว
ในส่วนของ Notification และ Toggles ที่เอาไว้สำหรับเปิดปิดการทำงานบางอย่าง เช่น ไฟฉาย, Wifi หรือ GPS สามารถเข้าใช้งานได้โดยการลากนิ้วจากบนลงล่าง โดยจะลากจากบนสุดหรือลากบริเวณตรงกลางจอก็ได้
Recent apps
หน้า Recent ของ ColorOS สามารถเข้าถึงได้ด้วยการกดปุ่มเมนูค้างไว้ เมื่อเข้ามาหน้า Recent เราจะเห็นรายการ App ต่างๆที่เราเคยเปิดใช้งานอยู่ ซึ่งเราสามารถเลือกสลับไปใช้ App ต่างๆได้ หรือจะทำการปิด App เพื่อเพิ่มพิ้นที่ RAM ก็ทำได้ โดยการปัด App นั้นขึ้นข้างบนทิ้งไป หรือจะปิดทั้งหมดในทีเดียวทำได้โดยการกดปุ่มล้าง App ที่อยู่ตรงกลางหน้าจอด้านล่าง
Theme Store
ColorOS นั้นมีระบบ Theme ในตัวอยู่แล้วและในเวอร์ชัน 2.1 ก็มี Theme มาให้เราเลือกเปลี่ยนใช้งานได้หลายรูปแบบ โดยเราสามารถเข้าไปใน Theme Store เพื่อเลือก Theme ที่ต้องการได้ มีแบบน่ารักๆเยอะเลย สาวๆน่าจะชอบนะครับ
Ocean world
Colorful design
Life in mountain
นอกจาก Theme แล้วเรายังสามารถเปลียน Lockscreen ให้เป็นรูปแบบอื่นได้ด้วย ผ่านทาง Theme store นี่แหละ แต่ตอนนี้ยังมีให้เลือกน้อยอยู่ เพียง 3 แบบเท่านั้น โดยวิธีการปลดล็อคก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละแบบ เช่น จับเครื่องบินพุ่งไปด้านข้าง หรือ เอาไม้ขีดไปจุดที่ไปป์ของลุงหนวด เป็นต้น
Photos
แอพสำหรับดูรูปภาพภายในเครื่องซึ่งเป็นแอพพื้นฐานที่ทุกรุ่นต้องมี สำหรับ Photos ของ ColorOS 2.1 นั้นมีการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆเข้ามาสำหรับการแต่งรูปภาพ เช่น มี filter ให้เลือก 23 รูปแบบ หรือ สามารถเอารูปมาทำ Collage เก๋ๆได้เลย
Browser
สำหรับแอพ Browser ของ ColorOS ถือว่าทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเล่นอินเตอร์เน็ต เปิดเว็บไซต์ต่างๆ ทำได้อย่างลื่นไหล มีฟีเจอร์เปิดเป็นหลายๆแท็บได้ หรือการท่องเว็บแบบไร้ร่องรอย (Traceless browsing) ก็ทำได้เช่นกัน แต่น่าเสียดายที่ขาดฟีเจอร์ที่สำคัญอย่างหนึ่งไปคือ Share โดยการใช้งาน Browser ตัวนี้จะไม่สามารถแชร์ URL ออกไปยังแอพอื่นๆได้เพราะปุ่ม Share ไม่มีครับ
Security Center
ฟีเจอร์เด็ดสำหรับคนที่กังวลเรื่องความปลอดภัยจากการใช้งานแอพบนมือถือเลยครับ จริงๆมือถือจากจีนหลายๆยี่ห้อก็จะมีความสามารถแบบนี้คล้ายๆ กัน สำหรับของ ColorOS จะประกอบด้วย 6 อย่างหลักๆคือ
Memory cleanup : เอาไว้สำหรับ Clear RAM ในเครื่อง ภาษา adware เรียกว่า “ทำความสะอาดหน่วยความจำ” อันนี้ OPPO มีมาให้ใช้เลย ไม่ต้องไป download app จากที่ไหนมาใช้แล้ว
Data monitor : เอาไว้จัดการตรวจสอบการใช้งาน data ของ SIM ว่ามีการใช้งานข้อมูลไปมากน้อยแค่ไหน, เกินค่าที่ตั้งไว้หรือยัง และจัดอันดับ App ที่ใช้งาน data มากที่สุด นอกจากนั้นยังมีส่วน Internet connection control เอาไว้ตัดการใช้งานอินเตอร์เน็ตของ App บาง App ที่ต้องการได้อีกด้วย
Block : ส่วนของการบล็อคเบอร์ที่ไม่อยากรับสายหรือรับข้อความจากเบอร์นั้น สามารถตั้งได้ทั้งแบบ Blacklist และ Whitelist นอกจากนั้นยังสามารถตั้งให้มือถือไม่ดัง เมื่อมีเบอร์โทรศัพท์ที่ไม่รู้จักโทรมาได้อีกด้วย
Privacy permissions : ส่วนของการจัดการเรื่องสิทธิ์ต่างๆของ App ที่อยู่ในเครื่อง โดยเราสามารถตั้งรหัสผ่านในการเปิด App บาง App หรือสั่งให้มีการแจ้งเตือนเมื่อ App มีการขอใช้สิทธิ์ของระบบที่น่าสงสัย นอกจากนั้นเรายังสามารถเลือกตัดสิทธิ์บางอย่างออกจาก App ที่ไม่ต้องการได้ด้วย ซึ่งสามารถเลือกดูได้ 2 มุมมอง คือ ดูว่าสิทธิ์นี้มี App ไหนใช้บ้าง? หรือ ดูว่า App นี้ใช้สิทธิ์อะไรบ้าง? ก็ได้
Energy saving : ส่วนจัดการระบบประหยัดพลังงาน โดยเราสามารถตรวจดูการใช้งานแบตเตอรี่จาก App ต่างๆได้ เปิดใช้งานระบบประหยัดพลังงานได้ ซึ่งใน Normal power savings จะสามารถเลิกรูปแบบการประหยัดได้เอง เช่น ลดแสงหน้าจอ, ปิดสั่นตอนแตะปุ่ม หรือ ปิด GPS, Wi-Fi, Hotspot, Bluetooth และ 3G เพื่อประหยัดพลังงาน นอกจากนั้นยังมี Super Power saving ที่จะปิดการเชื่อมต่อทุกอย่างในเครื่องเหลือแค่ให้โทรออก,รับสาย และรับ SMS ได้เท่านั้น
Quiet Time : โหมดห้ามรบกวนหรือ Do not disturb นั่นเอง โดยสามารถตั้งช่วงเวลาที่ห้ามรบกวนได้ ซึ่งสามารถเลือกได้อีกว่า จะอยู่ในโหมดนี้แค่ช่วงเวลาหนึ่ง หรือตั้งอัตโนมัติไว้ทุกวันให้เปิดโหมดนี้ตามเวลาที่ต้องการก็ได้เช่นกัน ส่วนเสียงที่ห้ามรบกวนก็เลือกได้อีกว่า จะปิดเสียงเตือนต่างๆ, เสียงสายเรียกเข้า หรือเสียง SMS
Notification center
ส่วนการจัดการข้อความแจ้งเตือนจาก App ต่างๆที่อยู่ในเครื่อง หรือระบบ Notification นั่นเอง โดยเราสามารถกำหนดได้ว่า จะอนุญาติให้มีข้อความแจ้งเตือนจาก App นั้นๆขึ้นมาที่ตรงไหนได้บ้าง? ซึ่งสามารถเลือกเปิดปิดได้ 3 ที่คือ Status bar ด้านบนของหน้าจอ, Notification bar และบนหน้า Lockscreen
Carrier Info
ส่วนนี่เป็นฟีเจอร์พิเศษที่สามารถโชว์โลโก้ของระบบเครือข่ายที่เราใช้งานกับ SIM นั้นบน Status bar ด้านบนได้ จากรูปก็เป็นโลโก้ของ AIS ครับ เราสามารถมาเลือกเปิดปิดได้ในส่วนของ Settings -> Display
Eye protection display
เป็นระบบการปรับลดแสงสีฟ้าในการแสดงผลหน้าจอ เพื่อถนอมสายตาของผู้ใช้ ซึ่งมีการวิจัยออกมาแล้วว่า แสงสีฟ้าที่กับแสงสีต่างๆในการแสดงภาพบนหน้าจอนั้น สามารถทำอันตรายกับตาของคนเราได้หากมีการใช้งานนานๆ ซึ่งตรงนี้ ColorOS อนุญาตให้ปรับลดแสงสีฟ้าได้ 3 ระดับคือ Low, Medium และ High เวลาเปิดระบบนี้ หน้าจอจะแดงขึ้นเห็นได้ชัดเลยครับ
ก็ประมาณนี้ครับ สำหรับ ColorOS 2.1 ของ OPPO R7 Lite โดยรวมแล้วผมรู้สึกว่าเป็นการรวมเอาส่วนดีๆจาก iOS และ Android มารวมกัน ทำให้ประสบการณ์ใช้งานไม่เหมือน Android ทั่วไป สำหรับคนที่เล่น Android รุ่นอื่นมาก่อนอาจจะรู้สึกแปลกนิดๆ เพราะไม่มี App Drawer แต่สำหรับคนที่มาจาก iOS นั้นเรียกว่า ปรับตัวได้ไม่ยากเลย เพราะมันคล้าย iOS ในหลายๆอย่าง อาจจะมีเรียนรู้เพิ่มนิดหน่อยเรื่อง Widget เท่านั้นเอง ผมให้ ColorOS 2.1 เป็นจุดเด่นของมือถือรุ่นนี้เลย เพราะถึงแม้จะจะมีส่วนคล้ายของคนอื่นหลายอย่างแต่รวมๆแล้วก็ให้ประสบการณ์ใช้งานที่ดีมากเลยครับ
กล้องถ่ายรูป
OPPO เป็นผู้ผลิตที่ให้ความสำคัญเรื่องกล้องบนมือถือของตัวเองอยู่แล้ว และถึงแม้ R7 Lite จะเป็นรุ่นระดับกลาง ราคาไม่สูงมาก แต่กล้องที่ให้มาก็ถือว่าคุณภาพเกินราคาเลยทีเดียว โดยกล้องของ R7 Lite สามารถถ่ายภาพได้ความละเอียดสูงสุด 13 ล้านพิกเซล มาพร้อมเลนส์ที่มีค่า aperture f/2.2 และระบบออโต้โฟกัสแบบ Phase Detection คุณภาพของภาพถ่ายจัดว่าดีเกินราคาค่าตัวซะอีก แถมยังมีโหมดถ่ายรูปให้เล่นอีกบานตะไท ตัวอย่างเช่น
Ultra HD : โหมดถ่ายภาพความละเอียดสูงระดับ 25 ล้านพิกเซล โดยอาศัยเทคนิค Multi-frame sampling
Colorful Night : โหมดช่วยเพิ่มสีสันให้กับภาพที่ถ่ายตอนกลางคืน
Panorama : โหมดถ่ายภาพพาโนรามา
HDR : โหมดถ่ายภาพ HDR
RAW : โหมดถ่ายภาพแบบ RAW ซึ่งจะได้ไฟล์ภาพออกมาเป็นไฟล์ DNG สามารถนำไปแต่งเพิ่มเติม
Double Exposure : โหมดถ่ายภาพ 2 ภาพซ้อนกัน เป็นเทคนิคถ่ายภาพเก๋ๆ แนวใหม่
Super Macro : โหมดถ่ายภาพมาโครแบบซูมสุดๆ เอาไว้ถ่ายแมลงหรือดอกไม้
Slow Shutter : โหมดถ่ายภาพแบบเปิดหน้ากล้องนานๆ เอาไว้ถ่ายแสงไฟเส้นๆ
Expert Mode : โหมดสำหรับมือโปรที่ต้องการปรับค่าต่างๆในการถ่ายรูปเอง สามารถปรับได้ทั้งจุดโฟกัส, จุดวัดแสง, ระยะโฟกัส, shutter speed, ISO, EV และ White balance
ตัวอย่างภาพถ่าย
Normal
HDR
Ultra HD (กดที่รูปเพื่อดูรูปเต็ม)
Panorama
Super Macro
Slow Shutter
สำหรับการถ่ายวิดีโอนั้นสามารถถ่ายได้สูงสุดที่ความละเอียด Full HD 1080p โดยมี Framerate ที่ 30fps คุณภาพที่ได้ถือว่าพอใช้ แต่เสียงนั้นไม่มีความชัดเจนสักเท่าไหร่ มาดูตัวอย่างกันครับ
ส่วนการถ่าย Selfie ด้วยกล้องหน้าก็จัดว่าดีเช่นกัน พร้อมทั้งมีโหมด Beautify มาให้ปรับหน้าเนียน ดูขาววิ้งกันเต็มที่ แต่ไม่มีทำหน้าตอบนะครับ ต้องอาศัยแอพอื่นช่วยไปก่อน
Normal
Beautify 100%
ประสิทธิภาพและความอึด
OPPO R7 Lite มาพร้อมกับ CPU Qualcomm Snapdragon 615 พร้อมกับ RAM 2GB ซึ่งประสิทธิภาพนั้นต้องบอกเหลือๆสำหรับการใช้งานทั่วไป เล่นเกมส์ก็สบายหายห่วง เท่าที่ผมได้ลองใช้งานมา 1 อาทิตย์ ผมไม่พบว่ามือถือรุ่นนี้จะมีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพเลย ทุกอย่างไหลลื่น ใช้งานได้อย่างสนุก อาจจะเพราะตัว ColorOS ได้รับการ optimize มาอย่างดีด้วยเช่นเดียวกัน ผลจากการทดสอบด้วยแอพ benchmark อย่าง Antutu และ Geekbench ได้ผลเป็นดังนี้
Antutu
Geekbench
ในส่วนของพื้นที่ใช้งานจากความจุทั้งหมด 16GB จะถูกจองให้ระบบใช้งานไป 5.84GB เหลือพื้นในส่วนของผู้ใช้ 6.87GB แต่มือถือรุ่นนี้ก็สามารถใส่ microSD card เพิ่มพื้นที่ได้เองอยู่แล้วตรงนี้ไม่น่าห่วงเท่าไหร่
สำหรับความอึดของ OPPO R7 Lite นั้นถือว่าไม่อึดมาก แต่ก็พอจะสามารถใช้งานได้ 1 วันโดยไม่ต้องชาร์จระหว่างทาง โดยจากการใช้งานแบบทั่วไป เล่นอินเตอร์เน็ต, ฟังเพลง, เล่น chat และเล่นเกมส์บ้างเล็กน้อย พบว่าสามารถใช้งานได้ประมาณ 11-12 ชั่วโมงก่อนจะถึงจุดที่สมควรต้องชาร์จแล้ว ถ้าเป็นการใช้งานหนักๆคงจะเหลือน้อยลงและมีต้องชาร์จระหว่างวันกันบ้างล่ะ
บทสรุป
OPPO R7 Lite เป็นมือถือที่ค่อนข้างเพียบพร้อม ทั้งในเรื่องงานออกแบบและวัสดุที่เลือกใช้กระจกโค้ง 2.5D ประกบกับโลหะแมกนีเซียมอัลลอยแบบ Unibody บ่งบอกถึงความพรีเมียมของมือถือรุ่นนี้ชัดเจน ในส่วนของประสิทธิภาพก็จัดว่าแรงกับ Snapdragon 615 และ RAM 2GB สำหรับหน้าจอ AMOLED HD ขนาด 5 นิ้วก็แสดงภาพได้คมชัด มีสีสันสวยงาม ส่วน ColorOS 2.1 บน Android 5.1.1 นั้นก็เป็นซอฟต์แวร์ที่ทำได้รับการปรับปรุงมาอย่างดีเลยทีเดียว สำหรับกล้องหลังและกล้องหน้านั้นคุณภาพหายห่วงสไตล์ OPPO อยู่แล้ว ด้วยราคา 10,990 บาทนั้นถือว่าคุ้มค่ากับการซื้อมาใช้งาน แนะนำได้โดยไม่เคอะเขิน
ข้อดี
| ข้อด้อย
|
ถึงแม้ว่ารุ่นพี่อย่าง OPPO R5 นั้นลดราคาลงมาเหลือเพียง 8,490 บาท ในสเปกที่พอๆกัน แต่ OPPO R7 Lite นั้นได้เปรียบเรื่องความสดใหม่ ในทุกส่วนที่มีการปรับปรุงมาอย่างดีแล้ว ยังไงผมก็คิดว่าเลือก OPPO R7 Lite ดีกว่า OPPO R5 ครับ สำหรับรีวิวของจบลงเพียงเท่านี้ โอกาสหน้าพบกันใหม่ สวัสดีครับ
ตั้งราคาเผื่อต่ออีกเช่นเคย
ใครจะซื้อแนะนำสั่งออนไลน์ http://bit.ly/oppo-r7-thailand
.
แล้วหาโค้ดลดจาก http://bit.ly/lazada-coupon-code
.
ลดได้เยอะเลยค่ะ
.
ขนาดไลท์ ยังเกินหมื่น
เห็นแว้ลแรกนึกว่า Xiaomi mi4
ราคานี้ Samsung Galaxy A5 ดีกว่าไหม OPPO R7 Lite CPU แรงจริง แต่ไม่ชอบ ดีไซน์ 10990 บาท เท่ากัน ความฟรุ่งฟริ้ม ผมให้ A5
ถ้าเทียบกับ Find 7a ละครับสเปคแรงกว่า กล้องดีกว่ามั้ย จอใหญ่กว่า ละเอียดกว่า ราคาถูกกว่า
แต่วัสดุสู้ไม่ได้
ก็ไม่ได้แพงนะถ้าไปเทียบกับ HTC
แต่คู่แข่งค่ายอื่นถูกกว่า คงตั้งเผื่อลดราคา แบบข้างบนว่า
+1 กำลัง รอ HTC Desire EYE ลดราคา ระลอก 3 อยู่ ว่าจะซื้อหน่อย
เพิ่งย้ายจาก galaxy Alpha มาใช้ตัวนี้ครับ ชอบมาก เหมือนขึ้นจากนรกแล้วเจอสวรรค์ (เวอร์ไป) ลื่นไหลรวดเร็ว ใช้ดีมาก เสียอย่างเดียว กล้องหน้า กากมากครับ 8ล้าน สู้ 1.2ล้านพวกไอโฟนไม่ได้แม้แต่น้อย แอบคิดถึงกล้องของ Alpha
ชอบระบบpermission กับตั้งเวลาเปิดปิดเครื่อง
ตัวนี้น่าใช้มากๆ ดูจากอะไรหลายอย่างแล้ว กล้องก็สวย สเปคก็พอตัว บางๆ ชอบๆ
เค้าว่าเครนะกล้องสวยดี ดูๆมาแล้วราคาน่าจะมาประมาณนี้ ชอบน่าใช้ ไว้งานexpro จะไปดูสักเครื่อง
กล้องสวยคับ ซื้อมาใช้แระ ก็ลื่นไหลดีคับ ซื้อมาแระในงาน Mobile expo
ถ่ายภาพออกมาสวยมากคะ แบตทนมากกก