ในงาน INNO Day ปีนี้ OPPO ยังคงมีนวัตกรรมเจ๋ง ๆ มานำเสนอดังเช่นทุกที นอกเหนือจากแว่นตาอัจฉริยะ Air Glass และชิปประมวลผลภาพ MariSilicon X ที่ได้เห็นกันไปแล้ว ยังมีมือถือกล้องยืดหดได้ “Retractable Camera” รุ่นต้นแบบโผล่มาร่วมแจมให้แฟน ๆ ได้ยลโฉมกัน พร้อมทั้งประกาศว่า บริษัทฯ จะมีการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้งานกับอุปกรณ์อื่น ๆ ในอนาคตด้วย
ข้อจำกัดเรื่องขนาด ทำให้กล้องเทเลโฟโตในมือถือพัฒนาต่อได้ยาก
การใส่กล้องเทเลโฟโตดี ๆ สักตัวลงไปยังมือถือนั้นเป็นไปได้ยาก จากข้อจำกัดด้านขนาดที่ผูกมัดเอาไว้ ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่จึงเลือกแก้ปัญหาโดยการวางชุดเลนส์ในแนวนอน แล้วใช้ปริซึมหักเหแสงเข้าสู่เซนเซอร์รับภาพอีกที หรือที่เรียกว่ากล้อง Periscope นั่นเอง ส่วนอีกอีกวิธีหนึ่งที่พบเห็นได้คือ การเลือกใช้เซนเซอร์ขนาดเล็กเพื่อไม่ให้เกะกะพื้นที่ภายใน ส่งผลให้เลนส์ที่นำมาใช้งานคู่กันมีขนาดเล็กตาม กล้องจะได้ไม่นูน และน้ำหนักโดยรวมของสมาร์ทโฟนจะได้ไม่สูงจนเกินไป
อย่างไรก็ตาม วิธีข้างต้นอาจยังไม่ตอบโจทย์ในแง่คุณภาพของรูปหรือวิดีโอที่ถ่ายออกมา ด้วยขนาดของเซนเซอร์ที่ไม่ได้ใหญ่โตอะไรนัก ประกอบกับระบบกันสั่นไม่มีประสิทธิภาพสูงพอจะรับมือกับเลนส์ทางยาวโฟกัสสูง ๆ ดังนั้นการมาถึงของกล้องยืดหดได้จะเป็นการทำลายข้อจำกัดดังกล่าวทิ้งไป เพราะสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นแนวตั้งหรือแนวนอน และในขณะที่ไม่ได้ใช้งานเลนส์ก็หดเข้ามาเก็บได้ จึงไม่ทำให้กล้องยื่นออกมา
กล้องยืดหดได้เป็นทางออกที่น่าสนใจสำหรับอนาคต
อุปกรณ์รุ่นต้นแบบของ OPPO ใช้เซนเซอร์ IMX766 จาก Sony ซึ่งเป็นตัวเดียวกับในกล้องหลักของ Find X3 Pro โดยมีขนาดใหญ่ถึง 1/1.56 นิ้ว แถมยังมากับเลนส์ระยะ 52 มม. รูรับแสง ƒ/2.4 และมีระบบกันสั่น OIS ในตัวอีกต่างหาก
ความน่าสนใจของเทคโนโลยี Retractable Camera ไม่ได้หมดเพียงแค่นั้น โดย OPPO สามารถออกแบบให้มันทนน้ำได้ และมีฟังก์ชันตรวจจับการทำหล่น ซึ่งกล้องจะหดเก็บเข้าไปอัตโนมัติภายในระยะเวลาเพียง 0.6 วินาทีเท่านั้น เป็นการลดโอกาสเกิดความเสียหายลงไปได้อย่างมาก
สำหรับข้อได้เปรียบของเลนส์เทเลโฟโตเมื่อมาอยู่บนเซนเซอร์ภาพขนาดใหญ่ ทำให้มีระยะชัดตื้นแคบ เมื่อนำไปถ่ายพอร์ตเทรตจะสามารถสร้างโบเก้ออกมาได้สวยโดยไม่ต้องอาศัยการเบลอฉากหลังและเรนเดอร์โบเก้ปลอม ๆ ด้วยซอฟต์แวร์เข้ามาช่วย นอกจากนี้ OPPO ยังเคลมว่า Retractable Camera มีอัตราส่วนระหว่างสัญญาณต่อสัญญาณรบกวนสูง (signal-to-noise ratio: SNR) พูดอีกนัยหนึ่งคือ รูปจะมีนอยส์น้อย ถ่ายภาพตอนกลางคืนได้ดี ซึ่งก็เป็นผลลัพธ์ที่มาจากการใช้เซนเซอร์ขนาดใหญ่นั่นเอง
ที่มา : OPPO
แบบนี้สิน่าสนจริง
เห็นแล้วนึกถึง SS K Zoom
https://www.siamphone.com/spec/samsung/galaxy_k_zoom.htm
มือถืออ่ะ มันไม่อยู่นิ่ง อะไรที่เคลื่อนไหวได้ ควรมีให้น้อยที่สุด ขยับได้ = พังได้ง่ายกว่าพวกไม่ขยับ
ผมนึ่รอเลย