กลับมาแล้วกับบทความรวบรวมศัพท์ยากในวงการพีซีอันแสนปวดหัวที่หลายคนรอคอย คราวที่แล้ว EP.1 เราเพิ่งมีการพูดถึงศัพท์ในหมวดซีพียูกันไป รอบนี้ EP.2 ถึงตาหมวดที่ชาวเกมหลายคนรอคอยกันบ้างอย่างหมวดการ์ดจอหรือ GPU ซึ่งมือใหม่หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำนี้กันมาบ่อย แต่อาจจะยังไม่ได้เข้าใจลึกมากพอว่ามันหมายถึงอะไร และใช้ประโยชน์ยังไงบนคอมพิวเตอร์พีซี

ซึ่งวันนี้เราก็จะเอาสารพัดคำศัพท์ในวงการการ์ดจอมาอธิบายให้ฟังกันอย่างละเอียดอีกเหมือนเคย แถมมาในธีมเดิมคือเน้นบรรยายด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายไม่น่าเบื่อ เอาใจมือใหม่ที่กำลังเริ่มศึกษาคอมพิวเตอร์ ดังนั้นใครสนใจอยู่ก็ตามไปดูกันได้เลยครับ

รวมคำศัพท์คอมพิวเตอร์ หมวดเกี่ยวกับซีพียู (CPU) ฉบับลงลึก แต่เข้าใจง่าย รู้แล้วเลือกสเปคคอมได้เก่งขึ้นแน่นอน (EP.1)

 

ส่วนคำศัพท์ฮาร์ดแวร์การ์ดจอ

 

การ์ดจอ (GPU)

มาถึงคำที่คนเล่นเกมหลายคนน่าจะชอบอย่างการ์ดจอ มีชื่อภาษาอังกฤษมีหลายชื่อมาก ได้แก่ Graphic Card, Video Card หรือ VGA Card คือฮาร์ดแวร์ชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่แยกการประมวลผลด้านกราฟิกหรือภาพวิดีโอต่าง ๆ ออกมาจากซีพียูโดยเฉพาะ

ถ้าถามว่าปกติซีพียูมีการ์ดจอของตัวเองมั้ยก็ต้องบอกว่ามี เรียกว่าการ์ดจอออนบอร์ด (ลองย้อนกลับไปอ่านในหัวข้อออนบอร์ดของซีพียู) แต่เนื่องประสิทธิภาพมันสูงไม่พอ เล่นเกมหรือเรนเดอร์วิดีโอหนัก ๆ ไม่ค่อยไหว ผู้ผลิตจึงพยายามพัฒนาการ์ดจอแยกออกมาเอาไว้ต่อใช้งานร่วมกับซีพียูอีกทีนั่นเอง แต่เรามักจะไม่เห็นคอมพิวเตอร์ตระกูล Mac เอามาใช้งานเนื่องจากมันกินไฟหนักยิ่งกว่าซีพียูซะอีก

การ์ดจอก็มีหน่วยประมวลผลหรือสมองของตัวเอง เรียกว่า จีพียู (GPU, Graphics Processing Unit) ทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวกับภาพหรือวิดีโอที่เราเห็นบนจอคอมทั้งหมด ปัจจุบันการ์ดจอแยกที่ใช้งานบนพีซีระบบ Windows จะแบ่งออกเป็น 3 ยี่ห้อหลัก ๆ คือ NVIDIA, AMD และ Intel ทั้ง 3 แบรนด์จะการ์ดจอมีให้เลือกตั้งแต่รุ่นเล็กที่เอาไว้ใช้งานบนโน้ตบุ๊คเครื่องเบา ๆ ไปจนถึงรุ่นประสิทธิภาพสูงที่ใช้บนคอมเกมมิ่งหรือคอมที่ทำงานหนัก ๆ ตลอดเวลา แล้วแต่ความต้องการของผู้ใช้

 

NVIDIA GeForce

เอ็นวีเดียร์ (NVIDIA) คือผู้ผลิตการ์ดจอที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของโลก การ์ดจอรุ่นที่โด่งดังที่สุดและนิยมใช้งานบนพีซีในปัจจุบันก็คือ NVIDIA ตระกูล GeForce (จริง ๆ จะมีตระกูล Quadro อีก แต่เอาไว้ใช้งานด้านอื่น) ซึ่ง ณ วันที่เขียนบทความนี้ การ์ดจอตระกูล GeForce ได้เดินทางมาถึงซีรีส์ 3000 แล้ว (นับจาก 900, 1000, 1600, 2000, … ขยับเป็นเจนใหม่ขึ้นมาเรื่อย ๆ ส่วนในต่างประเทศจะชอบเรียกว่าซีรีส์ 30) เรียกชื่อเต็ม ๆ ว่า NVIDIA GeForce RTX 3000 Series หรือเรียกสั้น ๆ ก็คือ RTX 3000

 

GTX / RTX

GTX ย่อมาจาก Giga Texel shader eXtreme คือชื่อรุ่นย่อยของการ์ดจอตระกูล GeForce ที่ใช้เทคโนโลยีเก่าในการผลิตมาตั้งแต่ปี 2008 (จริง ๆ มี GT ธรรมดาด้วย แต่เป็นรุ่นเล็กกว่า) ซีรีส์ล่าสุดเปิดตัวในปี 2019 คือ GTX 1600 มีใช้งานทั้งบนคอมเดสก์ท็อปหรือโน้ตบุ๊ค ปัจจุบันใกล้จะเลิกผลิตแล้ว

RTX ย่อมาจาก Ray-tracing Texel eXtreme คือชื่อรุ่นย่อยของการ์ดจอตระกูล GeForce เหมือนกัน แต่ผลิตให้รองรับเทคโนโลยีใหม่กว่าที่เรียกว่า real-time Ray Tracing ช่วยเพิ่มคุณภาพกราฟิกเกมให้สมจริงกว่าเดิม ซีรีส์แรกที่เปิดตัวคือ RTX 2000, ปัจจุบันคือ RTX 3000 และกำลังจะมี RTX 4000 ตามมาเร็ว ๆ นี้

 

Ray Tracing

Ray Tracing หมายถึง เทคโนโลยีที่ใช้ในการคำนวณแสงและเงาจากภาพวัตถุ 3 มิติขึ้นมาเพื่อช่วยเรนเดอร์ภาพให้มีความสมจริงเนียนตาขึ้น เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้วงการเกมก้าวเข้าสู่ยุคกราฟิกเจนใหม่ในปัจจุบัน แน่นอนว่าตัวเกมก็ต้องออกแบบให้รองรับด้วยถึงจะใช้งานร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์ หลายคนก็น่าจะคุ้นเคยกับคำว่า RTX On ของ NVIDIA ซึ่งก็คือการเปิด Ray Tracing ในเกมนั่นเอง แต่ตอนนี้เริ่มมีการพูดถึงเทคโนโลยียุคถัดไปอย่าง Path Tracing ที่สมจริงกว่าขึ้นมาบ้างแล้ว ซึ่งเราอาจจะได้เห็นการ์ดจอ PTX ในอนาคตอันใกล้ต่อไป

 

GeForce RTX Series

การ์ดจอตระกูล GeForce RTX ถูกซอยย่อยออกเป็น 5 ระดับก็คือ RTX XX50, RTX XX60, RTX XX70, RTX XX80 และ RTX XX90 (XX แทนเลขซีรีส์ เช่น 30 = 3000) ยิ่งเลขท้ายมากประสิทธิภาพก็ยิ่งสูง และราคาก็จะยิ่งแพงขึ้นตาม ที่สำคัญคือตอนนี้ RTX ทั้งรุ่นเดสก์ท็อปและโน้ตบุ๊คใช้ชื่อเดียวกันหมด ไม่มีตัวอักษรท้ายไว้แบ่งแยกเหมือนในอดีตแล้ว

 

รหัสท้ายการ์ดจอ Ti, Super

การ์ดจอ RTX แต่ละรุ่นอาจจะมีชื่อพิเศษตามท้ายอีก เช่น Ti (Titanium) หรือ Super ซึ่งหากพบเห็นให้รู้ว่ามันคือการ์ดจอออกใหม่ที่เรียกว่า รุ่นรีเฟรช อัปเกรดความแรงเพิ่มขึ้นในชื่อเดิม เช่น การ์ดจอ RTX 2080 ก็จะมีรุ่น RTX 2080 Super และ RTX 2080 Ti ออกมาเพิ่มอีกในปีถัด ๆ มา ส่วนใหญ่รหัส Ti มักจะแรงกว่า Super เสมอ เพราะมีคอร์ประมวลผลมากกว่า มีแรมมากกว่า หรือบางครั้งใช้ชิปตัวแรงกว่าก็มี เช่น RTX 2080 Ti แรงกว่า RTX 2080 Super (และแพงกว่าด้วย)

 

CUDA Core

CUDA Core คือชื่อคอร์ประมวลผลที่ใช้บนการ์ดจอ NVIDIA (เป็นชื่อเฉพาะของแบรนด์ด้วย) ยิ่งมีจำนวนมากก็จะยิ่งทำให้การ์ดจอประมวลผลได้เร็ว ปัจจุบันการ์ดจอบนคอมเดสก์ท็อปที่มี CUDA Core เยอะที่สุดคือ RTX 3090 Ti มี 10,752 หน่วย ส่วนการ์ดจอฝั่งตรงข้ามอย่าง AMD Radeon ก็มีสิ่งที่คล้ายกันเรียกว่า Stream Processor แต่เปรียบเทียบกันไม่ได้เพราะผลิตด้วยเทคโนโลยีคนละแบบ

 

AMD Radeon

เอเอ็มดี (AMD) นอกจากเป็นผู้ผลิตซีพียูรายใหญ่ของโลกแล้ว ยังผลิตการ์ดจอแยกเป็นของตัวเองด้วย โดยการ์ดจอรุ่นที่โด่งดังที่สุดและนิยมใช้งานบนพีซีในปัจจุบันก็คือ AMD ตระกูล Radeon (จริง ๆ จะมีตระกูล Radeon Pro, FirePro อีก แต่เอาไว้ใช้งานด้านอื่น) ซึ่ง ณ วันที่เขียนบทความนี้ การ์ดจอตระกูล Radeon ได้เดินทางมาถึงซีรีส์ 6000 แล้ว (นับจาก 5000, 6000, … ขยับเป็นเจนใหม่ขึ้นมาเรื่อย ๆ) เรียกชื่อเต็ม ๆ ว่า AMD Radeon RX 6000 Series หรือเรียกสั้น ๆ ก็คือ RX 6000

 

RX

RX ย่อมาจาก Radeon eXperience คือชื่อรุ่นย่อยของการ์ดจอตระกูล Radeon ในอดีตจะใช้คำว่า RX กับการ์ดจอเดสก์ท็อปอย่างเดียว ส่วนโน้ตบุ๊คเป็น Radeon XX00 ไปเลย แต่ปัจจุบันมีบนทั้ง 2 แล้ว

 

Radeon RX Series

การ์ดจอตระกูล Radeon RX ถูกซอยย่อยออกเป็น 6 ระดับก็คือ RX X400, RX X500, RX X600, RX X700, RX X800 และ RX X900 (X แทนเลขซีรีส์ เช่น 6 = 6000) ยิ่งเลขท้ายมากประสิทธิภาพก็ยิ่งสูง และราคาก็จะยิ่งแพงขึ้นตาม

ปัจจุบันจะแยกความแตกต่างระหว่างรุ่นเดสก์ท็อปกับโน้ตบุ๊คออกจากกัน คือบนโน้ตบุ๊คจะใช้ตัวอักษร M (Mobile) หรือ S (Slim) ต่อท้ายเลข เช่น RX 6800M และ RX 6800S โดยรุ่น S จะใช้ในโน้ตบุ๊คบางเบา เน้นประหยัดพลังงาน ส่วน M จะเป็นรุ่นธรรมดาไปจนถึงประสิทธิภาพสูง

 

รหัสท้ายการ์ดจอ XT

การ์ดจอ RX แต่ละรุ่นอาจจะมีชื่อพิเศษตามท้ายอีก เช่น XT ซึ่งหากพบเห็นให้รู้ว่ามันคือการ์ดจอออกใหม่ที่เรียกว่า รุ่นรีเฟรช อัปเกรดความแรงเพิ่มขึ้นในชื่อเดิม เช่น การ์ดจอ RX 6800 ก็จะมีรุ่น RX 6800 XT ออกตามมาในปีถัดมา เป็นต้น

 

Stream Processor

Stream Processor คือชื่อคอร์ประมวลผลที่ใช้บนการ์ดจอ AMD (เป็นชื่อเฉพาะของแบรนด์ด้วย) ยิ่งมีจำนวนมากก็จะยิ่งทำให้การ์ดจอประมวลผลได้เร็ว ปัจจุบันการ์ดจอบนคอมเดสก์ท็อปที่มี Stream Processor เยอะที่สุดคือ RX 6900 XT มี 5,120 หน่วย ส่วนการ์ดจอฝั่งตรงข้ามอย่าง NVIDIA GeForce ก็มีสิ่งที่คล้ายกันเรียกว่า CUDA Core แต่เปรียบเทียบกันไม่ได้เพราะผลิตด้วยเทคโนโลยีคนละแบบ

 

วีแรม (VRAM)

วีแรม (VRAM) หมายถึง แรมวิดีโอ คือหน่วยความจำชนิดหนึ่งที่ใช้ในการ์ดจอ ทำงานเหมือนกับแรมในเครื่องเกือบทุกอย่าง แต่จะใช้เก็บเฉพาะข้อมูลประเภทภาพ, วิดีโอ หรือไฟล์ 3 มิติเท่านั้น ซึ่งการ์ดจอจะดึงเอาข้อมูลเหล่านี้มาจากฮาร์ดดิสก์หรือ SSD แล้วเอามาพักใน VRAM ชั่วคราว จากนั้นก็ประมวลผลแสดงขึ้นหน้าจอเป็นหน้าโปรแกรมหรือเกมให้เราเห็นต่อไป การ์ดจอรุ่นทั่วไปที่มี VRAM สูงที่สุดตอนนี้คือ RTX 3090 Ti ขนาดแรม 24GB GDDR6X

 

GDDR

GDDR ย่อมาจาก Graphics Double Data Rate คือชนิดของ VRAM ในการ์ดจอที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่ง ณ วันที่เขียนบทความนี้ VRAM ได้เดินทางมาถึงยุค GDDR6X แล้ว (นับจาก GDDR1, GDDR2, … ขยับเป็นเจนใหม่ขึ้นมาเรื่อย ๆ) ยิ่งเลขท้ายมากก็ยิ่งเร็ว และราคาก็จะยิ่งแพงขึ้นตาม ส่วนตัว X ตามท้ายหมายถึงรุ่นพิเศษที่อัปเกรดประสิทธิภาพขึ้นเหมือนกัน แต่ยังไม่ได้ข้ามเจนเหมือนจาก GDDR5 ไป GDDR6

 

TGP

TGP ย่อมาจาก Total Graphics Power หมายถึงค่าพลังงานรวมที่ Power Supply ต้องจ่ายให้กับการ์ดจอทั้งหมดในหน่วยวัตต์ (W) แต่จริง ๆ หากจะวัดการกินไฟของการ์ดจอจะใช้เป็นค่า TDP เหมือนของซีพียูก็ได้ แล้วแต่ว่าแบบไหนสะดวกกว่า ซึ่งแบบที่นิยมที่สุดก็ยังเป็น TDP อยู่ดี ปัจจุบันการ์ดจอที่กินไฟหนักที่สุดคือ RTX 3090 Ti มีค่า TDP อยู่ที่ 450W ส่วนวิธีการคำนวณค่าไฟสามารถย้อนไปอ่านรายละเอียดดูได้ในหมวด TDP ของซีพียูได้

 

TBP

TBP ย่อมาจาก Total Board Power หมายถึงค่าพลังงานรวมที่ Power Supply ต้องจ่ายให้กับการ์ดจอทั้งหมดในหน่วยวัตต์ (W) เหมือนกับค่า TGP เกือบทุกประการ ต่างกันแค่เล็กน้อยคือค่า TBP จะคำนวณการใช้พลังงานรวมทุกอย่างมากกว่า เช่น นับรวมค่าความร้อนที่ปล่อยออกมาจากพัดลมการ์ดจอ หรือกระทั่งไฟ LED วิบวับที่ติดมากับการ์ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วย ซึ่งคนที่นิยมใช้ค่า TBP ในการคำนวณพลังงานการ์ดจอคือ AMD ขณะที่ NVIDIA ชอบใช้ TGP ส่วนมาตรฐานกลางคนก็ยังชอบใช้ TDP เหมือนเดิม

 

MSRP

MSRP ย่อมาจาก Manufacturer’s Suggested Retail Price หมายถึงราคาขายปลีกที่ “แบรนด์เจ้าของชิปการ์ดจอ” แนะนำให้กับ “ผู้ผลิต” ก่อนจะเข้าใจคำนี้ต้องท้าวความก่อนว่า ตลาดการ์ดจอไม่เหมือนตลาดซีพียู ที่แบรนด์เจ้าของชิปซีพียูอย่าง Intel และ AMD เป็นคนออกแบบชิป, ควบคุมการผลิตเอง และขายเองทั้งหมด

แต่แบรนด์เจ้าของชิปการ์ดจออย่าง NVIDIA และ AMD ทำหน้าที่หลักแค่อย่างเดียวคือออกแบบโครงสร้างชิปภายใน และส่งขายให้กับผู้ผลิตโดยตรง ผู้ผลิตเหล่านี้ก็จะเอาโครงสร้างมาผลิตการ์ดจอของตัวเองอีกที แล้วถึงค่อยขายถึงมือผู้บริโภคอย่างเรา ๆ เป็นลำดับถัดมา

ผู้ผลิตที่ว่าก็คือแบรนด์การ์ดจอต่าง ๆ ที่เราคุ้นเคยกันนั่นเอง เช่น ASUS, MSI, Gigabyte, EVGA, GALAX, INNO3D ฯลฯ ซึ่งจริง ๆ NVIDIA กับ AMD ก็มีผลิตเองบ้าง แต่ไม่ได้เน้นขาย เน้นออกเป็นตัวต้นแบบเฉย ๆ เรียกว่า Reference Card หรือการ์ดเรฟแบบไทย ๆ

ดังนั้นราคา MSRP ก็เลยหมายถึงราคาที่ NVIDIA กับ AMD แนะนำให้แบรนด์ผู้ผลิตตั้ง แต่แบรนด์อาจจะไม่ตั้งตามนี้ก็ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะตั้งแพงกว่าเพราะแบรนด์ต้องเอาไปติดพัดลมระบายความร้อนเพิ่มหรือออกแบบใส่ไฟ RGB ให้มันสวยขึ้นไปอีกเป็นกิมมิคเพื่อแข่งกันขาย ต้นทุนมันก็เลยต้องสูงกว่า MSRP นั่นเอง

 

เฟรมเรต (FPS)

FPS ย่อมาจาก Frame Per Second หมายถึง หน่วยของการวัดภาพเคลื่อนไหวเป็นจำนวนเฟรมต่อวินาที เรียกง่าย ๆ ว่าเฟรมเรตก็ได้ ในวงการการ์ดจอเป็นสิ่งที่คนค่อนข้างให้ความสำคัญที่สุด เพราะถ้าการ์ดจอตัวไหนยิ่งประสิทธิภาพดีก็จะยิ่งเล่นเกมได้ FPS สูงและนิ่ง ทำให้เล่นแล้วลื่นไม่มีกระตุกนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การ์ดจอหนึ่งตัวไม่ได้เล่นเกมทุกเกมได้ FPS เท่ากันหมด เพราะมันขึ้นอยู่กับความหนักของทรัพยากรที่เกมนั้นออกแบบมาด้วย แต่หากเทียบด้วยเกมเดียวกันแล้ว การ์ดจอรุ่นใหญ่มักจะเล่นได้ FPS สูงกว่ารุ่นเล็กเสมอ แต่ FPS ก็ไม่ใช่สิ่งที่คนจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าอีก ต้องใช้โปรแกรมเฉพาะในการวัด ดังนั้นถ้ามีคนมาถามว่าการ์ดจอตัวนี้เล่นเกมได้กี่ FPS ก็ต้องไปดูจากผลทดสอบที่มีคนรีวิวเฉพาะเกมนั้น ๆ ไว้นั่นเอง

จบไปเรียบร้อยกับศัพท์แสงในหมวดของการ์ดจอ GPU ส่วนคราวหน้าใน EP.3 จะเป็นบทความเกี่ยวกับการเลือกซื้อหน่วยความจำหรือแรมที่เรารู้จักกัน ซึ่งก็จะรวมคำศัพท์ต่าง ๆ ที่ต้องรู้เกี่ยวกับสเปคแรมมาเจาะลึกให้ดูแบบนี้อีกเช่นเคย ส่วนจะเป็นยังไงนั้นไว้ฝากติดตามกันด้วยนะครับ