ใครที่ชอบถ่ายรูปในที่สาธารณะ หรือไลฟ์สดในที่คนเยอะ ๆ ระวังให้ดี เพราะกฎหมาย PDPA (Personal Data Protection Act) หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ห้ามไม่ให้ถ่ายภาพและคลิปวีดีโอติดใบหน้า หรือเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของคนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีโทษทางแพ่ง อาญาและปกครอง โทษปรับสูงสุดถึง 5 ล้านบาท
PDPA หรือ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล คืออะไร ?
PDPA (Personal Data Protection Act) คือกฎหมายที่ใช้คุ้มครองและให้สิทธิกับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลของเราเอง ตามข้อกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ได้มีผลกับแค่บุคคลเท่านั้นแต่รวมไปถึงบริษัทต่าง ๆ จะต้องรักษาข้อมูลของผู้ให้บริการด้วย และการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของผู้อื่นจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อมูลแล้วเท่านั้น โดยเจ้าของข้อมูลมีสิทธิ ในข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ ดังนี้
- สิทธิในการถอนความยินยอม ในกรณีที่ได้ให้ความยินยอมไว้
- สิทธิได้รับการแจ้งให้ทราบรายละเอียด
- สิทธิขอเข้าถึงและขอรับสำเนาข้อมูลส่วนบุคคล
- สิทธิคัดค้านการเก็บรวบรวม ใช้ หรือ เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
- สิทธิขอให้ลบหรือทำลาย หรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้
- สิทธิขอให้ระงับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล
- สิทธิขอให้แก้ไขข้อมูลส่วนบุคคล
อะไรบ้างที่เข้าข่ายการละเมิดสิทธิข้อมูลส่วนบุคคล ?
จากนิยามความหมาย ข้อมูลส่วนบุคคลหมายถึง ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยสามารถแบ่งได้ดังนี้
- ชื่อ นามสกุล ชื่อเล่น
- เลขประจำตัวประชาชน, เลขหนังสือเดินทาง, เลขบัตรประกันสังคม, เลขใบอนุญาตขับขี่, เลขประจำตัวผู้เสียภาษี, เลขบัญชีธนาคาร, เลขบัตรเครดิต (การเก็บเป็นภาพสำเนาบัตรประชาชนหรือสำเนาบัตรอื่นๆที่ที่ข้อมูลส่วนบุคคล)
- ที่อยู่ อีเมล์ โทรศัพท์
- ข้อมูลอุปกรณ์หรือเครื่องมือ เช่น IP Address, MAC Address, Cookie ID
- ข้อมูลทางชีวมิติ (Bio-metric) ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพใบหน้า ลายนิ้วมือ ฟิลม์เอ็กซ์เรย์ ข้อมูลสแกนม่านตา ข้อมูลอัตลักษณ์เสียง ข้อมูลพันธุกรรม
- ข้อมูลระบุทรัพย์สินของบุคคล เช่นทะเบียนรถ โฉนดที่ดิน
- ข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงไปยังข้อมูลข้างต้นได้ เช่น วันเกิด สถานที่เกิด เชื้อชาติ สัญชาติ น้ำหนัก ส่วนสูง ข้อมูลตำแหน่งที่อยู่ ข้อมูลการแพทย์ ข้อมูลการศึกษา ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลการจ้างงาน
- ข้อมูลหมายเลขอ้างอิงที่เก็บไว้ในไมโครฟิลม์
- ข้อมูลการประเมินผลการทำงานหรือความเห็นของนายจ้างต่อการทำงานของลูกจ้าง
- ข้อมูลบันทึกต่างๆที่ใช้ติดตามสตรวจสอบกิจกรรมต่างๆของบุคคล เช่น Log Files
- ข้อมูลมที่ใช้ค้นหาข้อมูลส่วนบุคคลอื่นในอินเตอร์เน็ต
ส่วนเรื่องการถ่ายภาพสามารถแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อ ดังนี้
- การถ่ายภาพเพื่อประโยชน์ส่วนตน เช่น การโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ที่ไม่ได้มีจุดประสงค์ถ่ายภาพเพื่อสร้างผลกำไรทางการค้า จัดอยู่ในข้อยกเว้นของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ แต่หากภาพดังกล่าวสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น หรือสังคม รวมทั้งเจตนา ท่าทาง ข้อความบรรยายของรูปผู้ใช้ หรือแม้แต่คอมเม้นต่าง ๆ ที่ไม่เหมาะสม ก็อาจจะเสี่ยงโดนฟ้องละเมิดได้
- การถ่ายภาพเพื่อสร้างรายได้ เช่น การรับจ้างถ่ายภาพงานแต่ง งานรับปริญญา หรือทำ Content ใน Youtube ต่างๆ ซึ่งต่างจากข้อแรก เพราะในกรณีที่ได้รับผลตอบแทน ผู้ปฏิบัติควรทำตามขอบเขตความจำเป็นของสัญญา/ความยินยอม ถ้าเกิดผู้ที่เป็นช่างภาพอยากอัพโหลดผลงานที่ตนเป็นคนถ่าย แล้วบังเอิญไม่ได้อยู่ในสัญญาที่ระบุไว้กับผู้ที่ถูกถ่าย คนที่เป็นช่างภาพนั้นต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของภาพก่อนนำไปใช้เท่านั้น ส่วนการทำ Content วิดีโอลง Youtube ก็ไม่ถือว่าอยู่ใต้การบังคับของ PDPA ถ้าเหตุผลเป็นไปตามสิ่งที่ได้กล่าวมาข้างต้น
- งานสื่อมวลชน หรืองานนิทรรศกรรมถาพถ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาพข่าว หรือ งานศิลปะกรรม จะไม่ได้อยู่ใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล บุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ทำกิจกรรมเหล่านี้ต้องทำตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ
- การถ่ายภาพของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่พยายามหาหลักฐานในการสืบสวน กรณีดังกล่าวสามารถทำได้ตามข้อกำหนดและขอบเขตของกฎหมาย
หากฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษอย่างไรบ้าง ?
รับผิดทางแพ่ง
- ผู้ได้รับความเสียหายสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ และศาลสั่งลงโทษเพิ่มขึ้นได้ไม่เกิน 2 เท่าของสินไหมทดแทน
โทษทางปกครอง
- ไม่ขอความยินยอมให้ถูกต้อง ไม่แจ้งรายละเอียดให้เจ้าของข้อมูลทราบ ไม่ให้เจ้าขอข้อมูลเข้าถึงตามสิทธิ ฯลฯ ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท
- เก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยปราศจากฐานทางกฎหมาย ปรับไม่เกิน 3 ล้านบาท
- เก็บรวบรวม ใช้ เปิดเผยหรือโอนข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหว โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปรับไม่เกิน 5 ล้านบาท
โทษอาญา
- ทำให้ผู้อื่นเกิดความเสียหาย เสียชื่อเสียง โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท
- เพื่อหาประโยชน์ที่มิชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น จำคุก ไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท
- ล่วงรู้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ ตาม พ.ร.บ. นี้ ห้ามนำไปเผยแพร่แก่ผู้อื่น (เว้นแต่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย) จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท
ในกรณีที่ผู้กระทำความผิด เป็นนิติบุคคล หากกรรมการผู้จัดการหรือบุคคลในความรับผิดชอบ สั่งการหรือกระทำหรือละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำ จนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด ต้องรับโทษในคดีอาญานั้นไว้ด้วย
สรุปว่าถ้าเป็นข้อมูลของคนอื่น ไม่ว่าจะเป็น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ รูป วีดีโอ หรือข้อมูลต่าง ๆ ที่บริษัทได้เก็บรักษาไว้ก็ห้ามนำไปเผยแพร่หรือส่งต่อให้กับผู้อื่นก่อนได้รับอนุญาตเสมอ ซึ่งในกรณีที่ผู้ให้บริการทำข้อมูลต่าง ๆ ของเราหลุดออกมา เช่น ข้อมูลบัตรประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์ เราก็มีสิทธิที่จะฟ้องร้องบริษัทนั้น ๆ ได้หลังจากที่กฎหมาาย PDPA มีผลบังคับใช้แล้ว ทั้งนี้เรายังมีสิทธิในการขอให้ผู้บริการลบข้อมูลของเราที่เคยให้ไปแล้วได้ด้วยนะ
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล, PDPC Thailand
Comment