ภาพจำของ POCO สำหรับใครหลาย ๆ คนน่าจะเป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนที่ขึ้นชื่อเรื่อง “ความคุ้มค่า” เพราะมักจะยัดฮาร์ดแวร์มาให้แบบโหด ๆ ในราคาที่เอื้อมถึงได้ไม่ยาก และสำหรับ POCO X3 GT ที่ผมได้มารีวิวในครั้งนี้ยังคงไม่ทำให้ผิดหวังเช่นเคย กับค่าตัวเพียง 9,999 บาท แต่ได้ประสบการณ์การใช้งานที่ข้ามรุ่นไปชนกับพวกเรือธงได้ในหลาย ๆ ส่วนเลย
หน้าจอเกรดดี กระจกตัวท็อป อัตรารีเฟรชสูงปรี๊ด
POCO X3 GT มาพร้อมกับหน้าจอ IPS LCD ขนาด 6.6 นิ้วแบบ DotDisplay ความละเอียด Full HD+ บนสัดส่วน 20:9 ขอบเขตสีกว้างครอบคลุม DCI-P3 ผมแทบจะบอกได้ทันทีตั้งแต่แรกเห็นว่า “เป็นจอภาพที่ดี” อย่างที่ควรจะเป็นครับ ไม่รู้จะติอะไร ทั้งเรื่องความสดใสและความเที่ยงตรงของสีสัน ความคมชัด และความสว่าง ทุกอย่างโอเคหมดเลย
สำหรับอัตรารีเฟรชของหน้าจอสูงสุดจะอยู่ที่ 120Hz และจะรองรับเทคโนโลยี DynamicSwitch โดยระบบจะปรับอัตรารีเฟรชให้สอดคล้องกับคอนเทนต์ที่กำลังแสดงผลโดยอัตโนมัติ ระดับต่ำสุดที่รองรับคือ 30Hz สำหรับการดูวิดีโอทั่วไป ซึ่งสมเหตุสมผลดี เพราะปกติวิดีโอและภาพยนตร์จะมีเฟรมเรตแค่ 24 – 30 ภาพต่อวินาทีอยู่แล้ว วิธีนี้นอกจากจะทำให้ประหยัดแบตเตอรี่แล้ว ยังช่วยให้ลดอาการภาพเบลอจากอัตราเฟรมที่ไม่สัมพันธ์กันอีกต่างหาก ส่วนเรื่องการทัชนั้นไม่มีเพี้ยนอะไรให้เห็นนะครับ ตอบสนองเร็วทันใจมาก ๆ แตะปุ๊บ-ติดปั๊บ
แนะนำให้ตั้งค่าการแสดงผลเป็นโหมด Standard เพื่อสีสันที่เที่ยงจรง และอย่าลืมปรับอัตรารีเฟรชเป็น 120Hz ด้วยนะ
วัสดุปิดทับหน้าจอที่ POCO เลือกนำมาใช้งานคือ กระจก Gorilla Glass Victus ตัวท็อปสุดจาก Corning เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่หยิบมาชมเสียไม่ได้เลย แน่นอนครับ กระจกระดับไฮเอนด์มีความทนทานต่อการกระแทกและรอยขีดข่วนเป็นจุดเด่น แถมยังมีคุณสมบัติดี ๆ อย่างอื่นที่พ่วงมาด้วยคือ ความใสของเนื้อกระจกกับอัตราการสะท้อนแสงที่ต่ำ ซึ่งในส่วนนี้จะส่งผลกับการแสดงผลด้วย …กับอุปกรณ์ราคาไม่ถึง 1 หมื่นบาท แต่จัดเต็มมาให้ขนาดนี้ ยี่ห้ออื่นได้แต่มองตาปริบ ๆ
ลำโพงสเตอรีโอ เสียงนุ่มลึก แต่เปิดดัง ๆ ฝาหลังสั่นนิดหน่อย
ลำโพงคู่ของ POCO X3 GT เดิม ๆ นั้นให้เสียงอยู่ในเกณฑ์กลาง ๆ ค่อนไปทางดี แต่พอได้เทคโนโลยี Dolby Atmos เข้ามาเสริมนี่กระโดดไปอีกมิติหนึ่งเลย เปิดกับปิดฟังก์ชันเห็นผลลัพธ์แตกต่างกันชัดเจนมาก ๆ มาครบทั้งย่านสูง กลาง และต่ำ ดูแล้วหาคู่ต่อกรยากมากในช่วงราคาไล่เลี่ยกัน
เปิดใช้งาน Dolby Atmos แล้วเสียงดีขึ้นมาก
ตัวเครื่องมีการออกแบบที่ค่อนข้างน่าสนใจ โดยจะมีการเจาะรูเพิ่มบริเวณเฟรมด้านบน ช่วยให้เสียงจากลำโพงทั้ง 2 ตัวมีความสมดุลมากขึ้นขณะใช้งานในแนวนอน (แบรนด์อื่นน่าเอาไปทำตามบ้าง) แต่มีเรื่องให้ติอยู่บ้างเหมือนกัน (นิดเดียวจริง ๆ) คือ ฝาหลังสั่นไปหน่อย ถือดูหนังหรือเล่นเกมนาน ๆ มีรำคาญมือบ้าง อาจแก้ปัญหาเบื้องต้นได้โดยการสวมเคสเพื่อบรรเทาอาการ
การนำทางระบบปรับได้หลายรูปแบบ
POCO X3 GT มีตัวเลือกการนำทางระบบ 2 รูปแบบ รูปแบบแรกคือ การนำทางด้วยปุ่มมาตรฐาน ได้แก่ Home, Recent และ Back โดยสามารถเลือกสลับตำแหน่งของ 2 ปุ่มหลังได้ตามความถนัดของผู้ใช้งาน ส่วนอีกรูปแบบคือ การทำทางด้วยท่าทาง ข้อได้เปรียบของตัวเลือกแรกคือ สามารถตั้งค่าปุ่มนำทางให้เป็นทางลัดอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ เช่น ผมกำหนดให้กด Home ค้างเพื่อดับหน้าจอ และกด Recent ค้างเพื่อแบ่งหน้าจอ เป็นต้น
หากเลือกการนำทางด้วยปุ่มมาตรฐาน สามารถกำหนดทางลัดต่าง ๆ เพิ่มเติมได้จากการกดปุ่ม 2 ครั้ง และกดค้าง
มอเตอร์สั่นดีงาม ละมุน นุ่มมือสุด ๆ
ปกติพวกสมาร์ทโฟนระดับกลางไปจนถึงล่างผมจะปิดฟังก์ชันการสั่นเอาไว้ เพราะมักจะสั่นได้รุนแรง แข็งทื่อ ไม่น่าประทับใจเท่าไหร่ แต่กับ POCO X3 GT นี่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ทางบริษัทเคลมว่า เป็นมอเตอร์สั่นคุณภาพสูงเทียบเคียงกับอุปกรณ์ระดับเรือธง ซึ่งตอบสนองได้ดีมากจนถึงขั้นที่ผมต้องแยกออกมาเป็นอีกหัวข้อหนึ่งเลย สั่นได้ถี่ นุ่มนวล ละมุนมือสุด ๆ …เอาจริง ๆ แค่จิ้มหน้าจอให้มันสั่นเล่น ๆ ก็เพลินแล้ว (ฮา)
ชาร์จแบตเร็วทันใจ
ด้วยอะแดปเตอร์แปลงไฟขนาด 67W ที่แถมมาให้ในกล่อง สามารถชาร์จแบต POCO X3 GT จาก 0 – 75% ได้ในเวลาเพียง 30 นาที ส่วนในการชาร์จให้เต็ม 100% นั้นใช้เวลาประมาณ 45 นาที ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขที่บริษัทฯ โปรโมตเอาไว้ที่ 42 นาที ทั้งนี้ จากที่ผมสังเกตพบว่า อุณหภูมิแวดล้อมส่งผลต่อความเร็วในการชาร์จนะครับ เพราะเมื่อไม่ได้อยู่ในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศ เวลาในการชาร์จจาก 0 – 100% เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญราว 10 – 15 นาที ทดลองซ้ำ 3 รอบ ได้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกัน
สำหรับอัตราการบริโภคพลังงาน ลองดูแล้วไม่ได้อึดอะไรเป็นพิเศษ อยู่ในเกณฑ์ที่ทำได้ดีตามมาตรฐานความจุ 5000mAh คือ เวลา 1 ชั่วโมง ดูหนัง เล่นโซเชียลมีเดีย ท่องเว็บเบราว์เซอร์ ใช้งานทั่ว ๆ ไป แบตลดไม่เกิน 10% และเล่นเกมแบตลด 10 – 15% หรือมากกว่านี้เล็กน้อย ขึ้นอยู่กับความหนักหน่วงของกราฟิกและการประมวลผลของเกมที่เล่น โดยรวมแล้วโอเค ไม่ติดขัดตรงไหนครับ
ซีพียูแรง…แทบไม่ต่างจากเรือธงเลย
POCO X3 GT ขับเคลื่อนด้วยชิป Dimensity 1100 จาก MediaTek ผมบอกสั้น ๆ เลยว่า “โคตรดุเดือด” สำหรับราคานี้ น่าสนใจตั้งแต่คอร์หลักที่ใช้สถาปัตยกรรม Cortex-A78 จาก Arm แล้ว ความเร็วสัญญาณนาฬิกาสูงสุด 2.6GHz เห็นแล้วแบบว่า เฮ้ย ! นี่มันจะไปชนกับ Dimensity 1200 ที่เป็นชิปเรือธงอยู่แล้วนี่นา แถมยังผลิตบนสถาปัตยกรรมขนาด 6 นาโนเมตรอีก เอาเข้าไป จะโหดไปไหนเนี่ย…
ในการใช้งานจริงนั้น POCO X3 GT ทำผลงานออกมาได้ดีมาก ไม่ใช่แค่เสือกระดาษแน่นอน ถ้านับแค่เรื่องความแรงอย่างเดียว ผมแยกความแตกต่างจากพวกสมาร์ทโฟนเรือธงไปออกเลยอะ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ RAM กับ ROM ที่ใส่มาให้เป็นแบบ LPDDR4X และ UFS 3.1 ตามลำดับด้วย ทำให้ทุกอย่างดูเร็ว ดูลื่นไหลไปเสียหมด
ผลทดสอบประสิทธิภาพด้วย Geekbench 5
ลองทดสอบประสิทธิภาพการประมวลผลด้วย Geekbench 5 โดยเฉลี่ย 3 ครั้ง ทำคะแนน single-core ได้ 660 แต้ม และทำคะแนน multi-core ได้ 2700 แต้ม เล่น PUBG ปรับกราฟิกแบบ HDR คู่กับเฟรมเรตระดับ Ultra ได้ไม่กระตุกแม้แต่นิดเดียว เครื่องไม่ร้อนด้วยนะครับ แค่อุ่น ๆ ส่วน Genshin Impact ปรับกราฟิกสูงสุดเท่าที่จะปรับได้ ยังเล่นได้ลื่น ๆ อยู่ มีสะดุดแค่บางจังหวะเท่านั้นเอง น้อยมาก (สุด ๆ) เสียจนไม่ได้ส่งผลเสียต่อการเล่นหรือทำให้รู้สึกหงุดหงิดแต่อย่างใดครับ
ยังไม่เจอเกมไหนที่เล่นไม่ได้
กล้องไม่แย่ โฟกัสไว มีโหมดโปรและโหมดกลางคืน
กล้องหลักใส่มาให้ทั้งหมด 3 ตัว กล้องหลักความละเอียดสูง 64MP นี่ใช้ระบบโฟกัสแบบตรวจจับเฟส ล็อกเป้าได้แม่นยำและรวดเร็วมาก ๆ หวังผลได้แทบทุกสถานการณ์ แต่ต้องบอกก่อนว่า เอาต์พุตปกติของไฟล์ภาพจะอยู่ที่ 16MP เท่านั้นนะครับ เพราะระบบจะรวมพิกเซล 4 จุดเล็ก เป็น 1 จุดใหญ่ เพื่อการรับแสงที่ดียิ่งขึ้น หากอยากถ่ายภาพแบบเต็มความละเอียดของเซนเซอร์ ต้องเปิดการใช้งานในแอปกล้องอีกที ส่วนกล้องที่เหลืออีก 2 ตัว ได้แก่ กล้องอัลตร้าไวด์ 8MP และกล้องมาโคร 2MP
อินเทอร์เฟซของแอปกล้อง ใช้งานง่าย เข้าใจไม่ยาก
ในโหมดโปร POCO X3 GT สามารถปรับความเร็วชัตเตอร์ได้ตั้งแต่ 1/4000 วินาที ไปจนถึง 30 วินาที ส่วน ISO ปรับได้ตั้งแต่ 50 ไปจนถึง 6400 โหมดการถ่ายรูปใส่มาให้ค่อนข้างเยอะ โหมดกลางคืนพอหวังผลได้ระดับหนึ่งเมื่อใช้งานคู่กับกล้องหลัก โดยมีโหมดที่ดูแล้วน่าสนใจคือ โหมดโคลน แค่วางโทรศัพท์ไว้นิ่ง ๆ ปล่อยให้ถ่ายไป ที่เหลือเดี๋ยวระบบจัดการรวมภาพให้เองเสร็จสรรพ (ดูตัวอย่างได้จากภาพด้านล่าง)
ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหลัก
ตัวอย่างภาพถ่ายจากโหมดโคลน
เปรียบเทียบถ่ายภาพจากกล้องอัลตร้าไวด์ (ซ้าย) และกล้องหลัก (ขวา)
ตัวอย่างภาพถ่ายในสภาพแสงต่าง ๆ
ตัวอย่างภาพถ่ายเซลฟี่สภาพแสงในร่ม
ตัวอย่างภาพถ่ายเซลฟี่สภาพย้อนแสง
มาพร้อม MIUI 12.5 ลูกเล่นเพียบ ปรับแต่งได้เยอะ
POCO X3 GT มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ MIUI เวอร์ชัน 12.5 ตั้งแต่แกะออกมาจากกล่องเลย แอนิเมชันและทราสซิชันของอินเทอร์เฟซถูกปรับปรุงให้ตอบสนองต่อการกระทำได้เป็นธรรมชาติและสวยงามยิ่งขึ้น การรูดหน้าจอจากขอบด้านบน ฝั่งซ้ายจะเป็นหน้าการแจ้งเตือน ส่วนฝั่งขวาจะเป็นหน้าศูนย์ควบคุม หากใครที่ย้ายมาจาก Android รุ่นอื่น ๆ อาจต้องใช้เวลาปรับตัวเล็กน้อยนะครับ
เกิดมาพร้อมกับ MIUI 12.5 ตั้งแต่ออกจากโรงงานเลย
ลูกเล่นต่าง ๆ ใส่มาให้เยอะ สมกับเป็น MIUI อาทิ โหมดแบ่งหน้าจอ โหมดหน้าต่างลอย ฟังก์ชันบันทึกวิดีโอหน้าจอ ฟีเจอร์โคลนแอป หรือแม้แต่ฟีเจอร์พื้นที่ทับซ้อน สร้างโปรไฟล์ผู้ใช้งานแยกออกมาต่างหากได้โดยไม่เกี่ยวข้องกับโปรไฟล์หลัก แยกจากกันเป็นเอกเทศเลย เหมือนกับมีโทรศัพท์สองเครื่องในเครื่องเดียว ซึ่งจะรองรับการเข้าสู่ระบบทั้งในรูปแบบของรหัส พิน รวมถึงลายนิ้วมือ เป็นอะไรที่สะดวกมาก ๆ
โหมดหน้าต่างลอย สามารถลากไป ๆ มา ๆ ปรับขนาด และปักหมุดได้
ฟีเจอร์โคลนแอป (ซ้าย) และฟีเจอร์พื้นที่ทับซ้อน (ขวา) สังเกตได้จากวอลเปเปอร์ที่เปลี่ยนไป
นอกจากนี้ POCO X3 GT ยังมีเซนเซอร์อินฟราเรดในตัว ผู้ใช้งานสามารถใช้งานเป็นรีโมตอเนกประสงค์ควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นอื่น ๆ ภายในบ้านได้ผ่านแอป Mi Remote โดยในการใช้งานครั้งแรกจะต้องมีการจูนคลื่นให้ตรงก่อนนะครับ (ไม่ยาก)
ใช้งานเป็นรีโมตได้ด้วย
สเปค POCO X3 GT
- จอภาพ : DotDisplay ขนาด 6.6 นิ้ว
– ความละเอียด Full HD+
– อัตรารีเฟรช 120Hz
– อัตราตอบสนองการสัมผัส 240Hz - ชิป : MediaTek Dimensity 1100
- RAM : 8GB (LPDDR4X)
- ROM : 256GB (UFS 3.1)
- กล้องหลัง :
– กล้องหลัก 64MP
– กล้องอัลตร้าไวด์ 8MP
– กล้องมาโคร 2MP - กล้องหน้า : 16MP
- เสียง : ลำโพงสเตอรีโอ, รองรับ Dolby Atmos
- เซนเซอร์ : สแกนลายนิ้ว (ด้านข้าง)
- เครือข่าย : 5G
- แบตเตอรี่ : 5000mAh, รองรับชาร์จไว 67W
- ระบบปฏิบัติการ : MIUI 12.5 บนพื้นฐาน Android 11
สรุปสั้น ๆ คำเดียว “คุ้ม !!!”
โดยสรุปแล้ว POCO X3 GT จัดเป็นตัวเลือกที่สนใจสุด ๆ ในงบไม่เกิน 1 หมื่นบาท ด้วยประสิทธิภาพการใช้งานที่ล้นเหลือ และฮาร์ดแวร์ที่ยัดมาให้แบบจัดเต็ม ทั้งหน้าจอ ชิป ลำโพง ระบบชาร์จไว ทุกอย่างดูดีไปหมด จนไม่รู้จะหาข้อไหนมาติ ในกล่องมีแถมหัวชาร์จกับเคสมีแถมมาให้อีกต่างหาก ไม่ต้องไปหาซื้อเพิ่มทีหลังให้วุ่นวาย คุ้มจนไม่รู้จะพูดยังไงแล้ว…
ตัวนี้ Widevide L1 หรือ L3 ครับ
เคยมีตัวไหนที่รีวิวแล้วบอกว่าแพงไม่คุ้มค่าบ้างครับ
น่าข้ามไปเล่น F3 มากกงว่าครับ
รอ F3 GT ไม่รู้จะขายในไทยเมื่อไหร่