POCO กลับมาอีกครั้งในคราวนี้กับ X3 Pro ซึ่งยังคงเล่นใหญ่จัดเต็ม คงไว้ซึ่งคอนเซปต์ “สมาร์ทโฟนสุดคุ้มในราคาที่จับต้องได้” ได้เป็นอย่างดี ลำพังเฉพาะชิป Snapdragon 860 ในราคาไม่ถึง 1 หมื่นก็ทำเอาหลายคนชายตามองแล้ว แต่นี่ยัดหน้าจอ 120Hz แบบไดนามิก กับแบต 5160mAh พร้อมเทคโนโลยีชาร์จไว 33W มาให้อีก โหดเกินบรรยาย กล้องหลังไม่ได้แย่อย่างที่หลายคนกังวลกัน


รีวิว POCO X3 Pro

สเปค POCO X3 Pro

  • จอภาพ : IPS LCD ขนาด 6.67 นิ้ว, ความละเอียด FHD+, สัดส่วน 20:9, อัตรารีเฟรช 120Hz (ไดนามิก)
  • ชิป : Qualcomm Snapdragon 860
  • หน่วยความจำ :
    – RAM 6GB + 128GB / RAM 8GBM + 256GB
    – LP-DDR4x + UFS 3.1
  • กล้องหลัง :
    – กล้องหลัก 48MP (ƒ/1.79), ขนาดเซนเซอร์ 1/2 นิ้ว, ขนาดพิกเซล 1.6μm, AF
    – กล้องอัลตร้าไวด์ 8MP (ƒ/2.2), มุมกว้าง 119 องศา
    – กล้องมาโคร 2MP (ƒ/2.4), ระยะโฟกัสใกล้สุด 4 ซม.
    – กล้องจับความลึก 2MP (ƒ/2.4)
    – บันทึกวิดีโอความละเอียดสูงสุด 4K ที่ 30 เฟรมต่อวินาที
  • กล้องหน้า : 20MP (ƒ/2.2), ขนาดพิกเซล 1.6μm
  • เสียง : ลำโพงสเตอรีโอ
  • เครือข่าย : GSM / HSPA / LTE
  • การเชื่อมต่อ :
    – Wi-Fi 802.11a/b/g/n/ac
    – Bluetooth 5
    – GPS, A-GPS, GLONASS, BeiDou, Galileo
    – NFC
    – USB Type-C
  • เซนเซอร์ : Fingerprint, proximity, ambient light, accelerometer, gyroscope, electronic compass, vibration motor, IR blaster
  • แบตเตอรี่ : 5160mAh, รองรับชาร์จไว 33W
  • ระบบปฏิบัติการ : MIUI 12 บนพื้นฐาน Android 11
  • ความทนทาน :
    – กระจกหน้าจอ Corning Gorilla Glass 6
    – กันน้ำและฝุ่นตามมาตรฐาน IP53
  • ขนาด : 76.8 × 165.3 × 9.4 มม.
  • น้ำหนัก : 215 กรัม
  • สี : ดำ Phantom Black, บรอนซ์ Metal Bronze, น้ำเงิน Frost Blue

อุปกรณ์ภายในกล่อง

  • POCO X3 Pro
  • อะแดปเตอร์แปลงไฟขนาด 33W
  • สาย USB-A เป็น USB-C
  • เข็มจิ้มถาดซิม
  • เคส
  • ฟิล์มกันรอย (ติดมาให้จากโรงงาน)
  • คู่มือการใช้งานเบื้องต้น
  • ใบรับประกันสินค้า

ดีไซน์และวัสดุตัวเครื่อง

POCO X3 Pro มาพร้อมกับดีไซน์แบบทูโทน ผิวด้านตัดกับเงา มีให้เลือกด้วยกัน 3 สี ได้แก่ ดำ Phantom Black, บรอนซ์ Metal Bronze และสุดท้าย น้ำเงิน Frost Blue ที่ผมได้มารีวิวนี่เอง ฝาหลังไม่เก็บรอยนิ้วมือ แต่บริเวณกรอบรับไปเต็ม ๆ (ฮา) แก้ปัญหาได้ง่าย ๆ โดยการใส่เคสที่แถมมาในกล่องนั่นแหละครับ


ฝาหลัง POCO X3 Pro ออกแบบในลักษณะทูโทน

ปุ่มกดทั้งหมดจะอยู่ที่ฝั่งขวา ไล่จากปุ่มปรับระดับเสียงที่ด้านบน ถัดลงมาคือปุ่มเพาเวอร์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือสำหรับปลดล็อกไปในตัว ขอบอกเลยว่า ทำงานได้รวดเร็วมากอย่างไม่น่าเชื่อ และเนื่องจากผิวสัมผัสบนปุ่มเป็นแบบด้าน จึงช่วยลดปัญหาการสแกนนิ้วไม่ผ่านเพราะคราบมันไปได้ประมาณหนึ่ง


เซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือทำงานได้เร็วมากอย่างคาดไม่ถึง

ลำโพงสเตอรีโอตัวหนึ่งจะใช้งานร่วมกับลำโพงสนทนา มีการเจาะรูเล็ก ๆ เอาไว้ที่เฟรมด้านบน ซึ่งต้องบอกตรง ๆ ว่า ผมไม่ทราบถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงในการออกแบบลักษณะนี้ แต่พบประโยชน์อย่างหนึ่ง คือ มันทำให้เสียงที่ออกมานั้นบาลานซ์กับลำโพงหลักที่ด้านล่าง เพราะอยู่ในตำแหน่งเฟรมเครื่องเหมือนกัน

พอร์ตเชื่อมต่อที่ให้มาเป็น USB Type-C ตามสมัยนิยม แจ็ก 3.5 มม.เองก็ไม่ได้ถูกตัดหายไปไหน ส่วนถาดใส่ซิมเป็นแบบไฮบริด ต้องเลือกระหว่าง SIM(1) + SIM(2) หรือ SIM(1) + microSD card รองรับสูงสุด 1 TB จุก ๆ กันไปเลย ข้อติคงมีอย่างเดียว คือ น้ำหนัก 215 กรัม ถือนาน ๆ แล้วปวดข้อมือพอสมควร


พอร์ต USB Type-C ตามสมัยนิยม

จอภาพและการแสดงผล

จอภาพของ POCO X3 Pro มีขนาด 6.67 นิ้ว ความละเอียด Full HD+ บนสัดส่วน 20:9 เมื่อคำนวณออกมาแล้วได้ความหนาแน่นประมาณ 395 พิกเซลต่อนิ้ว ใหญ่เต็มตา คมชัดหายห่วง แถมยังครอบทับด้วยกระจก Gorilla Glass 6 จาก Corning ที่ปกติแล้วจะพบเห็นได้เฉพาะสมาร์ทโฟนระดับเรือธงอีกต่างหาก ไม่ธรรมดาเลยจริง ๆ ซึ่งประโยชน์ของกระจกคุณภาพสูง นอกเหนือจากความทนทานแล้วยังมีอัตราการสะท้อนแสงต่ำด้วย ทำให้ไม่รบกวนสายตาเวลาใช้งานนั่นเอง


หน้าจอสีสวยมาก มีติดฟิล์มกันรอยมาให้จากโรงงานด้วย

สำหรับอัตรารีเฟรชนั้นเป็นแบบไดนามิก ปรับให้สัมพันธ์กับคอนเทนต์ที่กำลังแสดงผลได้หลายระดับโดยอัตโนมัติ ไล่ตั้งแต่ 50Hz, 60Hz, 90Hz และสูงสุด 120Hz ช่วยประหยัดแบตเตอรี่ไปได้พอสมควรเลย ส่วนอัตราตอบสนองการสัมผัสจะอยู่ที่ 240Hz แตะปุ๊บ ติดปั๊บ เห็นผลค่อนข้างชัดเจนกับเกมจับจังหวะต่าง ๆ ซึ่งเท่าที่ทดสอบมายังไม่เคยเจออาการทัชเพี้ยนแต่อย่างใด สอบผ่านฉลุย

พาเนลที่ใช้เป็นชนิด IPS LCD ความสดใส คอนทราสต์ และความกว้างของมุมมอง ต่างก็อยู่ในระดับมาตรฐานที่ดีอย่างที่ควรจะเป็น ผ่านการรับรองมาตรฐานความปลอดภัย Widevine ในระดับ L1 ทำให้สามารถรับชม Netflix ที่คุณภาพสูงสุดได้ตั้งแต่แกะออกจากกล่องเลย

อย่างไรก็ตาม POCO X3Pro มีจุดสังเกตอยู่บ้างในเรื่องระดับความสว่างสูงสุด 450 นิต ซึ่งทำให้มีปัญหาขณะใช้งานกลางแจ้งอยู่บ้าง เป็นไปตามข้อจำกัดของฮาร์ดแวร์ รวมถึงอุณหภูมิสีที่ไม่เที่ยงตรงเท่าไหร่นัก อมฟ้า ๆ แดง ๆ แม้จะปรับได้ด้วยตัวเองด้วยซอฟต์แวร์ แต่ไม่ง่ายเลยสำหรับผู้ใช้งานทั่วไปอย่างเรา ๆ เพราะไม่มีเครื่องมือวัดอุณหภูมิสี หรืออะไรที่ใช้อ้างอิงความถูกต้องได้ เผลอ ๆ ยิ่งปรับอาจยิ่งเพี้ยนหนักกว่าเดิมเสียอีก


ความสว่างสูงสุด 450 นิต ใช้งานกลางแดดอาจลำบากนิดหน่อยนะ

หน่วยประมวลผลและหน่วยความจำ

Qualcomm ได้เผยโฉม Snapdragon 860 เมื่อมีนาคม 2564 และได้โลดแล่นออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรก ๆ พร้อม ๆ กับ POCO X3 Pro ชิปประมวลผลดังกล่าว ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก Snapdragon 855 ยังคงใช้กระบวนการผลิตขนาด 7 นาโนเมตร แต่ Kryo 485 ที่เป็นซีพียูหลัก ได้ถูกโอเวอร์คล็อกความเร็วสัญญาณนาฬิกาขึ้นเป็น 2.96 GHz จากเดิม 2.84 GHz ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับ Snapdragon 870 และ 888 เลย ผสานการทำงานร่วมกับจีพียู Adreno 640 ทรงพลังเหลือเฟือ เล่นได้ทุกเกมอย่างหายห่วง

ยิ่งไปกว่านั้น การที่ POCO X3 Pro มีชุดฮาร์ดแวร์ที่ทรงพลังทำให้รับชม YouTube ที่ระดับ 2K หรือแม้แต่ 4K ได้สบายบรื๋อ แม้ความละเอียดหน้าจอจะจำกัดเอาไว้เพียง Full HD+ แต่ด้วยบิตเรตวิดีโอที่สูงกว่า ย่อมมีความคมชัดและรายละเอียดที่มากกว่าตามไปด้วย (สมาร์ทโฟนราคาประมาณนี้ส่วนใหญ่ไม่รอดหรอก หน่วง กระตุก ค้าง หนักสุดอาจหน้าจอดำไปเลย เพราะประมวลผลไม่ไหว)


ชิประดับนี้ เล่นได้ทุกเกม หายห่วง

อินเทอร์เฟซ การใช้งานทั่วไป และแบตเตอรี่

POCO X3 Pro ทำงานอยู่บนระบบระบบปฏิบัติการ MIUI 12.04 บนพื้นฐาน Android 11 เพื่อน ๆ คนไหนที่เคยใช้งานสมาร์ทโฟนค่าย Xiaomi มาก่อนแทบไม่ต้องปรับตัวอะไรเลย หน้าตาเหมือนกันเป๊ะ มีการปรับปรุงความเสถียรและการแสดงผลอะนิเมชั่นแบบใหม่ ตอบสนองต่อการกระทำต่าง ๆ ได้เป็นธรรมชาติยิ่งขึ้น

 

ฟีเจอร์พื้นฐานต่าง ๆ ใส่มาให้ครบครัน เช่น แบ่ง 2 หน้าจอ, บันทึกวิดีโอหน้าจอ, โหมดมืด, โหมดเกม, โหมดประหยัดพลังงาน เป็นต้น ลองใช้งานดูแล้วลื่นไหลปกติ ไม่มีอะไรตกหล่นเลย และเนื่องจาก POCO X3 Pro มีเซนเซอร์อินฟราเรดใส่มาให้ จึงสามารถใช้งานเป็นรีโมตคอนโทรลสำหรับควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆได้ หมดปัญหาหารีโมต (จริง ๆ) ไม่เจออีกต่อไป (ฮา)

ผมไม่ได้เจอปัญหาอะไรร้ายแรงในหัวข้อนี้ แต่โฆษณาที่ฝังมาในแอปพลิเคชั่นบางตัวของระบบนั้นทำให้รำคาญอยู่บ้าง แม้จะเลือกปิดได้ในภายหลังก็ตามที…

สำหรับแบตเตอรี่ความจุ 5160mAh นั้นทำได้ดีตามเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ถึงขั้นประทับอะไรเป็นพิเศษ ทั้งนี้อาจเพราะพื้นฐานของชิปประมวลผลด้วยส่วนหนึ่ง ประกอบกับหน้าจอเป็นพาเนล IPS LCD ด้วย ออกไปทำงานจนกลับบ้าน ต่ำสุดเคยเหลือ 30% แต่โดยปกติแล้วเหลือประมาณ 50% เพียงพอต่อการใช้งาน 1 วันสบาย ๆ

กล้องและการถ่ายภาพ

กล้องหลังทั้ง 4 ตัว ประกอบด้วย กล้องหลักความละเอียดสูง 48MP ซูมดิจิทัลสูงสุด 10 เท่า, กล้องอัลตร้าไวด์ 8MP มุมกว้าง 119 องศา, กล้องมาโคร 2MP ระยะโฟกัส 4 ซม. มีการนำปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยประมวลผลให้ภาพมีสีสันแจ่มแจ๋วยิ่งขึ้น


กล้องหลัง 4 ตัว ความละเอียดสูงสุด 48MP


ตัวอย่างภาพจากกล้องหลัก POCO X3 Pro

การถ่ายภาพในสภาวะแสงทั่วไปโดยรวมแล้วโอเค ตัวกล้องหลักโอเค ไม่ได้แย่อย่างที่หลายคนกังวลกัน โฟกัสไว บันทึกภาพไว ถ่ายง่าย ไม่ต้องคิดเยอะ กล้องฉลาดพอสมควร หากจะมีจุดอ่อนให้พูดถึงคงเป็นเรื่องของไวต์บาลานซ์ที่เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้เสียเลย ยิ่งเจอแสงไฟทังสเตนนี่เพี้ยนหนักมาก เหลือ-แดง-ส้ม เวียนกันมาแบบแรนด้อมเลย รวมถึงภาพแสงน้อยที่รายละเอียดจะหายไปบ้าง

POCO X3 Pro กล้องไม่ได้แย่อย่างที่คิด


ไวต์บาลานซ์ค่อนข้างมีปัญหาเมื่อเจอกับแสงไฟทังสเตน


ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องอัลตร้าไวด์ POCO X3 Pro


ตัวอย่างภาพจากกล้องมาโคร POCO X3 Pro


ซูมดิจิทัล 10 เท่า ข้ามไปยังอีกฟากของถนน

ภาพถ่ายกลางคืนออกมาสว่างกว่าที่ตาเห็น  และประมวลผลไวพอตัว (จาก Snap 860 นั่นแหละ) เล็งแล้วถ่ายได้เลย ไม่ต้องทำอะไรให้วุ่นวาย แต่รายละเอียดอาจมาไม่เต็มเท่าไหร่นะครับ (ได้เท่านี้ก็ดีแล้ว) น่าเสียดายที่กล้องอัลตร้าไวด์ดันมืดสนิท ดังภาพด้านล่าง

เปรียบเทียบกล้องหลักและกล้องอัลตร้าไวด์ตอนกลางคืน

จุดเด่น

  • หน้าจอสีสวย อัตรารีเฟรชและอัตราตอบสนองการทัชสูง
  • สแกนลายนิ้วมือเร็วปานสายฟ้าแลบ
  • หน่วยประมวลผลทรงพลังสุดขีด แทบไร้คู่ต่อกรในช่วงราคาเดียวกัน
  • แบตเตอรี่ใหญ่จุใจ เล่นได้ยาว ๆ เพลิน ๆ
  • มีอะแดปเตอร์แปลงไฟ เคส และฟิล์มกันรอย แถมมาให้ในกล่องเลย
  • ลำโพงสเตอรีโอเสียงดังกระหึ่ม

จุดสังเกต

  • ตัวเครื่องหนักไปนิด
  • หน้าจอไม่สู้แสง ใช้งานกลางแจ้งลำบากนิดหน่อย
  • ไวต์บาลานซ์ของกล้องเชื่อถือไม่ได้เท่าที่ควร คำนวณออกมาเพี้ยนในหลาย ๆ สถานการณ์
  • กล้องอัลตร้าไวด์มุมไม่กว้างเท่าไหร่ และไม่เก่งในที่แสงน้อย
  • ลำโพงเสียงดังมากก็จริง แต่ขาดมิติและรายละเอียดไปบ้าง