ในที่สุดก็มีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่วันนี้ สำหรับมาตรฐานใหม่ของ Power Bank หรือ แบตเตอรี่สำรอง ที่ทาง สมอ. (สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) ได้มีการกำหนดว่าเพาเวอร์แบงค์ทุกชิ้นต้องผ่านมาตรฐาน มอก. และต้องได้รับอนุญาตในการผลิต-นำเข้า ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย. 63 นี้ เป็นต้นไป โดยถ้าหากใครฝ่าฝืนมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับการที่ สมอ. ได้กำหนดให้ Power Bank เป็นสินค้าควบคุมนั้นก็เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้ประชาชน ซึ่งก่อนหน้านี้เองก็เคยมีเหตุการณ์พาวเวอร์แบงค์ระเบิดและไฟไหม้อยู่บ่อยครั้ง เช่น ที่เป็นคดีใหญ่ๆ ในปีที่ผ่านมาอย่าง พาวเวอร์แบงค์ไหม้ที่สนามบินเชียงใหม่ เป็นต้น
โดยหลังจากนี้ Power Bank ทุกชิ้นจำเป็นต้องผ่านมาตรฐานด้านความปลอดภัย มอก. 2879-2560 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 นี้เป็นต้นไป ซึ่งพาวเวอร์แบงค์ทุกยี่ห้อ หากจะวางจำหน่ายในประเทศไทยต้องมีเครื่องหมาย มอก.รับรอง และต้องขออนุญาตจาก สมอ. ในการผลิตหรือนำเข้าด้วย
หากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมาย กรณีที่ผลิตหรือนำเข้าสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต จะถูกจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และร้านค้าหากขายสินค้าที่ไม่มี มอก. ตามมาตรฐานกำหนด ต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม Power Bank ที่ผลิตหรือนำเข้า ก่อนวันบังคับใช้และมีหลักฐานชี้บ่งชี้ยืนยันว่าทำก่อน 16 พ.ย. 2563 ยังสามารถจำหน่ายได้ตามปกติ (ไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง) ซึ่งต่อไปนี้หากเพื่อน ๆ คนไหนที่จะซื้อพาวเวอร์แบงค์ ก็อย่าลืมเช็คดูว่ามีตรา มอก. แปะอยู่หรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของตัวเพื่อน ๆ ด้วยเองนั่นเองครับ
มาช้ายังดีกว่าไม่มา
ต้องรอดูร้านจีนในลาซาด้า, ชอบปี้
ว่าจะยังขายต่อได้อีกมั้ย 😆😆
ค่าปรับ "ไม่เกิน" = จะปรับเท่าไรก็ได้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าพนักงาน มันควรจะระบุไปเลยว่า ปรับ ๒ ล้านบาท หรือจำคุก ๒ ปี รับรอง เข้าแถวตามระเบียบแน่นอน
มอก.ไทยมาตราฐานจักรวาลเกินมาตราฐานโลก PS5 ก็ไม่ผ่าน TV xiaomi ก็ไม่ผ่าน มอก.ไทย
ผมคิดว่า มอก. ทำมาเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานของคนไทยนะครับ และผมเห็นด้วยว่า ถ้าผลิตภัณฑ์ที่ผู้ขายนำเข้ามาไม่เป็นไปตาม มอก. ก็ไม่ควรนำเข้ามาขายในประเทศไทย (ควรจะไปทำให้เป็นไปตาม มอก. ก่อนนำเข้ามาขาย เพราะมีประเด็นด้านความปลอดภัยอยู่ ซึ่งผู้บริโภคอาจไม่นึกถึง) ครับ
ตัวอย่างเช่น การกำหนดค่ากระแสไฟฟ้าที่ยอมให้รั่วไหลได้จากอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เพราะ บ้านเราไม่ได้มีพื้นบ้านที่เป็นฉนวนที่ดีนัก พื้นบ้านเรามีหลายรูปแบบ บางบ้านก็เป็นพื้นซีเมนต์ ปูกระเบื้อง ในขณะที่บ้านในประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นตัวหลักในการกำหนดมาตรฐานระดับสากล พื้นบ้านเขาใช้วัสดุที่มีความเป็นฉนวนที่ดีกว่า บ้านเราจึงต้องกำหนดมาตรฐานให้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน มีกระแสรั่วไหลได้น้อยกว่า ต่างประเทศ …
เต้าเสียบ หรือ ที่เราเรียกทั่ว ๆ ไปว่า ปลั๊กไฟ มอก.166 ที่ระบุลักษณะของปลั๊กไฟไว้ ก็เพื่อให้เหมาะสมกับ ไฟฟ้ากระแสสลับ 230 โวลท์ ขาปลั๊กจะเป็นแท่งเหล็กกลมทนกระแสไฟฟ้าได้มากกว่า ขาแบนที่เป็นปลั๊กไฟที่อเมริกาใช้อยู่ ด้านต้นของขาปลั๊กเป็นฉนวนเพื่อป้องกันการดูดหากนิ้วมือเผลอไปถูกขณะถอดหรือเสียบปลั๊ก …
เท่าที่ทราบมา ในกรณีของ PS5 จะถูกจัดอยู่ในเครื่องใช้ไฟฟ้าตามบ้าน (ตรงนี้ผมเห็นด้วย เพราะ PS5 ถึงแม้จะมองเป็นอุปกรณ์ไอทีได้ก็ตาม แต่โดยปกติก็จะเป็นการซื้อมาใช้ตามบ้านเรือนทั่ว ๆ ไปมากกว่าจะเป็น เครื่องใช้ไฟฟ้าตามสำนักงาน) ซึ่งจะมี มอก. บังคับ ที่เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านจำเป็นต้องทำให้สอดคล้อง จึงต้องมีการตรวจสอบ (ซึ่งหากไม่สอดคล้องในประเด็นใด ก็ปรับปรุงหรือแก้ไข) จึงต้องใช้เวลาอยู่ระยะหนึ่งจึงสามารถวางขายในไทยได้ ครับ
เห็นด้วยว่าต้องมีมาตรฐานออกมาควบคุมเพื่อความปลอดภัย
แต่ยังไง้ยังไง ของไร้มาตรฐานก็คงยังมีขายเกลื่อน Lazada Shopee