ตอนนี้ Asus ได้วางจำหน่าย Zenfone 3 ทั้งรุ่นหน้าจอ 5.5 นิ้ว (ZE552KL) และรุ่นหน้าจอ 5.2 นิ้ว (ZE520KL) ในบ้านเราเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีราคาอยู่ที่ 14,990 บาท และ 11,990 บาท ตามลำดับ ซึ่งในรุ่น 5.5 นิ้วนั้นมีการออกรุ่นพิเศษ Limited Edition แถมหูฟัง Marshall Major II มูลค่า 4 พันกว่าบาทมาด้วย ซึ่งมีวางขายในเฉพาะช่วงแรกก็นับว่าคุ้มค่าใช้ได้ ส่วนรุ่น 5.2 นิ้วนั้นไม่มีของแถมให้ แต่ก็มีหลายคนถามถึงเพราะอยากได้เครื่องที่เล็กหน่อย วันนี้เราเลยจะมาพรีวิวทั้ง 2 รุ่นให้ได้ชมไปพร้อมๆ กัน เผื่อจะเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจว่าจะเลือก Zenfone 3 รุ่นไหนดี

หน้าตาของ Zenfone 3 Marshall Limited Edition นั้นกล่องดูอลังการดี ผิดกับ Zenfone 3 รุ่น 5.2 นิ้วที่มาเดี่ยวๆ ไม่มี boxset อันนี้ก็เป็นส่วนแรกที่คนอยากได้เครื่องเล็กๆ หน่อยต้องทำใจกันไป

แกะกล่องออกมาภายในก็จะมีกล่อง Marshall Major II วางคู่มากับกล่อง Zenfone 3 รุ่น 5.5 นิ้ว 

สำหรับ Marshall Major II รุ่นนี้เป็นรุ่น Standard ราคาราวๆ 4 พันกว่าบาทนะครับ มาพร้อมกับสายหูฟัง in-line มี 3 ปุ่มให้ใช้งานซึ่งออกแบบมาเพื่อ Android โดยเฉพาะ 

ด้านหลังกล่องก็จะมีรายละเอียดต่างๆ ระบุมาให้ว่าแต่ละปุ่มนั้นสามารถใช้งานอะไรได้บ้าง หลักๆ ก็มีเพิ่ม/ลดเสียง และกดรับสายหรือวางสายนั่นแหละ แต่นอกเหนือจากนั้นก็อาจจะมีการกดข้ามเพลงหรือโทรซ้ำหมายเลขล่าสุด 

ตัวหูฟังนั้นเท่าที่ได้ลองจับวัสดุดีงาม แกนหูฟังสามารถปรับให้ยืดหรือหดได้ตามขนาดหัวเล็กหัวใหญ่

ส่วนเสียงจาก Marshall Major II นั้นบอกตามตรงว่ายังไม่ได้ลองฟังเลย ฮ่าๆ แต่เท่าที่ถามๆ เค้าบอกว่ามันมาในแนวกลางๆ ไม่ได้เน้นเสียงแบบไหนเป็นพิเศษ คือน่าจะเป็นสาย Balanace ครับ (เอาไว้ลองแล้วจะมาบอกอีกที)   

ตัวกล่องทั้ง 2 รุ่นของ Zenfone 3 มีขนาดต่างกัน แต่หน้าตามันเหมือนกันเด๊ะ เพราะฉะนั้นตอนไปซื้อก็สังเกตุขนาดกล่องเอาก็ได้ หรือไม่ก็ดูรายละเอียดด้านหลังว่ารหัสอะไร ZE552KL คือรุ่น 5.5 นิ้ว ส่วน ZE520KL คือรุ่น 5.2 นิ้วเนอะ 

ตัวเครื่องขนาดต่างกันนิดเดียวเท่านั้นเอง 

สำหรับอุปกรณ์ภายในกล่องก็มีหม้อแปลงจ่ายไฟ 5V 2A ปกติ ซึ่งลองทดสอบแล้วทั้งสองรุ่นไม่รองรับระบบชาร์จแบตเร็วนะครับ, หูฟังแบบ in-ear พร้อมจุกเปลี่ยนอีก 2 คู่, สาย USB Type-C

เปิดเครื่องเทียบหน้าตาและสัดส่วน Zenfone 3 กันหน่อย ดูแบบนี้ยิ่งแทบจะไม่ต่างกัน แต่จากที่ลองจับเทียบแล้วรุ่น 5.2 นิ้วถือสบายมือกว่า (แล้วแต่คนชอบจอเล็กจอใหญ่ละนะ)

มาถึงสเปคของ Zenfone 3 ของทั้ง 2 รุ่นกันบ้าง อันนี้บอกเลยว่าอุปกรณ์ภายใน, CPU, กล้องและดีไซน์ เหมือนกันเด๊ะ จะแตกต่างก็แค่ขนาดหน้าจอและหน่วยความจำ ตามนี้เลยครับ

สเปค Zenfone 3 (5.2 นิ้ว) ZE520KL

  • ระบบปฏิบัติการณ์ Android 6.0
  • หน้าจอ 5.2 นิ้ว 2.5D ความละเอียด 1080p IPS
  • หน่วยประมวลผล CPU Snapdragon 625 / GPU Adreno 506
  • ROM 32GB
  • RAM 3 GB
  • กล้องความละเอียด 16MP f/2.0, Sony IMX 298, TriTech AF, 4 Axis OIs, 3 Axis EIS
  • กล้องหน้าความละเอียด 8MP f/2.0
  • มีสแกนลายนิ้วมือ
  • รองรับการใช้งาน 2 ซิม dual standby (4G+3G+2G/3G+2G) เกาะสัญญาณ 3G ได้พร้อมกัน 2 ซิม
  • แบตเตอรี่ความจุ 3000 mAh 2650 mAh
  • ราคาเปิดตัว 11,990 บาท

สเปค Zenfone 3 (5.5 นิ้ว) ZE552KL

  • ระบบปฏิบัติการณ์ Android 6.0
  • หน้าจอ 5.5 นิ้ว 2.5D ความละเอียด 1080p IPS
  • หน่วยประมวลผล CPU Snapdragon 625 / GPU Adreno 506
  • ROM 64GB
  • RAM 4 GB
  • กล้องความละเอียด 16MP f/2.0, Sony IMX 298, TriTech AF TriTech AF, 4 Axis OIs, 3 Axis EIS
  • กล้องหน้าความละเอียด 8MP f/2.0
  • มีสแกนลายนิ้วมือ
  • รองรับการใช้งาน 2 ซิม dual standby (4G+3G+2G/3G+2G) เกาะสัญญาณ 3G ได้พร้อมกัน 2 ซิม
  • แบตเตอรี่ความจุ 3000 mAh
  • ราคาเปิดตัว 14,990 บาท 

ดีไซน์หน้าหลังเป็นกระจก 2.5D Glass ทั้งคู่ ส่วนสีดำนั้นจะสะท้อนเงาเป็นสีน้ำเงินเข้มโดยลวดลายเวลาซะท้อนนั้นจะเป็นวงกลมหมุนรอบๆ ตัวเครื่องโดนมีแกนกลางบริเวณเซนเซอร์สแกนนิ้วด้านหลัง 

Zenfone 3 เป็นรุ่นแรกของค่ายที่มาพร้อม USB Type-C ใครที่ซื้อไปใช้อาจจะต้องพกสายติดตัวเพราะอาจจะหาคนแชร์สายชาร์จาด้วยยากหน่อยในช่วงนี้ แกนกลางตัวเครื่องเป็นโลหะขัดโค้งลงสีสวยงาม ใครเคยใช้ Zenfone Zoom จะคุ้นเพราะลักษณะตัวเฟรมนั้นคล้ายกัน 

ช่องลำโพงนั้นมาพร้อมกับแม่เหล็ก 5 ชิ้นภายใน ช่วยให้ขับเสียงดีขึ้น 40%

ปุ่มพาวเวอร์ที่ด้านขวานั้นแอบคลอนนิดๆ รวมถึงปุ่มปรับเสียงด้วย เท่าที่ลูบๆ จับๆ เหมือนจะเป็มปุ่มพลาสติกเคลือบสีเงินมา ไม่น่าจะใช่ปุ่มโลหะ

ที่เป็นเป็นสายคาดทั้งบนและล่างนั่นคือช่องรับสัญญาณของคลื่นมือถือ + wifi + GPS ต่างๆ ส่วนช่อง หูฟังอยู่บริเวณด้านซ้ายบน

กล้องหลังความละเอียด 16 ล้านพิกเซล ที่เด่นไม่แพ้ใครคือความนูนของเลนส์ แหะๆ รูรับแสง f/2.0 มาพร้อมกับระบบ Tri Tech Autofocus ที่รวมเอา Laser Focus / PDAF / Continuous Autofocus 

ด้านซ้ายเป็นที่เก็บถาดซิม ภายในเป็นช่องสำหรับ micro SIM + nano SIM / Micro SD หรือช่องที่ 2 เป็นแบบ hybrid slot ที่เราคุ้นเคยกัน  

แกะออกมาแล้วหน้าตาเป็นแบบนี้ เครื่องนึงถาดซิมมันแอบเลื่อนๆ ขยับได้นิดหน่อย แต่ก็ไม่เป็นปัญหากับการใชงาน แต่ใครที่ต้องการได้เครื่องประกอบแน่นๆ ก็ต้องเช็ดดีๆ  

มาถึงระบบ 2 ซิมบน Zenfone 3 ที่หลายคนถามมาว่าสรุปมันเกาะคลื่น 3G พร้อมกันได้ทั้ง 2 ซิมหรือไม่ (Full NetCom 3.0) อันนี้บอกเลยว่าได้ครับ

ผมสามารถใส่ซิม Penguin และ ซิม Open เข้าไปพร้อมกันได้ทั้งคู่ แต่ทั้งนี้มันรองรับระบบ Dual SIM แบบ Dual Standby นะครับ ไม่ใช่ว่าเกาะแล้วจะใช้ได้แบบ Dual Active อันนี้ไม่ใช่ เดี๋ยวจะเข้าใจผิดกัน 

จากที่ทดสอบมาคือ Zenfone 3 ทั้ง 2 รุ่นถึงแม้จะเกาะ 3G ได้พร้อมกันก็จริง และรอรับสายได้ทั้ง 2 เบอร์ แต่ขณะทำงานจะสามารถใช้งานได้ทีละ 1 ซิม คือถ้าซิม 1 โทรอยู่ ซิม 2 จะเล่นเน็ตหรือรับสายไม่ได้แล้ว เวลาโทรเข้าก็จะบอกว่าเบอร์ไม่ว่างหรือเหมือนปิดเครื่องอยู่

เพราะฉะนั้นในส่วนของการตั้งค่าซิมเลยยังมีการให้ forward หรือโอนสายหากันระหว่างซิม 1 และ ซิม 2 ในกรณีใช่งานโทรศัพท์

รวมถึงเราไม่สามารถโทรไปด้วยเล่นเน็ตไปด้วยได้ เช่นซิม 1 เล่นเน็ตอยู่ ซิม 2 มีคนโทรเข้ามา พอรับสายแล้วระหว่างนั้นเน็ตบนซิม 1 ก็จะใช่งานไมไ่ด้ทันที (เว้นแต่ต่อ WiFi บ้านเอาไว้ อันนั้นเล่นเน็ตไปด้วยโทรไปด้วยได้แน่นอน) 

ในส่วนของ Zen UI 3.0 ผมเองยังไม่เห็นความแตกต่างมากเท่าไหร่ เพราะหน้าตา UI ต่างๆ และไอคอน รวมถึงในหน้า setting หรือการตั้งค่านั้นแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนเลย เลยยังรู้สึกดูเดิมๆ ไปหน่อย แต่คนที่ชอบและเคยใช้ก็น่าจะคุ้นและแทบไม่ต้องเรียนรู้อะไรใหม่เลย

ที่มีแตกต่างไปก็คงจะเป็นโหมดกล้องถ่ายภาพที่เหมือนจะเอา UI บางส่วนมาจาก Zenfone Zoom เช่นเลือกเปลี่ยนโหมด Manual ได้เร็วขึ้นเพราะมีปุ่มอยู่ใกล้ๆ นอกจากนั้นพวกฟังก์ชั่นหลักๆ อย่าง Flash / HDR ก็สามารถเลือกเปิดปิดได้จากหน้าแรก สะดวกดี

ที่ดูเปลี่ยนไปเยอะสุดก็โหมดเสริมในการถ่ายภาพที่มีการเปลี่ยนหน้าตาเป็นวงกลม เหมือนจะตั้งใจทำให้ดูสะอาดและเรียบขึ้น แต่ด้วยความที่มันมีโหมดต่างๆ เยอะมาก (บางโหมดอาจจะไม่มีคนใช้เลยหรือเปล่า) มันก็เลยดูยังรกๆ ไปหน่อย คือมีตั้ง 20 โหมด (แค่เลื่อนหาก็มึนแล้ว)

ส่วนการตั้งค่าต่างๆ ของกล้องก็ยังเหมือนเดิม คือเลือกความละเอียดและสัดส่วนภาพได้ ซึ่งนอกจากความละเอียดภาพแล้ว ก็ยังมีเรื่องของคุณภาพ ที่ให้เลือกว่าจะเอาแบบมาตรฐานและแบบละเอียด คือถ้าบางคนไม่ได้เข้ามาดูหรือปรับ ก็จะถ่ายภาพด้วยความละเอียดมาตรฐานไปโดยปริยาย

ตัวอย่างภาพถ่ายจาก Zenfone 3 5.5 และ 5.2

อันนี้คือเท่าที่ได้ลองถ่ายมาแบบเร็วๆ นะครับ เนื้อภาพทั้งสองรุ่นนั้นเหมือนกัน แต่จากที่ลองไปถ่ายมาในบางภาพโหมด Auto HDR ของทั้งสองรุ่นเลือกที่จะเปิดหรือปิด HDR ไม่เหมือนกัน เช่นภาพสยามเซนเตอร์และภาพของ Kate Winslet ที่รุ่น 5.2 นิ้วเลือกเปิด HDR แต่รุ่น 5.5 นิ้วไม่เปิด (รอบหน้าในรีวิวคงต้องลองบังคับปิดหรือเปิดไปเลย)

ส่วนอันนี้เป็นคะแนน Benchmark ผ่าน Antutu ของทั้ง 2 รุ่น ไม่หนีกันเท่าไหร่

แต่ที่เห็นแล้วอดขำไม่ได้คือเปิดเครื่องมาต่อเน็ตครั้งแรก Asus ZenFone Care เด้งมาบอกว่า Pokemon Go มันดังมากเลย แต่ Asus โหลดไม่ได้เลยจะขอแนะนำวิธีโหลด Pokemon Go ให้

แต่ล่าสุดเราไม่ต้องเข้าไปที่ Zen forum แล้วนะครับ เพราะดูเหมือนทาง Asus จะเคลียร์กับ Niantic Labs เรียบร้อย ตอนนี้ค้นหา Pokemon Go เจอแล้วบน Play Store (รวมถึงรุ่นอื่นๆ ที่เคยหาไม่เจอตอนนี้ก็น่าจะเจอหมดแล้ว)

Zenfone 3 ทั้ง 2 รุ่นมี Gyroscope ครับ เพราะฉะนั้นจะวิดีโอ 360 องศาหรือ Pokemon Go ก็โอเคทั้งคู่ หมุนไปมาได้รอบตัว

สำหรับพรีวิวของ Asus Zenfone 3 ก็คงเอาไว้เท่านี้ก่อนละกันครับ พวกฟังก์ชั่นการใช้งาน อายุแบต และเรื่องอื่นๆ เดี๋ยวเอาไว้ไปสรุปกันในรีวิวอีกที ใครมีคำถามอยากให้มทดสอบอะไรเพิ่มเติมลองทิ้งไว้ได้นะครับ เดี๋ยวจะพยายามหาคำตอบให้