สิ่งหนึ่งของคนที่ได้ซื้อรถพลังงานไฟฟ้า 100% ต่างก็รู้ว่า การบำรุงรักษาของตัวรถนั้นต่ำกว่ารถยนต์สันดาบจากชิ้นส่วนติดตั้งที่น้อยกว่าหลายชิ้นภายในตัวรถ แต่ชิ้นส่วนประกอบหลักของตัวรถไฟฟ้าก็คือ แบตเตอรี่ ที่คิดเป็นต้นทุนหลักของตัวรถ ซึ่งหากแบตฯ เสียหรือเสื่อมแล้วจะเปลี่ยนก็เจอค่าแบตฯ ที่แพงหู่ฉี่ แต่มีผลวิจัยล่าสุดจาก Stanford ได้เปิดเผยว่า การเร่ง และเบรกรถ EV บ่อย ๆ ช่วยยืดอายุแบตฯ เพิ่มขึ้นประมาณ 40%

โดยผลวิจัยนี้มาจาก SLAC-Stanford Battery Center ของมหาลัย Stanford ที่ได้เผยแพร่เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา และได้บอกว่า จากพฤติกรรมการขับขี่รถพลังงานไฟฟ้าที่พบเห็นได้ในโลกความเป็นจริงเช่น จราจรติดขัด, เดินทางระยะไกลบนทางหลวง, เดินทางระยะทางสั้น ๆ ในตัวเมือง และจอดรถทิ้งไว้ อาจจะทำให้อายุของแบตเตอรี่เพิ่มขึ้นถึง 1 ใน 3 ซึ่งจะทำให้เจ้าของรถนั้นไม่มีความจำเป็นต้องรีบเปลี่ยนแบตฯ ที่มีความแพง แม้ว่าต้นทุนของแบตฯ จะลดลงประมาณ 90% แล้วก็ตาม และสามารถยืดอายุการใช้ตัวรถเพิ่มขึ้นได้อีกหลายปี

ทาง SLAC-Stanford Battery Center ได้บอกว่า นักวิจัยแบตเตอรี่ทั่วโลกนั้นมักจะทดสอบแบตเตอรี่ว่า ใช้งานได้ยาวนั้นเท่าไหร่ด้วยวิธีการปล่อยพลังงานให้เปอร์เซ็นต์แบตฯ ลดลง, ชาร์จแบตฯ หลาย ๆ รอบ และคายประจุแบตฯ แบบคงที่หลาย ๆ รอบ โดยวิธีการเหล่านี้ก็ไม่ได้สะท้อนการใช้งานแบตเตอรี่ที่อยู่บนรถพลังงานไฟฟ้าในโลกความเป็นจริงแต่อย่างใด

ซิโมน่า โอโนริ (Simona Onori) รองศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมวิทยาศาสตร์พลังงาน นักวิจัยอาวุโส Stanford Doerr School of Sustainability

ซิโมน่า โอโนริ (Simona Onori) รองศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมวิทยาศาสตร์พลังงาน นักวิจัยอาวุโส Stanford Doerr School of Sustainability ก็ได้บอกเอาไว้ว่า “เราก็ไม่ได้ทดสอบแบตเตอรี่ของ EV ที่ถูกวิธี แต่เรามีความประหลาดใจกับสิ่งที่พบเจอก็คือ พฤติกรรมการขับขี่เช่น กดเหยียบเร่งความเร็วบ่อย, เหยียบเบรกรถเพื่อ Regenerative braking ชาร์จไฟกลับเข้าแบตเตอรี่, หยุดจอดแวะพักรถ และพักการทำงานแบตฯ เป็นเวลาหลายชั่วโมง ซึ่งการกระทำเหล่านี้จะช่วยให้แบตฯ มีอายุการใช้งานที่นานขึ้น โดยอิงจากการคิดทดสอบในห้องแล็บ”

ซึ่งนักวิจัยได้ทำการทดสอบสร้างโปรไฟล์ของการคายประจุแบตฯ รถพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด 4 แบบมีตั้งแต่ คายประจุแบตฯ แบบต่อเนื่อง จนไปถึง ปล่อยแบบไดนามิก โดยมีการอิงพฤติกรรมการขับขี่ที่พบได้ทั่วไปในท้องถนนแบบโลกความเป็นจริงก็พบว่า แบตฯ ลิเธียมไอออนจำนวน 92 ก้อนที่ใช้เวลาทดสอบ 2 ปี ตัวแบตฯ มีอายุการใช้งานเพิ่มขึ้น

จากการทดสอบที่ผ่านมาตลอด 2 ปีก็พบเบื้องหลังที่ทำให้แบตฯ มีอายุการใช้งานเพิ่มขึ้นก็คือ ‘อัลกอริทึม’ โดยท่ีตัวระบบจะออกรูปแบบการปล่อยประจุแบตฯ แบบไดนามิกที่ช่วยให้ลดการเสื่อมในระยะยาว ยิ่งระบบอิงตามพฤติกรรมการขับขี่จริงเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้แบตฯ ก็ใช้งานได้ยาวนานขึ้นตาม ๆ กันไป

ในท้ายที่สุดนักวิจัยก็ให้คำแนะนำว่า ผู้ผลิตรถ EV สามารถนำผลวิจัยนี้ไปปรับปรุงซอฟต์แวร์ และอัลกอริทึมจัดการแบตเตอรี่ได้ ผ่านการอัปเดต OTA ซึ่งเจ้าของรถที่ได้รับการอัปเดตนี้จะช่วยยืดอายุแบตฯ ใช้งานได้ยาวนานเพิ่มขึ้น

ที่มา : Stanford University News