สำหรับคนที่อยากสร้างโรงหนังเอาไว้ดูที่บ้านแบบจอยักษ์ๆ เบิ้มๆ เป็น 100 นิ้ว ก็น่าจะอยากได้โปรเจคเตอร์ไว้ใช้ซักตัวเพื่อเพิ่มความสะใจ…ไอ้จะไปลงทุนกับโปรเจคเตอร์แบรนด์ดังๆ ก็แพงหูฉี่เป็นหลักหมื่นบาท แต่ถ้าใครเข้าไปดูในร้านค้าออนไลน์ก็น่าจะเคยเจอกับเหล่าโปรเจคเตอร์จีนที่ขายราคาหลักไม่กี่พันบาท (ซึ่งมักจะแปะโลโก้โม้ๆ ว่า 1080p มั่งล่ะ หรือ 4K มั่งล่ะ) วันนี้เราก็เลยขอมารีวิวโปรเจคเตอร์จีนรุ่น RD819 ที่ได้มาจากร้านออนไลน์ในราคาประมาณ 3,600 บาท ว่ามันจะชัดแค่ไหน สว่างขนาดไหน และใช้ได้ดีแค่ไหนครับ

ความละเอียดของโปรเจคเตอร์

อย่างที่บอกไปว่าถ้าใครเคยเข้าไปค้นหาโปรเจคเตอร์ในร้านออนไลน์ ก็จะเจอกับเหล่าโปรเจคเตอร์จากประเทศจีนแบบไม่มีแบรนด์เป็นเรื่องเป็นราว เพราะเป็นสินค้าที่ผลิตมาแบบ OEM รูปร่างหน้าตา และสเปคเหมือนกัน แล้วให้แต่ละเจ้าเอาไปแปะแบรนด์แปะรุ่นกันเอาเอง โดยราคาก็จะมีตั้งแต่พันกว่าบาทไปจนถึงหลักหมื่นบาทก็มี แต่สำหรับพวกโปรเจคเตอร์ราคาตั้งแต่ 1,xxx – 4,xxx บาท จากที่ลองไปสืบข้อมูลมา จะมีอยู่แค่ไม่กี่รุ่นที่ให้ความละเอียดแบบ 1080p หรือ Full HD จริงๆ โดยเฉพาะรุ่นที่ต่ำกว่า 3,xxx บาท จะไม่มีรุ่นไหนที่ให้ความละเอียดขนาด 1080p จริงๆ เลย แต่มักจะแปะโลโก้ 1080p หรือ 4K เอาไว้หลอกลูกค้าที่ไม่เช็คสเปคให้ดี 

โปรเจคเตอร์ราคา 1,xxx บาท แปะ Full HD 1080p เอาไว้เพื่อโฆษณา แต่สเปคด้านในบอกความละเอียดจริงที่ 480p

โปรเจคเตอร์บางรุ่นบอกไว้ข้างหน้าร้านว่า 1080p แต่ถ้าเข้าไปอ่านสเปคให้ละเอียดด้านในจะบอกไว้ว่า Support 1080p, Full HD, 4K เท่านั้น ซึ่งจริงๆ คำว่า Support หมายถึงรองรับการเล่นไฟล์วิดีโอที่ความละเอียดดังกล่าว แต่ภาพที่ฉายออกมาจากตัวโปรเจคเตอร์จะเป็นคนละส่วนกัน โดยความละเอียดของภาพที่ฉายออกมาจะเรียกว่า Native resolution (บางร้านจะบอกสเปค Native resolution บางร้านก็ไม่บอก) เพราะฉะนั้นใครที่จะซื้อโปรเจคเตอร์พวกนี้ก็ลองถามคนขายให้ชัวร์ก่อนนะครับว่าความละเอียดแบบ Native เป็น 1080p จริงรึเปล่า ไม่งั้นซื้อมาแล้วไม่ชัดตามที่คิดจะเสียอารมณ์กันอีก

 

ความสว่างของโปรเจคเตอร์

ส่วนความสว่างของโปรเจคเตอร์จะมีหน่วยเรียกเป็น ANSI Lumen คือตัวเลขยิ่งมากก็ยิ่งสว่างมาก ซึ่งจะขึ้นอยู่กับขนาดของภาพที่ต้องการฉายด้วย โดยการฉายภาพที่ขนาด 100 – 120 นิ้ว ในห้องที่ปิดม่านปิดไฟ ใช้โปรเจคเตอร์ความสว่าง 300 – 500 ANSI Lumen ก็เพียงพอ แต่ถ้าจะเอาไปฉายขนาดใหญ่กว่านั้น หรือหากจะเอาไปฉายนอกอาคารที่ควบคุมแสงรอบข้างไม่ได้ ก็ยิ่งต้องหารุ่นที่ ANSI Lumen สูงตามไปด้วย (แน่นอนว่าราคาก็ต้องแพงขึ้น)

โปรเจคเตอร์จาก BENQ สเปคระบุความสว่างไว้ที่ 500 ANSI Lumen สว่างกว่าโปรเจคเตอร์จีนความสว่าง 3800 Lumen

ส่วนความสว่างของโปรเจคเตอร์จีนมักจะใช้หน่วยเรียกเป็น Lumen ซึ่งค่าความสว่างแบบ ANSI Luman จริงๆ อยู่ที่เท่าไหร่ก็ไม่รู้ เพราะอย่างรุ่นที่เราจะมารีวิวบอกค่าความสว่างอยู่ที่ 3800 Lumen หากไปเทียบกับโปรเจคเตอร์แบรนด์ดังๆ ที่มีความสว่าง 500 ANSI Lumen จะพบว่าความสว่าง 3800 Lumen ของโปรเจคเตอร์จีน (ที่สเปคระบุไว้) สู้ความสว่าง 500 ANSI Lumen ของโปรเจคเตอร์ดีๆ ไม่ได้เลย แต่ถ้าเอามาใช้ดูในห้องที่ปิดไฟ และปิดม่านก็ดูได้แบบชัดเจนสบายๆ เลยครับ

 

โปรเจคเตอร์รุ่น RD819

โปรเจคเตอร์รุ่น RD819 ที่เราเอามารีวิวคราวนี้ ได้มาจากร้านค้าออนไลน์ที่ซื้อมาช่วงโปรโมชั่นเลยได้ส่วนลดเหลือเครื่องละประมาณ 3,600 บาท (ไม่มียี่ห้อเป็นเรื่องเป็นราว มีแค่ชื่อรุ่นว่า RD819 เท่านั้น) ขนาดของตัวเครื่องค่อนข้างใหญ่อยู่ที่ 30 x 20 x 10 ซม. และน้ำหนักที่ราวๆ 3 กก. ส่วนสเปคก็คือมีความคมชัดแบบ Native อยู่ที่ 1080p และความสว่าง 3800 Lumen

ด้านหน้าเครื่องมีส่วนที่เป็นเลนส์สำหรับฉายภาพที่มีขอบพลาสติกสำหรับหมุนปรับโฟกัสด้วยมือ และมีช่องรับสัญญาณ (วงกลมสีส้ม) สำหรับใช้กับรีโมต

ขาตั้งด้านหน้าปรับความสูง-ต่ำได้ ในกรณีที่ตั้งเครื่องต่ำกว่าจอ

ด้านซ้ายมีช่องระบายอากาศจากพัดลมด้านใน และมีช่องลำโพงอยู่ใกล้ๆ กัน ทั้งด้านซ้าย และขวา

ช่องระบายอากาศ

ลำโพง

ด้านหลังมีสวิทช์ Power, พอร์ตสำสับเสียบสาย AC, พอร์ต HDMI จำนวน 2 ช่อง, พอร์ต USB จำนวน 2 ช่อง, พอร์ต VGA จำนวน 1 ช่อง, พอร์ต Audio in-out, พอร์ต AV, Pr, Y, Pb ซึ่งค่อนข้างครบสำหรับการใช้งานกับอุปกรณ์ทั่วไป

เขยิบมาทางด้านซ้ายหน่อย จะเจอกับตัวหมุมปรับ Keystone ซึ่งใช้สำหรับการปรับภาพให้เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้ในกรณีที่ตั้งเครื่องฉายในองศาไม่ขนานกับหน้าจอ แล้วภาพที่โชว์บนจอกลายเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู ก็ให้ใช้ตัวหมุนนี้ ปรับองศาให้ตรงซะ

ถ้าตั้งเครื่องฉายไม่ได้ระดับกับจอ ภาพจะเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู

แต่ข้อสังเกตของการปรับ Keystone ดังกล่าว ถ้าหากเราตั้งเครื่องฉายไว้ในความสูง หรือต่ำกว่าจอมากเกินไป แล้วค่อยปรับ Keystone เพื่อชดเชยองศาให้ภาพ บริเวณขอบภาพจะเกิดอาการเบลอกว่าบริเวณกลางจอนะครับ ก็เลยต้องพยายามตั้งไว้ในตำแหน่งที่พอดีกับจอให้มากที่สุด

แต่ถ้าปรับมากไป ขอบภาพจะเบลอ

ด้านบนตัวเครื่องมีปุ่ม Power และปุ่มสำหรับตั้งค่าต่างๆ เอาจริงๆ ก็ค่อนข้างใช้ง่าย เพราะมีแค่ปุ่มลูกศร ปุ่ม Menu และปุ่ม Source สำหรับเลือกพอร์ตเสียบสัญญาณภาพเท่านั้นเอง

รีโมตก็มีให้

ความคมชัดของภาพ

ทดสอบด้วยการเสียบสาย HDMI เข้ากับโน้ตบุ๊คแล้วฉายภาพความละเอียด 1080p ที่ความสว่างสูงสุด ขึ้นไปบนหน้าจอไวนิลขนาด 100 นิ้ว โดยเปิดไฟ LED ในห้องไว้ 2 ดวง ก็ได้ผลออกมาตามภาพด้านล่าง คือภาพยังคงมองเห็นได้เลือนๆ แต่ก็ไม่ถึงกับมองไม่เห็นเลย ยังสามารถใช้งานได้

พอปิดไฟปุ๊บ ภาพก็ชัดแจ๋วขึ้นมาทันที โดยในห้องไม่ได้มีการบล็อคแสงอะไรมากมายนะครับ เป็นช่วงบ่ายโมงที่แดดจ้า และแค่ปิดม่านเอาไว้เฉยๆ ยังพอมีแสงจากแดดด้านนอกเข้ามาบ้าง

ภาพที่ฉายออกมามีความคมชัด จนสามารถอ่านตัวหนังสือบนหน้าเว็บ หรือบนแอปเอกสารพวก Microsoft Word ได้เลย

จะดูหนังจาก Netflix ก็ชัดเจน และให้สีสันที่ค่อนข้างโอเค ตัวอักษร Sub title อ่านได้ไม่มีปัญหาใดๆ

หรือจะเอามาเล่นเกมก็ชัดไม่แพ้กัน จอใหญ่เล่นได้สะใจสุด

นอกจากเราจะเสียบสายเข้ากับเครื่องเล่น Media ต่างๆ, มือถือ, เครื่องเกมคอนโซล, Android Box หรือคอมพิวเตอร์ได้แล้ว เรายังเสียบแฟลชไดรฟ์ที่มีไฟล์หนังได้โดยตรงเข้าที่พอร์ต USB เลยก็ได้ครับ (ตัวโปรเจคเตอร์ไม่ได้ระบุว่ารองรับไฟล์ประเภทไหนบ้าง แต่จากที่ลองแล้ว ไฟล์ MP4 กับ MKV เล่นได้)

 

ระบบเสียง

สำหรับลำโพงในตัวโปรเจคเตอร์ สามารถปรับเสียงได้ทั้งแบบธรรมดา จะเปิดโหมด Surround หรือโหมด SRS TruSurround XT ก็ได้ ซึ่งเสียงก็ไม่ได้คาดหวังคุณภาพอะไรมากอยู่แล้ว ก็พบว่ามันให้เสียงที่ดังใช้ได้ (ปรับเป็นโหมด SRS จะดังสุด) แต่เสียงจะออกแหลมไปนิด และไม่มีเบสเลย แนะนำให้หาลำโพงมาเสียบเข้ากับพอร์ต Audio จะได้อารมณ์กว่า

ส่วนเวลาเปิดใช้งาน แน่นอนว่าพัดลมระบายอากาศต้องทำงานไปด้วย โดยส่วนตัวคิดว่าเสียงไม่ได้ดังจนน่ารำคาญ หรือดังเกินไปจนรบกวนการดูหนังแต่อย่างใดครับ

 

ขนาดของภาพ และระยะที่ฉาย

แม้ว่าตามสเปคจะระบุเอาไว้ว่า RD819 จะระบุเอาไว้ว่ามันมากับความละเอียดแบบ Native ที่ 1080p และฉายได้ขนาดสูงสุด 120 – 150 นิ้ว แต่ความใหญ่ของภาพและความคมชัดก็ต้องสัมพันธ์กันด้วยนะครับ เพราะถ้ายิ่งฉายภาพใหญ่ขึ้น แต่ความละเอียดยังคงติดอยู่ที่ 1080p แน่นอนว่าความคมก็จะลดลงไปด้วย

ฉายห่างจากจอประมาณ 3 เมตร ได้ขนาดภาพที่ราวๆ 100 นิ้ว

ส่วนระยะของการฉายภาพที่ผมใช้ระหว่างตัวเครื่องโปรเจคเตอร์กับหน้าจอห่างกันประมาณ 3 เมตร จะได้ภาพขนาด 100 นิ้ว ซึ่งความคมของภาพยังดีอยู่ ถ้าจะเอาใหญ่ขนาด 150 นิ้ว จะต้องถอยออกไปอีกที่ราวๆ 4 เมตร และความคมของภาพจะเริ่ม drop ลงไปบ้างแล้ว

 

สรุป

ข้อดี

  • ภาพคมชัดจริงเมื่อฉายในที่มืด หรือพอมีแสงสลัวๆ
  • มีพอร์ตให้ใช้ครบครัน
  • เล่นไฟล์วิดีโอจากแฟลชไดรฟ์ได้เลย
  • มีลำโพงในตัว
  • การตั้งค่าต่างๆ ทำได้ง่าย
  • มีรีโมต
  • ราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับสเปค

ข้อสังเกต

  • เครื่องใหญ่ และหนัก
  • ต้องตั้งเครื่องให้องศาการฉายภาพตรงกับจอมากที่สุดถึงจะได้ภาพที่ชัดเจนทั่วทุกมุม
  • เวลาปรับ Keystone แล้วขอบภาพจะไม่ชัด
  • เสียงจากลำโพงในตัวคุณภาพเฉยๆ (แต่ก็ดีกว่าไม่มี)

ใครที่ฝันอยากจะเล่นเกมแบบจอยักษ์ หรืออยากมีโฮมเธียเตอร์เป็นของตัวเอง ก็สามารถทำได้ในงบไม่ถึงหมื่นบาทแล้วล่ะครับ เพราะซื้อโปรเจคเตอร์ราคา 3,xxx บาท, จอไวนิล 100 นิ้ว ราคาประมาณ 200 – 300 บาท และลำโพงระดับกลางๆ ซักชุด (ที่ผมใช้คือลำโพงคอม 5.1 Channel ราคาราวๆ 2,xxx – 3,xxx บาท) เท่านี้ก็ได้สัมผัสประสบการณ์ในการดูหนังที่มันสะใจเหมือนยกโรงหนังมาไว้ที่บ้านแล้ว