หนึ่งในโน้ตบุ๊กที่น่าจับตามองที่สุดรุ่นหนึ่งในปี 2024 คนจะหนีไม่พ้น ASUS Vivobook S15 ที่ใช้ชิป Snapdragon X Elite เป็นเครื่องแรกของไทย พร้อมผ่านมาตรฐานกับ Copilot+ PC แน่นอนว่าด้วยการที่ตัวเครื่องใช้ชิป ARM แทน X86 หลายคนเลยมีความคาดหวังหลาย ๆ เรื่องว่าจะทำได้ดีกว่า X86 เช่น แบตเตอรี่ที่อึด ไม่ต้องพกที่ชาร์จก็ได้ ขณะเดียวกันก็มีหลายคนที่อยากรู้ว่าชิป ARM สามารถใช้งานได้ดีแค่ไหนในโลกแห่งความเป็นจริง วันนี้ทีมงานทดสอบมาให้แล้วหลายรูปแบบ บอกเลยว่ามีทั้งจุดที่ชอบมาก และจุดที่ยังไม่ชอบอยู่เหมือนกัน
ดีไซน์ภายนอกบางเบา เรียบหรู แบบฉบับ Vivobook
ดีไซน์ภายนอกของ ASUS Vivobook S 15 2024 จะดูคล้ายกับ Vivobook รุ่นอื่น ที่จะเน้นความเรียบหรู ตัวเครื่องบางเฉียบตามสไตล์โน้ตบุ๊กสายทำงาน ซึ่งแม้ว่าเครื่องที่ทีมงานได้มารีวิวจะใช้ชิป Snapdragon X Elite ที่เป็นชิปคนละสถาปัตยกรรมกับ Intel และ AMD ก็ตาม แต่ดีไซน์ภายนอกไม่ได้มีอะไรที่ต่างกันมากนักนอกจากสติ๊กเกอร์ที่แปะอยู่บนตัวเครื่องบ่งบอกว่าใช้ชิป Qualcomm
ด้านซ้ายมาพร้อมกับ ช่อง HDMI 2.1 จำนวน 1 ช่อง USB-C 4.0 จำนวน 2 ช่อง (รองรับการชาร์จไฟและต่อจอภาพ) Micro SD Card Reader และช่องหูฟัง 3.5 แบบ Combo Jack
ด้านขวาให้พอร์ต USB-A 3.2 Gen 1 จำนวน 2 ช่อง และไฟแสดงสถานะ ด้านหลังมาพร้อมกับช่องระบายความร้อนขนาดใหญ่ตลอดแนวตัวเครื่อง
ภาพรวมให้พอร์ตมาเยอะ ครบครัน ไม่ต้องใช้ USB Hub ก็เพียงพอกับการใช้งาน แต่เสียดายที่ไม่มีช่องอ่าน SD Card ตัวเต็มมาให้ และไม่มีช่องใส่ซิมการ์ดอย่างที่หลายคนคาดหวังไว้
ด้านใต้ตัวเครื่องมาพร้อมกับช่องดูดลมเย็น ยางรองที่มีมาให้ด้านใต้เครื่องมีทั้งหมด 5 จุด และลำโพง 2 ตัวซ้ายขวา ให้เสียงที่ดีใช้ได้เลย แต่ด้วยความที่วางดอกลำโพงไว้ด้านล่างของตัวเครื่องทำให้เสียงที่ออกมาไม่พุ่งตรงหาผู้ฟังแบบรุ่นที่มีลำโพงอยู่ด้านบน เลยอาจทำให้เสียงที่ได้ดูดรอป ๆ ลงไป
ตัวอะแดปเตอร์จ่ายไฟให้ขนาดกำลังไฟมา 90W แบบ USB-C PD ขนาดเท่ากับอะแดปเตอร์จ่ายไฟที่ใช้กับโน้ตบุ๊กทั่วไป ไม่ได้เล็กเป็นพิเศษแบบหัวชาร์จมือถือเทคโนโลยี GaN เลยทำให้อาจจะรู้สึกใหญ่เทอะทะไปบ้าง
น้ำหนักตัวเครื่องหนัดเพียงแค่ 1.4 กก. เท่านั้น ซึ่งถือว่าเบาใช้ได้เลยสำหรับโน้ตบุ๊กที่มีขนาดหน้าจอ 15.6 นิ้วแบบนี้
วัสดุตัวเครื่องทำมาจากอะลูมิเนียมตลอดทั้งตัวเครื่อง ให้สัมผัสที่ดีดูแข็งแรง จับแล้วรู้สึกพรีเมี่ยม ส่วนงานประกอบก็ทำออกมาได้เนี้ยบสมเป็นแบรนด์ระดับโลกอย่าง ASUS ภาพรวมด้วยความเป็นเครื่องในซีรี่ย์ Vivobook เลยอาจจะไม่ได้ดูหรูหราเท่าซีรี่ย์ Zenbook แต่ภาพรวมทำออกมาดูดีสมฐานะโน้ตบุ๊กราคา 4 หมื่นบาท
หน้าจอโน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ปี 2024 ควรจะได้แบบนี้
ASUS Vivobook S 15 2024 มาพร้อมกับหน้าจอขนาด 15.6 นิ้ว สัดส่วน 16:9 ความละเอียด 3K (2880 x 1620) 120Hz พาแนลแบบ OLED ความเที่ยงตรงสี DCI-P3 100% ขอบจอบางเฉียบ หลังจากที่ได้ใช้งานบอกเลยว่าสีสันทำได้สวยมาก และมีความคมชัดที่ดีใช้ได้เลย ใช้ทำงานที่ต้องการความแม่นยำของสีสูง ๆ ได้สบาย เหมาะที่จะใช้เป็นมาตรฐานหน้าจอโน้ตบุ๊กสายทำงานรุ่นบนในปี 2024 เลยก็ว่าได้
ตัวน้ำหนักแกนฝาพับทำออกมาได้ดีมาก แม้ตัวเครื่องจะมีน้ำหนักแค่ 1.4 กก. ก็ตาม สามารถเปิดมือเดียวได้ และมีความหนืดเพียงพอไม่ให้หน้าจอสั่นเกินไปเวลาเราขยับเครื่องด้วย ตัวแกนฝาพับจะมีด้วยกันสองแกนซ้ายขวา ขนาดใหญ่ดูแข็งแรงเหมาะสมกับตัวเครื่องดี หน้าจอกางได้สูงสุดประมาณ 180 องศา สิ่งที่อาจจะขัดใจไปบ้างคงเป็นเรื่องของหน้าจอที่เป็นแบบกระจก Glossy ทำให้มีแสงสะท้อนหน้าจอเยอะ
ด้านบนหน้าจอให้กล้อง Webcam ความละเอียด FullHD พร้อมกล้อง IR และไมโครโฟนตัดเสียง 2 ตัว
ตัวชุดคีย์บอร์ดของ ASUS Vivobook S 15 2024 มาใน Layout 98% แบบที่มี Numpad แบบ 3 แถว ตามสไตล์โน้ตบุ๊กหน้าจอ 15.6 นิ้วแบบดั้งเดิม ทำให้การวางปุ่มอาจจะดูงง ๆ หน่อยหากใช้งานครั้งแรก ตัวปุ่ม Power รวมในชุดแผงคีย์บอร์ดหลัก ทำให้บางทีอาจจะกดผิดกดถูกไปโดนบ้าง
สิ่งที่ขัดใจมีอย่างเดียวคือ ปุ่มลูกศรที่ให้มาขนาดเล็ก แต่ยังดีที่ขนาดเท่ากันทุกปุ่ม เวลาคลำหาก็จะไม่กดผิดกดถูก มาพร้อมกับปุ่ม Copilot ที่ช่วยให้เราเรียกใช้ AI ในเครื่องได้อย่างรวดเร็ว
ไฟ RGB 1 Zone ทุกปุ่มแบบไฟลอด ลูกเล่นที่ให้มาอาจจะไม่เยอะมากมายแบบในโน้ตบุ๊กเกมมิ่ง แต่ก็ต่างกับโน้ตบุ๊กรุ่นทั่วไปที่มีให้แค่สีเดียวเท่านั้น
ความรู้สึกหลังได้ใช้งานพบว่าเป็นคีย์บอร์ดให้ความรู้สึกดีใช้ได้เลย แม้ว่าเครื่องจะบางเฉียบแต่ระยะกด ความลึกของปุ่ม ทำออกมาได้ลึกประมาณนึงเลย ทำให้ใครที่ชอบกดคีย์บอร์ดแรง ๆ น่าจะชอบน้ำหนักประมาณนี้ เวลากระแทกแป้นพิมพ์แล้วไม่รู้สึกว่ามันสะท้านนิ้ว
ตัวทัชแพดขนาดใหญ่ สัมผัสที่ได้อาจจะยังไม่ได้ลื่นมาก เพราะใช้วัสดุแบบเดียวกับตัวเครื่อง ไม่ได้ใช้วัสดุเป็นกระจก ทำให้เวลาใช้งานจะรู้สึกว่าไม่ค่อยคมเท่าไหร่ แต่ถ้าไม่ค่อยได้ใช้เรื่องนี้ ก็อาจจะพอมองข้ามไปได้
สเปคเครื่องที่ให้มาแรงใช้ได้เลย
ASUS Vivobook S 15 2024 มาพร้อมกับชิป Snapdragon X Elite TDP 45W ซีพียูสถาปัตยกรรม ARM ตัวแรกในฝั่ง Windows หลังจากที่เราเคยเห็นชิปลักษณะนี้ไปแล้วในชิป Apple Silicon M Series บน MacBook แรมให้มาเยอะ 32GB แบบฝังบอร์ด อัปเกรดเพิ่มภายหลังไม่ได้ แต้เท่านี้ก็เยอะพอสำหรับทุกการใช้งานแล้ว
นอกจากนี้ Snapdragon X Elite ยังมาพร้อมกับ Qualcomm AI Engine พร้อมความสามารถในการประมวลผล AI ที่แรงที่สุด 75 TOPS และเร่งประสิทธิภาพการทำงาน AI ด้วย Qualcomm Hexagon NPU ในตัวที่ประมวลผลได้สูง 45 TOPS อีกด้วย
ทดสอบความแรงซีพียูด้วย Cinebench R23 ที่เป็นโปรแกรมแบบ X86 ได้คะแนนแบบ Multi Core ที่ 12028 คะแนน ส่วน Single Core 1106 คะแนน ส่วนถ้าทดสอบด้วย Cinebench 2024 ที่เป็นโปรแกรมแบบ ARM64 จะได้คะแนนแบบ Multi Core ที่ 1122 คะแนน ส่วน Single Core 108 คะแนน
ซึ่งเมื่อเทียบแล้วจะพบว่าความแรงต่างกันชัดเจน โปรแกรมที่มี Workload แบบ ARM64 ได้คะแนนเยอะกว่า เพราะไม่ต้องทำงานผ่าน Emulator และที่สำคัญเลยคือ เมื่อถอดปลั๊กแล้ว ความแรงแทบไม่ลดลงเลย คะแนน Cinebench 2024 ลดลงเหลือ 1063 คะแนนเท่านั้น
ส่วนคะแนนที่ได้ออกมาแรงประมาณไหนก็ต้องบอกว่าถ้าเป็น Workload แบบ ARM ก็แรงประมาณ AMD Ryzen 7 7800X3D, Intel Core i7-12700K, Core Ultra 9 185H และ Apple M3 Pro แต่ถ้าเป็น Workload แบบ X86 ความแรงจะตกลงเหลือแค่ประมาณ Intel Core i5 1350P หรือ AMD Ryzen 7 4800H เท่านั้น
- Cyberpunk 2077 (Low 1080p) ได้ไป 22 FPS
- Genshin Impact (Low 1080p) ได้ไป 40-50 FPS
- 3DMark Fire Strike 6270 คะแนน
- 3DMark Fire Strike Extreme 3030 คะแนน
- 3DMark Time Spy 1917 คะแนน
- 3DMark Time Spy Extreme 943 คะแนน
- 3DMark Wild Life 19684 คะแนน
- 3DMark Wild Life Extreme 6518 คะแนน
- Geekbench 6
- Multi Core 14715 คะแนน
- Single Core 2457 คะแนน
SSD ที่ให้มาความจุ 1 TB แบบ NVME PCIe 4.0 ทดสอบด้วยโปรแกรม Crystal Disk Mark 8 มีความเร็วอ่าน 5048 MB/s และเขียนที่ 3641 MB/s ความเร็วที่ได้บอกเลยว่าทำได้ตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น เพียงพอกับการใช้งานทั่วไป และเล่นเกมแน่นอน
ความร้อนของตัวเครื่อง ต้องบอกก่อนว่าโปรแกรมที่ใช้วัดอุณหภูมิตัวเครื่องอย่าง HWMonitor ไม่สามารถตรวจจับอุณหภูมิของชิปได้ แม้ว่าตัวโปรแกรมจะเป็น ARM64 แล้วก็ตาม ทำให้ไม่สามารถวัดผลออกมาเป็นตัวเลขที่ชัดเจนได้
ส่วนถ้าวัดด้วยความรู้สึกแล้ว ตัวเครื่องตอนใช้งานทั่วไป ความร้อนที่ปล่อยออกมามีน้อยมาก คือยังรู้สึกว่าเครื่องร้อนแบบพอให้รู้ว่ากำลังทำงานอยู่ แต่ก็ไม่ได้เย็นแบบโทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต แต่ก็เย็นกว่าโน้ตบุ๊กทั่วไป และที่สำคัญพัดลมทำงานเบามาก ไม่ได้ยินเสียงเลย แม้ไม่ใช่ Zero RPM ก็ตาม
ถ้านำไปใช้งานหนัก ๆ เช่น เล่นเกม หรือทดสอบ Benchmark จะพบว่าตัวเครื่องร้อนขึ้นอย่างรู้สึกได้ ร้อนในระดับเดียวกับโน้ตบุ๊กเครื่องบางเบาแต่มีการ์ดจอแยกเลย และที่ตามมาด้วยคือเสียงพัดลมที่ดังพอสมควร ซึ่งต่างกับ MacBook ที่ตอนเรนเดอร์วิดีโอเสียงพัดลมแทบไม่ได้ยิน
รองรับการใช้งานฟีเจอร์ด้าน AI บน Windows เต็มรูปแบบ อาทิ
- Windows Studio Effects ที่จะช่วยการจัดการเรื่องแสง, Noise และ เสียงรบกวนระหว่างการใช้งานวีดีโอคอล,
- Recall ช่วยจดจำการใช้งานที่ผู้ใช้เคยทำผ่าน Copilot+PC โดยเก็บไฟล์ไว้ในโฟลเดอร์ นับรวมถึงการท่องเว็บ งานเอกสาร และการใช้อีเมล โดยสามารถเลือกช่วงเวลาที่อยากให้โน้ตบุ๊กจดจำพฤติกรรมของเราได้ (ต้อนนี้ยังใช้ไม่ได)
- ฟีเจอร์ Live Captions ช่วยให้คำบรรยายแบบเรียลไทม์ได้อย่างแม่นยำมากกว่า 40 ภาษาทั่วโลก
- ฟีเจอร์ Paint Cocreator หรือเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ใช้สร้างภาพจากการวาดหรือคำอธิบายข้อความด้วยความช่วยเหลือของ AI
การใช้งานทำได้เกือบเหมือน X86 ถ้าไม่บอกว่าใช้ชิป ARM คือไม่รู้
เรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ทุกคนที่จะซื้อโน้ตบุ๊กเครื่องนี้เป็นกังวลที่สุด เพราะใช้ชิปยี่ห้อใหม่ สถาปัตยกรรมใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนจริง ๆ จัง ๆ บน Windows ไม่แปลกที่จะมีคำถามถึงเรื่องนี้ ทางทีมงานได้ไปทดสอบการใช้งานในรูปแบบต่าง ๆ มาให้แล้ว บอกเลยภาพรวมแทบไม่รู้สึกถึงความต่างกับโน้ตบุ๊กทั่วไปเลย คือถ้าไม่บอกว่าเครื่องนี้ใช้ชิป ARM คือไม่รู้เลย ทำงานได้เนียนเหมือน X86 แต่ก็อาจจะมีบั๊ก และไม่รองรับโปรแกรมบางตัวอยู่บ้าง
สิ่งที่ชอบมากในโน้ตบุ๊กเครื่องนี้คือ เมื่อพับฝาลงให้เครื่อง Sleep พอเปิดฝามาใหม่เครื่องตื่นเร็ว ติดทันที ไม่มีอาการงัวเงีย ไม่มีบั๊ก เครื่องอืด เปิดฝามาแรงเท่าเดิม และไม่เคยแฮงค์ เหมือนกับการกดปุ่มล็อกหน้าจอบนมือถือเลย ทำให้ตัวเครื่องไม่จำเป็นต้อง Shutdown แล้วก็ได้ พอเราใช้เสร็จก็กดปุ่ม Sleep แล้วพอจะใช้ใหม่ก็ค่อยเปิดเครื่องมาใช้ต่อ ถ้าแบตจะหมดก็ชาร์จ เหมือนการใช้งานโทรศัพท์มือถือเลย
แต่ต้องบอกก่อนว่าการเปิดเครื่องหรือ Restart เครื่องจะใช้เวลานานกว่าโน้ตบุ๊กที่ใช้ชิป Intel หรือ AMD พอสมควร เหมือนมือถือ Android ที่เปิดเครื่องแต่ละทีใช้เวลานานพอสมควรเลยกว่าจะพร้อมใช้
ใช้งานทั่วไป งานเอกสาร
ในเรื่องของการใช้งานทั่วไปบอกเลยว่าทำออกมาดีมาก ลื่นไหล เนียน ใช้งานได้เหมือนเครื่องที่มาพร้อมกับซีพียู X86 อย่าง Intel และ AMD เลย ยิ่งถ้าใช้งานโปรแกรมที่ทำงานได้แบบ Native ARM64 หรือโปรแกรมที่เขียนมาให้ทำงานได้บน ARM โดยเฉพาะจะยิ่งรู้สึกว่าเครื่องทำงานได้ดีถึงดีมาก
Process ส่วนมากที่ทำงานอยู่เบื้องหลังเป็นแบบ ARM64 แล้ว มีแค่บางโปรแกรมเท่านั้นที่เป็น X86
ส่วนถ้าใช้โปรแกรมแบบเก่า X86 ก็จะทำงานผ่าน Emulator ที่ชื่อว่า Prism ที่ถูกฝังอยู่ใน Windows 11 แทน เพื่อแปลงโค้ดโปรแกรมจาก X86 มาเป็น ARM64 จากการใช้งานพบว่าทำงานออกมาได้โอเคเลย ลื่นไหล แม้ว่าจะมีบั๊กอยู่บ้าง โดยบั๊กที่เจอมีทั้งโปรแกรมค้างใช้งานไม่ได้ เข้าโปรแกรมแล้วเด้งออก หรือเปิดโปรแกรมไม่ได้เลยก็มี และรู้สึกได้เลยว่าโปรแกรมทำงานช้าลงกว่าตอนที่ใช้บนเครื่อง X86 อยู่พอสมควร
ส่วนการติดตั้งโปรแกรมเวลาโหลดโปรแกรมให้ดูว่ามีเวอร์ชัน Windows ARM ด้วยหรือไม่ เพราะโปรแกรมจะทำงานได้เสถียรกว่า และบางโปรแกรมถ้าโหลดผิดเวอร์ชันจะไม่สามารถเปิดขึ้นมาได้ หรือถ้าใครไม่อยากสับสนโหลดผิดโหลดถูกก็แนะให้โหลดโปรแกรมผ่าน Microsoft Store จะดีที่สุด
ใช้งานทำกราฟิก
สำหรับใครที่จะนำไปใช้งานโปรแกรมแต่งภาพ เช่น Adobe Photoshop หรือ Adobe Lightroom บอกเลยว่าสามารถใช้งานได้ทุกฟังก์ชัน 100% เพราะโปรแกรมทำงานแบบ ARM64 แล้ว แต่ตัว Lightroom จะไม่สามารถใช้งานเวอร์ชัน Classic ได้นะ
ส่วนโปรแกรมอื่น ๆ เช่น Affinity Photo ในตอนนี้ยังใช้ไม่ได้ แต่คิดว่าในอนาคตน่าจะมเวอร์ชันที่รองรับซีพียู ARM ออกมาแน่นอน แต่ถ้าใครทำงานบน Web Base เช่น Canva บอกเลยว่าเรื่องนี้ปล่อยผ่านได้เลย ใช้ได้แน่นอน
ใช้งานตัดต่อวิดีโอ
ด้านงานวิดีโอบอกเลยว่าตอนนี้ยังไม่เหมาะที่จะนำมาใช้งานเท่าไหร่ เพราะจากที่ทดสอบมายังไม่มีโปรแกรมตัดต่อวิดีโอเวอร์ชันเต็มตัวไหนเลยที่สามารถใช้ได้บน ARM เริ่มกันที่ตัวแรกยอดนิยมอย่าง Adobe Premiere Pro พบว่าเมื่อกดติดตั้งตัวโปรแกรมจะขึ้นข้อความเลยว่าไม่สามารถติดตั้งได้
ส่วนโปรแกรมยอดฮิตที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันอย่าง Davinci Resolve ต้องใช้เวอร์ชัน 19 ที่เป็น Public Beta ขึ้นไปถึงจะสามารถใช้งานได้ และโปรแกรมตัดต่อวิดีโอที่ได้รับความนิยมในช่วงหลังมานี้อย่าง Capcut พบว่าตัวโปรแกรมสามารถติดตั้ง และเปิดขึ้นมาได้ แต่เมื่อใช้ไปสักพักโปรแกรมจะค้าง และปิดตัวลงทันที
เลยเป็นบทสรุปว่าตอนนี้ Windows on ARM ยังไม่เหมาะที่จะใช้ในสายงานนี้ เพราะโปรแกรมยังไม่รองรับ แต่ในอนาคตก็อาจจะใช้ได้ก็ได้ เพราะจากข่าวบอกว่าตัว Adobe Premiere Pro จะมีเวอร์ชัน ARM64 ออกมาในอีกไม่นานนี้
ใช้เล่นเกม
เรื่องนี้คิดว่าเป็นสิ่งที่โน้ตบุ๊กเครื่องนี้ทำได้แย่ที่สุดแล้วก็ว่าได้ เพราะเกมส่วนมากยังเป็นโปรแกรมแบบ X86 ซึ่งต้องทำงานผ่าน Emulator ทำให้ยังดึงประสิทธิภาพเครื่องออกมาได้ไม่สุด และโปรแกรมอย่างเกมนั้นกินทรัพยากรตัวเครื่องมาก ทำให้ตัวแปลงโค้ดรับมือได้ไม่ดีเท่าไหร่ จากที่ทดลองเล่นมามีทั้งที่เล่นได้ แต่ไม่ค่อยลื่น ติดตั้งได้เล่นไม่ได้ และติดตั้งไม่ได้เลย
สำหรับเกมที่ติดตั้งได้และเล่นได้ เช่น Dota 2, Couter Strike 2, GTA V, Cyberpunk 2077 และ Genshin Impact โดยเกมส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มนี้ FPS ที่ได้จะมีค่าเฉลี่ยแค่ 30 FPS เท่านั้น บนความละเอียดแบบ FullHD เรียกได้ว่าความแรงอาจจะน้อยกว่า iGPU เดิม ๆ ของ Intel และ AMD อยู่พอสมควรเลย
ใช้กับโปรแกรมเฉพาะทาง
การใช้งานโปรแกรมเฉพาะทาง เช่น โปรแกรมบัญชี โปรแกรมที่เช็คสต๊อกสินค้า หรือโปรแกรมที่เขียนขึ้นในหน่วยงาน ทางทีมงานไม่ได้มีตัวอย่างมาทดสอบให้ เลยบอกไม่ได้เหมือนกันว่าใช้งานได้หรือไม่ได้ ยังไงก่อนติดตั้งโปรแกรมเหล่านี้ ควรต้องถามผู้เขียนโปรแกรมเหล่านี้ หรือผู้ดูแลระบบมาใช้งานได้หรือไม่ก่อนที่จะนำโน้ตบุ๊กเครื่องนี้ไปใช้งาน
แบตโคตรอึดถึกทนที่สุดบนโน้ตบุ๊ก Windows แต่…
แบตเตอรี่ใส่มาให้ในความจุ 70WHrs ถ้ามองว่าเป็นแบตเตอรี่ที่ถูกใส่อยู่โน้ตบุ๊กเครื่องบางเบาแบบนี้นะ ก็ให้มาขนาดใหญ่พอสมควร ทีมงานได้ทดสอบดู YouTube ผ่าน Microsoft Edge เป็นเวลา 1 ชม. ปิดไฟคีย์บอร์ด เปิดความสว่าง และเสียงลำโพง 30% เปิดโหมดประหยัดพลังงาน
พบว่าสามารถใช้ได้ประมาณ 17 ชม. บอกเลยว่าอึดถึกทนมาก ๆ อึดเป็นเบอร์ต้น ๆ ของโน้ตบุ๊ก Windows ที่มีขายอยู่เลยก็ว่าได้ แต่ถามว่าสู้ Mac ได้หรือไม่ ก็ต้องบอกว่ายัง เพราะเวลาที่เราใช้งานจริง Workload มีการผันแปรอยู่ตลอดไม่ได้ทำงานเพียงอย่างเดียวแช่ยาว ๆ
จากที่ลองทดสอบใช้งานจริง ดูหนังฟังเพลง ทำกราฟิกบ้าง เล่นเกมเล็กน้อยเปิดความสว่างหน้าจอสูงสุด เปิดไฟคีย์บอร์ด เปิดโหมด Performance พบว่าสามารถใช้งานได้ประมาณ 5 ชม. เท่านั้น แบบ Screen On ส่วนระยะเวลาจริงพบว่าสามารถใช้ได้หมดวัน
เริ่มเปิดเครื่องใช้ตอน 10 โมง ถึงประมาณ 6 โมงเย็น ไม่ได้ใช้ต่อเนื่องมีเปิด ๆ ปิด ๆ เครื่องบ้าง พบว่าแบตเหลือประมาณ 10% ซึ่งจะต่างกับ MacBook Air M1 ที่เคยใช้ พบว่ามีแบตเตอรี่เหลือเยอะกว่านี้พอสมควร
ทดสอบพับฝาเครื่องลงแบบไม่ Shutdown พบว่าผ่านไป 1 วัน แบตเตอรี่ลดไป 5% เท่านั้น ไม่มีอาการแบตไหลจะหมดแน่นอน
สุดท้ายถ้าใช้งานหนัก ใช้งานต่อเนื่องยังไงก็ต้องพกที่ชาร์จอยู่ดี เพราะพกไว้สบายใจกว่า แบตเตอรี่ไม่ได้อยู่ได้ครบวันขนาดนั้น ไม่เหมือน MacBook พิสูจน์มาแล้วว่าที่ไม่ต้องพกที่ชาร์จก็ได้
ส่วนข้อสังเกตก็มีอยู่บ้างที่ตอนเวลาเราชาร์จแบตบริเวณพอร์ตด้านข้างซ้าย และใต้ตัวเครื่องจะมีอุณหภูมิสูงกว่าบริเวณอื่นพอสมควร คือจับไปรู้สึกได้เลยว่าเครื่องอุ่น แบบเดียวกับตอนที่ Full Load เครื่องเลย
สรุปแล้วใช้งานต่างกับโน้ตบุ๊กปกติหรือไม่
ASUS Vivobook S 15 2024 เป็นโน้ตบุ๊กที่พูดได้เลยว่าใช้งานได้ใกล้เคียงกับโน้ตบุ๊กทั่วไปมาก ถ้าไม่บอกว่าใช้ชิป ARM ก็แทบจะแยกไม่ออกเลย โปรแกรมส่วนมากสามารถใช้งานได้เหมือนโน้ตบุ๊กเครื่องอื่น คิดเป็น 70% ของภาพรวมโปรแกรมทั้งหมด
ถ้าใช้งานทั่วไป งานเอกสาร Word, Excel, Power Point เปิด Browser ทำกราฟิก Photoshop แต่งภาพ Lightroom บอกเลยว่าทำได้สบายเหมาะมากที่จะนำไปใช้งาน ยิ่งถ้าทำงานผ่านเว็บ พวก Web base หรือ Web App นี่ทำได้แน่นอน เพราะตัวเครื่องเป็นเหมือนแค่ทางเข้าเฉย ๆ ไม่ได้ประมวลผลอะไรมาก
แล้วอีก 30% ที่ใช้ไม่ได้มีอะไรบ้าง อย่างแรกคือโปรแกรมสำหรับสายตัดต่อวิดีโอทั้งหลาย ในตอนนี้ยังไม่เหมาะที่จะนำมาใช้แต่ในอนาคตคิดว่ายังไงต้องมีโปรแกรมตัวเต็มที่ทำงานร่วมกับชิป ARM ได้ออกมาแน่นอน
อย่างถัดไปคือการใช้เล่นเกม คือถ้าถามว่าเล่นได้ไหม ก็เล่นได้ แต่…ก็ได้แค่ขำ ๆ พอแก้เบื่อ ฆ่าเวลา ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้เล่นเกมจริงจังด้วยประการทั้งปวง เพราะตัวเกมส่วนมากเป็นโปรแกรมแบบ X86 และเป็นโปรแกรมที่กินทรัพยากรเครื่องค่อนข้างมาก ต่อให้ตัวแปลงโค้ดออกมาได้ดีขนาดไหนก็ยังรับมือยาก ตัวอย่างจาก Mac ที่เปลี่ยนมาใช้ชิป ARM หลาย Generation มาก ๆ แล้ว แต่สุดท้ายตัว Rosetta ก็ยังทำได้ไม่ดีเท่าไหร่เมื่อเจอกับเกมที่เขียนมาแบบ X86
และตัวฮาร์ดแวร์หรือ iGPU ก็ไม่ได้มีความแรงมากเท่าไหร่ด้วย เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่าง Intel และ AMD ที่เรื่องนี้เหนือชั้นกว่ามาก ๆ นี่ยังไม่นับรวมตัวเกมที่ไม่รองรับอีกนะ ดังนั้นถ้าจะซื้อมาเล่นเกมตอนนี้เลี่ยงได้เลี่ยงเลย
สุดท้ายกับโปรแกรมเฉพาะทาง และโปรแกรมจำลองต่าง ๆ (Virtual Machine) เรื่องนี้ต้องบอกว่าเนื่องจากเป็นโปรแกรมที่เหมือนกับสั่งตัดมาเพื่องานแบบเฉพาะทาง หรือเพื่อหน่วยงานนั้น ๆ ทำให้มีความหลากหลายเป็นอย่างมาก ไม่รู้จะทดสอบยังไงให้หมดเลยเป็นแต่ละกรณีไป ทดสอบหน้างานดีที่สุด แต่การเสียเงินเกือบครึ่งแสนแล้วพบว่าใช้ไม่ได้ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ดีเท่าไหร่ ดังนั้นควรใช้แบบเดิมที่เป็น Intel, AMD จะดีที่สุดในตอนนี้
ส่วนพวกโปรแกรมจำลองทั้วงหลาย เช่น Android Studio หรือ NOX Player ที่เป็นการจำลองมือถือ Android ในตอนนี้ยังใช้ไม่ได้ เพราะถ้าเรามาดูรูปแบบการทำงานเมื่อใช้กับเครื่องนี้จะพบว่ามันแปลกมาก เพราะเป็นการจำลอง ARM เป็น X86 แล้ว X86 แปลงกลับไปบน ARM อีกที ซับซ้อนซ่อนเงื่อนมาก และประสิทธิภาพก็ลดลงเหลือไม่ถึงครึ่ง เลยคิดว่าในอนาคตพวกโปรแกรมจำลอง Android น่าจะใช้งานได้แบบ Native เลย หรืออาจจะเป็นส่วนหนึ่งของ OS เลยก็ได้ สั่งงานตรงไม่ต้องแปลงให้เสียเวลา
ด้านภาพรวมของการเป็นโน้ตบุ๊กเครื่องหนึ่งบอกเลยว่าทำออกมาได้ดีน่าใช้เลย หน้าจอ คีย์บอร์ด วัสดุตัวเครื่อง คือดีเลย เรียบหรู ดูดี บางเบา พอร์ตมีทั้ง USB-A และ USB-C ที่ใช้ได้ทั้งชาร์จไฟ และต่อหน้าจอ แถมให้มาเยอะค่อนข้างครบไม่ต้องใช้ตัวแปลงก็ใช้งานได้สบาย
และอีกจุดเด่นหนึ่งคือเรื่องของแบตเตอรี่ที่อึดมาก ๆ เพียงพอสำหรับการใช้งานทั้งวัน แถมเมื่อถอดปลั๊กความแรงก็ไม่ตกด้วย Sleep เครื่องไว้ พอเปิดมาใช้อีกทีก็รวดเร็วทันใจ เหมือนกับการใช้โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ตเครื่องหนึ่งเลย
แม้ว่าที่ชาร์จขนาดอาจจะดูใหญ่พกพายากไปสักนิดนึง แต่ก็แก้ได้ด้วยการใช้ที่ชาร์จมือถือ หรือที่ชาร์จ PD แบบ GaN กำลังไฟเกิน 65W ขึ้นไป ที่มีขนาดเล็กกว่าได้ คือพกไปเผื่อชาร์จมากกว่า
ข้อสังเกตใหญ่ ๆ ของโน้ตบุ๊กเครื่องนี้คงเป็นเรื่องความเข้ากันได้กับซอฟต์แวร์ที่จะนำมาใช้งาน ถ้าไม่ติดปัญหาเรื่องนั้นก็จัดว่าเป็นโน้ตบุีกที่น่าใช้มากเครื่องหนึ่งเลย
ข้อดี
- ชิปแรงใกล้เคียง Intel และ AMD ถ้าทำงานบน ARM64
- แบตอึดมาก
- Sleep Wake ทำได้เร็ว
- พอร์ตการเชื่อมต่อให้มาเยอะ
- หน้าจอสวย
- วัสดุงานประกอบที่แข็งแรงแน่นหนา
- ลำโพงเสียงดี
- RAM 32 GB ไม่ต้องอัปเกรดเพิ่ม
- ใช้ทั่วไปพัดลมเสียงเบามาก
ข้อสังเกต
- ความเข้ากันได้ของโปรแกรม
- Full Load เครื่องร้อนไม่ต่างกับ X86
- เล่นเกมไม่เหมาะ
- อะแอปเตอร์ขนาดใหญ่
- แบตไม่อึดเท่า MacBook
- บั๊กประปราย
สเปค ASUS Vivobook S 15 2024
- ชื่อรุ่น ASUS Vivobook S 15 (S5507QA)
- CPU : Qualcomm Snapdragon X Elite (X1E 78 100)
- 12 Core 12 Threads
- Turbo Boost 3.4 GHz
- Cache 42M
- Max TDP 45W
- GPU : Adreno X1-85
- NPU : Hexagon 45 TOPS
- RAM : 32GB DDR5x Bus 8448 MHz
- SSD : 1TB M.2 NVME PCIe 4.0
- หน้าจอ : 15.6 นิ้ว
- ความละเอียด 3K (2880 x 1620)
- อัตราส่วน 16:9
- Refresh Rate 120Hz
- ขอบเขตสี DCI-P3 100%
- ผ่านมาตรฐาน VESA DisplayHDR 1000
- ประเภท : OLED
- ความสว่าง : 600nits
- Wi-Fi 7 (802.11be) , Bluetooth 5.4
- Battery : 70Whr
- น้ำหนักตัวเครื่อง : 1.42 กิโลกรัม
- OS : Windows 11 Home + Microsoft Office Home & Student 2021 + Microsoft 365 Basic 1 ปี
- ประกัน : 2 ปี On-Site Service + 1 ปี Perfect Warranty
- ราคา : 46,990 บาท
น่าสนใจ ๆ แต่ไม่เข้าใจว่าปี 2024 แล้วทำไมยังเอาลำโพงไว้ด้านหลังอีกอ่า -_-
ตอนแรกกะเอามาต่อกับ egpu ที่บ้าน เน้นพกไปทำงานข้างนอก เพราะมี usb4 แต่เห็นเมืองนอกลองเทสแล้ว สรุปต่อแล้ว notebook เห็น vga แต่ลง driver ไม่ได้ เพราะไม่รองรับ arm เลยขอผ่านดีกว่าครับ