ขอเกริ่น ก่อนนะครับ ตัวผมเองไม่ได้รีวิวอะไรมานานพอควรแล้ว อาจจะไม่ค่อยเหมือนรีวิวแบบมาตรฐานสักเท่าไร โดยที่มาของการรีวิวครั้งนี้มาแบบไม่ได้ตั้งใจครับ พอดีโทศัพท์เดิมผมเสียแบบกระทันหัน แบบซิมการ์ดไม่อ่านเลยทั้งสองซิม โดยเครื่องเดิมเป็น ZENFONE 2 (ZE551ML) มีอายุอานาม 2 ปีซึ่งผมซื้อตั้งแต่สามวันแรกที่ออกก็ถือว่าคุ้มตามสภาพละกันครับ และผมมีความจำเป็นต้งใช้โทรศัพท์ด่วนมาก เย็นนั้นจึงตรงดิ่งไปที่ MBK ทันที โดยมีโจทย์ในใจคือ มือถือระดับกลาง ราคาประมาณ 5000-7000 เพราะมือถือเรือธงทั้งหลายผมว่ามันไม่หวือหวามาก แล้วก็ไปได้ Zenfone 4 Max Pro-Edition มา (บทความนี้เป็นของเพื่อนสมาชิก @bever1982 ที่นำประสบการณ์มาแชร์กันครับ)

ความจริงในใจอยากได้แบบ PANASONIC CM-1 และรอมาสองสามปี รุ่นทายาทก็ไม่มาสักทีครับ จึงไปจบที่มือถือระดับกลาง ไปถึง MBK จับๆ มาสองสามรุ่น MOTO, NOKIA, HUEWEI, ASUS เกือบจะไปตกร่องปล่องชิ้นกะ ZENFONE 3 MAX (ZC553KL) ละ แต่พอดีไปสะดุดเห็นมี Zenfone 4 Max Pro-Edition (ZC554KL) พึ่งมาวันแรก แถมเป็น Pro Edition ด้วย ด้วยราคาที่ไม่ถึงพันคงต้องหยิบมาลองสักหน่อยละ ซึ่งมีเพื่อนที่ไปซื้อด้วยยุให้รีวิว จึงเป็นที่มาของรีวิวนี้ครับ โดยรีวิวของผมคงไม่เป็นแบบมาตรฐาน คงไม่มีการนำคะแนน Antutu หรือ แตะได้กี่จุด อุณหภูมิเท่าไร มาโชว์ เพราะไม่ต่างกะรุ่นที่ใช้ชิพเดียวกันมาก แต่จะเน้นไปที่สามสิ่ง ภาพรวม จุดเด่น จุดด้อย ตัวอย่างภาพ และ ข้อสรุป ที่เจอจากการใช้งาน ครับ

แกะกล่อง ภาพรวม Asus Zenfone 4 Max Pro-Edition

ขอเกริ่นถึงเสปคก่อนเลยนะครับ เพราะ ค่อนข้องต่างกับ รหัสเดียวกันที่เปิดตัวไปที่รัสเซียพอสมควร ซึ่งดูตามตารางด้านนี้ได้เลยครับ

ถ้าสเปคเป็นแบบนี้คำว่า Pro-Edition นี่น่าจะเป็นการเน้นในฝั่งของกล้องถ่ายภาพซะมากกว่า แต่ทาง ASUS ค่อนข้างทำตลาดมาเพื่อตอบโจทย์ชาวไทยได้ดีเลยที่ นำกล้องมาเป็นจุดเด่นในการขาย เพราะหลายๆ คนคงให้ความสำคัญกับกล้องมากกว่าความละเอียดหน้าจอ แต่คงต้องมาดูประสิทธิภาพกันอีกที

กล่องเป็นลักษณะสีฟ้าสดใส มีสติกเกอร์วงกลมสีทองพอให้รู้ว่าเป็น Pro Edition และมีคอนเซปท์ “WE LOVE PHOTO” ของ ZENFONE 4 แบบชัดเจน เป็นการย้ำว่ากล้องรุ่นนี้ต้องเจ๋งแน่นอน

อุปกรณ์ที่แถมมาในกล่องมี อแดปเตอร์, สาย MICRO-USB, เคสบัมเปอร์, เข็มจิ้มถาดซิม, USB-OTG ให้ใช้เป็น Power Bank

ตัวเครื่องบอดี้เป็นโลหะ การประกอบค่อนข้างดี ให้แบตมา 5000 mAh แต่สามารถออกแบบมาได้บางทีเดียวเพียง 8.9 mm ส่วนดีไซน์ดูธรรมดาไปหน่อย มีให้เห็นลายเส้นของ ZENFONE เพียงแค่ปุ่มด้านข้าง

ตัวเครื่องปุ่มเปิดปิดและ ปุ่มเสียง ออกแบบมาให้อยู่ด้านข้าง ส่วนถาดซิม เป็นแบบ 3 slot สำหรับ NANO SIM ทั้งสองช่อง และสามารถใส่ MICRO-SD พร้อมๆ กับซิมได้ไม่ต้องเลือกว่าจะใช้ซิมหรือ MICRO-SD ผมว่าค่อนข้างสะดวกดีครับ

พอร์ตที่ให้มาก็มี 3.5 mm. และ Micro-USB ซึ่ง ยังหาอุปกรณ์เสริมง่ายกว่า USB C

หลังจากที่ดูรวมๆ แล้ว เรามาดูจุดเด่นและจุดด้อยของ รุ่นนี้กันหลังจากที่ทดลองใช้จริงมาสองสามวัน

สเปค Zenfone 4 Max Pro Edition

  • Android 7.1.1
  • หน้าจอ 5.5 นิ้ว ความละเอียด HD 1280×720
  • หน่วยประมวลผล Qualcomm Snapdragon 430 1.4GHz Octa-core
  • หน่วยประมวลผลกราฟิค Adreno 505
  • ROM 32GB + Micro SD
  • RAM 3GB
  • กล้อง Dual Camera ความละเอียด 16MP และกล้อง Ultra Wide ความละเอียด 5MP
  • กล้องหน้าความละเอียด 16MP
  • รองรับการใช้งาน 2 ซิม (ซิมที่ 2 สแตนบายด์ 3G ได้)
  • แบตเตอรี่ 5000 mAh
  • ราคาเปิดตัว 7,990 บาท

 

จุดเด่น

แบตอึด – เนื่องจากที่แบบรุ่นนี้ให้มาถึง 5,000 mAh , หน้าจอที่เป็นแค่ HD และ CPU Snapdragon 430 ทำให้การกินพลังงานไม่มากนัก ประกอบกับ การจัดการพลังงานของซอฟท์แวร์ในเครื่องที่ดี ผมไปเที่ยวข้างนอกมาทั้งวัน เปิดเนต 3G+ ตลอด มีเล่นเกมส์บ้าง ดู YOUTUBE ในรถบ้าง ถ่ายรูปพอควร แบตตอนเช้าที่ 100% มาถึงช่วงเย็นๆยังคงเป็น 60%+ ซึ่งถ้าเป็นเครื่องเดิมคงหมดหรือใกล้หมดไปแล้วที่พฤติกรรมเดียวกัน

Netcom 3.0 – ผมมีปัญหาชีวิตในการใช้สองซิมพร้อมกันมากๆ เพราะซิม AIS ที่เป็นซิมสองสัญญาณรับได้เฉพาะ 2 G ซึ่งเสามันน้อยลงทุกๆวัน ก่อนหน้านี้ผมดู Zenfone 3 ต้องเป็นตัว 5.5 หรือ Deluxe จึงมีฟังชั่นนี้ ซึ่งผมค่อนข้างแปลกใจที่โทรศัพท์ราคานี้ให้ฟังก์ชั่นนี้มาด้วยซึ่งทำให้ปัญหาในการรับสายซิมสองหมดไป และสามารถจับสัญญาณทั้งสองซิมได้ดีทีเดียว

3.5 mm. และ Micro-USB B – ผมรู้สึกรัก Asus เลยที่ยังให้สองพาร์ตนี้มา ผมว่า ณ.ปีนี้ หรือ ปีหน้าพอร์ต Micro-USB B นี้ยังหาอุปกรณ์เสริมง่ายกว่า USB type C อยู่ และ อุปกรณ์อื่นๆ ของผม เช่น กล้อง, บลูทูธ ยังใช้พอร์ตนี้เป็นหลักอยู่ทำให้ใช้สายร่วมกันได้แบบไม่มีปัญหา

กล้อง (ฮาร์ดแวร์) – ผมว่าทาง Asus ให้ ฮาร์ดแวร์มาค่อนข้างดีสำหรับในราคานี้ทั้งกล้องหน้าและหลัง ซึ่งมันทำให้การถ่ายภาพในที่มีแสงเพียงพอและไม่พอ ต่างๆออกมาได้ดี สีสดใส ซึ่งสามารถดูตัวอย่างภาพได้ตามด้านล่างเลยครับ ส่วนกล้องคู่นั้นอีกเลนส์เป็นแบบ Ultra Wide 120 องศา หากเปิดไปใช้งานก็จะได้ภาพที่กว้างมากๆ แต่ความละเอียดของเซนเซอร์ตัวนี้จะอยู่ที่ 5 ล้านพิกเซลเท่านั้น

เปิดใช้เลนส์ Ultra Wide 120 องศา

โหมดกล้องต่างๆ มีโหมดโปรให้ด้วย แต่ปรับตั้งค่าได้ไม่เยอะ

 

ตัวอย่างภาพถ่ายจาก Asus Zenfone 4 MAX Pro-Edition

ตัวอย่างภาพจากการใช้งานจริง One Day Trip เป็นดังต่อไปนี้เลยครับ พยายามถ่ายมาให้หลากหลายนะครับ ทั้งในร่มและกลางแจ้ง ผมว่าสภาพกลางแจ้งไม่มีปัญหา สามารถให้สีมาได้ตรง แต่ในร่มนี่ไวท์บาลานซ์เพี้ยนมากครับ และโฟกัสไม่ค่อยตรงจุด ดูตามภาพได้เลยครับ

 

จุดด้อย

ไม่มี Fast Charge – ผมว่าภ้าจะให้แบตมาถึง 5,000 mAh แล้วแต่ไม่ให้ฟังชันนี้มา ทีมผลิตภัณฑ์ของ Asus ควรไปทำการบ้านมาเพิ่มนะครับ ผมค่อนข้างแปลกใจ ผมลองเชคฟังชันนี้ของ ZC554KL ของเวอร์ชั่นรัสเซียก็มีแบบปกติแต่ผมลองมาใช้แล้วปรากฎว่าไม่มี ผมลองเปลี่ยน Charger ของ Zenfone 2 ที่รองรับ Quick Charge 2.0 แล้วแต่ก็ผลเหมือนเดิม ซึ่งทำให้ต้องใช้เวลาชาร์จ 3-4 ชม. กว่าจะเต็มและไม่มีการชาร์จด่วนด้วย ค่อนข้างลำบากสำหรับการใช้งาน

กล้อง (ซอฟต์แวร์) – ผมว่าอันนี้เป็นอะไรที่ค่อนข้าง Contrast กับ ฮาร์ดแวร์ เลยครับ เรียกว่าอาการมาครบเลย โฟกัสไม่แม่น ชัทเตอร์แล็ค โปรเซสภาพจนไม่เห็นรายละเอียดหรือเทกเจอร์ อันนี้ควรปรับปรุงอย่างแรงครับ เพราะ จุดขายคือกล้องแต่ไม่สามารถนำมันออกมาได้แบบมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน ซึ่งบางภาพถ่ายในที่ร่ม Zenfone 2 ยังทำได้ดีกว่าเลยครับ

 

เพิ่มเติมเนื้อหาในส่วนของประสิทธิภาพตัวเครื่องครับ

คะแนน Antutu Benchmark ทำได้ 44250 คะแนน

เซนเซอร์ในตัวเครื่องให้มาครบมากๆ Gyroscope – Magneto Meter, Light Sensor, Step Counter, Gravity

 

บทสรุป

โดยรวมแล้ว Asus Zenfone 4 Max Pro Edition ถือเป็นเครื่องที่น่าใช้ครับ ตอบโจทย์สำหรับคนใช้สองซิม ที่ชอบแบตอึด และ มีกล้องพอไปวัดไปวาได้ แต่ถ้าต้องการ จอภาพละเอียด หรือ ความแรง ควรจะข้ามไปครับ แต่ ทีมผลืตภัณฑ์ ของ Asus ควรใส่ใจ FW ก่อนออกขาย และ เน้นจุดขายให้ตรงเรื่อง สองซิมเต็มรูปแบบ, ระยะเวลาต่อการใช้งานหนึ่งครั้ง, กล้องที่ค่อนข้างดี ครับ ผมว่าราคานี้สู้คู่แข่งแบบใกล้เคียงกัน อย่าง HUEWEI GR 5 (2017), Moto M, Nokia 6 ได้สบาย ถ้าใครมีข้อสงสัยเรื่องภาพถ่ายสามารถสอบถามได้นะครับ

*บทความนี้เป็นของเพื่อนสมาชิก @bever1982 ที่นำประสบการณ์มาแชร์กันครับ ทาง droidsans ขออนุญาติปรับเปลี่ยนภาพและเติมเนื้อหาบางส่วนเข้าไปอีกเล็กน้อย โดยยังคงเนื้อหาจากต้นฉบับเอาไว้