iQOO Z9 และ iQOO Z9x 5G เปิดตัวในไทยมาด้วยเสียงตอบรับดีมาก ๆ ให้ทั้งสเปคที่มาแบบจัดเต็มในราคาเริ่มต้นแค่เพียง 7,999 บาทเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าได้ยินชื่อ iQOO แล้วหลาย ๆ คนคงนึกถึงเรื่องของประสิทธิภาพการเล่นเกมเป็นหลัก วันนี้เราเลยรีวิวให้ดูกันว่า ภาพรวมประสิทธิภาพการเล่นเกมของทั้งสองรุ่นเป็นแบบไหน ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อมาใช้กัน

ได้ดีไซน์ Porthole แบบเรือธง ในราคาแค่หลักพัน

iQOO Z9 และ iQOO Z9x 5G มาพร้อมกับดีไซน์ซิกเนเจอร์ประจำปี 2024 ของแบรนด์ที่เรียกว่าดีไซน์แบบ Porthole ซึ่งตัวเครื่องจะมาในลักษณะ Flat แบนราบทั้งจอแสดงผล ขอบเฟรม รวมถึงฝาหลัง แต่ในรุ่น iQOO Z9 ตัวมาตรฐานฝาหลังจะมีความโค้งเล่นมิติ ดูดีขึ้นมาอีกระดับ

นอกจากฝาหลังที่มีมิติโค้งขึ้นมาแล้ว ตัวกล้องของ iQOO Z9 จะมีการสลักลายคล้ายหน้าปัดนาฬิกาไว้ที่เฟรมของตัวกล้อง และระหว่างขอบเครื่องกับจอแสดงผลจะไม่มีขอบหนาล้ำออกมาจากตัวเครื่อง โดยด้านซ้ายของตัวเครื่องเป็นที่เปล่า ๆ ด้านขวามีปุ่ม Volume และปุ่ม Power ด้านบนมี IR Blaster และไมโครโฟนตัดเสียงรบกวน ด้านล่างมีช่องใส่ SIM Card แบบ Dual Slot หน้าหลัง ไมโครโฟนหลัก พอร์ต USB-C และช่องลำโพง

ส่วนรุ่นเล็กอย่าง iQOO Z9x จะมีขอบระหว่างเฟรมกับจอแสดงผลยื่นขึ้นมานิดหน่อย ฝาหลังมาในดีไซน์แบนราบ และสีเขียว Northern Green ที่เราได้มารีวิวนั้นจะมีการเล่นลวดลายที่ฝาหลัง และตัวเลนส์กล้องจะมาในดีไซน์แบบสี่เหลี่ยมดูแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

รอบ ๆ เครื่องของ iQOO Z9x จะมีการปรับตำแหน่งพอร์ต และปุ่มต่าง ๆ นิดหน่อย ด้านซ้ายมีช่องใส่ SIM Card แบบ Hybrid Slot รองรับ microSD Card ด้านขวามีปุ่ม Volume + ปุ่ม Power ฝังเซนเซอร์สแกนนิ้ว ด้านบนมีเพียงแค่ไมโครโฟนตัดเสียงรบกวน ส่วนด้านล่างมีช่องเชื่อมต่อหูฟังขนาด 3.5 มม., ไมโครโฟนสนทนาหลัก พอร์ต USB-C และช่องลำโพง

ภายในกล่องทั้งสองรุ่นมาพร้อมอุปกรณ์เสริมครบชุด ทั้งเคสใส หัวชาร์จ 80W และ 44W สายชาร์จแบบ USB-A to USB-C ติดฟิล์มหน้าจอมาให้เสร็จสรรพพร้อมใช้งานตั้งแต่แกะกล่องเลย

iQOO Z9 และ iQOO Z9x 5G จอต่างกันแค่ไหน

เรื่องจอแสดงผลถือเป็น 1 ในจุดที่แตกต่างที่สุดของทั้งสองรุ่น เพราะว่าในรุ่นมาตรฐานอย่าง iQOO Z9 ถือว่าให้มาแบบเต็มพิกัดมาก ๆ มาในขนาดใหญ่ 6.78 นิ้ว ความละเอียดสูงถึง 1.5K (2800 x 1260 พิกเซล) รีเฟรชเรตลื่นถึง 144Hz แถมยังได้พาเนล OLED สีสวย และสว่างสุด ๆ ถึง 4,500 nits เหมาะกับทั้งการเล่นเกม และชมคอนเทนต์ เพราะแสดงสีดำได้สนิท แถมยังรองรับวิดีโอความละเอียด 4K@60FPS HDR ด้วย

กลับกันใน iQOO Z9x จะได้จอพาเนล IPS LCD ที่ขอบหนา รองรับรีเฟรชเรตที่ 120Hz มีขนาดลดลงมานิดหน่อยเป็น 6.72 นิ้ว ความละเอียด Full HD+ (2408 x 1260 พิกเซล) และสว่างสูงสุดเพียง 1,000 nits ซึ่งก็ถือว่าค่อนข้างสูงแล้วสำหรับพาเนล IPS LCD รองรับการรับชม YouTube ที่ความละเอียดสูงสุด 4K@60FPS แต่สีสันก็ถือว่าค่อนข้างซีด และอาจจะมีความเหลือบนิดหน่อยหากมองไม่ถูกองศา

เทียบคุณภาพจอแสดงผล บน: iQOO Z9 / ล่าง: iQOO Z9x

อย่างไรก็ตามเครื่องที่เราใช้ทดสอบนั้นดูเหมือนจะมีบั๊กนิดหน่อยเวลาเล่นวิดีโอที่ความละเอียดสูงสุด อย่างรุ่น iQOO Z9 จะเจอปัญหาเมื่อเล่นวิดีโอ 4K@60FPS HDR บน YouTube แล้วจะมีอาการกระตุกเป็นพัก ๆ ส่วน iQOO Z9x เมื่อเปิดที่ความละเอียดสูงสุด 4K@60FPS บน YouTube ไปประมาณ 2 – 3 นาที ตัวแอปก็จะเด้งออกเองโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่อาการดังกล่าวอาจจะเป็นแค่กับเครื่องที่เราทดสอบเท่านั้น ตัวเครื่องที่วางจำหน่ายจริงอาจไม่ได้เจอปัญหานี้

กล้องความละเอียดเท่ากัน แต่คุณภาพต่างกัน

iQOO Z9 และ iQOO Z9x 5G มากับกล้องหลังคู่ 50MP + กล้อง Depth วัดระยะตื้นลึก 2MP รองรับการถ่ายวิดีโอสูงสุด 4K@30FPS เท่ากัน แต่ในรุ่นมาตรฐานนั้นจะได้เซนเซอร์ IMX882 ที่คุณภาพดีกว่า แถมยังได้ชิปเซตที่มากับหน่วยประมวลผลภาพที่ดีกว่า ทำให้คุณภาพของรูปถ่าย และงานวิดีโอออกมาได้คมชัดดูดีกว่ามาก ๆ

ส่วน iQOO Z9x 5G ภาพที่ได้ออกมานั้นอาจจะไม่ได้คมชัดเท่ารุ่นมาตรฐานมาก สังเกตได้จาก Noise ที่เห็นได้ชัดกว่ารุ่นมาตรฐานทั้ง ๆ ที่อยู่ในสภาพแสงเดียวกัน แต่ก็อยู่ในเกณฑ์ที่พอรับได้

กล้องเซลฟี่ถือเป็นจุดที่สังเกตถึงความต่างได้ชัดที่สุดเพราะ iQOO Z9 มากับกล้องหน้าความละเอียด 16MP สามารถเก็บแสง Process ผิวออกมาได้ดูดี และเป็นธรรมชาติกว่ากล้องของ iQOO Z9x 5G ที่ติดแดงพอสมควร

ชมตัวอย่างงานวิดีโอของ iQOO Z9 Series ทั้งสองรุ่น

iQOO Z9 และ iQOO Z9x 5G แรงเท่ากันมั้ย?

ตารางเทียบสเปคiQOO Z9iQOO Z9x
จอภาพประเภทจอ AMOLED C8
ความสว่างสูงสุด 4,500 นิต รองรับ HDR
จอ IPS LCD
ความสว่างสูงสุด 1,000 นิต
ขนาด6.78 นิ้ว6.72 นิ้ว
ความละเอียด1.5K
(2800 x 1260 พิกเซล)
FHD+
(2408 x 1260 พิกเซล)
อัตรารีเฟรช144Hz
ประสิทธิภาพชิปเซตSnapdragon 7 Gen 3
หน่วยความจำLPDDR4x
8GB / 12GB
LPDDR4x
8GB
สตอเรจ256GB128GB / 256GB
รองรับ microSD Card 1TB
ระบบปฏิบัติการFuntouch OS 14 บนพื้นฐาน Android 14
กล้องกล้องหลักIMX882 50MP (f/1.79)50MP (f/1.8)
กล้อง Depth2MP (f/2.4)
กล้องหน้า16MP (f/2.45)8MP (f/2.05)
เสียงลำโพงลำโพงสเตอรีโอ
Hi-Res Audio
ลำโพงสเตอรีโอ
Hi-Res Audio
มีช่องเชื่อมต่อหูฟัง 3.5 มม.
เครือข่ายเทคโนโลยี5G
การเชื่อมต่อWi-FiWi-Fi 6Wi-Fi 5
Bluetooth5.45.1
การเชื่อมต่ออื่น ๆNFC
IR Blaster
USB Type-C 2.0
USB Type-C 2.0
แบตเตอรี่ความจุ6000 mAh
การชาร์จ80W44W
ตัวเครื่องสแกนลายนิ้วมือใต้หน้าจอข้างตัวเครื่อง
มาตรฐานทนน้ำIP64
ขนาด163.72 x 75.88 x 7.98 มม.165.70 x 76 x 7.99 มม.
น้ำหนัก194.6 กรัม199 กรัม
ตารางเทียบสเปค iQOO Z9 Series

แน่นอนว่าในเมื่อทั้งสองรุ่นมากับชื่อแบรนด์ iQOO หลาย ๆ คนก็อยากจะรู้ว่าประสิทธิภาพการเล่นเกมของรุ่นจะเป็นอย่างไร เราเลยได้จับ iQOO Z9 (12GB + 512GB) ที่มากับชิป Snapdragon 7 Gen 3 มาทดสอบเทียบกับ iQOO Z9x (8GB + 128GB) รุ่นที่ใช้ชิป Snapdragon 6 Gen 1 ให้เห็นความแตกต่างกันชัด ๆ ทั้งผ่านโปรแกรม Benchmark และสถานการณ์การเล่นเกมจริง ซึ่งผลออกมามีดังนี้

จากภาพผลทดสอบที่แนบมานั้น จะเห็นได้ว่าคะแนนทดสอบ CPU ของ iQOO Z9 ที่ใช้ Snapdragon 7 Gen 3 จะได้คะแนนทดสอบที่สูงกว่า iQOO Z9x ที่ใช้ชิป Snapdragon 6 Gen 1 อยู่ที่ราว ๆ 14 – 20% ซึ่งถ้าเทียบในจุดนี้อาจจะยังไม่ได้ดูต่างมากนัก แต่เมื่อเทียบคะแนนทดสอบ GPU ที่เป็นตัวหลักในการประมวลเกมต่าง ๆ จะเห็นได้ชัดเลยว่า iQOO Z9 มากับคะแนนนำโด่งห่างกันเกือบ 90%

ส่วนผลทดสอบจาก 3D Mark ทั้งใน Wild Life Stress Test ผลก็ออกมาเป็นเอกฉันท์เช่นกัน เพราะ iQOO Z9 ที่ใช้ Snapdragon 7 Gen 3 ทำคะแนนได้สูงกว่าเกือบ 1 ช่วงตัว อีกทั้งยังทำเฟรมเรตได้ดีกว่าหลายเท่า นอกจากนี้เรายังได้ทดสอบเล่นเกมดังที่ว่ากินสเปคโหด ๆ กันถึง 4 เกม แต่เนื่องจากตัวระบบไม่ได้มีฟีเจอร์เฟรมเรตมอนิเตอร์มาให้ จึงขออนุญาตเล่าเป็นประสบการณ์การเล่นให้อ่านกันพอสังเขป

Genshin Impact

iQOO Z9

iQOO Z9 จากการตั้งค่ากราฟิกที่ระดับสูง (High) พร้อมเปิดโหมดเฟรมเรตไว้ที่ระดับ 60Hz ถือว่าเล่นได้ค่อนข้างลื่นในระดับหนึ่ง เฟรมเรตน่าจะวิ่งอยู่ที่ราว ๆ 45FPS เมื่อมีการต่อสู้หนัก ๆ อาจก่อนปล่อยเอฟเฟกต์อาจมีจังหวะสะอึกเล็กน้อย ซึ่งถ้าอยากเล่นด้วยประสบการณ์ที่ดีขึ้นแนะนำให้ปรับกราฟิกไว้ที่ระดับ Medium จะเล่นได้ลื่นไหลกว่าพอสมควร

iQOO Z9x

ส่วน iQOO Z9x จากที่ได้ลองเล่นในโหมดกราฟิกระดับกลาง (Medium) ล็อกเฟรมเรตไว้ที่ระดับ 60Hz เช่นกัน ในช่วงแรกของการเล่นถือว่าทำได้ค่อนข้างลื่นไหล มีอาการกระตุกบ้างเมื่อมีการหมุนกล้อง หรือโดนศัตรูรุมโจมตีด้วยเอฟเฟกต์เยอะ ๆ ซึ่งถ้าปรับลงมาในระดับ Low Setting จะเล่นได้ดีกว่านี้พอสมควร

PUBG Mobile

iQOO Z9

iQOO Z9 สามารถปรับกราฟิกบน PUBG Mobile ได้สูงสุดถึงระดับ Ultra HDR + เฟรมเรต Ultra (45FPS) แต่ถ้าอยากได้ประสบการณ์ลื่นไหลระดับ 60FPS จะต้องปรับต่ำลงมาหน่อยเป็น HDR ถึงจะสามารถเปิดเฟรมเรตได้ที่ระดับ Extreme (60FPS) ซึ่งจากเล่นคร่าว ๆ ก็ถือว่าทำได้ลื่นไหลดีมาก ไม่เจอเฟรมเรตเหวี่ยงแต่อย่างใด

iQOO Z9x

กลับกัน iQOO Z9x ถึงแม้ว่าจะมากับชิป Snapdragon 6 Gen 1 แต่กลับเปิดโหมด HDR HD + เฟรมเรต Extreme ไม่ได้เหมือน HONOR X9b ทั้ง ๆ ที่ใช้ชิปประมวลผลตัวเดียวกัน รองรับกราฟิกสูงสุดแค่ HD + โหมดเฟรมเรตระดับสูง (30FPS) เท่านั้น เมื่อลดกราฟิกลงไปในโหมดสมดุล ก็ล็อกเฟรมเรตไว้สูงสุดแค่ Ultra (45FPS) ซึ่งปัญหาน่าจะเกิดจากซอฟต์แวร์ที่อาจจะยัง Optimized มาไม่เข้ากับตัวเกมมากนัก แต่จากการเล่นในโหมดดังกล่าวก็ถือว่าทำได้ดี ไม่มีปัญหาระหว่างการเล่นแต่อย่างใด

Call of Duty Warzone

iQOO Z9

สำหรับ Call of Duty Warzone ทั้งสองรุ่นถือว่าทำเฟรมเรตได้ในระดับที่พอใช้ได้ในโหมดกราฟิกแบบ High แต่เนื่องจากระบบของเกมนี้ต้องอาศัยความเร็วเป็นหลัก แนะนำว่าให้เปิดโหมดกราฟิกไว้ที่ระดับกลางทั้งคู่ จะทำให้เล่นได้ลื่นไหลกว่ามาก ๆ และช่วงนี้ตัวเกมอาจจะยังมีระบบที่ยังไม่ค่อยสมบูรณ์มากนัก จึงอาจมีอาการกระตุกให้เห็นบ้างเป็นระยะ

Arena Breakout

iQOO Z9

iQOO Z9 Series สามารถปรับกราฟิกในเกม Arena Breakout ได้ค่อนข้างยืดหยุ่นมาก ๆ ซึ่งจากการทดสอบเล่นในโหมด HDR HD ในเฟรมเรตระดับ Ultra ก็ถือว่าทำได้ค่อนข้างลื่นไหลเลยทีเดียว

iQOO Z9x

ส่วน iQOO Z9x ก็สามารถปรับได้ที่กราฟิกระดับเดียวกัน แต่พอเล่นจริงเฟรมเรตจะไม่ค่อยเสถียรเท่าไหร่นัก แนะนำว่าให้ปรับไว้ที่ในโหมด HD จะเล่นได้ดีกว่ามาก ๆ

แบตเตอรี่โคตรอึด 1 วันเต็ม ๆ เอาอยู่

iQOO Z9 และ iQOO Z9x 5G มากับแบตเตอรี่ความจุแบบแน่น ๆ 6,000 mAh เท่ากัน แต่สเปคการชาร์จนั้นแตกต่างกันพอสมควร โดยรุ่นมาตรฐานจะรองรับชาร์จไว 80W ส่วนรุ่นเล็กจะรองรับที่ 44W เท่านั้น

ส่วนการทดสอบลองใช้งานแบบโหด ๆ เปิดแสงจอไว้ที่ 100% มีการอัดวิดีโอ 4K ติดต่อกันยาวติดกัน 2 ชั่วโมง ดูยูทูปติดต่อกันที่ความละเอียด 2K@60FPS เป็นเวลา 1 – 3 ชั่วโมง และทดสอบเกมทั้ง PUBG และ Genshin Impact ติดต่อกัน 1 – 2 ชั่วโมง ผลออกมาดังนี้

  • iQOO Z9 ระยะเวลาสแตนด์บาย 23.9 ชั่วโมง / Screen Time 8 ชั่วโมง – แบตเตอรี่เหลืออยู่ที่ราว ๆ 10%
  • iQOO Z9x ระยะเวลาสแตนด์บาย 1 วัน / Screen Time 7.1 ชั่วโมง – แบตเตอรี่เหลืออยู่ที่ราว ๆ 13%

สรุปการรีวิว iQOO Z9 Series

จากการทดสอบใช้งานทั้ง iQOO Z9 และ iQOO Z9x 5G สรุปได้ว่า ถ้าต้องการมือถือที่เล่นเกมได้แบบชัวร์ ๆ เกือบทุกเกม ได้ประสบการณ์แบบจัดเต็มทั้งภาพ และเสียง ยังไงก็ต้องเลือก iQOO Z9 เท่านั้น เพราะนอกจากจะได้ชิปที่ GPU สำหรับประมวลผลกราฟิกในเกมที่แรงกว่ามาก ๆ แล้ว ยังได้จอที่เรียกได้ว่าคมชัด สีสวย คอนทราสต์ดี ได้ลำโพงคู่ที่เสียงดีกว่า แถมยังได้กล้องที่สวยกว่ามาก ๆ

แต่สำหรับใครที่งบจำกัดมาก ๆ แต่อยากได้มือถือที่แรงที่สุดในกลุ่มราคาเดียวกัน ยังไงก็ต้อง iQOO Z9x เพราะในเรนจ์ราคา 7,999 บาท ณ ตอนนี้ แทบไม่มีรุ่นไหนที่ให้ชิป Snapdragon 6 Gen 1 มาเลย แต่ก็น่าเสียดายที่จอแสดงผลอาจจะไม่ได้มีสีสันที่ดีเท่าจอ OLED รวมถึงลำโพงคู่ที่เสียงอาจจะออกมาแบน ๆ ไร้มิติไปสักหน่อย หากใครอดทนรอได้ เก็บเงินเพิ่มอีกสัก 3 – 4 พันบาทแล้วจัดรุ่น iQOO Z9 ไปเลย ก็จะรู้สึกถึงความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเลย

ราคา และการวางจำหน่าย

iQOO Z9 Series วางจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยทั้ง 2 รุ่น จะได้รับสิทธิพิเศษ E-VIP ประกันตัวเครื่อง 2 ปี พร้อมประกันหน้าจอแตก 1 ปีแรก 1 ครั้ง ส่วนราคา สีตัวเครื่อง รุ่นความจุ และโปรโมชั่นต่าง ๆ นั้นเปิดมาดังนี้

ราคาไทย iQOO Z9 5G

  • 8GB + 256GB ราคา 11,499 บาท (วางจำหน่ายเฉพาะใน Lazada)
  • 12GB + 256GB ราคา 12,499 บาท
  • สีที่วางจำหน่าย: สีดำ Phantom Black และสีฟ้า-เขียว Breeze Green

ราคาไทย iQOO Z9x 5G

  • 8GB + 128GB ราคา 7,999 บาท (วางจำหน่ายเฉพาะใน Shopee)
  • 8GB + 256GB ราคา 8,999 บาท
  • 12GB + 256GB ราคา 9,999 บาท
  • สีที่วางจำหน่าย สีดำ Mystic Black และสีเขียว Northern Green