ถ้าพูดถึงโน้ตบุ๊ค Windows สุดหรู เห็นแล้วดูรู้เลยว่าเครื่องนี้ไม่ธรรมดา คงต้องยกให้เจ้าตัว Micorsoft Surface Laptop ที่คราวนี้มาถึงรุ่นที่ 3 กันแล้ว ซีพียูก็อัปเกรดตีบวกมาเป็น Intel Gen 10 รหัส G Ice Lake ที่เป็น 10 nm ตัวล่าสุด พร้อมกับน้ำหนักเบาเพียง 1.25 กิโลเบาๆ พกพาสะดวก โดยมีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 34,990 บาท รีวิวและประสิทธิภาพตัวเครื่องจะเป็นยังไงบ้างไปดูกันเลยครับ

สเปคเบื้องต้น

  • CPU : Intel Core i5-1035G7 / i7-1065G7
  • GPU : Intel Iris Plus Graphics G7
  • Ram : 8 GB / 16GB DDR4x bus 3733MHz
  • Storage : SSD m.2 PCIe 128GB / 256GB
  • Display : หน้าจอสัมผัส 13.5 นิ้ว  ความละเอียด 2256 x 1504 QHD สัดส่วน 3:2 60 Hz
  • Network : Wi-Fi 6 802.11 ax / Bluetooth 5.0
  • Size : 308 x 223 x 14.5 mm
  • Weight : 1.25 kg
  • Warranty : 1 ปี

ราคา Microsoft Surface Laptop 3 13

  • i5-1035G7 / Ram 8GB / SSD m.2 128GB ราคา 34,990 บาท
  • i5-1035G7 / Ram 8GB / SSD m.2 256GB ราคา 44,990 บาท
  • i7-1065G7 / Ram 16GB / SSD m.2 256GB ราคา 52,990 บาท

ราคาอุปกรณ์เสริม

  • ปากกา Surface Pen ราคา 3,900 บาท (ใส่ถ่าน AAAA 1 ก้อน)
  • เมาส์ Surface Arc Mouse Bluetooth ราคา 3,100 บาท (ใส่ถ่าน AAA 2 ก้อน)

ดีไซน์ตัวเครื่อง

ดีไซน์ตัวเครื่อง Microsoft Surface Laptop 3 ยังคงเอกลักษณ์แบบเดิมคือสีโทนเดียวกันหมดโดยรุ่นที่ทีมงานได้มารีวิวจะเป็นตัวท็อป i7-1065G7 ตัวเครื่องเป็นสีดำด้าน  ส่วนถ้าเครื่องที่เป็นสีเงินแพลทินัม ตรงที่รองฝ่ามือหุ้มด้วยวัสดุ Alcantara แทน ซึ่งวัสดุบอดี้ตัวเครื่องทั้งหมดเป็นอะลูเนียมแข็งแรงทนทานหายห่วง

ด้านหลังตัวเครื่องเป็นโลโก้ธง Microsoft ดูสวยงามเป็นซิกเนเจอร์ที่ดูก็รู้ทันทีว่านี่คือเครื่อง Surface สำหรับผิวสัมผัสจะเป็นผิวเรียบไม่เป็นรอยนิ้วมือง่าย พร้อมกับแกนฝาพับที่เป็นแกนเดี่ยวตรงกลางแข็งแรงไม่มีโยกเยก และกางหน้าจอได้สูงสุดประมาณ 130 องศา

ถัดมาที่ด้านใต้ตัวเครื่องก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษ ดีไซน์ยังคงเรียบๆ มีแค่โลโก้ Microsoft ระบุชื่อโมเดล และซีเรียลนัมเบอร์เท่านั้น ไม่มีสติ๊กเกอร์อื่นแปะให้รำคาญตา

สำหรับหน้าจอตัวเครื่องเป็นจอกระจกรองรับการสัมผัสและขีดเขียนด้วยปากกา Surface ขนาด 13.5 นิ้ว QHD สัดส่วน 3:2 ซึ่งขอบจออาจจะไม่ได้บางมากเท่าไร โดยมาพร้อมกับกล้อง IR Camera ใช้งานร่วมกับ Windows Hello เพื่อปลดล็อคหน้าจอได้ ส่วนทัชแพทเป็นแบบซ่อนปุ่ม รองรับการใช้งานมัลติทัช ซึ่งถือว่าให้มาขนาดค่อนข้างใหญ่ใช้งานเลยทีเดียว

พอร์ตเชื่อมต่อ

ทางด้านพอร์ตเชื่อมต่อตัวเครื่อง Microsoft Surface Laptop 3 มีให้เท่าที่จำเป็นเท่านั้นคือฝั่งทางซ้ายตัวเครื่องจะมี USB Type A, USB Type C และช่อง Headset 3.5 mm อย่างละ 1 ช่องเท่านั้น ส่วนทางด้านขวาก็จะมีแค่ช่องเสียบสายชาร์จที่เป็นแบบแถบแม่เหล็ก ช่วยกันการดึงสายกระชากหลุดโดยตัวเครื่องจะไม่ติดไปกับสายด้วย

ทดสอบประสิทธิภาพ

Microsoft Surface Laptop 3 รุ่นที่ทีมงานได้มารีวิวจะใช้เป็น Intel Core i7-1065G7 ความเร็ว 1.30 – 3.90 Ghz แบบ 4 Core/ 8 Thread ขนาด 10 nm การ์ดจอออนบอร์ดเป็น
Intel Iris Plus Graphics ส่วน Ram ตัวเครื่องจะเป็น On Board 16GB DDR4x bus 3733 มาตรฐานใหม่ ทำงานแบบ Dual-Channel

คราวนี้มาผลทดสอบความเร็วของ SSD m.2 PCIe 256 GB กันบ้าง โดยได้ค่า Read อยู่ที่ 2015.4 MB/s และ Write อยู่ที่ 828.9 MB/s ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ระดับกลางๆ ค่อนบน ส่วนความจุจาก 256GB จะสามารถใช้งานได้จริงที่ 237GB ด้วยกัน

ต่อมาเป็นการทดสอบโดยการต่อ WiFi ดู YouTube ปรับแสงหน้าจอ 30% ผลปรากฏว่าสามารถใช้งานได้สูงสุดอยู่ที่ 7 ชั่วโมง 51 นาที ด้วยกัน ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ธรรมดาทั่วไปสำหรับโน้ตบุ๊คบางเบาแบบนี้

ถัดมาทดสอบเล่นเกมใช้งานหนักๆ กันบ้าง โดยทีมงานได้ทำการทดสอบเล่นเก DOTA 2 ตั้งค่าแบบ Medium (2 ขีด) ความละเอียด QHD ตาม Native หน้าจอ ได้ค่า FPS เฉลี่ยอยู่ที่ 60 ต่ำสุด 39 สูงสุด 80 ถือว่าเล่นได้สบายๆ แต่ถ้าใครจะไปเล่นเกมกินสเปคหนักกว่านี้อย่าง PUBG, GTAV, Planet Zoo อันนี้บอกเลยว่าเล่นไม่ไหว ไม่แนะนำครับ

แน่นอนว่าด้วยหน้าจอมีสัดส่วน 3:2 เท่ากับภาพถ่ายกล้องใหญ่ ทีมงานถือโอกาสนี้มาทดสอบใช้งานแต่งภาพร่วมกับโปรแกรม Adobe LightRoom สักหน่อย ซึ่งบอกเลยว่าฟินมาก ภาพขยายได้สัดส่วนเป๊ะๆ เต็มจอ และด้วยความเป็นที่หน้าจอสัมผัส ใช้งานร่วมกับ Surface Pen ได้ลื่นไหลสุดๆ

ส่วนการใช้งานร่วมปากกา Surface Pen ถือว่าทำได้ดีมาก ทั้งน้ำหนักการกดและความรู้สึกเหมือนกับใช้ปากกาวาดลงบนกระดาษจริงๆ แต่จะติดตรงที่ลงน้ำหนักมือมากไม่ค่อยได้ เพราะจอคอยระวังจอจะกางหักเอา

สุดท้ายกับผลทดสอบอุณหภูมิหลังจากที่ทีมงานได้นั่งเล่นเกม DOTA 2 และทดสอบต่างๆ โปรแกรมต่างๆ ไป โดยตัวเครื่องจะมีพัดลมระบายความร้อน 1 ตัว อุณหภูมิซีพียูวิ่งไปสูงสุดอยู่ที่ 92 องศา ซึ่งถือว่าอยู่เกณฑ์กลางๆ พอรับได้ แต่ตัวเครื่องด้านบนเหนือปุ่มคีย์บอร์ดจะค่อนข้างร้อนเลยทีเดียว เพราะด้วยบอดี้เป็นอะลูเนียมช่วยระบายความร้อนด้วยนั่นเองครับ

สรุป

จากที่ทีมงานได้ทดลองใช้ Microsoft Surface Laptop 3 13 ตัวท็อปนี้มาตลอดทั้งสัปดาห์ การทำงานสายครีเอเตอร์ถือว่าทำได้อย่างลื่นไหลทุกๆ อย่างไม่มีสะดุด ไม่ว่าจะเป็นทั้งตัว Adobe Premirer Pro, Photoshop และ Lightroom ก็ถือใช้งานได้ดีเลย เพราะด้วยซีพียู i7-1065G7 รุ่นใหม่ 10nm มี AI คอยช่วยประมวลผลพวกโปรแกรมเหล่านี้ ทำงานได้เร็วขึ้นกว่าตัว Gen 8 รุ่นเก่าอย่างรู้สึกได้

สำหรับการพกพาต่างๆ ด้วยไซต์ที่ตัวเครื่องขนาดค่อนข้างเล็กและมีน้ำหนักเบาเพียง 1.25 กิโล เวลาพกเดินมือเดียวก็ทำได้สะดวก หรือจะแบกใส่กระเป๋าเป้ก็ไม่มีเมื่อย และบาลานซ์ตัวเครื่องกระจายน้ำหนักได้ดี ส่วนปากกา Surface Pen ก็เป็นแม่เหล็กแปะติดกับตัวเครื่องได้

ทางด้านแบตเตอรี่จากการทดสอบเปิดดูวิดีโอ YouTube ก็ได้ราวๆ ประมาณ 8 ชั่วโมง ถือว่าพอพึ่งพาได้อยู่ แต่หากนำมา YouTube แบบคลิปปกติ 16:9 แล้ว สังเกตว่าภาพที่ได้จะไม่เป็นจอ เพราะจอของตัวเครื่องเป็นแบบ 3:2 ทำให้จะโดนตัดขอบบนขอบล่างแทน

โดยรวมสรุป Microsoft Surface Laptop 3 13 เครื่องนี้เหมาะกับคนที่ต้องการโน้ตบุ๊ค Windows ดีไซน์พรีเมียมให้ความรู้สึกไม่ต่างจากพวก MacBook และต้องการใช้งานจอสัมผัสร่วมกับปากกา ซึ่งเจ้าเครื่องนี้สามารถตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว แต่หากมองเครื่องความคุ้มค่าทางด้านสเปคเทียบราคายังถือว่าค่อนข้างสูงกว่าโน้ตบุ๊คตลาดทั่วไปพอสมควรครับ

จุดเด่น

  • ดีไซน์ออกแบบได้ดูหรูพรีเมียม และวัสดุบอดี้ตัวเครื่องเป็นอะลูมิเนียมทั้งหมด
  • สเปคใช้ซีพียูเป็น Intel Gen 10 รหัส G Ice Lake รุ่นล่าสุดที่เป็น 10nm
  • หน้าจอความละเอียดสูง 2256 x 1504 QHD สัดส่วน 3:2 เหมาะกับสายทำภาพ
  • ตัวเครื่องใช้ Ram มาตรฐานใหม่ DDR4x มี bus สูงถึง 3733MHz
  • การทัชหน้าจอทำได้ลื่นไหลสุดๆ แทบไม่ต่างจากใช้งานบนมือถือ
  • มีพอร์ต USB Type A มาให้แล้ว
  • ทัชแพทมีขนาดค่อนข้างใหญ่และใช้งานได้ลื่นไหลมาก
  • มีกล้อง IR Camera สแกนใบหน้าปลดล็อคหน้าจอได้
  • ที่อะแดปเตอร์มีชาร์จไฟ USB Type A มาให้

ข้อพิจารณา

  • พอร์ต USB Type C ไม่ใช่ Thuderbolt 3 และไม่สามารถใช้ชาร์จไฟได้
  • ราคาเทียบสเปคถือว่าสูงกว่าแบรนด์ตลาดทั่วไปพอสมควร
  • การแกะอัปเกรดตัวเครื่องทำได้ยากมาก (แทบจะถือว่าทำไม่ได้เลย)
  • อุปกรณ์เสริมแต่ละอย่างราคาค่อนข้างสูง