สำหรับใครที่กำลังมองหาสมาร์ทโฟนลื่นๆ ราคาประหยัดในช่วงเรทไม่เกิน 4,000 บาท วันนี้ทางดรอยด์แซนส์ได้ลอง Nokia 3.2 และจะดูว่ามันดีพอจะเข้ามาเป็นหนึ่งในตัวเลือกหรือไม่ สเปคมาพร้อมกับชิปเซ็ต Snapdragon 429 แรม 2GB และความจุ 16GB หลายคนอาจจะสงสัยว่าให้มาแค่นี้จะเพียงพอต่อการใช้งานในปี 2019 หรือ? ทว่าอย่าลืมว่านี่คือมือถือ Android One มาดูกันดีกว่าว่าเจ้า Nokia 3.2 จะถึก อึด ทนขนาดไหนในการใช้งานทั่วๆ ไป

แกะกล่อง Nokia 3.2

ถ้าไม่เริ่มจากตรงนี้ เราก็อาจจะไม่ได้โทรศัพท์มารีวิวนะ ฮ่าๆ เอาล่ะ เข้าเรื่องกันเลยดีกว่า Nokia 3.2 นั้นมาพร้อมกับสายชาร์จ, หม้อแปลง, เข็มจิ้มซิม และคู่มือการใช้งานทั่วไป แต่ไม่มีเคสและฟิล์มแถมมาด้วยนะ

ดีไซน์และตัวเครื่อง 

ตัวเครื่องที่ได้มารีวิวนั้นเป็นสีดำ สำหรับฟิลลิ่งในการจับถือนั้นก็ถือว่าค่อนข้างจะพอดีมือเลยทีเดียว ด้วยขนาดหน้าจอ 6.26 นิ้ว ให้ความรู้สึกตามมาตรฐานไซส์สมาร์ทโฟนทั่วไปในปัจจุบัน ขอบข้างบาง จอใหญ่ เครื่องเล็ก

วัสดุตัวเครื่องจะทำมาจากพลาสติกทั้งหมด งานประกอบแน่นหนาตามสไตล์ Nokia แม้แต่รุ่นเล็กก็ยังทำออกมาดี ติอย่างนึงคือฝาหลังรอยนิ้วมือติดง่าย

ในเรื่องของตำแหน่งของปุ่มกดต่างๆ อันนี้ตำแหน่งพอดี กดง่าย โดยปุ่มเพิ่มลดเสียงและปุ่ม Power จะไปอยู่รวมกันที่ฝั่งขวามือหมดเลย จะทิ้งปุ่มเรียก Google Assistant ไว้ในด้านซ้ายมือปุ่มเดียวเท่านั้น นอกจากนี้หากสังเกตดูดีๆ เวลามีการแจ้งเตือน ปุ่ม Power ก็จะเรืองแสงขึ้นด้วยซึ่งใครที่ชอบให้มือถือมีไฟ Notification รุ่นนี้ก็มีให้แบบเท่ๆ

ด้วยขนาดหน้าจอที่ให้มาถึง 6.26 นิ้ว บวกกับความละเอียดในระดับ HD+ ทำให้การดูหนัง ฟังเพลง โดยรวมๆ ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ตัวจอแสดงผลได้ดี รายละเอียดได้

การวางตำแหน่งของกล้องหน้าความละเอียด 5MP นั้นจะอยู่ที่บริเวณกลางหน้าจอเลย อยู่ใน Notch อีกทีนึง ซึ่งกล้องหน้าตัวนี้นอกจากจะใช้ถ่ายเซลฟี่ ยังสามารถใช้ปลดล็อกหน้าจอได้ด้วยนะ

มาพลิกดูด้านหลังของตัวเครื่องกันบ้างดีกว่า จะเห็นกล้องและแฟลช LED เป็นจำนวนอย่างละ 1 อัน ซึ่งตรงนี้ถ้าใครสังเกตดีๆ จะไม่เห็นตัวสแกนลายนิ้วมือ เพราะ Nokia 3.2 นั้นไม่ได้มาพร้อมกับตัวสแกนลายนิ้วมือ หากจะล็อคเครื่องก็ต้องใช้รหัสผ่านหรือไม่ก็ใช้สแกนใบหน้าปลดล็อกหน้าจอแทนเอา ซึ่งการสแกนใบหน้าค่อนข้างช้า ไม่ค่อยแนะนำเท่าไหร่

สเปค Nokia 3.2 

  • หน้าจอ LCD ขนาด 6.26 นิ้ว ความละเอียด HD+ (720 x 1520)
  • CPU : Snapdragon 429
  • GPU : Adreno 504
  • RAM : 2GB
  • ความจุ : 16GB รองรับ MicroSD Card 400GB (ช่องแยก)
  • กล้องหลัง : 13MP (f/2.2)
  • กล้องหน้า : 5MP (f/2.2)
  • การเชื่อมต่อ : WiFi 802.11 a/b/g/n 2.4 GHz, BT 4.2, MicroUSB 2.0
  • เซ็นเซอร์ : Proximity, Accelerometer, Ambient light
  • รองรับ 2 SIM 4G
  • รูหูฟัง 3.5 มม.
  • แบตเตอรี่ : 4000 mAh
  • ระบบ Android 9.0 Pie (Android One)
  • สีที่วางจำหน่าย : สีดำ สีเงิน

ซอฟต์แวร์และการใช้งาน

น่าจะเป็นจุดขายของ Nokia 3.2 เลยก็ว่าได้สำหรับเรื่องซอฟต์แวร์ เพราะเจ้าตัวนี้อยู่ในโครงการ Android One ซึ่งถือเป็นระดับปฏิบัติการที่ไม่มีการดัดแปลง UI ถือว่าเป็น Pure Android แบบที่เห็นกันในมือถือซีรีส์ Pixel เลย ข้อดีก็คือเวลามีการอัพเดทเวอร์ชั่นอะไรต่างๆ Android One นี่แหละจะเป็นรุ่นแรกๆ ที่ได้รับการอัพเดท แต่ข้อเสียของมันก็คือฟีเจอร์และลูกเล่นอะไรต่างๆ ค่อนข้างน้อย ถือว่าคุ้มอยู่นะถ้าแลกมากับความลื่นไหล

และอย่างที่บอกไปในหัวข้อรีวิว แรม 2GB กับหน่วยความจุ 16GB จะเพียงพอต่อการใช้งานในปัจจุบันจริงๆ เหรอ? เพราะหากดูกันดีๆ แล้ว พอเปิดเครื่องมาก็พบว่าระบบนั้นได้กินพื้นที่เกือบหมดจนเหลือแค่ 5GB กว่าๆ เอง! จะโหลดอะไรได้บ้างเนี่ย

แต่จากที่ทดสอบก็สามารถโหลดแอปพื้นฐานต่างๆ ได้ครบเลย ไม่ว่าจะเป็น LINE, Facebook, Twitter, Instagram หรือแม้กระทั่ง Messenger มาเล่นได้อย่างสบายๆ เลย จะโหลดเกมยอดนิยมอย่าง ROV หรือ PUBG มาเล่นก็ยังมีพื้นที่เหลือด้วยนะ แต่เกมใหญ่ๆ ที่บอกไปนั่นโหลดได้แค่เกมเดียวนะ เพราะพื้นที่ไม่พอแล้วจ้า แต่ถ้าเอาไปเล่นเกมเล็กๆ นี่ลงได้เพียบ

หลังจากที่ลองเปิดแอปทิ้งไว้เบื้องหลังเยอะๆ ดูก็พบว่า เวลาสลับแอป ทางระบบจะมี kill แอปทิ้งไปบ้าง บางแอปเวลาเปิดเข้าไปต้องโหลดใหม่ น่าจะเพราะด้วยความที่มีแรมมาให้เพียงแค่ 2GB ด้วย

แต่ฟีเจอร์หลักๆ อย่างการใช้งาน 2 จอหรือ Multi Windows รุ่นนี้แม้ RAM 2GB ก็ยังเปิดใช้นะ สำหรับวิธีเปิดก็ง่ายๆ เลย เพียงแค่กด recent apps ขึ้นมา > จากนั้นคลิ๊กไปที่ไอคอนแอปที่เราอยากจะให้แบ่งจอเพื่อเล่นพร้อมกัน เท่านี้ก็เป็นอันเรียบร้อย

ในส่วนของการเชื่อมต่อ Wi-Fi ตัว Nokia 3.2 จะรองรับเพียงแค่ 2.4GHz เท่านั้นนะ ไม่ได้รองรับตัว 5GHz ด้วย

ส่วนปุ่ม Google Assistant ก็ทำออกมาได้ดีเลยนะ กดปุ่มมาปั๊ปเลย

สำหรับการดู Netflix นั้นอันนี้ก็ต้องแสดงความเสียใจด้วยนะครับ ที่ Nokia 3.2 นั้นมี widevine อยู่เพียงแค่ระดับ L3 เท่านั้น ทำให้ไม่สามารถรับชมซีรีส์และภาพยนตร์ใน Netflix ในความละเอียดระดับ HD ได้

การใช้งานในสภาพแสงแดดจ้าๆ แบบบ้านเรา Nokia 3.2 ก็ถือว่าทำออกมาได้ค่อนข้างดีเลยครับ ทว่าเซ็นเซอร์ปรับเพิ่มลดแสงอัตโนมัติของมันอาจจะทำให้ใครหลายคนรำคาญหรือหงุดหงิดใจได้นะ เพราะเวลาเข้าที่มืดหรือแสงน้อยเนี่ย มันมักจะปรับให้ความสว่างอยู่ในระดับที่มืดจนเราแทบจะมองหน้าจอไม่เห็นเลย และแอบแกว่งง่ายสว่างวูบๆ วาบๆ

แต่สำหรับใครที่ชอบเล่นโทรศัพท์ก่อนนอน หรือในที่มืด อันนี้ดีใจด้วยนะ เพราะเจ้าสมาร์ทโฟนราคาประหยัดตัวนี้ก็ยังใจดีใส่ Night Mode มาให้ด้วย โหมดนี้แหละจะตัดแสงสีฟ้าที่เป็นอันตรายต่อม่านตาของเราออก ทำให้การเล่นโทรศัพท์ในตอนกลางคืนนั้นจะไม่เป็นเรื่องที่ยากลำบากและทำให้สายตาเสียอีกต่อไป

ประสิทธิภาพและการเล่นเกม 

Nokia 3.2 มาพร้อมกับชิปเซ็ต Snapdragon 429 และ Adreno 504 การเล่นเกมนั้นถือว่าทำออกมาได้ตามสเปคเลยครับ ที่เซอร์ไพรส์ก็คือเราสามารถตั้งค่าปรับทุกอย่างได้สุดเลยนะ แต่เรื่องเฟรมเรทนั้นพออยู่ในช่วงตอนบวกกันก็ตกลงมาเหลือ 18-20fps เท่านั้นเอง หากจะเล่นให้นิ่งๆ หน่อยก็ปรับกราฟิกต่างๆ ลงมาดีกว่า

ถึงตาของเกมเอาตัวรอดอย่าง PUBG กันบ้าง อันนี้ปรับได้แค่ Low นะ ตามคำแนะนำเลย ไม่แนะนำให้ขยับการตั้งค่าไปตรงไหนทั้งนั้นเพราะเครื่องอาจจะเอาไม่อยู่

สำหรับคะแนน AuTuTu นั้นก็ทำคะแนนได้ที่ 60,267 คะแนนเลย เรียกได้ว่าคะแนนเท่านี้สามารถเล่นโซเชียลต่างๆ ได้อย่างไม่มีปัญหาเลยล่ะ

ส่วนผลการทดสอบ Androbench ก็ได้ออกมาตามสเปค คือใช้หน่วยความจำ eMMC มีความเร็วในการอ่านที่ 290.37 MB/s

ในส่วนของเรื่อง GPS อันนี้ก็ทำออกมาได้โอเคพอตัวนะ ติดตรงที่ว่าจะขาดเซ็นเซอร์ที่จำเป็นของแผนที่ไปคือแม่เหล็กหรือเข็มทิศ ทำให้เวลาเปิด Google Maps มันจะบอกแค่เส้นทางที่ต้องไป ระบุตำแหน่งได้ แต่ไม่สามารถระบุทิศในการหันหน้าได้

การปลดล็อกหน้าจอ 

Nokia 3.2 ตัวนี้ไม่ได้ใส่ตัวสแกนลายนิ้วมือมาให้นะ แต่เหมือนทางบริษัทยังใจดีใส่ Face Unlock มาให้ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้ที่ขี้เกียจที่จะกดรหัสตัวเลขหรือพาสเวิร์ดบ่อยๆ

ในส่วนนี้ก็ต้องทำใจนิดนึงนะ เพราะ Face Unlock นั้นทำงานค่อนข้างช้าอยู่พอตัวเลยล่ะ กินเวลาไปประมาณ 3-4 วินาทีได้เลยกว่าจะปลดล็อกให้แต่ละที อีกทั้งบางทีที่แสงน้อยๆ ก็เหมือนจะมองหน้าไม่เห็นเลยปลดล็อกไม่ได้ แนะนำให้ใช้การกดรหัสหรือใส่พาสเวิร์ดน่าจะสะดวกกว่านะ

แต่ถ้าเกิดใครอยากได้รุ่นที่มีสแกนนิ้ว ก็ขอบอกว่าในรุ่นความจุ 32GB ถึงจะมีมาให้ ซึ่งบ้านเราก็มีวางขายแล้วนะ (ราคาขยับขึ้นมาเป็น 4,790 บาท)

ระบบเสียง

ระบบเสียงใน Nokia 3.2 จะมาแบบโมโนลำโพงตัวเดียวธรรมดา สำหรับความดังก็ถือว่าใช้ได้เลย ดูหนังฟังเพลงได้ตามอัธยาศัย แต่ระวังนิดถ้าเปิดดังมสุด อาจจะได้ยินเสียงแตกๆ หน่อย และถ้าต้องการความเป็นส่วนตัว ก็สามารถเสียบหูฟังฟังได้เนื่องจากเจ้าตัวนี้มาพร้อมกับนวัตกรรมแห่งปี 2019 อย่างช่องเสียบหูฟังมาตรฐาน 3.5 มม. ด้วย!

กล้องถ่ายภาพ

มาดูกันที่เรื่องรูปกันบ้าง ด้วยความที่เป็น Android One และโทรศัพท์รุ่นราคาระดับนี้ ทำให้ฟีเจอร์กล้องต่างๆ อาจจะมีไม่ได้เยอะเหมือนพวกราคาต่ำหมื่น

 

ตัวอย่างภาพถ่ายจาก Nokia 3.2

จากรูปจะเห็นได้ว่ากล้องหลังในสภาพแสงตอนกลางวันถือว่าทำออกได้ดีเกินคาดเลยนะ ทว่า.. ในส่วนของเรื่องตอนแสงน้อยนี่คนละเรื่องกันเลย แต่ก็เข้าใจได้เพราะว่าไม่ได้มาพร้อมกับโหมดถ่ายภาพตอนกลางคืนแบบเจ้าอื่นๆ เขา จะมีเพียง AI เข้ามาช่วยเกลี่ยๆ noise ออกเท่านั้น แต่ก็ถือว่ายังเยอะอยู่พอสมควรอะแหละ

 

และสำหรับกล้องหน้าก็ถือว่าถ่ายออกมาได้ธรรมชาติ ความละเอียดและสีสันก็ถือว่าโอเคเหมาะสมตามราคา ไม่ได้แต่งอะไรเยอะจนเว่อร์มาก

ในส่วนของวิดิโอก็สามารถถ่ายได้สูงสุดที่ความละเอียด FHD เลยนะ ทั้งกล้องหน้าและกล้องหลัง

แบตเตอรี่

มาถึงจุดขายของรุ่นนี้กันบ้าง เนื่องจาก Nokia 3.2 นั้นอัดแบตมาให้เต็มที่เลยในขนาด 4,000 mAh ทำให้สามารถใช้งาน 1 วันได้สบายๆ จริงๆ ตอนที่ทดสอบนี่ก็มีทะลุไปวันที่ 2 ด้วย

สายชาร์จที่แถมมาในกล่องจะให้ความไวในการชาร์จอยู่ที่ 10 วัตต์เท่านั้น ทำให้การชาร์จจาก 0 ไปถึง 100% เต็มนั้นอาจจะต้องใช้เวลานานนิดนึงคือราว 2 ชั่วโมง แต่ก็ถือว่าโอเคอยู่นะ แลกกับการที่ไม่ต้องชาร์จบ่อยๆ มือถือสมัยนี้หาได้น้อยแล้วที่สามารถอยู่ได้เต็มวันโดยที่ไม่ต้องชาร์จระหว่างวัน

จุดเด่นของ Nokia 3.2 

  • เป็น Android One ทำให้ได้รับประกันการอัพเดทถึง 3 ปี (แบ่งเป็นอัพเดทเวอร์ชั่น Android 2 ปี และอัพเดทแพทช์รักษาความปลอดภัย 3 ปี)
  • มีปุ่ม Google Assistant แยกเลย ไม่ต้องพูด “Hey Google” หรือกดปุ่มใดปุ่มหนึ่งค้างเป็นเวลาหลายวินาทีเพื่อเรียกผู้ช่วยขึ้นมา
  • มีไฟแจ้งเตือน LED อยู่บริเวณปุ่ม Power
  • แบตอึดอยู่ได้เกิน 1 วันแน่ๆ บางทีได้ถึง 2 วันเลย
  • มีช่องเสียบหูฟังมาตรฐาน 3.5 มม.
  • ใส่ micro SD card เพิ่มได้
  • ดีไซน์ตัวเครื่อง วัสดุและงานประกอบดี เมื่อเทียบกับราคา

ข้อที่ควรพิจารณาก่อนซื้อ Nokia 3.2 

  • สำหรับคอเกมอาจจะไม่เหมาะ เพราะชิปเซ็ตอาจจะทำงานได้ไม่ดีพอเท่าตัวอื่นๆ
  • Android One ลูกเล่นอะไรต่างๆ ยังน้อยอยู่เมื่อเทียบกับระบบปฏิบัติการของค่ายอื่นๆ
  • กล้องยังมีความซีดอยู่ โดยเฉพาะกล้องหน้า
  • ชาร์จแบตนานกว่าจะเต็ม ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง

Nokia 3.2 เหมาะกับการใช้งานประเภทไหน 

  • สำหรับคนที่ใช้งานโซเชียลทั่วไป เน้นแบตอึดไว้ก่อน ราคาไม่ต้องแรง
  • เหมาะกับผู้เริ่มต้นใช้งานสมาร์ทโฟน
  • สำหรับคนที่ต้องการมีเครื่องสำรองเอาไว้เวลาฉุกเฉิน

คะแนนความพึงพอใจหลังจากรีวิว 

  • ประสิทธิภาพการใช้งาน 6/10
  • ดีไซน์และสัมผัสการจับถือ 8/10
  • ความคุ้มค่า 7/10
  • คะแนนโดยรวม 6/10

โดยรวมๆ หลังจากได้ลองถือเล่นมาเป็นเวลากว่าสัปดาห์เนี่ย ก็ถือว่า Nokia 3.2 เป็นอีกหนึ่งสมาร์ทโฟนที่มีประสิทธิภาพพอไปวัดไปวาได้ เพียงแต่ว่าจะไม่เหมาะสำหรับสายที่เล่นเกมหรือใช้งานแบบหนักๆ สักเท่าไหร่ น่าจะเหมาะกับกลุ่มคนที่ใช้โทรศัพท์เพื่อที่จะติดต่องานหรือคุยเล่นโซเชียลทั่วไปมากกว่า ด้วยราคาเริ่มต้นที่ไม่แพงมากนัก 3,990 บาทสำหรับตัวความจุ 2/16 GB และ 4,790 บาทสำหรับตัวความจุ 3/32GB ครับ