ถึงแม้ว่าค่าย OnePlus จะเพิ่งเกิดมาได้ไม่กี่ปี แต่ว่าแต่ละครั้งที่มีการเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ในสังกัดก็สามารถดึงดูดความสนใจจากผู้คนมาได้เรื่อยๆ ด้วยความที่จัดหนักในเรื่องของสเปคในราคาย่อมเยา แต่รุ่นล่าสุดอย่าง OnePlus 5 ที่เพิ่งจะเปิดตัวออกมานั้น ดูเหมือนว่า OnePlus จะเริ่มขยับตัวเองให้เข้าใกล้คำว่าเรือธงมากขึ้น เพราะว่า OnePlus 5 เป็นรุ่นที่แพงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ส่วนการใช้งานจริงจะเป็นอย่างไร คุ้มค่าแก่การซื้อมั้ย เข้ามาดูกันได้เลยครับ

ก่อนหน้านี้เราได้ทำการแกะกล่องพรีวิวกันไปแล้ว ถ้าหากว่าใครอยากรู้ว่าในกล่องของ OnePlus 5 นั้นมีอะไรบ้าง หรืออยากดูว่ารอบๆ ตัวเครื่องว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร ก็สามารถกดเข้าไปดูได้ตามลิ้งค์ด้านล่างเลยครับ

อย่างที่บอกไปคือ OnePlus 5 เป็นสมาร์ทโฟนที่แพงที่สุดของ OnePlus โดยแบ่งออกเป็น 2 รุ่นด้วยกัน

  • 6GB / 64GB – $479 (~16,300 บาท)
  • 8GB / 128GB – $539 (~18,300 บาท)

ถ้าหากว่าเทียบกับราคาเริ่มต้นของ OnePlus 3T รุ่นก่อนหน้าที่มีราคาอยู่ที่ $439 (~15,000 บาท) ก็จะเห็นว่าราคานั้นไม่ได้เพิ่มขึ้นเยอะขนาดนั้น โดยรุ่นที่เราจับมารีวิวนั้นเป็นรุ่นท็อป 8GB / 128GB ครับ

 

สเปคของ OnePlus 5

  • OS: Android 7.1.1 Nougat with OxygenOS
  • หน้าจอ: AMOLED 5.5 นิ้ว ความละเอียด Full HD 1080 x 1920 พิกเซล
  • CPU: Qualcomm Snapdragon 835 2.45 GHz octa-core
  • GPU: Adreno 540
  • RAM: 6GB / 8GB LPDDR4
  • หน่วยความจำภายใน: 64GB / 128GB UFS 2.1-2 lane (ใส่ microSD ไม่ได้)
  • กล้องหลัง:
    • Main: 16 MP Sony IMX 398 sensor, 1.12 μm, ƒ/1.7 aperture, EIS, dual LED flash
    • Telephoto: 20 MP Sony IMX 350 sensor, 1.0 μm, ƒ/2.6 aperture
  • กล้องหน้า: 16 MP Sony IMX 371 sensor, 1.0 μm, ƒ/2.0 aperture, EIS
  • การเชื่อมต่อ:
    • Wi-Fi 802.11 a/b/g/n/ac, 2.4/5 GHz, 2×2 MIMO
    • Bluetooth 5.0, supports aptX & aptX HD
    • NFC
    • GPS, GLONASS, BeiDou
    • รองรับ 4G LTE
    • รองรับ Full NetCom 3.0
    • Dual Nano-SIM
  • เซนเซอร์
    • Fingerprint
    • Hall
    • Accelerometer
    • Gyroscope
    • Proximity
    • Ambient light
    • Electronic compass
    • Sensor hub
  • แบตเตอรี่: 3,300 mAh รองรับ Dash Charge (5V 4A)
  • สัดส่วน: 154.2 x 74.1 x 7.25 มิลลิเมตร
  • น้ำหนัก: 165 กรัม

 

ดีไซน์และตัวเครื่อง

อย่างที่เราเห็นกันในการพรีวิวไปแล้ว (ใครยังไม่ได้อ่านก็ย้อนกลับไปอ่านก่อนได้ครับ) ตัวเครื่องของ OnePlus 5 นั้นใช้วัสดุเป็นโลหะแบบ Unibody เช่นเดียวกับตอน OnePlus 3 และ 3T แต่ว่ารอบตัวเครื่องนั้มีขนาดที่บางกว่า มีความบางอยู่ที่ 7.25 มิลลิเมตร มุมทั้ง 4 ด้านของ OnePlus 5 มีความโค้งมน การถือในมือก็ค่อนข้างสบาย ไม่รู้สึกว่าใหญ่จนเกินไป

ในเรื่องดีไซน์ของตัวเครื่องนั้นมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในกระแสที่หลายๆ คนพูดถึง เพราะว่ามีความคล้ายคลึงกับของ iPhone 7 Plus แต่จะไปเหมือนกับ OPPO R11 เสียมากกว่า แต่สุดท้ายแล้วเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคนครับ ซึ่งส่วนตัวผมแล้วไม่ได้ติดอะไร มันอยู่ที่การใช้งานจริงมากกว่า

ถึงแม้ว่าลำโพงของ OnePlus 5 จะมีแค่ด้านล่างเพียงอย่างเดียว แต่ว่าเสียงนั้นดังใช้ได้เลยละครับ โดยโทนเสียงนั้นจะออกไปทางเสียงสูงซะมากกว่า ซึ่งปัญหาของลำโพงด้านล่างก็คือ เวลาเล่นเกมแล้วอุ้งมือหรือนิ้วจะไปปิด ทำให้เสียงนั้นหายไป

จุดด้อยในเรื่องของตัวเครื่องที่เห็นใน OnePlus 5 ก็คือ การที่ไม่รองรับการกันน้ำและกันฝุ่น ซึ่งถ้าใครสนในเรื่องนี้ก็อาจจะต้องมองข้ามรุ่นนี้ไปได้เลยครับ

 

หน้าจอ

OnePlus 5 ยังคงใช้หน้าจอ AMOLED ขนาด 5.5 นิ้ว ที่ความละเอียด Full HD 1080p แบบเดียวกับตอน OnePlus 3 และ OnePlus 3T ซึ่งบอกตามตรงว่าผมไม่ติดอะไรกับการที่หน้าจอยังเป็นแค่ Full HD 1080p เพราะว่ามองยังไงก็ไม่เห็นเม็ดพิกเซลเลยแม้แต่น้อย แถมยังประหยัดพลังงานมากกว่าหน้าจอ QHD อีกด้วย

สีสันของหน้าจอสวยงาม มีความสว่างพอที่จะสู้แสงแดดอันเจิดจ้าข้างนอกได้ นอกจากนี้ การที่ใช้หน้าจอเป็น AMOLED ทำให้ไม่จำเป็นที่จะต้องจ่ายไฟไปยังแผงหน้าจอเพื่อแสดงผลสีดำ ซึ่งช่วยในเรื่องของประหยัดพลังงานเพิ่มเข้ามาอีก

แต่หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่า “เจอปัญหา jelly scrolling มั้ย?” ขอตอบสั้นๆ ว่า “ไม่เคยเจอครับ”

 

ประสิทธิภาพการใช้งาน

ถ้าหากว่าเราดูจากสเปคแล้วก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า OnePlus 5 นั้นลื่นไหลไม่แพ้สมาร์ทโฟนเรือธงตัวใดๆ ในตลาด แถมจะลื่นกว่าด้วยซ้ำไป ซึ่งก็ต้องขอบคุณการทำงานของ Snapdragon 835, RAM 8GB, ROM UFS2.1 และ GPU Adreno 540 รวมไปถึง Oxygen OS ที่ค่อนข้างจะเบา

แอพต่างๆ นั้นเปิดไวมาก แถม RAM 8GB ยังช่วยให้การสลับเปลี่ยนแอพนั้นรวดเร็วยิ่งขึ้น เรียกได้ว่าแทบจะไม่ต้องรอการรีโหลดเมื่อเปิดแอพที่ค้างไว้นานแล้วกันเลยทีเดียว

การเล่นเกมกราฟฟิกสูงๆ ไม่เป็นปัญหาสำหรับ OnePlus 5 เลยแม้แต่น้อย ผมสามารถที่จะเล่น RoV เปิดโหมดเฟรมเรทสูง โดยที่ไม่เจออาการกระตุกเลยแม้แต่ครั้งเดียว แถมระหว่างเล่นยังมีเฟรมเรทที่ 50+ ตลอดเวลา ส่วนเกมอย่าง Lineage2 Revolution ก็สามารถที่จะเปิดทุกอย่างสูงสุดโดยที่ไม่กระตุกเลยเช่นเดียวกันครับ

เรื่องผลการทดสอบ benchmark นั้นอาจจะไม่ได้จำเป็นซักเท่าไหร่ เพราะเชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินข่าวฉาวเกี่ยวกับการโกงผลคะแนน benchmark กันมาแล้ว แต่ก็ขอใส่ไปซักหน่อยละกันครับ เพื่อใครอยากรู้

 

แบตเตอรี่

OnePlus 5 มาพร้อมกับแบตเตอรี่ความจุ 3,300 mAh น้อยลงกว่าตอน OnePlus 3T อยู่ 100 mAh เหตุเพราะขนาดตัวเครื่องที่บางลง ซึ่งเท่าที่ลองใช้งานมาซักพักก็ต้องบอกเลยว่าพอใจมากๆ สำหรับการใช้งานทั่วไปของผมก็คือ เล่น Facebook คุยแชท ฟังเพลง เล่นเว็บ และ เล่นเกม (ช่วงนี้จะหนักไปทางอันสุดท้าย) โดยแบตเตอรี่นั้นสามารถอยู่ได้แบบเต็มวัน และมีการ screen-on-time อยู่ที่ประมาณ 4-5 ชั่วโมง

แต่ถ้าหากว่าใครใช้งานแบบหนักหน่วงจริงๆ ทาง OnePlus 5 ก็มีระบบ Dash Charge ที่สามารถชาร์จไฟได้อย่างรวดเร็ว (มากๆ) แต่ต้องใช้สายและอแดปเตอร์ที่แถมมาให้เท่านั้น ซึ่งตัวอแดปเตอร์จะทำการจ่ายไฟที่ 5V 4A โดยจากที่ทดสอบคือ สามารถชาร์จได้ 45% ในเวลา 26 นาที ครับ

 

ซอฟต์แวร์

จุดหนึ่งที่ผมชอบสมาร์ทโฟนจากทาง OnePlus ก็คือ ซอฟต์แวร์ที่มีความใกล้เคียงกับ Pure Android มาก โดยระบบปฏิบัติการ OnePlus มีชื่อว่า OxygenOS ที่หน้าตาและการใช้งานนั้นให้อารมณ์เดียวกับของทางตระกูล Nexus และ Pixel เลยก็ว่าได้ แต่เพิ่มลูกเล่นที่สามารถนำมาใช้งานได้จริงเข้ามาให้ด้วย ซึ่งตอนนี้ครอบอยู่บน Android 7.1.1 Nougat อีกที

Buttons ทำให้เราสามารถที่จะเลือกสลับระหว่างการใช้งานปุ่ม on-screen navigation หรือว่าจะใช้เป็นปุ่ม capacitive ก็ได้ ค่าเริ่มต้นของ OnePlus นั้นไม่ได้ทำให้เรากดปุ่ม recent apps ค้างเพื่อใช้งาน split screen ซึ่งอันนี้เราต้องทำการตั้งค่าเอาเองในหน้า Buttons ครับ

Gestures บน OnePlus 5 ก็จะคล้ายกับระบบ gestures ของเจ้าอื่นๆ อย่าง เคาะสองครั้งเพื่อเปิดหน้าจอ หรือ การลากสามนิ้วที่หน้าจอเพื่อบันทึกภาพหน้าจอ นอกจากนี้เรายังสามารถทำ app shortcut ด้วยการวาด O, V, S, M หรือ W บนหน้าจอได้อีกด้วย

Reading mode เป็นฟีเจอร์ที่ไม่ผมยังไม่เคยเห็นที่ไหนในสมาร์ทโฟนรุ่นไหนๆ มาก่อน เป็นฟีเจอร์ที่เจ้าอื่นๆ ก็มีอยู่แล้ว แต่ว่า OnePlus นั้นแตกต่างจากเจ้าอื่นตรงที่เป็นการปรับสีของหน้าจอให้ออกโทนเหลืองๆ และปรับการแสดงผลให้เป็น greyscale ทั้งระบบไม่ใช่แค่แอพใดแอพหนึ่งเท่านั้น เหมาะกับคนที่ชอบเล่นมือถือตอนกลางคืนหรืออ่าน e-book ยาวๆ เพราะว่าจะช่วยในเรื่องของการถนอมสายตาครับ

 

Theme ทำให้เราสามารถจะเปลี่ยน UI ของ OnePlus 5 ได้ โดยมีให้เลือกอยู่ 3 แบบ คือ Default, Light และ Dark โดย Light จะทำให้ทุกอย่างกลายเป็นสีขาว ส่วน Dark จะทำให้ทุกอย่างกลายเป็นสีดำสนิท ซึ่งเป็น theme ที่เหมาะกับหน้าจอ AMOLED เพราะช่วยในเรื่องของการประหยัดพลังงาน

Game mode เมื่อเปิดใช้งานจะทำให้การแจ้งเตือนนั้นไม่แสดงขึ้นมาเวลาที่เล่นเกมอยู่ (เหมาะกับการเล่น RoV แบบสุดๆ) และทำให้ปุ่มต่างนั้นไม่ทำงานด้วย เพราะบางทีกำลังกดเกมรัวๆ อยู่แล้วไปโดนปุ่ม home  ขึ้นมาก็แทบร้องเลยละครับ ฮ่าๆ

 

กล้อง

OnePlus 5 มาพร้อมกับการอัพเกรดจากตอน OnePlus 3T อยู่พอสมควร และสิ่งที่ OnePlus พยายามจะโปรโมทมากที่สุดในรุ่นนี้ก็คือ กล้องหลังคู่ เพราะที่กล่องยังเขียนไว้ว่า “Dual Camera. Clearer Photos” เลย โดยกล้องหลักมีความละเอียดอยู่ที่ 16 ล้านพิกเซล f/1.7 ส่วนกล้องเลนส์ซูมมีความละเอียดอยู่ที่ 20 ล้านพิกเซล f/2.6 ซึ่งเป็นคอมโบกล้องคู่ที่มีความละเอียดสูงที่สุดในตลาดตอนนี้

การใช้งานเลนส์ซูมนั้นทำให้ OnePlus 5 นั้นเหมือนกับ iPhone 7 Plus มากขึ้นกว่าเดิม โดยทาง OnePlus นั้นโฆษณาไว้ว่าเป็น 2x lossless zoom ซึ่งก่อนหน้านี้เราก็ได้รู้ความจริงแล้วว่า เป็น 1.6x optical zoom บวกกับ 0.4x digital zoom ด้วยเทคโนโลยี SmartCapture ของทาง OnePlus เอง

User Interface ของกล้อง OnePlus 5 นั้นดูเรียบง่ายและใช้งานง่าย โหมดที่มีให้เลือกใช้ก็คือ Portrait, Pro Mode, Time-lapse, Slow motion และ Panoroma

สำหรับ Pro Mode ก็จะมีให้เราเลือกปรับ ISO, White Balance, Shutter Speed, Focus แลพ Exposure รองรับการบันทึกเป็นไฟล์ RAW เพื่อนำไปแต่งทีหลังก็ยังได้ นอกจากนี้ยังมี histogram ไว้ให้ดูอีกด้วยครับ

ภาพจากกล้องหลังของ OnePlus 5 นั้นสามารถเก็บรายละเอียดได้เป็นอย่างดีในสภาพแสงที่ดี ภาพมีความคมชัดกำลังดี สีที่ได้ก็ดูเป็นธรรมชาติ แต่ว่าถ้าเจอสภาพแสงน้อยก็จะเห็น noise ได้ค่อนข้างชัด และภาพที่ได้ก็จะเบลอๆ หน่อย เนื่องจากว่าไม่มี OIS สำหรับกันสั่นนั่นเอง การใช้งาน 2x ซูม ก็ง่ายดายมาก เพียงแค่กดปุ่มเดียว โดยเราจะเห็นว่าสีที่ได้จากกล้องหลักและกล้องซูมนั้นแตกต่างกันเล็กน้อย เพราะว่าเซนเซอร์ที่ใช้นั้นเป็นคนละตัวกัน แต่ภาพที่ได้ก็ถือว่าเก็บรายละเอียดได้ดีทีเดียวเลยละครับ

นอกจากนี้ OnePlus 5 ยังใช้กล้องคู่เพื่อการถ่ายภาพแบบหน้าชัดหลังเบลอได้อีกด้วย หรือที่เรียกว่า Portrait Mode ซึ่งการเบลอนั้นถือว่าทำออกมาได้เนียนดี แต่ก็ยังมีปัญหากับบริเวณเส้นผมของคนให้เห็นอยู่ครับ แถมยังเลยระดับการเบลอหลังจากที่ถ่ายไปแล้วไม่ได้ด้วยครับ

กล้องหน้าความละเอียด 16 ล้านพิกเซล ของ OnePlus 5 มาพร้อมกับระบบ auto focus รวมไปถึงโหมดบิวตี้ที่มีหลายระดับให้เลือก

 

สรุป

ถึงแม้ว่า OnePlus 5 จะมีการขึ้นราคาจากรุ่นก่อนๆ แต่ก็ยังถือว่าเป็นอีกหนึ่งสมาร์ทโฟนที่คุ้มค่าคุ้มราคามากๆ สามารถใช้งานได้อย่างลื่นไหลไม่มีอาการสะดุดเลยแม้แต่น้อย แต่ว่า OnePlus 5 ก็ยังมีสิ่งที่ขาดอยู่ก็คือ เรื่องของการกันน้ำ ที่ดูเหมือนว่าหลายๆ คนจะให้ความสำคัญมากขึ้น อีกอย่างคือ รูปร่างหน้าตาที่ดูเหมือนกับทางฝั่ง iPhone 7 Plus แต่ถ้าหากว่ามองข้ามเรื่องหน้าตาไปได้ก็ไม่มีอะไรให้ผิดหวังกับ OnePlus 5 เลยครับ

จุดเด่น

  • สเปคจัดเต็มไม่มีกั๊ก
  • ประสิทธิภาพการใช้งานไม่เป็นสองรองใคร
  • งานประกอบพรีเมี่ยม
  • แบตเตอรี่ใช้งานได้เต็มวันสบายๆ แถม Dash Charge ที่ชาร์จไวมาก
  • ซอฟต์แวร์เบามาก ไม่มี bloatware มากวนใจ

จุดด้อย

  • ไม่รองรับการกันน้ำ
  • ไม่รองรับการใส่ microSD การ์ด
  • ไม่มีระบบกันสั่น OIS
  • มีแต่เครื่องหิ้ว