ต้องบอกว่ายุคนี้เป็นยุคแห่งการถ่าย Selfie อย่างแท้จริง กล้องหน้าที่ความละเอียดแค่พอใช้ video call ได้นี้มันไม่พอซะแล้ว ใครๆก็อยากถ่ายให้ตัวเองดูดีเอาไว้ลง Social Network กันทั้งนั้น แต่จะแค่เพิ่มความละเอียดเฉยๆมันก็ไม่ได้ทำให้ภาพสวยขึ้นหรอกนะ มันมีอะไรมากกว่านั้น และ OPPO R1L ก็เป็นมือถือเครื่องหนึ่งที่สามารถตอบโจทย์นั้นได้ดี อีกทั้งตัวเครื่องยังเบาบาง ถือจับง่าย เหมาะกับผู้หญิงยิ่งนัก วันนี้เราจะมาดูว่า ในราคาหมึ่นกว่าบาทนั้น OPPO R1L จะทำให้เราประทับใจได้แค่ไหนกัน

 

ตัวเครื่องและการออกแบบ

ครั้งแรกที่จับเจ้า OPPO R1L ขึ้นมาถือในมือนี้รู้สึกถึงความคุ้นเคยบางอย่าง … นี้มัน iPhone 4 ขยายร่างหนิหน่า! เมื่อดูในรายละเอียดแล้วก็จะเห็นว่ามีหลายๆส่วนที่คล้ายกันอยู่ เช่น การใช้กระจกกระกบหน้าหลัง และมีแกนกลางเป็นอะลูมิเนียมตัดขอบ ถึงจะไม่ได้เป็นอะไรที่แปลกใหม่ แต่ก็ไม่ใช่อะไรที่ดูแย่ ออกแบบมาได้สวยดี

 

ตัวเครื่องนั้นมีความบางอยู่ที่ 7.1 มิลลิเมตร แม้ว่าจะไม่ได้บางที่สุดอย่าง Vivo X5 แต่ก็บางกว่ามือถือทั่วๆไป แรกๆก็รู้สึกว่าจับยากนะ เพราะด้านข้างมีที่ให้จับน้อย แต่ frame เครื่องด้านข้างที่เป็นเหล็กก็ช่วยมีนิ้วมีที่ยึดจับเพิ่มขึ้นอีกนิดนึง พอใส่เคสเข้าไปก็พอดีมือเลยหล่ะ ไม่หนามาก


ทางด้านซ้ายจะมีข่องใส่ซิมและปุ่ม power


ทางด้านขวาจะมีปุ่มเพิ่มลดเสียง

ข้อสังเกตุหนึ่งคือ ปุ่ม power และปุ่มเพิ่มลดเสียงนั้นอยู่สลับฝั่งกันกับเครื่องทั่วไป ผมก็งงอยู่ว่าทำไม OPPO ถึงตัดสินใจออกแบบอย่างนี้ มีเหตุผลอะไร ใครนึกออกบอกผมด้วยละกัน =-=


ช่องเสียบหูฟังจะอยู่ด้านบน ข้างนั้นจะเป็นไมค์โครโฟนตัดเสียงรบกวน


ด้านล่างมีลำโพง, รูสำหรับไมค์สนทนา, และช่อง microUSB

ลำโพงของเครื่องนี้เสียงค่อนข้างดัง และเสียงก็ไม่ได้แตกซ่าน เสียงดีมีคุณภาพอยู่ แต่ก็ไม่ดีเลิศแบบ BoomSound นะ


ด้านหน้ามีกล้องความละเอียด 5 ล้าน, ลำโพงสนทนา, เซนเซอร์ปิดจอ, เซนเซอร์แสง, และไฟ Notification


หน้าจอขนาด 5 นิ้ว IPS สีสดใช้ได้ ความละเอียด 1280×720 (294 PPI)

คุณภาพหน้าจอถือว่าใช้ได้เลยหล่ะ สีสดงดงามไม่แพ้เจ้าอื่นๆ จะติดก็ที่ความละเอียดที่ให้มาที่ 720p แต่ก็ไม่ได้ดูแย่นะ ใช้งานได้ไม่ติดขัด ยกเว้นว่าจะเอามาเทียบกับจอ 1080p ข้างๆกันถึงจะเห็นความแตกต่าง


Touch Screen รองรับได้ 10 นิ้วสบายๆ ลากนิ้วตัดกันได้ไม่มีเพี้ยน ใครไป test เองแล้วขึ้นแค่ 2 3 นิ้วต้องเข้าไปปิดโหมด Gesture ต่างๆก่อนนะ ระบบมันดักไว้


ด้านล่างมีปุ่ม navigation เมนู, โฮม, และ ย้อนกลับ มีไฟที่ปุ่มด้วยนะ กด Home ค้างไว้จะเข้าหน้า Google Now กดปุ่มเมนูค้างไว้จะเป็นการเข้าหน้า Recent Apps ครับ


ด้านหลังมีกล้องหลักความละเอียด 13 ล้านพร้อม LED flash



มี LED Notifiction ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง

OPPO ดูใส่ใจกับเรื่องเล็กๆน้อยๆอย่างไฟ Notification ดวงที่สองด้านหลัง แม้ว่าวางมือถือคว่ำหน้าอยู่ก็ยังมองเห็นอยู่นะ ดีงามๆ

มีข้อสังเกตุนิดหน่อยตรงที่ว่า การใช้กระจกที่ด้านหลังด้วยจะทำให้มีลายนิ้วมือถือเต็มไปหมดเลย ถ้าไม่ใส่เคสต้องระวังเรื่องรอยขีดข่วนด้วย แต่ OPPO ก็ใจดี ติดฟิล์มมาให้แล้วตั้งแต่โรงงานเลยหล่ะ แจ่มจริงๆ

 

Unboxing

เมื่อเปิดกล่องมาเราด็จะเจอกับตัวเครื่องที่ติดฟิล์มกันรอยมาให้ 2 ชั้นทั้งด้านหน้าและด้านหลัง (ลอกชั้นนอกออกก็ใช้งานได้เลย) ด้านในจะมีเคสแถมมาให้ด้วย แม้จะไม่ค่อยถูกใจผมสักเท่าไหร่ แต่อย่างน้อยก็มีใช้ระหว่างที่หาซื้อเคสใหม่มาใส่

เมื่อเปิดลงไปชั้นต่อไปก็จะเจอกับหูฟัง small-talk และที่ชาร์จ 5v1A พร้อมสาย microUSB ครับ

Play video

หมายเหตุ: เมื่อลอกฟิล์มกันรอยชั้นแรกออกแล้วให้เก็บเอาไว้ด้วยนะ เพราะข้อมูลสำคัญต่างๆของตัวเครื่องจะอยู่บนนั้น

 

สเปค & ประสิทธิภาพการทำงาน

ดูรูปร่างภายนอกกกันไปแล้ว เรามาดูสเปคภายในกันบ้างดีกว่า

  • CPU: 1.6 GHz Quad-Core Snapdragon 400
  • GPU: Anndreno A305
  • RAM: 1GB
  • ROM: 16GB (ไม่สามารถเพิ่ม microSD card ได้)
  • หน้าจอ: 5 นิ้ว IPS ความละเอียด 1280×720 (294 PPI)
  • กล้องหลัง: 13 ล้าน F2.0 พร้อมไฟ LED flash
  • กล้องหน้า: 5 ล้าน
  • ระบบเครือข่ายโทรศัพท์
  • ใส่ได้ซิมเดียว (Micro SIM)
  • รองรับ 3G ทุกค่าย (850 / 900 / 1900 / 2100)
  • รอบรับ 4G ประเทศไทย (FDD 2100 MHz)
  • แบตเตอรี่: 2410 mAh ไม่สามารถถอดเปลี่ยนได้
  • OS: ColorOS 1.2.6i (Android 4.3)

ด้วยความที่ OPPO R1L นั้นใช้ CPU ที่ไม่ได้แรงมากอย่าง Snapdragon 400 เท่านั้น จึงอย่าหวังว่าเครื่องจะเร็วปรู๊ดปร๊าดแบบเครื่องเรือธง ถ้าให้เทียบกับเครื่องที่ราคาใกล้เคียงกันในระดับหมื่นกว่าบาทก็ยังถือว่าทำได้ไม่ดีนัก ประกอบกับการที่ให้ RAM มาเพียง 1GB ทำการเปลี่ยนแอพสลับไปมายังไม่เร็วเท่าที่ควร แอพต้องโหลดใหม่บ่อย แต่ก็การใช้งานโดยทั่วไปก็ไม่ได้ถือว่าแย่นัก หลายคนอาจจะคิดว่า เอ๊ะ ทำไมเครื่องเป็นหมื่นถึงได้สเปคแค่นี้ ต้องขอบอกว่า R1L นั้นยังมีไม้เด็ดที่หลายคนยอมจะจ่ายเงินหมื่นแล้วบอกว่ามันคุ้มค่าแน่นอน

ระหว่างที่กำลังทดสอบเครื่องอยู่นั้นก็มีการอัพเดตเฟิร์มแวร์หนึ่งครั้ง และดูเหมือนว่าทุกอย่างจะทำได้ดีขึ้น การตอบสนองของ touch screen ทำได้ดีขึ้น เลื่อนติดนิ้วมากขึ้น การสลับแอพไปมายังทำได้ไม่ดีนัก แต่อย่างน้อยก็มีการปรับปรุงขึ้น (ก่อนหน้านี้ RAM ไม่พอใช้ถึงขนาดว่าแอพ Music Player ถูกปิดไปเมื่อเปิด Google Chrome เว็ปหนักๆ แต่หลังจากอัพเดตก็ไม่เจอปัญหานี้แล้ว)

สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น ว่าแล้วเราก็มาดูวีดีโอการใช้งานคร่าวๆกันดีว่าครับ

Play video

 

กล้อง

ไม้ตายของ OPPO R1L นั้นจะอยู่ที่กกล้องครับ กล้องหลังความละเอียด 13 ล้าน การถ่ายภาพกลางวันทำได้ดี และด้วยเลนส์ f2.0 ทำให้พอจะแยก subject ออกจาก background ได้ดีพอสมควร แต่การถ่ายในที่มืดยังทำได้ไม่ดีนัก ไม่มีระบบกันสั่น และ Flash LED 1 ดวงที่ให้มาก็รู้สึกว่าอยากให้มันสว่างกว่านี้อีกหน่อยนะ

 

สามารถลองดูรูปตัวอย่างได้ด้านล่างครับ

แต่ feature หนึ่งของกล้องหลังที่ไม่ค่อยได้เห็นในมือถือรุ่นอื่นก็คือ Slow Shutter หรือถ้าเรียกภาษาตากล้องก็คือโหมด Long Exposure Shot ที่ทำให้เราสามารถเปิดหน้ากล้องได้นานสุดถึง 32 วินาที แม้ว่าจะเป็นการใช้ software นำภาพจากวีดีโอมาซ้อนๆกัน แต่ก็ทำออกมาได้ดีกว่าหลายๆแอพที่เห็นมานะ ภาพสว่างมากขึ้น จุด Noise เม็ดๆลดลง แต่ต้องใช้วิธีถ่ายแบบวางมือถือไว้นิ่งหรือใช้ขาตั้งกล้อง เพราะถ้าถือถ้าไม่รอดแน่ๆ สั่นชัวร์


ทางซ้าย: Nexus 5, Camera FV5, 0.8sec, f2.4, ISO 800
ทวงขวา: OPPO R1L, defualt camera,  16sec, f2.0, ISO 100

ไหนบอกว่ากล้องจะเป็นท่าไม้ตายไง ก็ออกจะเฉยๆหนิ … ยังครับ ไม้ตายจริงๆอยู่นี้ครับ สิ่งที่จะทำให้สาวๆยอมจ่ายเงินหมื่นแล้วบอกว่าคุ้มค่าก็คือ กล้องหน้า ต้องบอกเลยว่ากล้องหน้า OPPO นี้เด็ดจริงๆด้วยโหมด Beautify ที่ทำให้หน้าเนียนฟุดๆ เนียนจริงจัง ยืนยันโดยสาวๆแทบทุกคนที่ลอง แต่แอบมีคอมมเม้นจากพี่ @kengkawiz ว่า “มันทำจมูกฉันหาย~ T^T”

  
ซ้าย: mode Beautify                                     ขวา: mode Auto

เมื่อกล้องจับได้ว่ามีใบหน้าอยู่ในภาพ กล้องจะพยายามเร่งแสงให้หน้าทุกหน้าขาวสวย แม้ว่าจะถ่ายย้อนแสงหน้าก็จะไม่ดำแน่นอน (แต่ด้านหลังอาจจะขาวจนหายไปเลยก็ได้นะ)

อีกสิ่งหนึ่งที่กล้องฟรุ้งฟริ้งของ OPPO ทำได้ดีก็คือ การเก็บรายละเอียดของส่วนอื่นที่ไม่ใช่ใบหน้า สังเกตที่เส้นผมและ background จะยังคม รายละเอียดครบ ไม่ได้เกลี่ยซะเรียบหมดเหมือนแอพบางตัว

กล้องหน้านั้นใช้เลนส์มุมกว้าง ช่วยให้การถ่ายภาพหมู่ง่ายขึ้นมาก ถ่ายกับเพื่อน 4 5 คนสบายๆไม่มีใครหลุด ไม่มีใครต้องเสียสละหน้าใหญ่ไปถือกล้องแล้วหล่ะ 🙂

 

Software & User Interface

OPPO R1L นั้นใช้ระบบปฏิบัติการ Color 1.2.6i ที่พัฒนาจาก Android 4.3 ซึ่งก็ถือว่าเก่าไปเกินไปแล้วสำหรับในยุคนี้ แต่ก็ยังใช้งานได้ดี ไม่ติดขัดอะไร (ไม่นับเรื่องสเปคอะนะ) แต่ถ้าได้ Android 4.4 มา อย่างน้อยก็น่าจะทำให้เรื่องการบริการจัดการ RAM ทำได้ดีขึ้น นะ OPPO นะ #มองตาปริบๆ

 

จุดเด่นของ ColorOS นั้นก็จะมีหลักๆอยู่ 2 อย่างด้วยกัน นั้นก็คือ ความสามารถในการปรับแต่งหน้า Home และระบบ Gesture ต่างๆ

 

Home Screen Customization

ในการฟังก์ชั่นการใช้งานต่างๆ ColorOS ถือว่าทำออกมาได้ดี โดยเฉพาะในเรื่องของการปรับแต่งหน้าตาหรือ Theme ที่มีให้เลือกมากมาย ใครเเบื่อๆก็สามารถกดเปลี่ยนได้เลย แต่ก็แอบเสีบดายเล็กๆที่ไม่สามารถใช้ร่วมกัน icon pack ต่างๆที่มีให้โหลดตาม Play Store ได้

Launcher ดั่งเดิมของ ColorOS ก็ถือว่าใช้งานได้ดี สามารถเพิ่มหน้า Home ได้สูงสุด 9 หน้า และยังมีจุดเด่นที่หน้า Exclusive Space ที่จะเป็นเหมือน Widget ขนาดเต็มหน้าจอ มีให้ใช้งานกัน 2 ตัวคือ

  • Photo Space – เหมาะสำหรับคนที่ชอบทำบันทึกวันของตัวเองเป็น Dairy รูปภาพ สามารถกดถ่ายภาพได้จากหน้า Home ทันที ใส่คำบรรยายได้ 25 ตัวอักษร (น้อยไปหน่อยนะ)

  

  • Music Space – Widget สำหรับเล่นเพลง ก็ไม่ได้ต่างจาก Widget ทั่วไป แต่รูปแบบดูเจ๋งดี เป็นแผ่นเสียงหมุนๆ สามารถสั่ง play pause ได้โดยการลากขาของเครื่องเล่นแผ่นเสียงเข้าออกเหมือนของจริงเลย *o*

  

 

นอกจากนั้นยังมีระบบ Live Weather (มองแว๊บแรกอ่านเป็น Live Wallpaper แหน่ะ) Live Weather นั้นจะแสดงสภาพอากาศจากแอพ Weather ขึ้นมาบนทับหน้า Home ของเราเลย เหมือนเป็น Live Wallpaper อันที่สองที่ทับอยู่บน Wallpaper แบบธรรมดาอีกทีหนึ่ง เช่น ถ้าวันนั้นฝนตก หน้า Home ของเราก็จะมีน้ำฝนหยดลงมา แต่แนะนำให้ปิดไว้ดีกว่า เพราะแค่นี้ Snapdragon 400 ก็จะรับไม่ไหวแล้ว

 

Gesture

อีกส่วนหนึ่งที่เป็นจุดเด่นของ ColorOS ก็คือการใช้ Gesture ต่างๆในการควบคุมมือถือ ตั้งแต่ตอนปิดจอ, บนแถบ Notifiation, ไปจนถึงการเพิ่มลดเสียง แอพกล้อง อยากทำอะไร วาดๆเอาก็ได้หมด เรามาดูกันทีละส่วนดีกว่า

 

Gesture คำสั่งเมื่อปิดจอ

นี้เป็นฟังก์ชั่นที่ผมอยากให้มีในทุกเครื่องเลยจริง เราสามารถวาดรูปต่างๆบนหน้าจอขณะที่จอปิดอยู่ เพื่อให้เครื่องทำคำสั่งที่เราตั้งไว้ได้ เช่น เปิดไฟฉาย เปิดกล้อง เล่น/หยุดเพลง เปลี่ยนเพลง เปิดแอพ เปิดเว็บที่กำหนดไว้ เยอะแยะมากมาย

ตรงนี้เราจะไม่สามารถสร้างรูปแบบ Gesture ได้เองนะ แต่ด้วยรูปแบบเท่าที่มีก็เยอะเกินจะใช้หมดแล้วแหละ

Play video

ข้อสังเกต: Gesture play/puase เปลี่ยนเพลง สามารถควบคุมได้เฉพาะแอพ Music Player ที่ให้มาเท่านั้นนะ ใช้กับแอพอื่นไม่ได้

 

Gesture Panel

เราสามารถดึง Gesture Panel ลงมาจากแถบ Notiffication ด้านซ้าย จากนั้นเราสามารถวาด Gesture ที่ตั้ง่าไว้ลงไปได้ ตรงนี้เราสามารถสร้างรูปแบบ Gesture ได้เองเช่น วาดตัว D เพื่อให้เปิดเว็บเข้า Droidsans.com ได้ทันที แจ่มจริงๆ

Play video

 

Gesture ในส่วนอื่น

เพิ่มลดเสียง – ใช้ 2 นิ้วลากขึ้นลงเพื่อเพิ่มลดเสียง

เปิดกล้อง – จีบ 3 นิ้วเข้าจากหน้าใดก็ได้เพื่อเปิดกล้อง

Screen Capture – 3 นิ้วลากขึ้นหรือลงเพื่อจับภาพหน้าจอ

Lock Screen – Double Tab ปุ่มโฮมเพื่อปิดจอ

Play video

 

ข้อสังเกต: การที่เราสามารถเปิดจอด้วยการ Tab หน้าจอสองครั้ง และเพิ่มลดเสียงด้วยการลากนิ้วขึ้นลงได้ ทำให้เราไม่ต้องห่วงว่า ถ้าปุ่มกดพังแล้วเราจะใช้มือถือไม่ได้ เรายังสามารถใช้ Gesture แทนได้ทุกปุ่ม

 

Software ที่ติดมาให้

OPPO ติดตั้งแอพที่ … จะเรียกว่ามีประโยชน์หรือ Boltware ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนคนนั้นจะใช้แอพนั้นหรือไม่หล่ะนะ ผมขอแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆละกันครับ

1. แอพประเภทเครื่องมือ – แอพที่อาจจะไม่ได้ใช้บ่อย แต่มีติดเครื่องไว้ก็ดี OPPO ก็มีใส่มาให้บ้าง เช่น แอพอัดเสียง, เครื่องคิดเลข, ไฟฉาย, เข็มทิศ, สมุดโน๊ต, รวมไปถึง Kingsoft Office ก็มีติดมาให้ด้วย

2. แอพประเภทที่ใช้ Manage Service ต่างๆของมือถือ – เป็นฟีเจอร์ที่ OPPO พยายามใส่มาให้กับ ColorOS บางครั้งเราก็ไม่ได้แตะมันเลยด้วยซ้ำ และจริงๆก็ไม่น่าแยกออกมาเป็นแอพให้รก App Drawer ให้กดผ่าน setting น่าจะเหมาะกว่า

  • App Encryption – ใส่รหัสก่อนเข้าแอพ เพิ่มความปลอดภัยให้ชีวิต (มันไม่ได้เข้ารหัสแอพอย่างที่ชื่อบอกหรอกนะ)
  • Guest Mode – เมื่อเข้าสู่ Guest Mode เราสามารถซ่อนรูปภาพ, วีดีโอ, contact, และแอพบางตัวได้ 
  • Quite Time – สามารถตั้งช่วงเวลาที่มือถือจะไม่แจ้งเตือนอะไรเราทั้งนั้น ไม่ว่าใครจะโทรมา Line จะเข้าหรืออะไรก็ตาม แต่ถ้ามีคนโทรมารัวๆ 3 ครั้งใน 3 นาที ครั้งที่ 3 มันจะดังนะ เพราะอาจจะเป็นเรื่องฉุกเฉิน
  • Anti-harassment – สามารถตั้ง block เบอร์โทร block ข้อความได้ สามารถ block ข้อความตาม keyword ที่ตั้งไว้ก็ได้นะ (นี้แหละ ข้อดีของ Android 4.3 เพราะตั้งแต่ 4.4 ขึ้นไปจะ block ไม่อยู่)

  

  • NearMe Cloud – บริการ Cloud Storage สามารถสำรอง contact, SMS, และรูปภาพได้สูงสุด 5 GB สามารถใช้ตามหามือถือหายผ่านเว็บได้ด้วย

 

นอกจากนั้น OPPO ก็มี App Center ใส่เอาไว้ด้วย แต่เราแนะนำให้หลีกเลี่ยงดีกว่า เพราะใน App Center มีแอพอย่าง Baidu Browser และ Hao 123 เป็นแอพแนะนำอยู่ด้วย =~=

  

 

สรุปแล้ว OPPO R1L เหมาะกับใคร ?

ต้องบอกไว้ก่อนเลยว่า OPPO R1L นั้นไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน ถ้าคำนวณราคากับสเปคแล้ว มีตัวเลือกอื่นที่ถูกกว่าและประสิทธิภาพดีกว่าอยู่หลายตัว

คนที่จะถูกใจ OPPO R1L มากที่สุดก็คนจะหนีไม่พ้นสาวๆที่ชอบ Selfie ทั้งหลาย เพราะกล้องหน้านั้นทำออกมาได้ดีทั้งในส่วนของ software ที่ปรับหน้าเนียน และส่วน hardware ที่ให้เลนส์มุมกว้าง ถ่ายรูปหมู่ได้ง่ายๆ

จุดเด่นของ OPPO R1L

  • ตัวเครื่องบาง เบา ออกแบบสวย
  • หน้าจอสว่าง สีสด
  • กล้องหน้าสวย เนียน มุมมองกว้าง
  • กล้องหลังมีโหมด Slow Shutter (Long Exposure)
  • สามารถสั่งเครื่องด้วย Gesture ต่างๆ ใช้งานสะดวก

ข้อสังเกต:

  • CPU Snapdragon 400 ไม่แรงพอ เมื่อเทียบกับเครื่องราคาหมึ่นต้นๆทั่วไป
  • RAM 1GB ไม่เพียงพอกับการใช้งานนัก แอพโหลดใหม่บ่อย
  • Home Launcher ไม่รองรับ Shortcut และ Widget บางตัว
  • ColorOS 1.2 นั้นคือ Android 4.3 ซึ่งถือว่าเก่าไปแล้วในยุคนี้

ใครถูกใจในข้อดี รับได้ในข้อเสียก็จัดไปอย่าให้เสียครับ แต่แนะนำให้ลองจับ ลองเล่นเครื่องจริงก่อนตัดสินใจซื้อทุกครั้งนะครับ รับได้หรือรับไม่ได้ในประสิทธิภาพนั้นมันขึ้นอยู่กับ feeling ที่เราจับเองล้วนๆเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้องหน้า บอกเลยตัวต้องลองด้วยตัวเอง อันนี้เด็ดจริง