Redmi 10C เป็นสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ของ Xiaomi ที่ทำออกมาสานต่อจาก Redmi 9C เมื่อปีที่แล้ว ยังคงคอนเซปต์เดิมคือ เน้นไปที่ความคุ้มค่า ราคาประหยัด ชูจุดเด่นหน้าจอใหญ่ ๆ แบตอึด ๆ แถมรอบนี้มีการอัปเกรดขึ้นมาหลายส่วนมาก ๆ ทำให้ดูน่าสนใจขึ้นเยอะ พร้อมกันนี้ก็มี Xiaomi Watch S1 สมาร์ทวอทช์ดีไซน์งาม ฟีเจอร์ครบครันในราคาย่อมเยามารีวิวควบคู่กันไปด้วย
Xiaomi Redmi 10C
Redmi 10C ที่ Xiaomi นำเข้ามาวางจำหน่ายในประเทศไทย แบ่งเป็น 2 รุ่นย่อย ตามความจุสตอเรจ ดังนี้
- รุ่น 4 + 64GB : ราคา 4,299 บาท
- รุ่น 4 + 128GB : ราคา 4,999 บาท
หากไม่ติดขับเรื่องงบประมาณ แนะนำเป็นตัว 128GB ไปเลยจะดีกว่า เพราะราคาห่างกันแค่ 700 บาท แต่ได้ความจุเพิ่มสองเท่าเลย ซึ่งเดี๋ยวนี้ 64GB อาจใช้งานได้ค่อนข้างอึดอัดสำหรับบางคนแล้ว แค่ลงแอปอย่างเดียวเผลอ ๆ กินพื้นที่ไปเกือบครึ่งหนึ่ง
ตัวเครื่องมีให้เลือก 3 สี คือ Mint Green ตามที่เห็นในรีวิวนี้ ที่เหลือเป็นสี Graphite Gray กับ Ocean Blue
จอภาพและการแสดงผล
หน้าจอใหญ่กว่าเดิม ดูหนังก็เพลิน เล่นเกมก็ฟิน
Redmi 10C มากับหน้าจอ Dot Drop display ขนาด 6.71 นิ้ว โดย Xiaomi ได้เพิ่มความหนาแน่นของพิกเซลตามแนวยาวขึ้นมาอีก 50 จุด จาก 1,600 เป็น 1,650 พิกเซล เมื่อเทียบกับ Redmi 9C จึงไม่สูญเสียความคมชัดไปถึงแม้จะมีขนาดใหญ่ขึ้นมา ในขณะที่แนวกว้างยังยึดตามมาตรฐาน HD+ ที่ 720 พิกเซล อ่านตัวหนังสือต่าง ๆ ได้ชัดเจน ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
โหมดการแสดงผล ปรับได้ 3 รูปแบบ ได้แก่ Vivid, Saturated, Standard อีกทั้งยังสามารถปรับอุณหภูมิสีหน้าจอแยกกันได้อย่างอิสระ และมี Reding mode ให้ใช้งานขณะอ่านหนังสือด้วย
ส่วนขนาดตัวอักษรของระบบ ปรับได้ 6 ระดับ ตั้งแต่ XXS ไปจนถึง XXL เลย ไม่ต้องกลัวสายตาสั้นหรือสายตายาวแล้วจะมองลำบาก
ข้อสังเกตที่ควรทราบคือ จากการที่พาเนลแสดงผลเป็น IPS LCD ทำให้ในการใช้งานกลางแจ้ง แดดเปรี้ยง ๆ สาดมาตรง ๆ อาจต้องเอามือป้องช่วยบังแสงกันสักหน่อย เป็นเรื่องปกติของพาเนลชนิดนี้ แบรนด์ไหนก็ไม่แตกต่างกัน
ตัวเครื่องและดีไซน์ภายนอก
ยังพอจับถือใช้งานด้วยมือเดียวได้อยู่
หากดูเฉพาะตัวเลข 6.71 นิ้ว ของขนาดหน้าจอเพียงอย่างเดียว อาจพาลเข้าใจผิดคิดไปว่า Redmi 10C ต้องมีตัวเครื่องใหญ่โตแน่ ๆ แต่อันที่จริงแล้วมันยังพอสามารถจับถือใช้งานด้วยมือเดียวได้อยู่ เพราะสัดส่วนจอภาพเป็นแบบยาว เกือบ ๆ 21:9 นิ้วโป้งยังพอเอื้อมถึงอีกฝั่งได้อย่างไม่ยากเย็นเท่าไหร่นัก
ฝาหลังใช้วัสดุผิวด้าน ยากต่อการเปรอะรอยนิ้วมือ
ฝาหลังเป็นพอลีคาร์บอเนตผิวด้าน ลดโอกาสเกิดรอยนิ้วมือและการเปรอะเปื้อนต่าง ๆ พร้อมทำลวดลายเป็นริ้ว ๆ ลงไปบนพื้นผิวจริง ๆ ให้ความรู้สึกสาก ๆ นิดหน่อยเวลาลูบ มีเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมืออยู่ตรงกลาง และถัดขึ้นไปอีกเป็นที่อยู่ของกล้องหลังทั้ง 2 ตัว เป็นกล้องหลัก 50MP และกล้องจับความลึก 2MP
ถาดซิม 3 ช่องเน้น ๆ ไม่ต้องรักพี่เสียดายน้อง
รอบ ๆ เครื่องโดยรวมยังใช้เลย์เอาต์แบบเดียวกับ Redmi 9C เป๊ะ ๆ ทุกกระเบียดนิ้ว เริ่มจากแจ็ก 3.5 มม.ที่ด้านบน ซึ่งจะรองรับวิทยุ FM ด้วย (ต้องเสียบหูฟัง) และปุ่มปรับระดับเสียงกับปุ่มเพาเวอร์ที่ด้านขวา ด้านซ้ายมีถาดซิมแบบทริปเปิลสลอต ใช้งาน 2 ซิมกับ microSD card พร้อมกันได้เลย ไม่ต้องแย่งช่องกันให้วุ่นวาย
เปลี่ยนมาใช้พอร์ต USB Type-C แล้ว ลำโพงก็เสียงดีขึ้นกว่าเดิม
ขยับลงมาที่ด้านล่างจะเห็นได้ว่า พอร์ตถูกเปลี่ยนจาก Micro-USB เป็น USB Type-C ตามสมัยนิยมแล้ว อันนี้ดีงามมาก พกสายเส้นเดียว ใช้งานกับอุปกรณ์อื่น ๆ ได้หลากหลายกว่าเดิม และลำโพงเป็นอีกอย่างหนึ่งที่ได้รับการปรับปรุง ให้เสียงที่ดีขึ้นกว่ารุ่นก่อนอย่างชัดเจน
ประสิทธิภาพการใช้งานและฟีเจอร์
เกิดมาพร้อม MIUI 13 บนพื้นฐาน Android 11
แกะกล้องออกมา Redmi 10C จะทำงานอยู่บน MIUI 13 บนพื้นฐาน Android 11 ชิปที่ใช้คือ Snapdragon 680 กระบวนการผลิต 6 นาโนเมตร ซึ่งแรงพอตัวเลยทีเดียว ซีพียูเป็นแบบ 8 แกน ความเร็วสูงสุด 2.4GHz ใช้งานทั่วไปลื่นไหล เล่นเกมกราฟิกปานกลางได้สบาย ๆ
พอเป็นสตอเรจ UFS แล้ว อ่านเขียนข้อมูลเร็วขึ้นมาก
Xiaomi ให้หน่วยความจำมาเป็นแบบ LPDDR4x ขนาด 4GB และสตอเรจแบบ UFS 2.2 สูงสุด 128GB ถ้าไม่เห็นราคามาก่อน คงอดคิดไม่ได้ว่า นี่คือมือถือราคาประหยัดจริงดิ…? จัดเต็มเหลือเกิน ไม่รู้ไปเอากำไรจากไหน
ความลับเพิ่มเติมคือ Redmi 10C มีฟีเจอร์ Memory extension ด้วยนะ เป็นการดึงพื้นที่จาก ROM มาเพิ่มให้ RAM ชั่วคราว ขยายจาก 4 เป็น 5GB มีวิธีดังนี้
- ไปที่ Settings
- เลื่อนหาเมนู Additional settings
- เลือก Memory extension และเปิดการทำงานของฟังก์ชัน
- จากนั้นระบบจะให้ทำการรีสตาร์ตเครื่อง 1 รอบ
การตั้งค่าดั้งเดิมจากโรงงานจะเปิดใช้งาน Memory extension มาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่ถ้าสตอเรจใกล้เต็ม ฟีเจอร์นี้จะถูกปิดโดยอัตโนมัติ
ฟีเจอร์อีกอย่างหนึ่งที่มีประโยชน์และอยากแนะนำให้ทราบคือ Button shortcuts ตั้งค่าปุ่มนำทางเป็นทางลัดต่าง ๆ เช่น กำหนดให้กด Menu ค้าง เป็นการแคปฯ หน้าจอ กำหนดให้กด Back ค้าง เป็นการเปิดไฟฉาย เป็นต้น
- จากหน้า Settings
- เลือก Home screen
- ไปที่ System navigation
- ตามด้วย Button shortcuts
- จากนั้นให้ตั้งค่าปุ่มต่าง ๆ ได้ตามต้องการ
หน้าตาอินเตอร์เฟซระบบโดยรวม
กล้องและการถ่ายภาพ
กล้องหลังคู่ กล้องหลัก 50MP กล้องจับความลึก 2MP
โหมดถ่ายภาพหลัก ๆ มีให้ครบ โหมดโปรปรับได้ทุกอย่าง
Redmi 10C มีกล้องหลัง 2 ตัว ได้แก่ กล้องหลัก 50MP และกล้องจับความลึก 2MP โหมดการใช้งานหลัก ๆ ให้มาครอบคลุม ทั้งโหมดโปร โหมดพอร์เทรต โหมดกลางคืน และโหมด 50MP
เนื่องจากไม่มีกล้องเทเลโฟโต ในการซูมสามารถใช้โหมด 50MP เพื่อชดเชยความคมชัดได้
การถ่ายมาโครก็สามารถทดแทนโดยการซูมดิจิทัลเช่นกัน
สาเหตุที่ต้องใส่โหมด 50MP เพิ่มมาต่างหาก ทั้งที่ตัวกล้องมีความละเอียด 50MP อยู่แล้ว เป็นเพราะเอาต์พุตปกติจะถ่ายออกมาที่ 12.5MP จากเทคโนโลยีรวมพิกเซล 4 จุดเล็กเป็น 1 จุดใหญ่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรับแสงนั่นเอง ตรงนี้สามารถเลือกกันได้ตามสะดวก อยากได้ความละเอียดสูงหรือความสว่าง
มีโหมดพอร์เทรตให้ใช้งาน แต่ถ้าปรับรูปรับแสงได้โดยตรงจะสะดวกกว่านี้
ปรับรูรับแสงต้องปรับจากในแอป Gallery
ในโหมดพอร์เทรตเราไม่สามารถปรับรูรับแสงได้ในขณะถ่ายนะครับ แต่สามารถมาปรับเอาทีหลังได้จากในแอป Gallery ตั้งแต่กว้างสุด f/1.0 ไปจนถึงแคบสุด f/16.0 เลย
ซ้าย ปิดโหมดกลางคืน ; ขวา เปิดโหมดกลางคืน
ซ้าย ปิดโหมดกลางคืน ; ขวา เปิดโหมดกลางคืน
สำหรับการใช้งานโหมดกลางคืน ภาพจะสว่างขึ้น คอนทราสต์เข้มขึ้น ทำให้สีสันดูอวบอิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่ต้องใช้เวลาบันทึกภาพนานขึ้นเล็กน้อย มือจึงต้องนิ่ง ๆ หน่อย ไม่อย่างนั้นภาพจะเบลอเอาได้
ถ้ามีแสงสว่างเพียงพอ ภาพจะออกมาคมชัดดี แต่ถ้าแสงไม่เยอะมาก อาจเกิดวุ้นได้ง่าย
ตัวอย่างภาพถ่าย Redmi 10C
แบตเตอรี่
ด้วยแบตเตอรี่ความจุ 5000mAh ทำให้ Redmi 10C สามารถใช้งานได้อย่างยาวนาน อยู่รอด 1 วันสบาย ๆ ถ้าไม่เล่นเกมติดกันนาน ๆ ส่วนการชาร์จตัวเครื่องรองรับสูงสุดที่ 18W แต่อะแดปเตอร์ที่แถมมาในกล่องเป็นขนาด 10W ถ้าอยากชาร์จอย่างเต็มประสิทธิภาพ ต้องซื้อเพิ่มเอาเอง (แต่จริง ๆ เดี๋ยวนี้น่าจะมีหัวชาร์จแรง ๆ กันแทบทุกคนอยู่แล้ว)
สเปค Xiaomi Redmi 10C
- จอภาพ : Dot Drop display ขนาด 6.71 นิ้ว
– ความละเอียด 1650 x 720 พิกเซล
– สัดส่วน 20.625 : 9 - ชิป : Snapdraong 680
- หน่วยความจำ : RAM LPDDR4x 4GB
- สตอเรจ : ROM UFS 2.2 64GB / 128GB
– รองรับ microSD card สูงสุด 1TB - กล้องหลัง :
– กล้องหลัก 50MP, f/1.8
– กล้องจับความลึก 2MP, f/2.4
– บันทึกวิดีโอสูงสุด 1080p ที่ 30 เฟรมต่อวินาที - กล้องหน้า : 5MP, f/2.2
- เครือข่าย : LTE
- การเชื่อมต่อ :
– Wi-Fi 802.11a/b/g/n/ac
– Bluetooth 5 - พอร์ต :
– USB Type-C
– แจ็ก 3.5 มม. - เซนเซอร์ : สแกนลายนิ้วมือ
- แบตเตอรี่ : 5000mAh
– รองรับชาร์จไว 18W - ระบบปฏิบัติการ : MIUI 13 บนพื้นฐาน Android 11
- ขนาด : 169.59 x 76.56 x 8.29 มม.
- น้ำหนัก : 190 กรัม
ถ้าจะให้หาคำไหนมานิยาม Redmi 10C แบบสั้น ๆ คงหนีไม่พ้นคำว่า “คุ้มค่า” หน้าจอขนาดใหญ่ มองเห็นตัวหนังสือได้ชัดเจน ดูหนังและเล่นเกมได้เต็มอรรถรส หน่วยประมวลผล หน่วยความจำ และสตอเรจ ล้วนใช้แบบความเร็วสูง อีกทั้งยังมีแบตเตอรี่จุใจ ใช้งานได้ตลอดทั้งวัน ไม่รู้จะหาจากไหนได้อีก ในเรตราคานี้ ทั้งนี้อาจมีข้อจำกัดอยู่บ้างเรื่องความยืดหยุ่นในการถ่ายภาพ เพราะไม่มีกล้องอัลตราไวด์ เป็นจุดหนึ่งที่ต้องพิจารณา
แนะนำให้ซื้อรุ่นสตอเรจ 128GB ไปเลย 64GB เหลือให้ใช้งานจริง 42.6GB
Xiaomi Watch S1
ต่อกันด้วย Xiaomi Watch S1 นาฬิกาข้อมืออัจฉริยะรุ่นล่าสุดจาก Xiaomi ที่วางจำหน่ายในราคา 6,490 บาท มีให้เลือก 2 สี ได้แก่ Black และ Silver โดยเรือนสีดำจะได้สายสีดำ ส่วนเรือนสีเงินจะได้สายสีน้ำตาล
วัสดุและดีไซน์ภายนอก
คนข้อมือเล็กก็ใส่ได้ ไม่มีปัญหา
Xiaomi Watch S1 มากับหน้าปัดวงกลม ครอบทับด้วยกระจกแซปไฟร์ ในขณะที่ตัวเรือนเลือกใช้วัสดุสเตนเลส 316L ที่มีความแข็งแรงทนทานสูง ผ่านการขัดเงาด้วยมืออย่างประณีตโดยวิธีการแบบดั้งเดิม ลองลูบ ๆ คลำ ๆ ดู รู้สึกได้ถึงความพรีเมียมตั้งแต่แรกสัมผัส
หน้าจอเป็นพาเนล AMOLED สีสวยสดใสมาก
ตัวเรือนมีขนาด 46.5 x 46.5 x 11 มม. หรือเทียบได้กับหน้าปัด 46 มม. ดีไซน์มีความเรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยความทันสมัย มีปุ่มควบคุม 2 ปุ่ม ปุ่มบนสำหรับเข้าหน้ารวมแอปและย้อนกลับมาหน้าโฮม ปุ่มล่างสำหรับเข้าโหมดออกกำลังกาย
ฝนตกตอนออกกำลังกายพอดี เลยได้ทดสอบการกันน้ำไปด้วยเลย
หน้าจอของ Xiaomi Watch S1 ใช้พาเนล AMOLED ความละเอียด 466 x 466 พิกเซล บนขนาด 1.43 นิ้ว สีสันสวยงาม ความคมชัดสูง และสว่างสู้แสงได้ ส่วนสาย มีให้เลือกทั้งแบบหนังที่ช่วยเสริมความหรูหรา และแบบยางที่ง่ายต่อการทำความสะอาด Xiaomi แถมมาให้ในกล่อง 2 แบบเลย
การควบคุมเบื้องต้น
มีวิดเจ็ตย่อย ๆ เยอะมาก ทั้งเกี่ยวกับด้านสุขภาพและฟีเจอร์ทั่วไป
รูดจากขอบด้านบน เรียกดูการแจ้งเตือน ไม่ต้องหยิบมือถือบ่อย ๆ โดยไม่จำเป็น
รูดจากขอบด้านล่าง เข้าถึงเมนูชอร์ตคัตได้อย่างรวดเร็ว ใช้เป็นไฟฉายฉุกเฉินก็ได้นะเออ
หน้าจอจะรองรับทัชสกรีน ถ้าปัดซ้ายหรือขวาจะเป็นหน้าวิดเจ็ต ปัดจากขอบด้านบนเพื่อดูการแจ้งเตือน และปัดจากขอบด้านล่างเพื่อเรียกเมนูชอร์ตคัต
หน้าปัดนาฬิกา มีพรีเซตล่วงหน้าให้แล้วจำนวนหนึ่ง
เปลี่ยนรูปแบบได้ง่าย ๆ โดยการแตะค้างที่หน้าโฮม
นอกจากนี้ยังสามารถแตะค้างที่หน้าโฮม เพื่อเปลี่ยนเปลี่ยนรูปแบบของหน้าปัดได้ง่าย ๆ ด้วย ซึ่งจะมีให้เลือกหลากหลายแนว ให้มิกซ์แอนด์แมตช์เข้ากับการแต่งตัวในแต่ละวัน
ฟีเจอร์และการใช้งาน
ฟีเจอร์พื้นฐานใส่มาให้ครบ ๆ ไม่มีตกหล่น วัด SpO2 ก็ยังได้
การใช้งาน Xiaomi Watch S1 ครั้งแรกต้องทำการซิงก์เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนเสียก่อน ซึ่งจะมี QR code ปรากฏบนนาฬิกา จากนั้นใช้โทรศัพท์สแกนเพื่อนดาวน์โหลดแอป Mi Fitness ใน Play Store หรือ App Store จากนั้นสมัครบัญชี Mi Account แล้วจับคู่อุปกรณ์ให้เรียบร้อยเป็นอันเสร็จ เป็นขั้นตอนง่าย ๆ ใช้เวลาราว 2 นาที
เชื่อมต่อกับมือถือผ่าน Bluetooth รองรับ Android และ iOS
พวกการตั้งค่าที่ละเอียด ทำได้จากในแอป Mi Fitness
Xiaomi Watch S1 รองรับฟีเจอร์การติดตามสุขภาพที่สำคัญ ๆ อย่างครบครัน ตั้งแต่พวกพื้นฐานอย่าง การวัดอัตราการเต้นหัวใจ การวัดแคลอรี การนับก้าวเดิน ไปจนถึงแบบที่แอดวาดซ์ขึ้นมาหน่อย เช่น การวัดระดับออกซิเจนในเลือด หรือ SpO2 การวัดระดับความเครียด และการติดตามการนอนหลับ ซึ่งอะไรต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นตัวบ่งบอกถึงสุขภาพของผู้ใช้งาน ถ้ามีอะไรผิดปกติจะได้รู้ตัวและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือปรึกษาแพทย์ได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
ดูข้อมูลต่าง ๆ ย้อนหลังเป็นรายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือน
เราสามารถดูข้อมูลสุขภาพประจำวัดจากวิดเจ็ตของ Xiaomi Watch S1 ได้โดยตรง แต่ถ้าต้องการข้อมูลที่ละเอียดยิ่งขึ้นพร้อมสถิติย้อนหลังของสัปดาห์หรือเดือนก่อนหน้า ต้องเรียกดูจากในแอป Mi Fitness รวมถึงการตั้งค่าต่าง ๆ จะทำได้ละเอียดกว่าบนนาฬิกาเช่นกัน และสามารถดาวน์โหลดรูปแบบหน้าปัดเพิ่มเติมได้ด้วย
Xiaomi Watch S1 รองรับโหมดออกกำลังกายมากถึง 117 รูปแบบ เช่น ปีนเขา ปั่นจักรยาน กระโดดเชือก บาสเกตบอล เทนนิส มีแม้กระทั่งโหมดว่ายน้ำ เพราะตัวเรือนมีคุณสมบัติกันน้ำได้ลึก 50 เมตร ตามมาตรฐาน 5 ATM ใส่นาฬิกากระโดดลงสระได้เลย ไม่ต้องกลัวพัง
แบตเตอรี่
Xiaomi ระบุว่า Xiaomi Watch S1 อยู่ได้ 12 วัน ในการใช้งานปกติ และอยู่ได้ 24 วัน ในโหมดประหยัดพลังงาน อย่างหลังคงไม่ได้ทดสอบ เพราะเวลาไม่พอ แต่อย่างแรกนี่ทดลองให้แล้ว ทำได้ตามที่เคลมจริง ๆ วันสุดท้ายเหลือแบต 5% ก็แปะชาร์จไปตามระเบียบ พอร์ตของฐานชาร์จเป็น USB Type-C ด้วย จึงไม่กลัวจะหาสายชาร์จยาก
สเปค Xiaomi Watch S1
- จอภาพ : AMOLED ขนาด 1.43 นิ้ว
– ความละเอียด 466 x 466 พิกเซล
– อัตรารีเฟรช 60Hz - แบตเตอรี่ : 470mAh
- เซนเซอร์ :
– เซนเซอร์วัดอัตราการเต้นหัวใจ (รองรับการวัดระดับออกซิเจนในเลือด)
– เซนเซอร์วัดความเร่ง
– เซนเซอร์วัดแสงโดยรอบ
– เซนเซอร์ไจโรสโคป
– เซนเซอร์ตรวจจับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
– เซนเซอร์บรรยากาศ - การเชื่อมต่อ :
– Wi-Fi 802.11b/g/n
– Bluetooth 5.2 - การระบุตำแหน่ง : GPS, BeiDou, GLONASS, Galileo, QZSS
- ความทนทาน : กันน้ำ 5 ATM
- ขนาด : 46.5 x 46.5 x 11 มม.
สำหรับเพื่อน ๆ คนไหนที่กำลังมองหาสมาร์ทวอทช์ที่ฟังก์ชันครบเครื่องสักในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป Xiaomi Watch S1 เป็นหนึ่งในตัวที่น่าหยิบเอาไว้พิจารณา ด้วยตัววัสดุที่แข็งแรง ดีไซน์ที่ดูดี เซนเซอร์ครบครัน เข้าได้กับทุกการแต่งตัว ใส่เพื่อการใช้งานก็ดี ใส่เป็นแฟชันก็ไม่เลว รองรับการทำงานกับทั้งระบบ Android และ iOS อีกต่างหาก
Comment