ปีนี้เรียกว่าเป็นปีที่ดุเดือดจริงๆ สำหรับตลาดมือถือเกมมิ่งที่แต่ละค่ายต่างก็งัดลูกไม้เจ๋งๆ มาสู้กันอย่างเต็มที่ โดยหนึ่งในนั้นก็คือ ASUS ROG Phone 3 มือถือเกมมิ่ง 5G ที่มากับสเปคแรงสุดของปี 2020 ทำให้มันเล่นเกมมือถือแบบปรับกราฟิกสูงสุดได้ทุกเกมแบบไม่มีอาการงอแงให้เห็น รวมถึงฟีเจอร์เด็ดๆ ที่เคยมีอยู่ใน ROG Phone 2 รุ่นที่แล้วก็ล้วนได้รับการอัปเกรดให้สมกับเป็นมือถือรุ่นใหม่ ส่วนจะมีอะไรบ้าง…มาดูกันเลยจ้า

ROG Phone 3 ที่เรามารีวิวในคราวนี้ เป็นตัวท็อปสุดที่จำหน่ายในประเทศไทย มากับชิป Snapdragon 865+, RAM 12GB และความจุ 512GB ส่วนอีกรุ่นที่วางขายด้วยกันเป็น ROG Phone 3 Strix Edition ที่ถูกลดสเปคลงมาเล็กน้อยเป็น Snapdragon 865, RAM 8GB ความจุ 256GB ครับ

สเปค ROG PHONE 3

  • หน้าจอ : OLED ขนาด 6.59 นิ้ว ความละเอียด Full HD+ (1080×2340) รีเฟรชเรท 144Hz รองรับ HDR10+
  • CPU : Snapdragon 865+
  • GPU : Adreno 650
  • RAM : (LPDDR5) 12GB
  • ความจุ : (UFS 3.1) 512GB
  • กล้องหลัง :
    • Wide 64MP (f/1.8) พร้อมระบบโฟกัส PDAF
    • Ultra-wide 13MP (f/2.4)
    • Macro 5MP (f/2.0)
  • กล้องหน้า : 24MP (f/2.0)
  • ระบบเสียง : ลำโพงคู่สเตอรีโอ แบบแม่เหล็ก 7 ชิ้น, Diract HD, ไมโครโฟน 4 ตัว ASUS Noise Reduction Technology, ไม่มีรูหูฟัง 3.5 มม.
  • การเชื่อมต่อ : WiFi 802.11a/b/g/n/ac/ax, 2×2 MIMO, Dual-band 2.4GHz/ 5GHz, BT 5.1, NFC
  • เซ็นเซอร์ : Fingerprint sensor (ใต้จอ), face recognition, accelerometer, e-compass, gyroscope, proximity sensor, hall sensor, ambient-light sensor, ultrasonic sensors for AirTrigger 3, grip press
  • แบตเตอรี่ : 6,000 mAh รองรับชาร์จไว 30W
  • ระบบ : Android 10 ครอบด้วย ROG UI
  • ขนาด / น้ำหนัก : 171 x 78 x 9.85 มม. / 240 กรัม

มีอะไรในกล่อง ROG PHONE 3

ภายในกล่องของ ROG Phone 3 รุ่นที่ขายในบ้านเราก็จะให้มาแบบครบๆ เลย ทั้ง Aero Case, พัดลมระบายอากาศ Aero Active 3, ที่ชาร์จ 30W, สายชาร์จ และที่เพิ่มเข้ามาก็คือตัวแปลง USB-C > แจ๊ค 3.5 มม. เนื่องจากรุ่นนี้ตัดรูหูฟังทิ้งไปแล้วนะจ๊ะ

ดีไซน์ตัวเครื่องที่แทบไม่ต่างจากเดิม

ROG Phone 3 ยังคงมีดีไซน์ที่แทบจะไม่ต่างจาก ROG Phone 2 เลย ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอขนาดเท่าเดิมที่ 6.59 นิ้ว ซึ่งเป็นหน้าจอแบบปกติที่ไม่ได้เจาะรู ไม่ได้มี Notch และขอบก็ไม่โค้งด้วย ทำให้ขอบจอด้านบน-ล่าง ยังคงมีความหนาพอสำหรับวางกล้องเซลฟี่ และลำโพงสเตอรีโอ 2 ตัว

พลิกกลับมาดูที่ฝาหลัง ก็จะเจอกับลวดลายที่ดูล้ำสไตล์เกมมิ่งที่ต้องบอกเลยว่าเหมือนเดิมเกือบเป๊ะๆ ด้านขวามือมีแถบเท่ๆ แต่คราวนี้ไม่มีช่องระบายอากาศแล้ว ส่วนขอบเครื่องด้านซ้ายมีพอร์ต USB-C อีก 1 หนึ่งพอร์ตเพิ่มขึ้นมาสำหรับเสียบอุปกรณ์เสริม หรือเสียบชาร์จเวลาเล่นเกมในแนวนอน

พอร์ต USB-C ด้านข้างเครื่องสำหรับเสียบอุปกรณ์หรือชาร์จไฟ (มีจุกยางให้)

และที่เปลี่ยนไปอีกอย่างคือแถบกล้องหลังที่ยาวขึ้น เพราะมีกล้องเพิ่มมาเป็น 3 ตัวนั่นเอง และโมดูลจะนูนขึ้นมามากกว่ารุ่นเดิมเยอะเลย

โมดูลกล้องหลังที่นูนออกมาค่อนข้างมาก (จากเดิม ROG Phone 2 ที่เป็นระนาบเดียวกับตัวเครื่องไปเลย)

ทำให้ต้องคอยระวังนิดนึงเวลาเอาไปวางหงายจอขึ้น เพราะกล้องอาจไปขูดกับพื้นเป็นรอยเอาได้ แต่พอใส่เคสแล้วระดับของโมดูลกล้องจะพอดีกัน หมดห่วงเรื่องไปขูดอะไรเข้าได้

นอกจากนี้ไฟ RGB ที่เป็นโลโก้ ROG ด้านหลังเครื่อง คราวนี้สามารถเปิดทิ้งเอาไว้เท่ๆ ได้ตลอดเวลา จากเดิมที่ไฟจะติดเฉพาะตอนที่เปิด X Mode เท่านั้น

ใครอยากเท่เปิดไฟ RGB ทิ้งไว้ได้ตลอดเวลาก็ย่อมได้

จากการใช้งานจริง ถ้าใครไม่ชอบใส่เคสจะเจอปัญหานิดนึงคือตัวเครื่องด้านหลังมีความลื่นมากๆ จะเอาไปวางตรงไหนก็ต้องระวังนิดนึง เพราะหากพื้นที่วางมีความเอียง เครื่องจะค่อยๆ ไหลแบบไม่รู้ตัว (เกือบหล่นหลายทีมาก ทั้งจากโซฟา, อ่างล้างหน้า หรือแม้แต่กระเป๋ากางกาง) ทางแก้ก็ง่ายๆ แค่ใส่เคสที่แถมมานั่นแหละ

ใส่เคสซะ ถ้าไม่อยากให้เครื่องลื่นไถลไปไหนต่อไหนแบบไม่รู้ตัว

อีกอย่างคือเรื่องน้ำหนักที่ค่อนข้างมาก ถ้าคนไม่เคยใช้มือถือจอใหญ่ๆ มาก่อน จะรู้สึกทันทีว่ามันหนักกว่ามือถือรุ่นอื่นๆ ซึ่งก็มาจากแบตเตอรี่ที่ให้มาแบบมโหระทึกถึง 6000 mAh นั่นเอง ใครที่พกมือถือรุ่นนี้ในกระเป๋ากางเกง เวลาวิ่งหรือเดินเร็วๆ จะรู้สึกได้เลยว่ามันแกว่งตีขาพลั่กๆ ตลอด

 

หน้าจอรีเฟรชเรทสูง 144Hz

หน้าจอของ ROG Phone 3 ถูกอัปเกรดขึ้นมาให้รองรับรีเฟรชเรทได้สูงสุดถึง 144Hz ถ้าหากเอาไปเทียบกับมือถือรุ่นอื่นๆ ที่มีจอรีเฟรชเรท 60-90Hz จะเห็นความแตกต่างแบบสุดๆ เพราะจอ 144Hz จะเนียนตามากๆ เวลาไถหน้าจอเร็วๆ ตอนเล่นเน็ต หรือเล่นเกมที่รองรับหน้าจอรีเฟรชเรทสูง และแน่นอนว่าถ้าเปิดไว้ที่ 144Hz ตลอดเวลา มันก็จะกินแบตมากกว่าเดิม

หรือจะเปิดโหมด Auto เอาไว้ เพื่อให้เครื่องคอยสลับค่ารีเฟรชเรทอัตโนมัติเมื่อใช้งานแอปต่างๆ ทำให้ช่วยประหยัดแบตขึ้นได้อีก หากเราเข้าแอปที่ไม่จำเป็นต้องใช้ค่ารีเฟรชเรทสูงๆ

รองรับ HDR

หน้าจอของ ROG Phone 3 ยังรองรับการแสดงผลแบบ HDR ทำให้สามารถดูคอนเทนต์ในรูปแบบดังกล่าวได้ทั้งจาก YouTube และ Netflix

ประสิทธิภาพเครื่องสุดทรงพลัง

แน่นอนว่าแค่ชิป Snapdragon 865+ ก็ต้องแรงสุดๆ จนเล่นเกมในปัจจุบันได้ทุกเกมแบบไม่มีอาการกระตุก หรือเฟรมเรทร่วงให้หงุดหงิดหัวใจ รวมถึงการทำงานอื่นๆ ก็ไม่มีปัญหาอะไรเลย ด้วย RAM ที่ให้มาเหลือๆ ถึง 12GB จะสลับแอปไปมาก็เร็วปรู๊ดปร๊าด นอกจากนี้ยังมี X Mode ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องให้สูงขึ้นไปได้อีก โดยการทดสอบประสิทธิภาพด้วยแอป 3DMark และ Geekbench ออกมาได้ตามนี้

ทดสอบด้วย 3DMark ปิด X Mode (ซ้าย) / เปิด X Mode (ขวา)

คะแนนเฉลี่ยแรงเป็นอันดับ 1 ของแอป 3DMark

ทดสอบด้วย Geekbench ปิด X Mode (ซ้าย) / เปิด X Mode (ขวา)

ส่วนหน่วยความจำที่ใช้เป็นแบบ UFS 3.1 ก็แน่นอนว่าเร็วปรู๊ดปร๊าดแบบไม่ผิดหวัง จะเขียนข้อมูล จะอ่านข้อมูล ย้ายไฟล์ ฯลฯ ก็เร็วรวดพรวดพราด ทดสอบด้วยแอป Androbench ได้ผลออกมาตามนี้

ส่วนการเล่นเกมต่างๆ ที่มีกราฟิก 3D โหดๆ ทั้งพวก PUBG, Call of Duty, ROV, LOL Wild Rift หรือจะเป็นเกมกินสเปคอย่าง Genshin Impact แน่นอนว่าปรับไปจนถึงขั้นสุดได้สบายแฮ รวมไปถึงตอนเล่นเกมก็ลื่นปรื๊ดดด ไม่มีกระตุกเลยล่ะ หรือใครจะเปิด X Mode ช่วยอีกแรงก็ได้ (จริงๆ จะเปิดหรือไม่เปิดก็ลื่นเหมือนกันอะนะ)

LOL Wild Rift ปรับได้สุดทุกอย่าง จะนัวกันทั้งทีม จะปล่อย Ulti พร้อมกันเฟรมเรทก็อยู่ที่ 59-60fps ตลอด

PUBG ปรับสุดทุกอย่างก็เล่นได้ลื่นปรื๊ด

เกมกราฟิกงามๆ Kenshin Impact ก็ปรับสุดได้แบบไม่มีปัญหา

ฟีเจอร์สำหรับเล่นเกม

ฟีเจอร์ต่างๆ สำหรับการเล่นเกมของ ROG Phone 3 ไม่ว่าจะเป็นการตั้งค่าปุ่ม, ปรับรีเฟรชเรท, การล็อคความสว่างจอ, การล้าง RAM, การอัดหน้าจอ, ดู FPS, ดูอุณหภูมิเครื่อง ฯลฯ สามารถเข้าได้โดยการปัดหน้าจอทางซ้ายออกมา เมื่อตอนที่เราอยู่ในเกม

แถบตั้งค่าฟีเจอร์เกมต่างๆ

Shoulder Button ที่เจ๋งกว่าเดิม

เป็นมือถือเกมมิ่งทั้งที จะแต่สเปคแรงเฉยๆ มันก็จะธรรมดาเกินไปหน่อย มือถือรุ่นนี้ก็เลยใส่ฟีเจอร์สำหรับเล่นเกมล้ำๆ มาให้ด้วย โดยตรงบริเวณขอบเครื่องซ้าย-ขวา ด้านบน จะมีปุ่มที่ทำงานคล้ายกับ Shoulder Button ของคอนโทรลเลอร์เกม ซึ่งเราตั้งค่าได้ว่าจะให้การกดปุ่มนั้น กลายเป็นการกดหน้าจอตรงไหน ก็จะคล้ายๆ กับที่มีใน ROG Phone 2 นั่นแหละ (การตั้งค่าปุ่มให้กดเลือกที่ AirTriggers)

จะตั้งให้เป็นปุ่มกดเดี่ยวๆ ก็ได้

แต่คราวนี้มันล้ำกว่าเดิมเพราะเราสามารถแยกปุ่ม Shoulder ดังกล่าว ให้กลายเป็น 4 ปุ่ม (Dual partition buttons) ด้วยการแยกตำแหน่งแตะ อย่างเช่นปุ่มด้านขวา เมื่อแบ่งออกเป็น 2 ส่วน แตะบริเวณค่อนมาทางขวาจะเป็นการยิง แตะบริเวณค่อนมาทางซ้ายจะเป็นการบรรจุกระสุน หรือปุ่ม Shoulder ด้านซ้าย ถ้าแตะบริเวณค่อนมาทางซ้ายจะเป็นการเล็ง แตะบริเวณค่อนทางขวาจะเป็นก้ม

จะตั้งแยกให้กลายเป็น 4 ปุ่ม ก็สุดยอด (Dual partition buttons)

เขย่าเครื่องแทนการกดปุ่ม

ถ้าการตั้งค่าปุ่มต่างๆ ยังไม่พอ เรายังสามารถตั้งให้การเขย่าเครื่อง (Motion control) กลายเป็นการกดบนหน้าจอบริเวณไหนก็ได้ ยกตัวอย่างเกม PUBG เลือกให้การเขย่าเครื่อง เท่ากับการกดปุ่มหมอบ เมื่อเราเล่นเกมอยู่แล้วต้องการนอนซุ่มอยู่ในพงหญ้า ก็แค่เขย่าเครื่องเท่านั้น ตัวละครก็จะหมอบลงทันที พอจะยืนก็เขย่าเครื่องอีกครั้ง

เปิดศูนย์เล็งถาวร

เกมประเภท FPS หรือ TPS เมื่อเข้าสู่โหมดซูมหรือเล็งด้วยศูนย์ปืน เป้าเล็ง (Crosshair) บนหน้าจอจะหายไป แต่เราสามารถเปิดเองได้จากตัวเครื่องโดยตรงด้วยการปัดแถบ Game Genie ด้านซ้ายแล้วเลือกที่ Crosshair เพื่อเปิดศูนย์เล็งแบบถาวรบนหน้าจอ

เปิดศูนย์เล็งเองได้ จะปรับขนาด ปรับสี ชอบแบบไหนก็เลือกเอาเลย

เสียบไฟตรงโดยไม่ชาร์จแบตเตอรี่ เพื่อลดความร้อน และถนอมแบต

ในแถบ Game Genie มีตัวเลือก Bypass charging สุดล้ำให้ใช้กันอีกด้วย ฟีเจอร์นี้จะเปิดได้ก็ตอนที่เราเสียบสายชาร์จไว้ ซึ่งความสามารถของมันก็คือจะส่งไฟจากสายชาร์จไปที่เครื่องโดยตรงแบบไม่ผ่านแบตเตอรี่ก่อน ทำให้ตัวเครื่องไม่เกิดความร้อนจากการชาร์จไฟและการเล่นเกมไปพร้อมๆ กัน แถมยังช่วยถนอมแบตเตอรี่ไปอีกด้วย เรียกว่าเด็ดสุดจริงๆ สำหรับฟีเจอร์นี้

กล้องเซลฟี่ และกล้องหลังที่เพิ่มมาเป็น 3 ตัว

ROG Phone 3 ได้รับการอัปเกรดกล้องหลังเข้าเป็น 3 ตัว (จากรุ่นก่อนที่มีแค่ 2) โดยเพิ่มกล้อง Macro เข้ามาให้สำหรับการถ่ายวัตถุในระยะใกล้มากๆ ส่วนกล้องหลักก็เพิ่มความละเอียดเป็น 64MP ทำให้การถ่ายภาพและการถ่ายวิดีโอโดยรวมของมือถือรุ่นนี้ดีขึ้นกว่าเดิมพอสมควร จะมีข้อตินิดหน่อยสำหรับการถ่ายมุม Ultra Wide จะสังเกตได้ชัดเจนว่าขอบภาพเบี้ยว และทำให้สัดส่วนเพี้ยนไปเลย

การถ่ายวิดีโอ ROG Phone 3 ยังคงทำได้ค่อนข้างน่าพอใจเลย สำหรับระบบกันสั่นที่เรียกว่านิ่ง และสมูทสุดๆ แถมคราวนี้ยังสามารถถ่ายได้ที่ระดับ 8K อีกต่างหาก แต่ว่ามันกินพื้นที่สุดๆ วิดีโอ 8K ความยาว 1 นาที จะกินไปราวๆ 1GB เลยทีเดียว

Play video

Play video

สำหรับกล้องเซลฟี่ยังคงมีความละเอียดเท่าเดิมที่ 24MP มีโหมดหน้าชัดหลังเบลอ และบิวตี้ให้ตามปกติ

ระบบเสียงสุดกระหึ่ม

ROG Phone 3 ยังคงใช้ลำโพงคู่สเตอรีโอด้านหน้าอยู่เช่นเดิม ซึ่งความดังความกระหึ่มก็ยังคงประสิทธิภาพเอาไว้ได้ตามเคย ไม่ว่าจะดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม ไม่จำเป็นต้องหาลำโพงนอกมาเสียบเลย ใช้แค่ลำโพงของมันเองก็ดังเหลือเฟือแล้ว แถมยังมีโหมด Outdoor สำหรับการใช้งานในที่กลางแจ้งที่จะเร่งเสียงให้ดังมากขึ้นไปอีก (โหมดนี้คุณภาพเสียงและรายละเอียดต่างๆ จะลดลงไปพอสมควร) แต่น่าเสียดายที่คราวนี้ ROG Phone 3 ตัดรูหูฟัง 3.5 มม. ทิ้งไปซะแล้ว ถ้าใครอยากใช้หูฟังมีสายก็ต้องต่อกับตัวแปลงที่แถมมาให้นะครับ

รูหูฟัง 3.5 มม. หายไปแล้วจ้า

แต่ถ้าใครจะเล่นเกมไปด้วย แล้วเสียบหูฟังไปด้วย เจ้าพัดลมระบายความร้อน Aero Active 3 ก็มีรูหูฟัง 3.5 มม. ให้มาด้วยนะ

พัดลม Aero Active 3 มีรูหูฟัง 3.5 มม.

แบตเตอรี่ที่ยังอึดเหมือนเดิม

อีกหนึ่งจุดเด่นของมือถือรุ่นนี้ที่ยังคงเดิมก็คือแบตเตอรี่อึดๆ ที่จัดมาให้แบบเต็มเหนี่ยวถึง 6000 mAh ถ้าตั้งจอรีเฟรชเรทแบบ Auto ใช้งานปกติ เล่นเน็ต, เล่นเกม, ฟังเพลง, ดูคลิปผ่าน YouTube, ถ่ายรูปนิดๆ หน่อยๆ รับรองว่าอยู่ได้เกินวันสบายๆ ยิ่งปรับรีเฟรชเรทให้ต่ำลงมาที่ 60-90Hz ก็จะยิ่งเพิ่มอายุการใช้งานได้มากขึ้นไปอีก

ส่วนระบบชาร์จไวของมือถือรุ่นนี้ ยังคงให้มาเท่าเดิมที่ 30W ซึ่งเอาจริงๆ ก็ถือว่าเร็วเพียงพอแล้ว อันนี้ความเห็นส่วนตัวนะครับ เพราะปกติเป็นคนที่เสียบชาร์จก่อนนอนทุกคืนอยู่แล้ว จะชาร์จช้า หรือชาร์จไว ก็เลยไม่ค่อยมีผลซักเท่าไหร่

สรุป

Play video

ข้อดี

  • หน้าจอรีเฟรชเรท 144Hz ลื่นปรื๊ด เนียนตาสุด
  • สเปคแรงหายห่วง ใช้งานทั่วไปได้ทุกอย่าง เล่นเกมปรับกราฟิกสุดได้ทุกเกม
  • ลำโพงเสียงดังมาก คุณภาพเสียงโอเค
  • กล้องหลังคุณภาพดีสำหรับมือถือเกมมิ่ง
  • ถ่ายวิดีโอเนียน และนิ่ง
  • ปุ่ม AirTriggers ที่เพิ่มลูกเล่นมากขึ้น ถูกใจคอเกมแน่นอน
  • แบตเตอรี่อึดมาก
  • ระบบจ่ายไฟตรง Bypass Charging มีประโยชน์ ใช้งานได้จริง
  • มีพอร์ต USB-C ข้างเครื่องทำให้ชาร์จไปเล่นไปได้ถนัด
  • มีอุปกรณ์เสริมให้ใช้เพียบ

ข้อสังเกต

  • ดีไซน์แทบไม่ต่างจากรุ่นที่แล้ว (ROG Phone 2)
  • ตัวเครื่องน้ำหนักเยอะ (240 กรัม)
  • ไม่มีรูหูฟัง 3.5 มม. แล้ว
  • ไม่มีมาตรฐานกันน้ำกันฝุ่น
  • โมดูลกล้องนูนออกมาจากตัวเครื่องค่อนข้างเยอะ
  • ระบบชาร์จไวยังอยู่ที่ 30W
  • อุปกรณ์เสริมราคาโหดเอาเรื่อง

ASUS ROG Phone 3 ยังคงความเป็นมือถือเกมมิ่งสเปคโคตรโหด ที่มาพร้อมกับฟีเจอร์ต่างๆ สำหรับการเล่นเกมอย่างแท้จริง แถมเรื่องกล้องก็ทำได้ดีกว่ารุ่นเดิมพอตัวเลย…เอาจริงๆ ก็ถือว่ามีกล้องที่คุณภาพใช้ได้สำหรับมือถือเกมมิ่ง ถ่ายรูปทั่วไปได้แบบไม่เห่ย ส่วนการถ่ายวิดีโอก็ยังคงมาตรฐานเอาไว้ได้น่าประทับใจทั้งคุณภาพของภาพและระบบกันสั่นที่ดีจนน่าแปลกใจ
แน่นอนว่ามันเป็นมือถือเกมมิ่ง ก็เลยอาจจะไม่เหมาะกับผู้ใช้งานทั่วไปที่ไม่ได้เน้นเล่นเกมเป็นหลัก เพราะฟีเจอร์เจ๋งๆ ที่ให้มาจะไร้ประโยชน์ทันที แถมตัวเครื่องก็ค่อนข้างใหญ่ หนา และหนัก สาวๆ อาจจะไม่ชอบใจตรงส่วนนี้ก็ได้

รวมๆ แล้ว ROG Phone 3 ดูเหมือนจะเป็นมือถือรุ่นอัปเกรดจาก ROG Phone 2 ขึ้นมาอีกขั้น ในเรื่องชิป, กล้อง, รองรับ 5G และฟีเจอร์เกมเล็กๆ น้อยๆ ส่วนตัวคิดว่าใครที่เป็นเจ้าของ ROG Phone 2 อยู่แล้ว และยังไม่ต้องการใช้ 5G ขนาดนั้น จะรอข้ามไปเล่น ROG Phone 4 ก็ยังได้ครับ แต่ถ้าใครที่อยากลองสัมผัสมือถือเกมมิ่งระดับเทพล่ะก็…แนะนำว่าจัดได้เลย เพราะรุ่นนี้ให้มาครบเครื่องจริงๆ ครับ