หลังจากเปิดตัวไปเมื่อช่วงสิ้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา สำหรับมือถือรุ่นกลางของ Samsung อย่าง Galaxy A51 ซึ่งเคาะราคาเปิดตัวมาแบบเบาๆ ไม่แพงมาก ที่ 10,490 บาท แต่หากเอามาใช้งานจริงๆ มือถือรุ่นนี้จะคุ้มค่ากับเงินหลักหมื่นที่เสียไปหรือเปล่า มาดูกันไปพร้อมๆ กันได้ เพราะเราไปใช้งานจริงมาแล้ว เล่นทุกด้าน ลองทุกเรื่อง

แกะกล่อง

เริ่มจากการแกะกล่องเช็คของ เครื่องศูนย์ไทยมีอะไรให้มาบ้าง โดยภายในกล่องของ Galaxy A51 นั้น จะมีตัวเครื่อง, เคสใส, เอกสารคู่มือ, เข็มจิ้มซิม, ที่ชาร์จแบต 15W และหูฟังแบบ earbuds ที่ผมลองใช้งานแล้ว ก็รู้สึกว่า มันสามารถใช้แก้ขัดได้ ใช้โทรคุยได้สบายๆ คือถ้าไม่ได้ซีเรียสเรื่องฟังเพลง หูฟังตัวนี้ก็ถือว่าใช้ได้เลย แต่ใส่แล้วอาจจะได้ยินเสียงภายนอกเล็ดลอดเข้ามาค่อนข้างเยอะนิดนึง

ดีไซน์ตัวเครื่อง

Galaxy A51 ที่ผมได้มารีวิวครั้งนี้เป็นสีชมพู Prism Crush Pink หวานแหวว งานประกอบตัวเครื่องแน่นมือครับ สัมผัสจับถือแล้วได้ความรู้สึกพรีเมียมนิดๆ ตัวเครื่องค่อนข้างบาง ฝาหลังพอจับๆ แล้วรู้สึกว่าติดรอยนิ้วมือค่อนข้างง่าย แต่พอเอามาส่องๆ หาดูกลับไม่ค่อยเห็นรอยอะไรสักเท่าไหร่ เออ แปลกใจเหมือนกัน

หน้าจอของ Galaxy A51 เป็นแบบ Super AMOLED ที่แน่นอนล่ะว่าสีสันสดใสตามท้องเรื่อง มีขนาด 6.5 นิ้ว ความละเอียด Full HD+ มีการเจาะรูเล็กๆ ไว้บริเวณกลางหน้าจอแบบเดียวกับ Galaxy Note 10 การใช้งานกลางแจ้งถือว่าทำออกมาได้ดีเลยล่ะ สู้แสงแดดจ้าๆ บ้านเราได้แบบสบายๆ ส่วนตัวผมใช้แล้วรู้สึกว่าหน้าจอมันค่อนข้างใหญ่ไปนิดนึงนะ ใช้งานมือเดียวลำบากไปนิด อ้อ.. ลืมบอกไป หน้าจอของ Galaxy A51 เป็นแบบแบนราบนะครับ ไม่ใช่หน้าจอโค้ง

ด้านซ้ายมือของตัวเครื่องจะมีเพียงแค่ถาดใส่ซิมเท่านั้น อยู่บริเวณเกือบๆ ฝั่งบนสุดของตัวเครื่องเลย

โยกมาฝั่งขวา จะเห็นว่ามีทั้งปุ่ม Power และปุ่มเพิ่มลดเสียงอยู่ด้านนี้

ถัดมาด้านล่าง ไล่จากซ้ายไปขวาเลยนะครับ จะเห็นว่า Galaxy A51 ยังไม่ตัดรูหูฟัง 3.5 มม. ออก! ซึ่งสำหรับผมตอนนี้ถือว่าเป็นฟีเจอร์ที่ Rare Item มากๆ ในสมาร์ทโฟน, พอร์ต USB-C, ไมค์สนทนา และลำโพงที่ใส่ให้มาเป็นแบบโมโนอยู่ด้านล่างตรงนี้แหละ

ส่วนด้านบนมีเพียงแค่ไมค์ตัวที่สองสำหรับตัดเสียงรบกวนภายนอกเวลาคุยโทรศัพท์เท่านั้น

UI และการใช้งาน

Galaxy A51 มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Android 10 ที่ครอบทับด้วย One UI 2.0 อีกที ซึ่งใครที่เคยเล่นมือถือ Samsung มาก่อน ก็น่าจะคุ้นเคยกับ UI นี้เป็นอย่างดี ฟีเจอร์อย่าง Blue Light Filter ที่เอาไว้ตัดแสงสีฟ้า หรือ Dark Mode ก็มีมาให้ครบ ความคิดเห็นส่วนตัว ผมมองว่า Galaxy A51 นั้น มีความลื่นไหลกว่าตัว Galaxy A50 หรือ Galaxy A50s อยู่พอสมควรเลย

โดย Galaxy A51 มีฟีเจอร์อีกหนึ่งตัวที่เพิ่มเข้ามาก็คือ Edge Panel ฟีเจอร์ที่ถ้าใครหลายคนเคยใช้ Galaxy Note หรือ S มาก่อน น่าจะพอคุ้นเคยเป็นอย่างดี ปัดซ้ายบริเวณมุมขวาบนของหน้าจอ หน้าเมนูก็โผล่มาแล้ว ใครใช้แอปไหนบ่อยๆ ก็ไปตั้งค่าในเมนูนั้นได้

Galaxy A51 อัด RAM มาให้ 6GB และจากที่ใช้งานมาทั้งหมดเกือบๆ 2 สัปดาห์ การทำงานในเรื่องของ Multi-Task หรือการเปิดแอปทิ้งไว้หลายๆ แอป เจ้า Galaxy A51 ก็ทำผลงานออกมาได้ค่อนข้างน่าพอใจอยู่นะ เพราะส่วนตัวทุนเดิม เป็นคนไม่ชอบเคลียร์แอปทิ้งอยู่แล้ว เปิดแอปทิ้งไว้เกือบๆ 10 แอป เครื่องยังทำงานได้ดีอยู่ ไม่มีปัญหาอาการกระตุก

ส่วนการแบ่งหน้าจอ Galaxy A51 ก็ทำได้เหมือนกับมือถือทั่วไป เพียงแค่กด recent apps ขึ้นค้าง > คลิ๊กไปที่ไอคอนแอปที่ต้องการจะแบ่งหน้าจอ > เปิดในมุมมองแยกหน้าจอ > จากนั้นเลือกแอปที่อยากจะให้แบ่งหน้าจอได้เลยครับ ง่ายสุดๆ หรือใครอยากให้มันเด้งเป็นแบบป๊อปอัพ ก็ทำได้ง่ายๆ เช่นเดียวกัน เพียงแค่กด “เปิดในมุมมองป๊อปอัพ”

Galaxy A51 สามารถรับสัญญาณ Wi-Fi ได้ทั้งคลื่นความถี่ 2.4G และ 5G ครับ ตามมาตรฐานของมือถือในปัจจุบัน ที่ส่วนใหญ่รุ่นระดับกลางๆ เริ่มมาเป็นแบบนี้หมดแล้ว

ดู Netflix แบบ HD ได้

โดย Galaxy A51 นั้นสามารถรับชม Content บน Netflix ได้แบบ HD หลังจากไปทดสอบบนแอป Widevine แล้วขึ้นว่าสมาร์ทโฟนรุ่นนี้ได้รับมาตรฐาน Widevine L1

แต่ถ้าใครไม่อยากโหลดแอป Widevine เพราะอาจจะไม่คุ้นในชื่อแอป หรืออะไรต่างๆ นะครับ ก็สามารถเช็คจากแอป Netflix ได้โดยตรงเลยนะครับ โดยทำง่ายๆ ด้วยการกดเข้าไปที่หนังหรือซีรีส์เรื่องไหนก็ได้ ซึ่งหากโทรศัพท์ของเราแสามารถดูแบบ HD ได้ มันก็จะแสดงข้อมูลบอกเลยด้านหลังชื่อเรื่อง

 

การนำทาง GPS

มาถึงเรื่องการนำทาง GPS กันบ้าง Galaxy A51 ถือว่าทำผลงานออกมาได้ค่อนข้างดีเลยครับ ใช้งานกับ Google Maps ได้ดี ไม่มีมั่ว ไม่พาหลง หรือใช้งานกับพวกแอปส่งของอย่าง Grab, LINEMAN ฯลฯ ก็ปักหมุดได้ตรง

กล้องถ่ายภาพ

กล้องหลัง Galaxy A51 ถือว่าอัพเกรดขึ้นมาจากตัว Galaxy A50s พอสมควร จากเดิมมีเพียงแค่ 3 ตัว มาใน Galaxy A51 รอบนี้ ใส่มาให้เพิ่มอีก 1 เป็น 4 ตัวแล้ว มีเซนเซอร์หลักความละเอียด 48 ล้านพิกเซล, กล้อง Ultra Wide 12 ล้านพิกเซล ที่มีมุมกว้างถึง 123 องศา, กล้อง Depth ความละเอียด 5 ล้านพิกเซล สำหรับช่วยในการถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอ หรือโหมด Live Focus และสุดท้ายเป็นกล้อง Macro ความละเอียด 5 ล้านพิกเซล ซึ่งคุณภาพที่ได้จากกล้อง Galaxy A51 จะเป็นยังไง จะให้ผมบอกว่ามันดีหรือไม่ดี ก็คงจะแปลกๆ เอาเป็นว่าเดี๋ยวผมอัพให้ดูด้านล่างนะครับ เพราะเข้าใจว่า บางคนอาจชอบภาพโทนแบบนี้ บางคนอาจชอบอีกอย่าง ขึ้นอยู่กับความชอบส่วนบุคคล แต่ต้องขอบอกไว้ก่อนเลยนะ ว่าทุกภาพจบหลังกล้องหมด ไม่มีการแต่งเพิ่มใดๆ ทั้งสิ้น

ตัวอย่างภาพกล้องหลัก

ตัวอย่างภาพ Ultra Wide

ตัวอย่างภาพโหมดหน้าชัดหลังเบลอ (Live Focus) 

ตัวอย่างภาพ Macro 

ตัวอย่างภาพ Night Mode

ตัวอย่างภาพจากกล้องหน้า 

ส่วนเรื่องการถ่ายวิดีโอ Galaxy A51 สามารถถ่ายได้ที่ความละเอียดสูงสุด Ultra HD ครับ หรือ 4K นั่นเอง โดยจะถ่ายต่อเนื่องได้นานสูงสุด 10 นาทีด้วยกัน ขณะที่ฟีเจอร์กล้อง หรือโหมดต่างๆ Galaxy A51 ก็มีมาให้ดังภาพด้านล่างเลย..

ประสิทธิภาพความแรง และการเล่นเกม

Galaxy A51 มาพร้อมกับชิปเซ็ต Exynos 9611 ตัวเดียวกับ Galaxy A50s และ Galaxy M30s ที่ผมเคยรีวิวไปก่อนหน้าโน้น ซึ่งส่วนตัวผมชอบชิปเซ็ตตัวนี้มากๆ เพราะเล่นไปนานๆ เปิดแอปอะไรทิ้งไว้ หรือการเล่นเกมเปิดสุดทุกอย่าง ไม่ค่อยมีอาการค้าง หรือกระตุกมาเยือนเลย โดยเมื่อนับไปทดสอบกับแอป AnTuTu Benchmark แล้ว พบว่า Galaxy A51 นั้น สามารถทำคะแนนไปได้ 185,690 คะแนน

ขณะที่หน่วยความจำใน Galaxy A51 นั้น Samsung ใส่มาให้เป็นแบบ UFS 2.1 มีความเร็วในการอ่านอยู่ที่ 487.58 MB ต่อวินาที และการเขียน 180.78 MB ต่อวินาที

อย่างที่บอกไปตอนแรก การเล่นเกมบน Galaxy A51 ถือว่าทำออกมาได้ดีมากๆ เกม RoV ปรับสุดได้ทุกอย่างเลย

มาถึง PUBG กันบ้าง เกมนี้ Galaxy A51 สามารถปรับกราฟฟิกได้ถึง HDR เลย แถมเฟรมเรทก็ปรับได้สุดถึง Ultra

แบตเตอรี่และการชาร์จไฟ

ตอนแรกผมก็แอบคิดๆ นะว่า Galaxy A51 เนี้ย ให้ความจุแบตมาแค่ 4,000 มิลลิแอมป์ มันจะเพียงพอต่อการใช้งานต่อวันไหม เพราะส่วนตัวเป็นคนเล่นโทรศัพท์เยอะมากๆ ไม่ว่าจะ Netflix, Facebook, IG, Reddit หรือ Browser ที่เข้าแทบจะทั้งวัน ไหนจะบางทีก็มีเล่นเกมอีก แบตที่ให้มาจะพอไหม หรือว่าต้องพกสายชาร์จ หรือพาวเวอร์แบงค์เพิ่ม พอมาลองเล่นจริงๆ ก็คือ อึดใช้ได้เลย

ส่วน Screen on Time หรือ SoT ที่เขาพูดกันตามกลุ่มมือถือต่างๆ เนี่ย Galaxy A51 ทำไปได้ประมาณเกือบๆ 4 ชั่วโมง แถมยังมีแบตเตอรี่เหลืออีกราวๆ 50%

สเปค SAMSUNG GALAXY A51

  • หน้าจอ Super AMOLED ขนาด 6.5 นิ้ว ความละเอียด Full HD+
  • ชิปเซ็ต Exynos 9611
  • RAM 6GB
  • ความจุ 128GB ใส่เมมเพิ่มได้ 512GB
  • กล้องหลัง 4 ตัว
    • เซนเซอร์หลักความละเอียด 48 ล้านพิกเซล ค่ารูรับแสง f/2.0
    • กล้อง Ultra Wide 12 ล้านพิกเซล มุมกว้าง 123 องศา ค่ารูรับแสง f/2.2
    • กล้อง Depth 5 ล้านพิกเซล ค่ารูรับแสง f/2.4
    • กล้อง Macro 5 ล้านพิกเซล ค่ารูรับแสง f/2.2
  • กล้องหน้าความละเอียด 32 ล้านพิกเซล ค่ารูรับแสง f/2.2
  • เซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือใต้หน้าจอ
  • แบตเตอรี่ 4,000 มิลลิแอมป์ รองรับการชาร์จไว 15 วัตต์
  • ระบบปฏิบัติการ Android 10 ครอบทับด้วย One UI 2.0
  • สีที่วางจำหน่าย: สีชมพู Prism Crush Pink, สีน้ำเงิน Prism Crush Blue, สีดำ Prism Crush Black

จุดที่ประทับใจ 

  • แบตเตอรี่มา 4,000 มิลลิแอมป์ อึดใช้ได้
  • กล้องให้มาแทบจะทุกระยะ แถมฟีเจอร์เด็ดๆ ก็มาครบเครื่อง แทบจะน้องๆ เรือธง
  • จอไม่โค้ง และขอบบางมากๆ
  • ใช้พอร์ต Type C และยังมีรูหูฟัง 3.5 มม.

จุดที่ต้องพิจารณา 

  • ลำโพงเบาไปนิดนึง

Galaxy A51 ถือเป็นอีกหนึ่งสมาร์ทโฟนระดับกลางที่น่าสนใจ ด้วยความที่รอบนี้เปิดตัวมาราคาไม่แพง เพียงแค่ 10,490 บาท แต่สเปคบอกเลยว่าค่อนข้างจัดเต็ม ทั้ง RAM 6GB, กล้องหลัง 4 ตัว ไหนจะดีไซน์หน้าจอที่เปลี่ยนมาใช้เป็นแบบ Infinity-O เหมือนซีรีส์เรือธงอย่าง Galaxy Note หรือ S ถ้าถามผมว่า Galaxy A51 คุ้มค่าตัวไหม ผมตอบได้เลยว่าคุ้มแน่ๆ ได้สเปคและฟีเจอร์ขนาดนี้

Play video

แต่ถ้าใครหลายคนยังเลือกไม่ตกว่าจะซื้อรุ่นไหนดี ระหว่าง Galaxy A51 กับ Galaxy A71 เพราะราคาค่อนข้างจะใกล้เคียงกันมากๆ ห่างกันเพียงแค่ 3,000 บาทเท่านั้น ทีมงานดรอยด์แซนส์ก็เคยเขียนบทความเปรียบเทียบสเปคกันแบบให้เห็นภาพง่ายๆ แล้ว ด้านล่างครับ

เปรียบทียบสเปค Galaxy A51 และ A71 แตกต่างกันยังไง เลือกรุ่นไหนดี