Samsung ได้นำเอาฟีดแบ็กจาก Galaxy Z Flip มาใช้สำหรับการพัฒนาให้ Galaxy Z Flip 3 ขยับเข้าใกล้กับการเป็นมือถือจอพับในอุดมคติมากยิ่งขึ้น โดยมีการยกเครื่องวัสดุใหม่เกือบทั้งตัว ปรับปรุงความทนทานของบานพับ และเพิ่มคุณสมบัติทนน้ำตามมาตรฐาน IPX8 เข้าไปอีก นอกจากนี้ “ราคา” ที่อาจเคยเป็นอุปสรรคในรุ่นก่อน ตอนนี้ได้ถูกปรับลดลงมาเรียบร้อย ทำให้รวม ๆ แล้วน่าใช้ขึ้นกว่าเดิมมากเลย
สเปค Samsung Galaxy Z Flip 3
- จอภาพด้านใน : Dynamic AMOLED 2X Infinity Flex ขนาด 6.7 นิ้ว
– ความละเอียด 2640 x 1080 พิกเซล
– ความหนาแน่นพิกเซล 425 จุดต่อนิ้ว
– สัดส่วน 22:9
– อัตรารีเฟรช 120Hz - จอภาพด้านนอก : Super AMOLED ขนาด 1.9 นิ้ว
– ความละเอียด 260 x 512 พิกเซล
– ความหนาแน่นพิกเซล 302 จุดต่อนิ้ว - ชิป : Qualcomm Snapdragon 888
- หน่วยความจำ : RAM 8GB + ROM 128GB / 256GB
- กล้องหลัง :
– กล้องหลัก 12MP, รูรับแสง f/1.8, ระบบโฟกัส Dual Pixel, ระบบกันสั่น OIS
– กล้องอัลตราไวด์ 12MP, รูรับแสง f/2.2, มุมกว้าง 123 องศา
– กระจก Corning Gorilla Glass with DX - กล้องหน้า : 10MP, รูรับแสง f/2.4, ขนาดพิกเซล 1.22μm
- เครือข่าย : LTE, 5G (NSA / SA)
- พอร์ต : USB Type-C
- เซนเซอร์ : สแกนลายนิ้วมือ (ด้านข้าง)
- แบตเตอรี่ : 3300mAh
- ระบบปฏิบัติการ : Android 11
- ความทนทาน :
– กระจก Corning Gorilla Glass Victus (ตัวเครื่องด้านหน้าและด้านหลัง)
– ทนน้ำตามมาตรฐาน IPX8 - ขนาด :
– ตอนกาง 72.2 x 86.4 x 17.1 มม.
– ตอนพับ 72.2 x 166 x 6.9 มม. - น้ำหนัก : 183 กรัม
- สี : ครีม, เขียว, ม่วง, ดำ, เทา, ขาว, ชมพู
เหมือนตลับแป้งมากกว่าโทรศัพท์ พกพาสะดวกแบบไร้คู่แข่ง
พับแล้วเครื่องเหลือแค่นี้เอง
เมื่อได้ลองจับ Galaxy Z Flip 3 เป็นครั้งแรก สำหรับผมแล้วค่อนข้างแปลกใหม่ทีเดียว เพราะขณะที่เครื่องพับอยู่นั้น ไม่มีความรู้สึกเหมือนกำลังถือโทรศัพท์อยู่ในมือเลย แต่คล้ายกับตลับแป้งหรือเครื่องประดับอะไรสักอย่างที่แพง ๆ เสียมากกว่า ที่ชอบที่สุดคือ เวลาใส่กระเป๋ากางเกงหรือกระเป๋าเสื้อมันจะไม่ล้น ทำให้รู้สึกคล่องตัวและมั่นใจสุด ๆ ไม่กลัวหล่นหรือนั่งทับจนเกิดความเสียหาย
งานประกอบทำได้เนี้ยบ พรีเมียมตามมาตรฐาน Samsung เก็บรายละเอียดตรงขอบและมุมได้ดี ไม่มีเหลี่ยมมาบาดมือแม้แต่น้อย โดยรวมแล้วไม่มีจุดให้ติอะไร ปุ่มกดแน่นปั้กทั้งปุ่มเพาเวอร์และปุ่มปรับระดับเสียง
แข็งแรงมากขึ้น น้ำหนักเบาเท่าเดิม
วัสดุตัวเครื่องดูดีกว่าเดิมเยอะมาก ๆ สัมผัสได้ถึงความแข็งแรงทุกจุด
โครงหลักของ Galaxy Z Flip 3 เลือกใช้วัสดุเป็นอะลูมิเนียม ประกบด้วยกระจก Gorilla Glass Victus ตัวท็อปจาก Corning ทั้งด้านบนและด้านล่าง Samsung เคลมว่า แข็งแรงขึ้น 10 และ 4 เท่า ตามลำดับ โดยน้ำหนักยังคงเบาเท่าเดิมที่ 183 กรัม (ขอปรบมือให้เลย) กระจกด้านบนนั้น ตอนแรกเห็นจากในรูปแล้วดูเหมือนเป็นกระจกคนละชิ้น เพราะครึ่งบนที่เป็นแถบสีดำนูนขึ้นมาจากครึ่งล่างเล็กน้อย แต่จริง ๆ แล้วเป็นกระจกชิ้นเดียวกัน เต็ม ๆ แผ่นเลย
ยังไม่ถึงกับพับสนิท 100%
ตัดมาที่ด้านใน Galaxy Z Flip 3 ยังมีช่องว่างตรงกลางขณะพับอยู่นิดหน่อย เนื่องจากข้อจำกัดทางกายภาพของ UTG (Ultra Thin Glass) ที่เป็นวัสดุปิดทับหน้าจอนั้นยังไม่สามารถพับได้แนบสนิท ไม่อย่างนั้นจะแตกเอาได้ ส่วนในเรื่องความทนทานต่อรอยขีดข่วนแม้ Samsung จะปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่ฟิล์มชั้นนอกสุดที่เป็นพลาสติกยังโดนเล็บจิกลงไปตรง ๆ แล้วเป็นรอยอยู่นะครับ เวลาใช้งานต้องระมัดระวังกันนิดหนึ่ง
รอยพับ…ยังมีอยู่นะ แต่ไม่ได้รบกวนสายตาเท่าไหร่
ถ้าไม่จงใจขยับให้แสงมาสะท้อน ปกติก็มองไม่ค่อยเห็นรอยพับนะ
เกี่ยวกับรอยพับตรงกลาง น่าจะเป็นหนึ่งในประเด็นที่เพื่อน ๆ สนใจกันเยอะที่สุด ซึ่งยังคงมีอยู่ มองเห็นได้ชัดตอนที่ปิดหน้าจอหรือแสดงผลเป็นสีเดียวเต็ม ๆ พื้นที่ แต่ในการใช้งานปกติในแนวตั้งแทบจะไม่รู้สึกอะไรเลยถ้าจะไม่จงใจเอียงเครื่องให้แสงมาสะท้อน ส่วนการใช้งานในแนวนอนนี่หามุมไม่ให้สะท้อนกับแสงได้ยากกว่า สร้างปัญหาให้กับผมบ้างอยู่เหมือนกัน หลาย ๆ ครั้งต้องขยับอยู่หลายท่ากว่าจะเจอตำแหน่งที่ลงตัว ดังนั้นสำหรับใครที่ดูวิดีโอในแนวนอนบ่อย ๆ อาจต้องเก็บเรื่องนี้เอาไว้พิจารณา
อัตรารีเฟรชหน้าจอขยับขึ้นเป็น 120Hz แล้ว
อัตรารีเฟรชของ Galaxy Z Flip 3 เป็นแบบไดนามิก ปรับตามคอนเทนต์โดยอัตโนมัติเพื่อประหยัดแบต
พาเนลแสดงผลใน Galaxy Z Flip 3 อัปเกรดจาก Dynamic AMOLED ธรรมดา ขึ้นมาเป็น Dynamic AMOLED 2x สิ่งที่เพิ่มเข้ามาหลัก ๆ คือ อัตรารีเฟรช 120Hz ในขณะที่คุณภาพการแสดงผลจะอยู่ในเกณฑ์เดียวกับสมาร์ทโฟนเรือธงรุ่นอื่น ๆ ของ Samsung ซึ่งเพื่อน ๆ น่าจะทราบถึงความเทพกันดีอยู่แล้ว คะแนนเต็ม 10 ไม่มีหักเหมือนเดิม
สำหรับอัตรารีเฟรชสามารถเลือกปรับได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ Adaptive และ Standard โหมดแรกจะเป็นการทำงานในลักษณะไดนามิก โดยอัตรารีเฟรชจะแปรผันให้สอดคล้องไปตามคอนเทนต์ที่กำลังแสดงผลแบบเรียลไทม์ ต่ำสุดเท่าที่เห็นคือ 60Hz ไปจนถึงสูงสุดที่ 120Hz ส่วนโหมดหลังจะล็อกเอาไว้ที่ 60Hz เพื่อประหยัดพลังงาน ทั้งนี้ผมไม่ได้บันทึกมาเป็นข้อมูลเชิงตัวเลขให้ดูนะครับ เพราะตัวแปรเรื่องการใช้งานไม่สามารถควบคุมได้ แต่เอาเป็นว่า กินแบตต่างกันชัดเจนเลยแหละ (เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว)
อัปเกรดลำโพง ระบบเสียงสเตอรีโอ
ลำโพงหลักจะอยู่ที่ด้านล่าง ลำโพงอีกตัวใช้ร่วมกับลำโพงสนทนา
อีกสิ่งหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจาก Galaxy Flip คือ ลำโพง จากเดิมที่เป็นลำโพงเดี่ยว ตอนนี้เป็นลำโพงคู่แล้ว ความอิ่มเอมและมิติเสียงอาจไม่ได้ไปสุดทางเหมือน Galaxy S หรือ Note ถ้าจ้องจับผิดดี ๆ ยังมีความอู้อี้ให้พอรู้สึกได้อยู่บ้าง แต่ไม่น้อยหน้าเรือธงแบรนด์อื่น ๆ แน่นอน เพราจากประสบการณ์ส่วนตัว ลำโพงของมือถือ Samsung เทียบกับคู่แข่งในช่วงราคาเดียวกันมักทำได้ดีกว่าเป็นส่วนใหญ่
กล้องไม่ได้แย่อย่างที่หลายคนกังวล
ด้วยความที่กล้องหลังมีความละเอียดเพียง 12MP หรืออย่างไรไม่ทราบ ทำให้หลายคนจึงกังวลเรื่องคุณภาพของภาพถ่าย แต่เท่าที่ได้ใช้งานมาผมโอเคกับมันนะ ไม่มีกล้องมาโครมาให้ แต่กล้องหลักโฟกัสได้ค่อนข้างใกล้อยู่แล้วและสามารถขยายเพิ่มได้อีกด้วยการซูม ทดแทนได้หมดจด ส่วนกล้องเทเลโฟโต้แก้ขัดได้โดยการซูมเช่นกัน
Corning Gorilla Glass with DX เลนส์คุณภาพสูง ลดการเกิดแสงแฟลร์บนภาพ
Galaxy Z Flip 3 เป็นสมาร์ทโฟนรุ่นแรกของโลกที่มาพร้อมกับกระจก Gorilla Glass with DX ที่ Corning อ้างว่า ส่งผ่านแสงไปยังเซนเซอร์ภาพได้ดีขึ้น และสะท้อนแสงน้อยลง หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ ช่วยลดทอนการเกิดแสงแฟลร์ ซึ่งทำได้ดีตามที่เคลมจริง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการถ่ายภาพตอนกลางคืนที่มีแสงจากไฟถนนเต็มไปหมด จนอดแปลกใจไม่ได้ที่ Samsung แทบไม่โปรโมตตรงจุดนี้เลย (ดูตัวอย่างได้จากภาพถ่ายด้านล่าง แสงแฟลร์น้อยอย่างเห็นได้ชัด)
เสมือนมีขาตั้งกล้องในตัวเอง
ถ่ายรูปได้แทบทุกที่ ไม่ง้อขาตั้งกล้อง
ความได้เปรียบของ Galaxy Z Flip 3 คือ คุณสมบัติในการพับ เราจึงสามารถวางไว้กับพื้นแล้วถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ๆ เพื่อถ่ายภาพไฟรถเป็นเส้นยาว ๆ ถ่ายวิดีโอไทม์แลปส์ หรืออื่น ๆ โดยไม่ต้องพึ่งพาขาตั้งกล้องให้วุ่นวาย อันนี้ตามแต่จะนำไปประยุกต์ใช้เลย ทำอะไร ๆ ได้เยอะแยะ
วางตั้งกับพื้นแล้วถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ๆ ได้เลย
ตัวอย่างภาพถ่าย Samsung Galaxy Z Flip 3
เป็นความละเอียด 12MP ที่น่าพอใจ ถ่ายง่าย โฟกัสไว
ถ้าเจอกับแสงไฟทังสเตนจะอมเหลือง ๆ บ้าง เป็นปกติของกล้องดิจิทัลในปัจจุบัน
โหมดกลางคืนประมวลผลได้เร็วพอสมควร
ภาพนี้ถ่ายย้อนแสงตรง ๆ ไดนามิกเรนจ์ยังพอโอเค
ไม่มีเลนส์มาโครและเลนส์เทเลโฟโต แต่ใช้การซูมดิจิทัลแก้ขัดเอาได้
หน้าจอด้านนอกทำอะไรได้บ้าง ?
หน้าจอด้านนอกจับวิดเจ็ตมาใส่ได้หลายอย่าง
- ดูเวลา วันที่ และแบตเตอรี่
- นาฬิกามีให้เลือกปรับได้ทั้งรูปแบบและสี รวมถึงภาพพื้นหลังซึ่งรองรับไฟล์ประเภท GIF ด้วย (เจ๋งมาก)
- ดูสถานะการชาร์จแบต
- ดูการแจ้งเตือนต่าง ๆ
- บางการแจ้งเตือนสามารถเรียกดูได้เต็มหรือเกือบเต็มรูปแบบจากตรงนี้ เช่น อีเมล
- สามารถกดตอบกลับแชตหรืออีเมลได้ทันที แต่ในการพิมพ์ต้องกางเครื่องออกมานะ (ประโยชน์คือ การใช้งานที่ต่อเนื่อง ลดความซ้ำซ้อน)
- เรียกใช้งานฟังก์ชันต่าง ๆ ผ่านวิดเจ็ต เช่น เครื่องเล่นเพลง สภาพอากาศ นาฬิกาจับเวลา เป็นต้น
- ใช้เป็นหน้าจอพรีวิวขณะถ่ายรูป
รองรับการเปลี่ยนรูปแบบนาฬิกาและภาพพื้นหลัง รวมถึงภาพเคลื่อนไหวนามสกุล GIF
โหมด Flex
หากแอปไหนที่รองรับโหมด Flex เมื่อมีการพับหน้าจอขึ้นมาแม้เพียงเล็กน้อย Galaxy Z Flip 3 จะเข้าสู่โหมดนี้โดยอัตโนมัติทันที ลักษณะการทำงานจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับแอปที่กำลังใช้งาน แต่โดยรวมแล้วจะค่อนข้างคล้ายกันเป็นส่วนใหญ่ คือ ครึ่งบนจะเป็นส่วนสำหรับแสดงผลคอนเทนต์หลัก ในขณะที่ครึ่งล่างจะเป็นแผงสำหรับควบคุมการทำงาน
ซ้าย กล้องโหมดปกติ ; ขวา กล้องโหมด Flex
นอกจากแอปของ Samsung บางตัวที่รองรับโหมด Flex แล้ว ตอนนี้ยังมีแอป Duo และ YouTube ของ Google ด้วย แต่ไม่ได้มีอะไรพิสดารมาก หลัก ๆ ยังแค่เป็นการแบ่งอินเทอร์เฟซระหว่างด้านบนและด้านล่างเฉย ๆ แอบลุ้นให้มีอัปเดตเพิ่มเติม อย่าง YouTube นี่เสียดายสุด ๆ น่าจะใส่แผงควบคุมการเล่นมาให้จะมีประโยชน์มากกว่า
ซ้าย Spotify โหมดปกติ ; ขวา Spotify โหมด Flex
สำหรับแอปอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รองรับโหมด Flex สามารถ “บังคับ” ให้ใช้งานในโหมดนี้ได้จากการเปิดฟังก์ชันใน Labs (Settings > Advanced features > Labs > Flex mode)
บังคับแอปให้ใช้งานโหมด Flex ได้จากการตั้งค่าใน Labs
เครื่องเร็ว…แรง แต่อุ่นง่ายอยู่เหมือนกัน
Galaxy Z Flip 3 ขับเคลื่อนด้วย Snapdragon 888 จาก Qualcomm ซึ่งเป็นชิปตัวท็อปที่สุด ณ ตอนนี้แล้ว (ถ้าไม่นับ Snapdragon 888+ ที่ถูกโอเวอร์คล็อกเพิ่มความเร็วสัญญาณนาฬิกาขึ้นมาอีกกระจึ๋งหนึ่ง) การใช้งานทุกอย่างทำได้รวดเร็ว ลื่นไหลอย่างที่ควรจะเป็น ถ้าจะมีเรื่องให้พูดถึงคงมีแค่เรื่องของอุณหภูมิที่รู้สึกว่า “อุ่น” ไว้ไปหน่อยตอนเล่นเกม แต่ในทางเดียวกันก็โล่งใจตรงที่มันไม่ร้อน (ฮ่า ๆ) เริ่มอุ่น ๆ ปุ๊บ แล้วก็นิ่ง ๆ อยู่แค่นั้นเลย
หน้าตาอินเทอร์เฟซของระบบ One UI 3.1
แบตเตอรี่น้อย อาจไม่เหมาะที่จะเน้นเล่นเกม
ในขณะที่มือถือส่วนใหญ่ในตลาดมักอัดมาให้ที่ 4,000 – 5,000mAh แต่แบตเตอรี่ของ Galaxy Z Flip 3 ยังมีความจุเท่ากับรุ่นก่อนที่ 3300mAh เป็นตัวเลขที่น้อยอย่างไม่ต้องสงสัย และหมดค่อนข้างไวในการใช้งานจริงแบบไม่ต้องสืบ ยิ่งถ้าเอาไปเล่นเกมนี่ผมบอกเลยว่า…แบตไหลเป็นน้ำ บางเกมเปิดกราฟิกระดับสูงสุด เล่น 1 ชั่วโมง แบตอาจหายไปได้มากถึง 20 – 25% หรือมากกว่านี้ขึ้นอยู่กับระดับความสว่างหน้าจอและอุณหภูมิ วันไหนที่ต้องใช้งานทั้งวัน การพกเพาเวอร์แบงก์เผื่อไว้ก่อนน่าจะปลอดภัยกว่า
สรุปแล้ว Samsung Galaxy Z Flip 3 เหมาะกับใคร น่าซื้อไหม ?
ข้อสังเกตที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับ Galaxy Z Flip 3 จะมีในส่วนของแบตเตอรี่ที่ให้ความจุมาน้อยและความทนทานของหน้าจอด้านใน จึงอาจไม่เหมาะสำหรับคนที่เน้นการเล่นเกมและอย่างได้ตัวเครื่องที่ใช้งานแบบสมบุกสมบันสักเท่าไหร่
แต่สำหรับตัวผมที่ไม่ค่อยจะเล่นเกมและใช้มือถืออย่างถนอมอยู่แล้ว เลยไม่มีปัญหาอะไรกับเรื่องพวกนี้ ผมมองว่า Galaxy Z Flip 3 น่าซื้อมาก การใช้งานในภาพรวมไม่มีอะไรด้อยกว่าเรือธงทั่ว ๆ ไป แต่ได้ความพิเศษของ “จอพับ” ที่ไม่เหมือนใครเสริมเข้ามา ทำให้พกพาสะดวก ใส่กระเป๋ากางเกงได้อย่างมั่นใจ เป็นความรู้สึก “คล่องตัว” ที่อยากให้เพื่อน ๆ ได้ลองสัมผัสด้วยตัวเอง (มันดีมากจริง ๆ) นอกจากนี้ หน้าจอด้านนอกกับโหมด Flex ยังเป็นตัวช่วยเพิ่มความสนุกในการใช้งานได้ดี
เหนือสิ่งอื่นใด “ราคา” ที่เปิดมาถูกกว่ารุ่นก่อนถึง 1 หมื่นบาท จากเดิม 44,900 บาท ตอนนี้เริ่มต้นแค่ 34,900 บาท น่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้หลายคนตัดสินใจซื้อ Galaxy Flip 3 ได้ง่ายมากขึ้น เพราะค่าตัวไม่ได้ห่างจากเรือธงทั่ว ๆ ไปแล้ว (ราคาถูกกว่าหลาย ๆ รุ่นเสียด้วยซ้ำไป)
จุดเด่น
- จอพับและหน้าจอด้านนอก พลิกแพลงได้หลายอย่าง เพิ่มความสนุกในการใช้งาน
- หน้าจอ sAMOLED คุณภาพสูง ทั้งด้านนอกและด้านใน
- ลำโพงคู่ระบบสเตอรีโอ เสียงสมดุลกันทั้งซ้ายและขวาหากใช้งานในแนวนอน
- ชิป Snapdragon 888 แรงหายห่วง
- ทนน้ำ IPX8 ไม่ต้องกลัวเปียก
- เครื่องสวย เหมือนตลับแป้ง งานประกอบประณีต มีให้เลือกหลายสี
- พกพาสะดวก น้ำหนักเบา
- อัปเดตระบบปฏิบัติการและแพตช์ความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ ขั้นต่ำ 3 และ 4 ปี ตามลำดับ
- ราคาไม่ได้แพงไปกว่าเรือธงปกติสักเท่าไหร่ น่าคบหากว่าเดิมเยอะ
จุดสังเกต
- แบตเตอรี่ให้มาน้อย หมดไว และใช้เวลาชาร์จค่อนข้างนาน
- ไม่มีแจ็ก 3.5 มม.สำหรับเสียบหูฟัง
- ฟิล์มหน้าจอด้านในไม่ทนทานต่อรอยขีดข่วน
- บางคนอยากได้กล้อง Tele มากกว่า Ultrawide
อยากให้มารีวิวเครื่องอีกทีหลังใช้ไปสัก 1 ปี ดูสิว่าจะเป็นไง
ว่าแต่ Galaxy Fold รุ่นแรกสภาพเป็นไงบ้างแล้ว เอามารีวิวให้ดูหน่อย…เงียบจัง!!!
เทียบกันแล้ว Note ยังน่าสนกว่าเยอะเลย