หากคุณอยากได้ตู้สวย ๆ เก๋ ๆ สำหรับเลี้ยงปลาซักใบ เราขอนำเสนอ Xiaomi Geometry Fish Tank ตู้ปลา all-in-one ของ Xiaomi เป็นทางเลือก มันมาพร้อมการออกแบบที่สวยงามไร้รอยต่อ 360° มีทั้งปั๊มน้ำ วัสดุกรอง วัสดุปูพื้น และไฟ LED มาให้ครบ จบในตัวเดียว เหลือแค่เติมน้ำกับไปซื้อปลามาใส่ตู้ก็พร้อมเลี้ยงแล้ว แถมยังเปลี่ยนน้ำง่ายและมีที่ปลูกต้นไม้โดยไม่ต้องรดน้ำด้วย ราคาก็ไม่แพงมาก แค่ประมาณ 1,500 บาท

หน้าตาดูดี  กระจกไร้รอยต่อ 360°


หน้าตาดูทันสมัยมาก ๆ

Xiaomi Geometry Fish Tank มีรูปร่างหน้าตาที่ให้ความรู้สึกถึงความเรียบง่ายด้วยโทนสีขาว แฝงไว้ด้วยความดูดี เป็นหนึ่งเดียวกันทั้งชิ้น ตัวกระจกอะคริลิกเป็นแบบไร้รอยต่อ 360° ด้านล่างของตู้จะเป็นตู้ปลาตามปรกติ ส่วนกระบอกสีขาวขนาดใหญ่ที่อยู่ด้านในคือ ท่อสำหรับสูบน้ำเข้าและออกเพื่อกรองน้ำ การวางตำแหน่งลักษณะนี้ทำให้กระแสน้ำสามารถไหลเวียนไปยังทั่วตู้ได้โดยไม่มีจุดอับ


ท่อสำหรับพ่นน้ำออก ขอบอกเลยว่า แรงมว้ากกก ~

ที่ด้านบนจะมีหลุมพร้อมกระถางสำหรับเอาไว้ปลูกต้นไม้และมีช่องสำหรับให้อาหารปลา พร้อมทั้งมีหัวปรับความแรงปั๊มน้ำซ่อนอยู่ ทำให้เราสามารถควบคุมความแรงของกระแสน้ำให้เหมาะสมต่อปลาแต่ละชนิดได้ (ปลาบางชนิดชอบน้ำนิ่ง ปลาบางชนิดชอบน้ำเชี่ยว) แต่มีจุดสังเกตเล็กน้อย คือ มันปรับระดับความแรงได้หยาบมาก ๆ พูดง่าย ๆ ถ้าไม่แรงไปก็เบาไป จนผมต้องขยับอยู่หลายทีกว่าจะได้ระดับที่พอดี แล้วก็ขอเตือนไว้นิดนึงว่า หากเปิดที่ระดับแรงสุด มันจะพ่นน้ำแรงมากซะจนปลาแทบจะปลิวเลยล่ะ ยังไงตรงนี้ต้องดูกันดี ๆ ด้วยนะ เดี๋ยวปลาเหนื่อยตาย


ช่องสำหรับให้อาหารที่มีหัวปรับแรงดันปั๊มน้ำซ่อนอยู่

วัสดุโดยรวมของ Geometry Fish Tank เลือกใช้เป็นพลาสติก ABS ที่มีความยืดหยุ่นและทนทาน ในขณะที่กระจกทำมากจาก PMMA หรือก็คืออะคริลิกนั่นเอง ทำให้มันมีน้ำหนักรวมที่เบามาก เพียงแค่ 1 กก. แต่แนะนำให้ระวังเรื่องริ้วรอยกันด้วยนะครับ วัสดุชนิดนี้เป็นรอยง่ายพอสมควร

ไฟ RGB 5 สี + ใช้ไฟจากพาวเวอร์แบงค์ได้ + รดน้ำต้นไม้อัตโนมัติ

ขึ้นชื่อว่าตู้ปลาจาก Xiaomi ทั้งที หาก Geometry Fish Tank เป็นเพียงตู้ปลาธรรมดาก็คงจะเสียชื่อ โดยมันจะมาพร้อมกับไฟ RGB ที่สามารถเปลี่ยนสีได้ถึง 5 สี ได้แก่ ขาว แดง เขียว น้ำเงิน และม่วง พร้อมทั้งมีปั๊มในตัวสำหรับสูบน้ำขึ้นไปยังระบบกรองที่อยู่ด้านบน ขอบอกเลยว่า เสียงปั๊มเบามากจนแทบไม่ได้ยินเลยล่ะ 👍 ซึ่งเราสามารถควบคุมทั้งไฟและปั๊มน้ำผ่านปุ่มบนฝาที่เป็นปุ่มระบบสัมผัสเลย


ใช้ไฟแค่ 5V ต่อตรงกับพาวเวอร์แบงค์ได้เลย

ส่วนอีกฟีเจอร์เจ๋ง ๆ ที่ตู้ปลาทั่วไปไม่มีคือ เจ้าตู้ปลาตู้นี้มีหัวปลั๊กเป็นแบบ USB Type-A และต้องการกำลังไฟเพียงแค่ 5V สามารถใช้พาวเวอร์แบงค์จ่ายไฟได้เลย ทำให้ไม่ต้องกลัวว่าปลาจะตายหากไฟดับแล้วปั๊มน้ำไม่ทำงาน ซึ่งเป็นปัญหาที่คนเลี้ยงปลาหลายคนเคยเจอ


ระบบกรองเป็นแบบกรองบน

Xiaomi ได้นำประโยชน์จากจุดที่ Geometry Fish Tank มีระบบกรองแบบ “กรองบน” มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยออกแบบให้น้ำที่ถูกสูบขึ้นไปไหลผ่านต้นไม้ที่อยู่ด้านบน ทำให้เราไม่ต้องมาคอยรดน้ำต้นไม้เอง แต่เท่าที่ลองใช้ดู ปล่อยทิ้งไว้ 2 วัน ดินมันฉ่ำไปหน่อย อาจต้องมีการหยิบต้นไม้ออกมาพักข้างนอกบ้าง รวมถึงเอามาตากแดดด้วย เพราะอย่างเจ้าต้นในรูปนี่ก็เคยเกือบม่องเท่งไปทีนึงเพราะไม่โดนแดด ( ̄﹏ ̄;)


ไม่ต้องคอยรดน้ำต้นไม้ แต่ต้องเอาออกไปตากแดดบ้างนะ

ควบคุมทุกอย่างในปุ่มเดียวด้วยระบบสัมผัส

มันสามารถควบคุมทั้งไฟ RGB และปั๊มได้ผ่านปุ่มเดียว โดยจะเป็นปุ่มที่อยู่ด้านบนฝาของตัวเครื่อง และเป็นปุ่มระบบสัมผัส มีตัวเลือกในการควบคุมดังนี้

  • แตะค้าง : เปิดหรือปิดการทำงานทั้งหมด
  • แตะ 1 ครั้ง : เปลี่ยนสีหรือปิดไฟ RGB
  • แตะ 2 ครั้ง : เปิดหรือปิดปั๊ม


มีปุ่มควบคุมเพียงปุ่มเดียว แต่ส่วนตัวรู้สึกว่า ใช้ยากไปหน่อย ถ้านิ้วเปียกก็แตะไม่ค่อยติดด้วย

อย่างไรก็ตาม ตรงส่วนนี้เหมือนจะดูล้ำ แต่พอได้ใช้งานดูแล้ว ทีมงานพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ประทับใจเท่าไหร่ เพราะมันกดได้ค่อนข้างยาก ติดบ้างไม่ติดบ้าง และด้วยความที่มันเป็นระบบสัมผัส หากมือเปียกแล้วก็ยิ่งกดไม่ติดเข้าไปใหญ่เลยล่ะ

เปลี่ยนน้ำง่ายมาก แค่เสียบสายแล้วกดปุ่ม

หลายคนที่เลี้ยงหรือเคยเลี้ยงปลาในแบบที่ไม่ได้เลี้ยงจริงจังมากและไม่ได้มีอุปกรณ์สำหรับเปลี่ยนถ่ายน้ำโดยเฉพาะ คงจะเคยรู้สึกว่า การเปลี่ยนน้ำนั้นยุ่งยากและวุ่นวาย จนพาลทำให้ขี้เกียจเปลี่ยนน้ำ และนำไปสู่สาเหตุที่ทำให้ปลามีสุขภาพไม่ดี แต่เจ้า Geometry Fish Tank จะมาช่วยกำจัดความยุ่งยากดังกล่าวทิ้งไป สามารถดูดน้ำออกจากตู้ได้โดยการกดปุ่มเพียงครั้งเดียว ตัวตู้ก็จะดูดน้ำออกด๊วบ ๆ ~ ให้เองโดยอัตโนมัติ มีขั้นตอนดังนี้

  • ปิดการทำงานของปั๊ม
  • ยกกระถางต้นไม้ขึ้นและถอดจุกยางด้านในออก
  • เสียบปลายสายดูดน้ำ เข้ากับช่องดังกล่าว พร้อมทั้งหันปลายสายอีกด้านไปยังถังหรือกะละมังสำหรับรองน้ำเสีย
  • ทำการเปิดปั๊มก็จะเป็นการสูบน้ำออก สามารถหยุดได้เมื่อถึงระดับที่ต้องการโดยการปิดปั๊มอีกที


*ต้องปิดปั๊มก่อนนะ  เสียบสายแล้วค่อยเปิดไม่งั้นน้ำจะพุ่งเป็นน้ำพุเลย

ถึงแม้ Xiaomi จะอ้างว่า ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนน้ำบ่อย ๆ แต่ส่วนตัวคิดว่า มันคงจะไม่ดีสักเท่าไหร่ถ้าทำอย่างนั้น เพราะระบบกรองของตู้มีขนาดที่เล็กมาก ๆ หมายความว่า มันจะมีที่อยู่อาศัยสำหรับแบคทีเรียฝ่ายดีที่น้อยตามไปด้วย ประกอบกับมันไม่เอื้ออำนวยให้สามารถเลี้ยงไม้น้ำในตู้ได้จนเป็นระบบนิเวศที่ดีพอที่จะกำจัดของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพในตัวเอง ทำให้เราต้องช่วยมันกำจัดของเสียออกไปโดยการเปลี่ยนน้ำนั่นแหละครับ

ถ้าเป็นตู้ที่ตั้งใหม่ ๆ ก็อาจจะเปลี่ยนสัปดาห์ละ 40-50% แต่ถ้าเป็นตู้ที่ตั้งมานานจนระบบนิ่งแล้วก็อาจจะสามารถลดปริมาณน้ำที่เปลี่ยนลงมาได้ แต่อย่าเอาน้ำประปาไปใส่ตรง ๆ นะ ไม่งั้นคลอรีนจะฆ่าแบคทีเรียตายหมด ให้พักน้ำทิ้งไว้ก่อน (วางไว้เฉย ๆ ก็ได้) เพื่อไล่คลอรีนและปรับอุณหภูมิให้ใกล้เคียงกับน้ำในตู้ และจากที่ลองใช้ก็ได้พบข้อเสียใหญ่ ๆ ของเจ้าระบบเปลี่ยนน้ำแสนสะดวกนี้อย่างนึง คือ มันดูดออกมาได้แต่น้ำ พวกขี้ปลากับตะกอนสิ่งสกปรกจะไม่ถูกดูดออกมาด้วย ตรงนี้ไม่เหมือนกับเวลาที่เราเปลี่ยนน้ำด้วยตัวเองด้วยสายยาง เพราะเราสามารถดูดสิ่งสกปรกออกมาด้วยได้เลย ดังนั้น พอผ่านไปนาน ๆ เราก็ต้องมานั่งดูดออกเองอยู่ดี ไม่งั้นขี้ปลาปลิวว่อนทั้งตู้แน่


ปลายสายอีกด้านก็หาอะไรมารองน้ำ เสร็จแล้วก็เอาไปเททิ้ง

จำนวนสิ่งมีชีวิตที่เหมาะสม

จุดนึงที่มือใหม่ควรระวัง คือ จำนวนของสิ่งมีชีวิตในตู้ ถ้าปลามีจำนวนน้อยเกินไป ตู้จะดูโล่งและไม่สวยงาม กลับกัน หากปลามีจำนวนมากเกินไป ปลาก็อาจจะเครียดหรือขาดออกซิเจนได้ (ถ้าเปิดความแรงของปั๊มไม่เหมาะสม) ซึ่งขนาด 382 x 166 x 229 มม.ของตู้นี้ เหมาะที่จะเลี้ยงปลาขนาดเล็กประเภทปลาหางนกยูง หรือปลาสอดได้ราว ๆ  10-14 ตัว ถ้าเป็นปลาที่ขนาดใหญ่ขึ้นมาอย่างเช่นปลาทอง ก็อาจจะได้สัก 1-2 ตัวกำลังดี

อุปกรณ์ที่ให้มาในกล่อง เพียงพอสำหรับการเริ่มต้น

นอกจากไฟ LED และปั๊มน้ำที่เป็นแบบ built-in ติดมากับฝาตู้แล้ว อุปกรณ์ที่เหลือก็จะมี หินรองพื้น หินกรอง ฟองน้ำกรอง และสายยาง 4 อย่างแค่นี้เลย ซึ่งก็เพียงพอที่จะเริ่มต้นเลี้ยงปลาได้ในทันที แต่ก็อาจจะโล่ง ๆ โล้น ๆ หน่อยนะ อันนี้แล้วแต่คนชอบ อยากให้มันอลังการก็หาหินประดับ หาต้นไม้ หาอะไรมาแต่งเพิ่มเองได้


มือขวา : หินกรอง – ในตู้ : หินรองพื้นและสายยางสำหรับเปลี่ยนน้ำ

จุดสังเกต

  • อันดับแรกเลย ด้วยความที่มันเป็นตู้สำเร็จรูปแบบปิด อีกทั้งยังเป็นตู้ที่ไม่ได้มีรูปทรงสี่เหลี่ยมแบบมาตรฐานอีก มันจึงแทบจะไม่สามารถติดตั้งอุปกรณ์เสริมใด ๆ ได้เลย และด้วยการนี้ทำให้ต้องคิดต่อไปว่า หากมันชำรุดหรือเสียหายที่จุดใดจุดนึง ถึงตอนนั้นจะทำยังไงถ้าไม่มีอะไหล่เปลี่ยน ?
  • อันดับที่สอง ไฟ RGB ของมัน ถึงจะเปลี่ยนสีได้ถึง 5 สี แต่ไม่สว่างเอาเสียเลย รวมถึงสีขาวก็ไม่ขาวอย่างที่ควรจะเป็น อมฟ้าหนักมาก ประกอบกับข้อแรกทำให้มันไม่เหมาะที่จะเอามาเลี้ยงไม้น้ำแทบทุกชนิด เพราะแสงสว่างไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของไม้น้ำและไม่สามารถติดตั้งอุปกรณ์ CO² ได้ (อาจจะพอเลี้ยงให้รอดได้ แต่ก็จะไม่สมบูรณ์หรืออาจไม่เจริญเติบโต)
  • อันดับต่อมา กระจกอะคริลิกของมัน แม้จะทำให้ตัวตู้มีน้ำหนักเบา และลดความเสี่ยงจากการทำแตกได้จากการเลือกใช้วัสดุชนิดนี้ แต่ก็แลกมาด้วยความใสที่เทียบไม่ได้เลยกับกระจกแท้ ๆ และอาจรวมถึงริ้วรอยต่าง ๆ เมื่อใช้งานไปสักระยะด้วย
  • สุดท้าย คือ ราคา ถ้าว่ากันตรง ๆ ด้วยราคาประมาณนี้เนี่ย เราสามารถไปซื้อตู้ปลาธรรมดาพร้อมทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ แบบเกรดดี ๆ ได้เลยแหละ แล้วก็น่าจะเหลือเงินไปซื้อของตกแต่งหรืออุปกรณ์การเลี้ยงอื่น ๆ ด้วย

ตู้ปลา “ไม่” อัจฉริยะ

มีเรื่องนึงที่ทีมงานอยากบอกคือ Geometry Fish Tank ไม่ใช่ “ตู้ปลาอัจฉริยะ” อย่างที่หลายคนเข้าใจผิดกันนะ สังเกตที่ชื่อก็ได้ มันไม่มีคำไหนที่สื่อไปในทางนั้นเลย มันแค่มีการเสริมฟีเจอร์นั่นนี่แล้วก็ลูกเล่นนิดหน่อย แล้วก็เชื่อมต่อผ่านแอปไม่ได้ด้วย เรายังคงต้องดูแล ทำความสะอาดตู้ เปลี่ยนน้ำ ให้อาหารปลาด้วยตัวเอง เหมือนกับตู้ปลาทั่วไป เป็นเรื่องที่อยากบอกเอาไว้ เพราะเห็นมีร้านค้าบางรายของตู้ปลาตู้นี้ด้วยแคปชั่นว่า “ตู้ปลาอัจฉรินะ” จนหลายคนเข้าใจผิด

รุ่นที่เป็นตู้ปลาอัจฉริยะจริง ๆ เนี่ย มันคือ Geometry Control AI Fish Tank ซึ่งมีราคาแพงกว่ากันร่วมเท่าตัวเลยทีเดียว รุ่นนี้จะเชื่อมต่อผ่านแอปได้ ควบคุมอุณหภูมิได้ พร้อมทั้งมีระบบให้อาหารอัตโนมัติ

มันเหมาะกับใคร แล้วหาซื้อได้ที่ไหน

Xiaomi Geometry Fish Tank เหมาะกับคนที่ต้องการตู้ปลา all-in-one แบบสำเร็จรูป ซื้อทีเดียวแล้วจบ ไม่ต้องซื้ออะไรเพิ่มแล้ว (ยกเว้นของแต่งตู้) แถมยังเปลี่ยนน้ำได้ง่ายอีก เน้นเลี้ยงแค่ปลา กุ้งแคระ หรือกุ้งเครย์ฟิช ไม่เน้นเลี้ยงไม้น้ำ หรือสำหรับคนที่อยากได้ตู้ที่ไม่เทอะทะ เพราะไม่ต้องมีอุปกรณ์อะไรมาต่อพ่วงภายนอกให้เกะกะ (และแน่นอนว่า เหมาะกับแฟนบอย Xiaomi 🤣) ส่วนลูกเล่นเรื่องไฟ RGB เอาเข้าจริงไม่น่าจะได้ใช้ประโยชน์เท่าไหร่

หากใครที่สนใจอยากซื้อเจ้าตู้ปลานี้ อาจต้องไปหาซื้อตามช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ กันเองนะครับ เพราะทาง Xiaomi ประเทศไทยไม่ได้นำเข้ามาจำหน่ายอย่างเป็นทางการนะครับ ส่วนราคาในตอนนี้จะอยู่ที่ประมาณ 1,500 บาท ขึ้นอยู่กับแต่ละร้าน ถ้ามีข้อสงสัยอะไรเพิ่มเติมก็ทิ้งคอมเมนต์ไว้ได้เลย ٩(ˊᗜˋ*)و

ป.ล. ก่อนเลี้ยงปลาควรศึกษาวิธีการเลี้ยงพื้นฐานในเบื้องต้นทั้งในภาพรวมและเจาะจงแต่ละชนิดก่อนนะครับ น้อนจะได้อยู่กับเราไปนาน ๆ 🐟≈

Play video