ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ตั้งแต่มีการวางจำหน่ายสมาร์ทโฟนตั้งแต่ปี 2004 เลยก็ว่าได้ ที่จำนวนการส่งออกของตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลกหดตัวลงทุกแบรนด์และทุกระบบปฏิบัติการ (และมีทีท่าว่าจะหดลงเรื่อยๆ) โดยปี 2016 ถือเป็นปีล่าสุดที่สมาร์ทโฟนสามารถทำยอดส่งออกได้สูงสุด (รวมทุกแบรนด์) ที่ 432 ล้านเครื่อง แต่ในปี 2017 ยอดส่งออกสมาร์ทโฟนร่วงลงมาอยู่ที่ 408 ล้านเครื่องเท่านั้น ถือเป็นยอดที่หายไปกว่า 5.6% เลยทีเดียว

Gartner (สถาบันสำรวจข้อมูลทางด้านเทคโนโลยี) ได้ให้สมมุติฐานการแผ่วตัวลงของตลาดสมาร์ทโฟนในปี 2017 ว่า ส่วนนึงเป็นเพราะผู้บริโภคส่วนมาก (ลูกค้ากลุ่มใหญ่อย่างอินเดียและจีน) ยังคงใช้ฟีเจอร์โฟนกันอยู่ เนื่องจากสมาร์ทโฟนทุกแบรนด์ในปัจจุบันยังไม่มีตัวเลือกในระดับที่มีราคาถูกแต่สเปคใช้งานทั่วไปได้แบบลื่นไหลเมื่อเทียบราคากับฟีเจอร์โฟน ส่วนอีก 1 ข้อก็คือ ผู้บริโภคเลือกซื้อสมาร์ทโฟนที่มีสเปคสูงและสามารถใช้งานได้ยาวนานหลายปีถึงจะเปลี่ยนรุ่น

เหตุผลหลักอีกข้อที่ทำให้ตลาดสมาร์ทโฟนช่วงนี้ไม่ได้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าเหมือนปีที่ผ่านๆ มาก็คือ เทคโนโลยีหรือฟีเจอร์ต่างๆ ที่ใส่มาในสมาร์ทโฟนเริ่มอยู่ในช่วงอิ่มตัวแล้ว สังเกตได้จากสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ทั้งระดับกลางไปจนถึงระดับเรือธงที่เปิดตัวในช่วงปี 2017 แทบจะไม่มีเทคโนโลยีอะไรใหม่ๆ ที่ดึงดูดให้อยากเปลี่ยนเครื่องเลย ทั้งสเปคที่มีการอัพเกรดขึ้นมาแค่เล็กน้อย แต่ราคากลับสวนทางแพงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้ที่พึ่งซื้อมือถือรุ่นที่แล้วยังคงใช้งานรุ่นเดิมต่อไป เพราะสเปค+ราคาที่เพิ่มขึ้นมา ดูไม่คุ้มค่าที่จะจ่ายเพิ่มนั่นเอง

แต่ถึงแม้ว่าในปี 2017 ตลาดสมาร์ทโฟนจะอยู่ในช่วงซบเซา แต่จากการสำรวจของ Gartner พบว่าแบรนด์มือถือเจ้าตลาดอย่าง Samsung กลับทำยอดส่งออกสมาร์ทโฟนได้มากขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2017 จาก 17.8% เป็น 18.2% ขึ้นนำหน้าแบรนด์คู่แข่งตลอดกาลอย่าง Apple ที่มียอดส่งออก 17.9%

และยอดส่งออกของปี 2017 ทั้งปี Samsung ทำไปได้ 20.9% ส่วน Apple อยู่ที่ 14.0% 

และจากตาราง จะเห็นว่าแบรนด์จีนยอดนิยมอย่าง Xiaomi ที่ดูท่าว่ากำลังจะไปได้สวยเลยทีเดียว เพราะสามารถตีตลาดใหญ่อย่างอินเดียได้ด้วยมือถือสเปคดีราคาประหยัดหลายๆ รุ่นแล้ว ก็เลยทำส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากปี 2016 ที่ 3.6% เป็น 6.9% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2017 รวมไปถึง Huawei และ OPPO ก็ยังได้ส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้นคนละนิดคนละหน่อยเช่นกัน แต่สำหรับแบรนด์อื่นๆ ทั้ง LG, Lenovo, HTC, Sony, OnePlus, Essential หรือแม้แต่ Google ทาง Gartner ได้เอาไปรวมไว้ที่ส่วนของมือถือแบรนด์ Other (อื่นๆ) น่าจะเป็นเพราะยอดส่งออกน้อยกว่าแบรนด์ที่กล่าวมาข้างต้นเยอะพอสมควร

สำหรับส่วนแบ่งการตลาดของระบบปฏิบัติการ (รวมมือถือทุกรุ่น) ของปี 2017 จะเห็นได้ว่าระบบ Android มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 85.9% ส่วน iOS อยู่ที่ 14% และระบบอื่นๆ ที่ 0.1% ซึ่งทุกระบบมีส่วนแบ่งการตลาดที่น้อยลงจากเมื่อปี 2016

ก็ต้องรอดูแนวโน้มของตลาดสมาร์ทโฟนในอนาคต ว่าจะมีการพัฒนาทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด มีฟีเจอร์ล้ำๆ หรืออาจจะเป็นการลดระดับราคาของมือถือเรือธงลง (ไม่ใช่แพงขึ้นทุกปีๆ) เพื่อดึงดูดลูกค้าที่อาจจะอยากเปลี่ยนรุ่นเต็มที แต่สู้ราคาไม่ไหว ให้ตลาดมือถือกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง

 

ที่มา : Sammobile, Androidauthority