ประเด็นเรื่องการส่งมาตรฐานการส่งข้อความบนมือถือ เป็น 1 ในเรื่องที่ Google ได้หยิบยกมาเหน็บฝั่ง Apple อยู่ประจำ เพราะอุปกรณ์ระบบ iOS ยังดื้อดึงที่จะใช้ระบบ iMessage ของตัวเอง ทำให้การสนทนาผ่านแอปข้อความมาตรฐานระหว่างสองระบบทำได้ยาก และต้องส่งผ่านมาตรฐานเก่าคร่ำครึอย่าง SMS เท่านั้น แล้ว SMS ไม่ดีตรงไหน RCS ที่ Google ผลักดันอยู่ดีกว่ายังไง ใน Blog นี้เราได้รวบรวมไว้หมดแล้ว
SMS คืออะไร ไม่ดีตรงไหน?
SMS เป็นมาตรฐานโบราณ ฟีเจอร์ล้าสมัย
SMS หรือ Short Message Service เป็นมาตรฐานการรับ และส่งข้อความสั้น ๆ โดยใช้เทคโนโลยีการรับส่งผ่านเครือข่ายมือถือ (ซึ่งแน่นอนว่ามีค่าใช้จ่ายในการส่งข้อความ) โดยมาตรฐานนี้เป็นมาตรฐานที่ใช้กันมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี ทำให้ฟีเจอร์ต่าง ๆ นั้นยังคงโบราณเหมือนเมื่อหลายสิบปีก่อนไม่มีผิด ตัวอย่างเช่น
- จำกัดการส่งข้อความเพียง 160 ตัวอักษรเท่านั้น
- ไม่รองรับการส่งรูปภาพ วิดีโอ ไฟล์ GIF ข้อความเสียง ฯลฯ (ถึงส่งได้ผ่าน MMS แต่ก็จำกัดขนาดไฟล์ และมีค่าบริการที่แพงพอสมควร)
- ไม่รองรับ Group Chat
- ไม่รองรับฟีเจอร์ที่สามารถดูได้ว่าผู้รับอ่านข้อความรึยัง หรือบอกว่าคู่สนทนากำลังพิมพ์อยู่
- ไม่มีการเข้ารหัส Encryption เสี่ยงต่อการถูกโจกรรมข้อมูลส่วนตัว (สำคัญที่สุด)
SMS ไม่ปลอดภัย
อย่างที่เรากล่าวไปข้างต้นว่า SMS เป็นระบบมาตรฐานการส่งข้อความที่โบราณมาก ๆ แล้ว และระบบ SMS ก็ไม่ได้ออกแบบมาให้เข้ารหัสข้อความต่าง ๆ เพื่อปกป้องความปลอดภัยของผู้ใช้งาน อีกทั้งยังไม่มีระบบการป้องกันต่าง ๆ ให้แน่ใจจะไม่มีใครเห็นข้อความของเรา, ไม่สามารถรู้ได้ว่าข้อความที่ต้นทางส่งมามีการถูกแก้ไขระหว่างทางรึเปล่า รวมถึงไม่สามารถรับรู้ตัวตนของผู้ที่ส่งข้อความมาเราได้
แถมในปัจจุบันบริการต่าง ๆ ทั้งระบบธนาคาร บัตรเครดิต หรือแม้กระทั่งการยืนยันตัวตนของแพลตฟอร์มต่าง ๆ ล้วนใช้ระบบ SMS จากปัญหาเหล่านี้ทำให้แฮ็กเกอร์ รวมถึงมิจฉาชีพส่วนใหญ่มองเห็นช่องโหว่จากความเก่าของระบบ SMS ที่ไม่ได้วางระบบความปลอดภัยมาให้ดี ทั้งให้ผู้ใช้งานตกอยู่ในความเสี่ยงในรูปแบบต่าง ๆ เช่น
- เสี่ยงต่อการโดนดักอ่าน SMS : ผู้ไม่หวังดีสามารถใช้ช่องโหว่จากผู้ให้บริการมือถือ เพื่อดักอ่านข้อความ SMS ของผู้ใช้งานได้ และแน่นอนว่าในเมื่อการยืนยันการทำธุรกรรมต่าง ๆ ล้วนใช้ SMS เป็นตัวกลางในการส่งข้อความ และเทคโนโลยีนี้ไม่มีการเข้ารหัสข้อความใด ๆ อาจทำให้ข้อมูลส่วนตัวของเราเกิดความเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรมได้
- เสี่ยงต่อการโดนส่งลิงก์ปลอมแปลง : ข้อนี้ดูเหมือนว่าน่าจะใกล้ตัวผู้ใช้งานหลาย ๆ คนในบ้านเรามากที่สุด เพราะผู้ไม่หวังดีสามารถส่ง SMS ที่ปลอมแปลงเป็นหน่วยงานต่าง ๆ พร้อมส่งลิงก์ดักข้อมูลส่วนตัว หลอกให้เรากดได้ (หรือที่เรียกกันว่า Phishing นั่นแหละ)
และอย่างที่ทราบกันดีว่าฟีเจอร์ที่ SMS ขาดหายไป กลายเป็นเทรนด์หลักในแอปแชตส่งข้อความในยุคนี้ แต่สิ่งที่ SMS มีอยู่กลับไม่ตอบโจทย์สักอย่าง แถมผู้ใช้งานทั่วโลกต่างตระหนักเรื่องความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวของข้อมูลกันมากขึ้น จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมระบบ RCS ควรขึ้นมาเป็นมาตรฐานกลางในการส่งข้อความผ่านมือถือสักที เพราะระบบ RCS ถือว่ากลบจุดอ่อนไว้หมดแล้ว
แล้ว RCS คืออะไร ดีกว่ายังไง?
RCS ย่อมาจาก Rich Communication Services เป็นมาตรฐานกลางการส่งข้อความใหม่ขององค์กรกำกับดูแลมาตรฐานการสื่อสาร (GSM Association) เหมือนกับที่ Bluetooth และ WiFi เป็นมาตรกลางการเชื่อมต่อที่มีองค์กรอย่าง Bluetooth SIG และ WI-Fi Alliance คอยกำกับดูแล โดย RCS ได้พัฒนาต่อยอดมาจาก SMS และได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2008
หลังจากนั้นในปี 2019 Google ก็ได้เป็นหัวเรือใหญ่ในการหยิบใช้ระบบที่ว่านี้มาใช้ในแอป Messages บน Android ในปี 2019 และ ณ ปัจจุบันก็มีสมาร์ทโฟน Android กว่า 500 แบรนด์เปลี่ยนมาใช้มาตรฐานที่ว่านี้แล้ว สรุปแล้ว RCS ดีกว่าของเดิมอย่างไร เหตุผลหลัก ๆ ก็ตามนี้เลย
RCS รองรับฟีเจอร์เยอะกว่า
แน่นอนว่าในเมื่อ RCS เป็นมาตรฐานใหม่ และมีการอัปเดตเรื่อย ๆ ทำให้ฟีเจอร์ยอดฮิตในแอปแชตต่าง ๆ มีอยู่ในระบบมาตรฐานที่ว่านี้แล้ว และด้วยความที่ RCS ใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตในการรับส่งข้อความ ทำให้ไม่มีค่าใช้จ่ายแฝงให้มึนงง เพราะคิดตามปริมาณการใช้เน็ตเหมือนเราคุย Line ธรรมดานี่แหละ โดยฟีเจอร์หลัก ๆ ที่ทำให้ RCS เหนือกว่า SMS อย่างไม่เห็นฝุ่น ได้แก่
- ไม่จำกัดจำนวนตัวอักษรต่อ 1 ข้อความ
- ส่งภาพ ภาพ GIF วิดีโอ เสียงคุณภาพสูง หรือไฟล์ขนาดใหญ่ได้
- รองรับการส่งสติกเกอร์ และ Reaction ในแต่ละข้อความ
- ใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ตไม่มีค่าบริการแอบแฝง คิดตามปริมาณเน็ตเหมือนแอปแชตทั่วไป
- รองรับฟีเจอร์แชตกลุ่ม
- ดูได้ว่าใครอ่านข้อความแล้ว
- รองรับการเข้ารหัสแบบ End-to-end Encryption
RCS ปลอดภัยขึ้น
ระบบ RCS มีจุดที่เหนือกว่า SMS อย่างเห็นได้ชัด คือเรื่องของความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน เพราะ RCS รองรับระบบการส่งข้อความแบบ End-to-End Encryption ซึ่งเป็นการส่งข้อความแบบเข้ารหัสที่มีเพียงแค่ผู้รับ และผู้ส่งเท่านั้นที่สามารถเปิดอ่านได้ ทำให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีใครสามารถเข้ามาแทรกแซงเพื่ออ่าน หรือดักข้อความของเราได้ ซึ่งก็รวมถึงตัวแพลตฟอร์ม ผู้ให้บริการเครือข่าย และหน่วยงานรัฐด้วย
นอกจากนี้ RCS ยังรองรับระบบยืนยันตัวตนสำหรับบริษัท องค์กร และหน่วยงานต่าง ๆ ว่าเป็นบัญชีของหน่วยงานนั้นจริง ๆ จะมีเครื่องหมายติ๊กถูกหลังชื่อเหมือนในแอปโซเชียล ซึ่งปลอมแปลงได้ค่อนข้างยาก และตรวจสอบได้ว่าข้อความที่ส่งมาในมือถือเรา ไม่ใช่ข้อความหลอกลวงที่มาพร้อมลิงก์ปลอมให้เรากดเพื่อดักข้อมูล หรือหลอกให้ดาวน์โหลดแอปต่าง ๆ ซึ่งตอนนี้กำลังระบาดอยู่ในบ้านเรานั่นเอง
ถ้า RCS ดีกว่า ทำไม Apple ไม่เข้าร่วม?
(อัปเดตล่าสุด 17 /11/ 2023 Apple ประกาศเตรียมใช้ระบบ RCS แทนที่ SMS แล้ว)
Apple ยังเป็น 1 ในแบรนด์ที่ยังคัดค้านไม่นำระบบ RCS เป็นมาตรฐานกลางในการส่งข้อความระหว่างแพลตฟอร์มเสียที ทั้ง ๆ ที่ตนก็มีแอปข้อความอย่าง iMessage ที่ทำได้เหมือนกับระบบ RCS แทบทุกอย่าง แต่การส่งข้อความข้ามแพลตฟอร์มระหว่าง Android และ iOS ต้องทำผ่าน SMS ซึ่งเป็นระบบที่ด้อยกว่าเท่านั้น ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ ของ Apple ที่ยังไม่ใช้ระบบ RCS ก็คงหนีไม่พ้นเรื่อง Eco-System ที่ต้องการใช้ผู้ใช้งานอยู่กับตนเองได้นานที่สุดนั่นแหละ
iMessage เป็นแอปข้อความที่ Apple พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้เฉพาะในระบบ iOS เท่านั้น และไม่เปิดให้ระบบปฏิบัติการณ์อื่นใช้งาน ทำให้ผู้ใช้งานส่วนใหญ่โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่ iMessage ฮิตมาก ๆ ตัดสินใจย้ายค่ายจาก iOS ไป Android ได้ยากขึ้น ถ้า Apple ยอมอ่อนข้อเปลี่ยนมาใช้ RCS อาจทำให้ผู้ใช้งานที่เคยผูกติดกับแบรนด์เปลี่ยนไปใช้สมาร์ทโฟนอื่น ๆ ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อบริษัทแน่ ๆ ทั้งในแง่ของยอดขายมือถือที่ลดลง และ iMessage ก็จะมีส่วนแบ่งการตลาดในแอปแชตน้อยลงด้วย
มีโอกาสที่ Apple จะเปลี่ยนมาใช้ RCS มั้ย?
ถ้าให้มอง ณ ปัจจุบันนั้น น่าจะยังไม่มีโอกาส เพราะตัว Tim Cook เองก็เคยออกมาให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้อยู่เหมือนกันในปี 2022 โดยเจ้าตัวเผยว่ายังไม่สนใจที่จะนำระบบ RCS มาใช้งานเป็นมาตรฐานการส่งข้อความใน iOS โดยให้เหตุผลว่า “ยังไม่มีผู้ใช้งานเรียกร้องฟีเจอร์ RCS มากถึงขนาดนั้น”
และเมื่อผู้สัมภาษณ์พูดถึงปัญหาเรื่องความไม่เข้ากันของทั้งฝั่ง Android และ iOS เวลาส่งภาพให้คนในครอบครัวดูผ่าน SMS แล้วภาพแตก Tim Cook ก็ได้ตอบกลับไปแบบแสบ ๆ ว่า “ซื้อ iPhone ให้แม่คุณสิ” ซึ่งแสดงถึงความแน่วแน่ว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงไปใช้ระบบใหม่แน่นอน อัปเดตล่าสุด 17 /11/ 2023 Apple ประกาศเตรียมใช้ระบบ RCS แทนที่ SMS แล้วในปี 2024
ทั้งนี้ Apple ก็มีสิทธิ์ที่จะโดนสหภาพยุโรป หรือ EU ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมานาน ก็อาจบังคับให้ iMessage ต้องปรับตัวไปใช้มาตรฐาน RCS ก็เป็นได้ แต่ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกันยายน 2023 Apple เพิ่งหลุดจากสถานะ “Gatekeeper” ซึ่งมีอำนาจในการควบคุมผู้เล่นอื่น ๆ ในกลุ่มแอปแชต เนื่องจาก Apple ได้อ้างว่า iMessage มีผู้ใช้งานเพียง 40 ล้านรายในตลาดยุโรปเท่านั้น ซึ่งไม่มากพอที่จะทำให้ตัวเองมีอำนาจเหนือตลาดได้
อย่างไรก็ดีถึงแม้ EU จะถอดสถานะ “Gatekeeper” ให้ iMessage แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า Apple จะรอดตัวแบบถาวร เพราะทาง EU ได้เก็บข้อโต้แย้งที่ว่านี้ไปพิจารณา และวิเคราะห์สถานะของตัวแอปกันใหม่อีกครั้ง โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5 เดือน (น่าจะได้คำตอบกันเร็วสุดภายในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2024) ซึ่งถ้า EU ตัดสินว่า Apple เข้าค่าย Gatekeeper จริง iMessage ก็จะถูกบังคับให้ใช้มาตรฐาน RCS ภายในเดือนสิงหาคม ปี 2024 นั่นเอง
สรุปทำไมต้องเปลี่ยนจาก SMS เป็น RCS
สรุปแล้วถึงแม้ว่า SMS จะเป็นมาตรฐานกลางที่ใช้แพร่หลาย และใช้กันมานานกว่าหลายสิบปี แต่ระบบ SMS ก็ยังมีช่องโหว่ต่าง ๆ ที่ไม่ปลอดภัยต่อตัวผู้ใช้งาน ดังนั้น Ecosystem ที่สร้างมาเพื่อความปลอดภัยอย่างแน่นหนา ก็อาจจะไม่ช่วยอะไรอยู่ดี
ดังนั้นการเปลี่ยนมาตรฐานการส่งข้อความจาก SMS เป็น RCS ที่มีทุกฟีเจอร์ครอบคลุมทุกการใช้งานในปัจจุบัน รวมถึงมีพัฒนาระบบความปลอดภัยที่แน่นหนากว่า จะช่วยยกระดับความปลอดภัยในการใช้งานมือถือให้กับทุกคนได้มากขึ้น รวมถึงช่วยให้การส่งข้อความข้ามระบบ iOS กับ Android ราบรื่น และไร้รอยต่อมากขึ้น
ตอนนี้ทั้ง Google และ Samsung ก็พยายามกดดันให้ Apple มาใช้ระบบ RCS อยู่ตลอด ซึ่งท้ายที่สุดแล้วฝั่ง Apple จะยอมมาเข้าร่วมหรือไม่ ต้องรอติดตามกันอีกทีหลัง EU พิจารณาเรื่อง Gatekeeper เสร็จในช่วงต้นปีหน้านะ
อ้างอิง: Google, The Verge (1) (2), Android Authority, Native
Comment