คงปฏิเสธไม่ได้ว่าโซนี่เองก็เป็นหนึ่งในผู้พัฒนามือถือ Android ที่ใส่ใจกับการอัพเดตระบบปฏิบัติการพอตัว และสามารถปล่อยอัพเดตให้กับมือถือตัวเองได้ค่อนข้างรวดเร็ว จะแพ้ก็เพียงแค่มือถือลูกรักของกูเกิลอย่าง Nexus, Pixel เท่านั้น ล่าสุดทางโซนี่ได้ปล่อย infographic ออกมาเพื่อบอกเล่าว่ากระบวนการทำซอฟต์แวร์อัพเดตมือถือเวลามี Android รุ่นใหม่ออกมานั้นดำเนินการกันอย่างไร

ขั้นตอนแรกสุดของการทำซอฟต์แวร์ตัวอัพเดตก็คือ

  1. ต้องรอทางกูเกิลส่ง Platform Development Kit (PDK) ซึ่งจะส่งมาก่อนที่ Android เวอร์ชันใหม่จะประกาศไม่กี่สัปดาห์ ตัว PDK เป็นพวก source code ที่ให้ทางผู้พัฒนานำไปปรับแต่งต่อได้
  2. ต่อมาเมื่อ Android รุ่นใหม่ถูกเปิดตัวเป็นที่เรียบร้อยถึงจะเริ่มลงมือพัฒนาระบบได้ ก็เริ่มจากการที่เอา source code Android ตัวใหม่นี่มาใช้ในระบบของโซนี่
  3. ขั้นตอนนี้จะเป็นการเข้าไปยุ่งกับการปรับแต่งให้ชุดซอฟต์แวร์ที่ได้รับมานั้นเข้ากับฮาร์ดแวร์ของทางโซนี่ เพราะว่าชิ้นส่วนองค์ประกอบต่างๆ ในเครื่องนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละเครื่อง ก็ต้องมีการปรับให้รองรับบนเครื่องดังกล่าวได้
  4. เมื่อจัดการความเข้ากันเสร็จ งานต่อไปก็คือการทำให้ฟังก์ชันพื้นฐานของมือถือใช้ได้ นั่นก็คือต้องโทรได้, ส่งข้อความได้ และต่อเน็ตได้
  5. เมื่อการทำงานพื้นฐานไม่มีปัญหาแล้วจึงจัดการซอฟต์แวร์และแอปของโซนี่เอง ไม่ว่าจะเป็น Lockscreen, Contacts, Music, Movies, Album, Camera, Smart Stamina, Xperia Assist, Email ซึ่งจะจัดการทั้งทำให้แอปรันได้ และหากมีฟีเจอร์เสริมในแต่ละแอปก็จะเพิ่มในขั้นตอนนี้เข้าไปเลย
  6. เมื่อสามารถใช้งานได้แล้วทางโซนี่ก็จะส่งซอฟต์แวร์นี้ให้ภายในบริษัททดสอบกันเพื่อดูว่าการใช้งานของซอฟต์แวร์ใหม่นี้ปกติดีหรือยัง โดยจะเน้นที่การทำงานและความเสถียรของเครื่อง หากมีปัญหาก็จะได้นำมารีบแก้ไขกัน
  7. ขณะเดียวกันก็จะทำการทดสอบในแล็บ รวมถึงหากลุ่มผู้ใช้งานภายนอกมาทดลองใช้งานด้วย ในส่วนนี้จะดูเรื่องความเสถียรและการใช้พลังงาน เมื่อทางโซนี่พอใจกับผลลัพธ์ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการส่งซอฟต์แวร์ไปตรวจและขอใบรับรอง (certificate)
  8. เมื่อซอฟต์แวร์พร้อมแล้วทางโซนี่ก็จะส่งไปเพื่อขอใบรับรองอย่างพวก Bluetooth and WiFi certificate และใบรับรองอีกหลายๆ อย่างเพื่อให้ตรวจสอบว่าผ่านมาตรฐานและมีประสิทธิภาพที่ดีแล้ว
  9. ใบรับรองได้มาแล้ว ต่อมาก็คือการติดต่อกับผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ เพราะบางเครือข่ายจะต้องการซอฟต์แวร์ปรับแต่งพิเศษ ซึ่งในการปรับแต่งนั้นทางผู้ให้บริการเครือข่ายเองก็จะเข้ามาร่วมทดสอบระบบด้วยแล้วจึงจะอนุมัติให้ใช้งานได้
  10. ปล่อยอัพเดต! เมื่อผ่านใบรับรองต่างๆ และได้รับการอนุมัติแล้วก็จะปล่อยอัพเดตให้ผู้ใช้งานมือถือรุ่นต่างๆ ที่ได้อัพเดตครับ

    ภาพขนาดเต็มๆ ครับ คลิกดูได้เลย

  11. งานยังไม่จบเท่านี้ เพราะทางโซนี่ยังต้องคอยติดตามเสียงตอบรับผ่านเว็บบอร์ดของตัวเอง รวมถึงสื่อโซเชียลเพื่อดูว่าผู้ใช้งานมีความคิดเห็นอย่างไร ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์สำหรับทางทีมพัฒนาซอฟต์แวร์ในการวางแผนการอัพเดตต่างๆ ของทางโซนี่เองที่ไม่เกี่ยวกับการอัพเดตเวอร์ชัน Android นั่นเอง

Play video

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ ดูขั้นตอนเยอะและยาวนานเอาเรื่อง แต่กระบวนการเหล่านี้เองที่ทำให้โซนี่สามารถปล่อย Android 8.0 ออกมาให้กับ Xperia XZ Premium ได้อย่าง(ค่อนข้าง)สมบูรณ์และรวดเร็ว พร้อมทั้งยังอัพเดตแอปกล้องของเครื่องแก้ไขปัญหาที่ผู้ใช้งานร้องเรียนเข้าไปแล้วด้วย

สำหรับกระบวนการที่เราอ่านมาทั้งหมด ผมเชื่อว่าก็น่าจะมีผู้ผลิตเจ้าอื่นที่ทำงานในลักษณะใกล้เคียงกัน แต่จุดแตกต่างหลักก็น่าจะเป็นส่วนของฮาร์ดแวร์และการปรับแต่งซอฟต์แวร์เพิ่มเติมของแต่ละแบรนด์ ทำให้ใช้เวลาแตกต่างกันออกไปนั่นเอง ก็หวังว่าน่าจะพอเห็นภาพรวมของการปล่อยอัพเดตของมือถือ Android กันเนอะ

 

ที่มา: Sony Mobile Blog