เพิ่งเริ่มปีมาได้ไม่นาน ยังไม่ค่อยมีมือถือรุ่นใหม่ออกมานักทางเราก็เลยจับเอาหูฟังมารีวิวกันบ้างครับ โดยสำหรับรุ่นที่ผมนำมารีวิวก็คือหูฟัง WI-1000X จากโซนี่ที่เปิดตัวไปเมื่อกันยายนปีที่แล้ว โดยจุดเด่นของรุ่นนี้ก็คือการตีตราด้วยรหัส 1000X ที่เป็นซีรีส์ Noise Canceling มีระบบตัดเสียงรบกวนระดับทอปของโซนี่ใส่มาให้ในตัว และการที่ใช้ไดรเวอร์ขับเสียงเป็นแบบผสม (Hybrid Driver) ที่ใช้ตัวขับ Dynamic และ Balanced Armature ผสมกันเพื่อขับเสียงความถี่ที่ต่างกันนั้นเอง

MDR-1000X ที่ได้คะแนนรีวิวยอดเยี่ยม

เกริ่นกันสักเล็กน้อยกับรหัส 1000X ของโซนี่ว่ามันคืออะไร สำหรับรหัสนี้เกิดมาจากหูฟังแบบครอบหู MDR-1000X ในปีก่อน (2016) ที่โซนี่เปิดตัวมาพร้อมระบบตัดเสียงรบกวนที่อัพเกรดใหม่ และทำผลงานออกมาได้ดีระดับที่ถูกเทียบว่าโค่นหูฟัง Quiet Comfort ของทาง Bose ได้เลยครับ ถูกเว็บรีวิวจัดอันดับให้อยู่ในระดับเท่ากันบ้างหรือชนะเฉือนกันบ้าง (ส่วนโทนเสียงนั้นแล้วแต่ความชอบนะครับ)

1000X Series (2017)

พอโซนี่เห็นว่าการตอบรับดีก็ได้เลยสานต่อ ออกผลิตภัณฑ์ซีรีส์นี้ออกมาทั้งหูฟังครอบหูที่อัพเกรดและเปลี่ยนชื่อเป็น WH-1000XM2, หูฟัง Wireless In-ear แบบคล้องคอ WI-1000X ตัวที่ผู้อ่านกำลังจะได้อ่านรายละเอียดจากผม และรุ่น Truly Wireless In-ear ไร้สายโดยแท้จริงคือ WF-1000X ซึ่งทั้ง 3 ตัวนี้จะมีความสามารถด้านการตัดเสียงรบกวนที่อยู่ในระดับเดียวกัน แต่ก็มีฟีเจอร์บางอย่างแตกต่างออกไป

 

รายละเอียดสเปค

เอาล่ะ เรามาดูสเปคของ WI-1000X กันดีกว่าครับ

  • ไดรเวอร์ขับเสียงแบบผสม แบ่งเป็น แบบไดนามิคขนาด 9 มม. และไดรเวอร์ Balance Armature 1 ตัว
  • ช่วงความถี่ตอบสนองผ่าน Bluetooth
    • Sampling 44.1 kHz: 20 Hz – 20,000 Hz
    • Sampling 96 kHz: 20 Hz – 40,000 Hz (LDAC)
  • สามารถต่อสาย 3.5 mm ได้ทั้งแบบไม่ใช้แบต (ไม่ใช้งานฟีเจอร์ต่างๆ) และใช้แบต (NC, Ambient Sound, S-Master HX, DSEE HX)
  • ช่วงความถี่ตอบสนองผ่านสาย 3 Hz – 40,000 Hz
  • Bluetooth 4.1, รองรับ LDAC, aptX HD
  • ใช้แอมป์ S-Master HX, รองรับการอัพสเกลด้วย DSEE HX
  • แบตเตอรี่ใช้งานได้ 10  ชั่วโมง เมื่อใช้งาน NC / 14  ชั่วโมง เมื่อปิด NC, ชาร์จผ่าน Micro USB
  • รองรับชาร์จไว ชาร์จเพียง 15  นาที ใช้งานได้ 70  นาที
  • มีสี ดำ และ ทอง

 

แพคเกจและหน้าตา

มาที่แพคเกจของตัวหูฟังกันต่อครับ หน้าตาของกล่องก็จะใหญ่ๆ หน่อยตามสไตล์หูฟังโซนี่ ที่กล่องดูดีกว่ามือถือเสมอ (ฮา)

แกะออกมาก็จะมีกล่องแข็งแบบฝาพับอีกชั้นหนึ่ง ตราโลโก้ SONY ไว้หน้ากล่องชัดเจน

เปิดฝาออกมาก็จะเจอกับตัวหูฟังครับ จัดเรียงลงล็อกมาอย่างสวยงาม

ข้างใต้ก็จะอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น

  • สายชาร์จ Micro USB
  • หัวแปลง 3.5 mm สำหรับใช้งานบนเครื่องบิน
  • สายแปลง Micro USB เป็น 3.5 mm สำหรับเสียบพอร์ทของหูฟังไปเข้ากับรู 3.5 ฝั่งมือถือ / เครื่องเล่นเพลง
  • ชุดจุกหูฟังแต่ละไซส์, มี 2 แบบคือซิลิโคน และแบบโฟม
  • ถุงซิปสำหรับใส่หูฟัง / สาย (อยู่ด้านหลังแผ่นรองหูฟังในกล่อง)
  • เอกสารประกันและคู่มือต่างๆ

ถือว่าให้มาค่อยข้างครบครันครับ ส่วนที่ผมชอบเป็นพิเศษก็คือถ้าแบตหูฟังหมดก็ยังหยิบเอาสายมาต่อใช้งานได้ ซึ่งผมไม่ค่อยเห็นหูฟัง wireless in-ear จะทำออกมาเท่าไรนัก ส่วนใหญ่จะทำให้ในหูฟังแบบครอบหู

กลับมาที่ตัวหูฟังครับ มาดูกันว่าแต่ละส่วนของหูฟังมันคืออะไรบ้าง หูฟังแต่ละข้างนั้นจะมีสายที่ยึดติดกับก้านหูฟังครับ และสามารถกดให้สายลงเข้ากับล็อกบนก้านได้เพื่อเก็บสายให้สั้นลง จะได้ไม่แกว่งเกะกะเวลาเดินหรือถือ เวลาจะเอาออกมาก็แค่ดึงครับ สายแข็งแรงพอตัวเลยครับ ไม่ต้องกังวลว่าสายจะขาดง่าย

ก้านที่เป็นส่วนคล้องคอนั้น ฝั่งซ้ายจะมีเสาอากาศสำหรับเชื่อมต่อ Bluetooth ฝังอยู่ภายใน พร้อมกับมีปุ่มควบคุมต่างๆ จากด้านในออกไปด้านนอกดังนี้ครับ

  • ไฟ LED แสดงสถานะ (น้ำเงิน – เชื่อม Bluetooth, แดง – แบตใกล้หมด/ชาร์จอยู่, น้ำเงินสลับแดง – ตอนเปิด pairing)
  • ปุ่ม power / Bluetooth Pairing
  • ปุ่มลดเสียง
  • ปุ่มเพิ่มเสียง
  • ปุ่ม play-pause, skip/back, forward/rewind
  • พอร์ท Micro USB สำหรัชาร์จ/เสียบแปลงเป็นสาย 3.5 ม.ม. (เยื้องมาด้านล่างของปุ่ม play/pause)

โดยปุ่ม power นั้นถ้ากดค้างขณะหูฟังปิดอยู่ ก็จะเป็นการเปิดขึ้นมาครับ สามารถจับคู่กับอุปกรณ์ Bluetooth ได้เลย แต่ว่าถ้าหากเคยจับคู่มาก่อนแล้วจะไปจับกับอุปกรณ์ใหม่ ต้องกดเปิดแบบกดค้าง 7 วินาทีครับ จะมีเสียงบอกเปิดแล้วรออีกนิดนึงจะบอกว่า Bluetooth Pairing และเปิดให้อุปกรณ์อื่นค้นหาเจอได้, หรือถ้ามือถือใครมี NFC ก็แปะไปที่ทางหลังก้านขวาเครื่องได้เลยครับ

ปุ่มเพิ่ม-ลด เสียงนั้นปกติไม่มีอะไรแปลก ส่วนปุ่ม play/pause นั้นก็คือเมื่อกด 1 ครั้งจะเล่นหรือหยุดเพลง, กด 2 ครั้ง เพื่อข้ามไปเพลงถัดไป / กด 2 ครั้งแล้วค้างเพื่อเร่งเพลงไปข้างหน้า, กด 3 ครั้งเป็นการย้อนไปเพลงก่อน / กด 3 ครั้งแล้วค้างเพื่อกรอเพลงกลับไปก่อนหน้าครับ

ส่วนฝั่งขวาของก้านหูฟังจะมีปุ่มปรับโหมดการตัดเสียงรบกวนครับ ตอนที่หูฟังถูกเปิดขึ้นมานั้นจะเข้าสู่โหมด Noise Canceling (NC) โดยอัตโมัติ ปุ่มนี้จะปรับโหมดไปตามการกดครับโดยมีวงจรคือ NC -> Ambient ->  Off เช่น ถ้าเป็น NC อยู่พอกดจะกลายเป็นโหมด Ambient, กดต่อจะเป็น Off คือไม่มีการใช้งานไมค์มาเกี่ยวข้อง จะเหมือนหูฟังปกติ, กดอีกครั้งก็จะกลับมาเป็น NC ครับ โดยจะมีไฟระบุไว้ด้วยว่าเป็นโหมดอะไร (NC เขียว, Ambient เหลือง, Off ไม่มีไฟ) และถ้ากดค้างไว้จะเป็นการเรียกใช้ NC Optimizer สำหรับปรับให้เข้ากับสภาพความดันอากาศ ณ จุดที่เราอยู่

 

Headphones App

 

 

ในหูฟังรุ่นใหม่ๆ นั้นโซนี่ได้ออกแบบมาให้ใช้งานร่วมกับแอปที่ชื่อว่า Headphones ที่โซนี่พัฒนาขึ้นเอง (โหลดได้ทั้ง Android และ iOS) ได้ด้วย ซึ่งฟีเจอร์และการใช้งานก็จะแตกต่างออกไปในแต่ละด้วยครับ โดยสำหรับเจ้า WI-1000X นั้นสามารถใช้งานฟีเจอร์ได้ดังนี้

  1. Adaptive Sound Control เป็นฟีเจอร์ที่จะใช้เซนเซอร์ในตัวมือถือเพื่อวิเคราะห์อิริยาบถของเราว่านั่งอยู่เฉยๆ (Staying) เดินอยู่ (Walking) วิ่งอยู่ (Running) หรือว่ากำลังอยู่บนยานพาหนะอย่างรถเมล์ รถไฟฟ้า (Transport) แล้วสามารถปรับการตัดเสียงรบกวนหรือการเปิดรับเสียงภายนอกได้ตาม profile ที่ตั้งไว้
  2. Ambient Sound Control สำหรับกรณีที่ไม่ได้เปิดใช้ Adaptive Sound Control ก็จะสามารถปรับการระดับการตัดเสียงรบกวนได้ตั้งแต่ตัดหมดเลย, เฉพาะเสียงลม หรือเปิดให้มีเสียงเข้าบ้างเป็นระดับๆ ไป หรือเน้นที่เสียงคนก็ได้
  3. Noise Canceling Optimizer ตัว WI-1000X นั้นรองรับการปรับการตัดเสียงรบกวนโดยคำนวณความกดอากาศด้วย เช่น เวลาที่อยู่บนเครื่องบินความกดอากาศจะลดลง เราก็สามารถสั่งปรับให้หูฟังเปลี่ยนการตัดเสียงรบกวนให้พอดีกับความกดอากาศตอนนั้นได้นั่นเอง โดยจะปรับได้เข้ากับความดันอากาศที่ 0.7 atm อันนี้เป็นฟีเจอร์ใหม่ในซีรีส์ (เฉพาะ WH-1000XM2, WI-1000X) นี้ที่โซนี่นำเสนอมาให้ตอบโจทย์คนเดินทางด้วยเครื่องบินบ่อย
  4. Sound Position Control ปรับการจำลองทิศทางของเสียง
  5. Surround (VPT) จำลองเสียงในสภาพแวดล้อมต่างๆ
  6. Equalizer
  7. Now Playing ควบคุมการเล่นเพลงของแอปต่างๆ ผ่านตรงนี้ได้ เช่น เปิด Spotify ก็จะปรากฏตรงนี้ หรือถ้าเป็นแอป Music ในเครื่องก็ได้เช่นกัน
  8. Sound Quality Mode เลือกการส่งข้อมูลผ่าน Bluetooth ว่าจะส่งแบบเน้นคุณภาพเสียง (เครื่องที่รองรับ LDAC ก็จะใช้งาน LDAC) หรือจะส่งแบบเน้นการเชื่อมต่อที่เสเถียร (SBC codec)
  9. DSEE HX สำหรับเปิดเพื่ออัพสเกลไฟล์เพลง lossy ให้ใกล้เคียง lossless
  10. Standby with power saving ถ้าเปิดจะเป็นการสั่งให้ ปิดการใช้งาน NC, Ambient เมื่อไม่ได้เล่นเพลงอยู่
  11. Vibration for incoming call เปิดให้ก้านหูฟังสั่นเวลามีสายเข้า …สั่นแรงเหมือนกันครับ ลองมาแล้ว และแม้จะไม่ได้เปิดเสียงโทรศัพท์ไว้ก็จะมีเสียงเรียกเข้าดังที่หูฟังนะครับ ถ้าใส่อยู่ยังไงก็รู้ตัว

รายชื่อหูฟังที่รองรับการใช้งานร่วมกับแอป

จุดเด่นที่ผมว่าทำให้แอปน่าใช้หลักๆ คือการใช้งาน Adaptive Sound Control ครับ เพราะพอใช้ร่วมกับมือถือแล้วทำให้หูฟังมันดูฉลาดขึ้นมาพอสมควร อย่างเวลาผมเดินทาง ระหว่างเดินผมปรับให้ัตัดเฉพาะเสียงลมและได้ยินข้างนอกบ้าง พอวิ่งสั่งให้เปิดฟังเสียงข้างนอกแบบชัดๆ จะได้ระวังคนหรือรถได้ พอเราหยุดเดินหรือวิ่งสักพัก มันก็จะปรับให้เป็นสถานะอยู่กับที่ ผมตั้งให้เปิดรับเสียงคนไว้เผื่อใครทักใครเรียก พอขึ้นบนรถเมล์รถไฟฟ้า มันก็จะรู้ว่าเดินทางด้วยพาหนะแล้วก็จะปรับให้เปิด NC แบบเต็มที่ตามที่ผมตั้งไว้ ซึ่งการตั้งค่าพวกนี้สามารถได้เองตามความชอบเลยครับ

 

เสียงของหูฟัง

มาถึงจุดสำคัญที่คนเลือกหูฟังต้องใส่ใจกันแล้วครับ โดยผมจะหยิบจุดที่สังเกตได้ชัดมา พร้อมกับเปรียบเทียบกับหูฟัง Noise Canceling ตัวเก่าที่ผมเคยใช้อย่าง MDR-NC750 ที่เป็นหูฟัง NC สำหรับใช้คู่กับมือถือ Xperia นะครับ

จุดเด่นของเสียงจาก WI-1000X ที่สังเกตได้ตั้งแต่เริ่มฟังเลยคือกำลังขับเสียงมันทำให้ได้เสียงที่ดัง แต่ไม่ใช่ดังเฉยๆ มิติของเสียงมันยังหลากหลายด้วย เทียบกับตัวเก่าที่ผมใช้จะรู้สึกว่าของเก่าเสียงมันจะแบนๆ เสียงร้องกับเสียงดนตรีจะอยู่ในระดับเดียวกัน ดังก็ดังพร้อมกัน เบาก็เบาหมด แต่ตัว WI-1000X นั้นทำให้เราฟังออกว่าเสียงร้อง เสียงเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นมันแยกจากกัน เข้าใจว่าน่าจะเป็นข้อได้เปรียบที่เกิดจากการใช้งานแอมป์ S-Master HX ที่มาในตัวหูฟังเอง เพราะฉะนั้นแม้ว่าเราจะฟังเสียบสายแบบปิดหูฟังได้ แต่ผมชอบเปิดมากกว่า เพราะนอกจากใช้ NC แล้วก็ยังได้แอมป์ S-Master HX มาเสริมอีกด้วย

เสียงร้อง จะรู้สึกว่าตำแหน่งค่อนข้างใกล้ตัวเรา ในขณะที่เครื่องดนตรีจะกระจายๆ ไปรอบๆ ตัว และตามทิศทางของเสียงสเตอริโอ WI-1000X นั้นถือว่าเป็นหูฟังที่ทำสเตจเสียงได้กว้าง รู้สึกได้ว่าไกลกว่าหูฟัง in-ear ส่วนใหญ่ในตลาด (แต่ผมก็ยังไม่ได้เทียบกับ in-ear ตัวทอปๆ ราคาระดับใกล้ๆ กันนะครับ) ทำให้การฟังจะฟังได้ค่อนข้างสบาย ไม่บีบอัด

เสียงย่านต่ำหรือเบส นั้นจะค่อนข้างกระชับ ลงลึกแต่กลับตัวได้เร็ว ได้ยินค่อนข้างครบทุกย่านเบส เสียงกลองจะฟังสนุกครับ ทำให้จะฟังป๊อป ร็อคก็สนุก หรือออกมาทางแจ๊สก็ฟังเพลินๆ หูดีครับ

เสียงย่านความถี่สูง จะเป็นการใช้ driver แบบ Balanced Armature มาช่วย ฟังแล้วจะรู้สึกแตกต่างจากหูฟังที่ใช้ Dynamic driver เดี่ยวๆ ครับ อย่างแรกที่สังเกตได้ชัดคือเก็บเสียงแหลมได้เนี้ยบ ไม่บาดหู ได้ยินครบจบปลายแล้วเงียบลงตามเสียงของมันเอง และจุดสังเกตอีกอย่างก็คือเวลาเพลงมีเสียงต่ำและสูงควบคู่กันจะฟังออกว่ามีแหล่งกำเนิดเสียงมากกว่า 1 จุด ทำให้ได้มิติของเสียงเพิ่มขึ้นมา เสียงเครื่องสายต่างๆ ก็ฟังแล้วชัดเจน ใช้ฟังแนว Acoustic ได้ดีเช่นกันครับ

 

LDAC คืออะไร ดีจริงมั้ย ?

 

เพลงความละเอียดสูง

 

ช่วงปลายปีที่แล้วน่าจะมีคนได้ยินคำว่า LDAC มากขึ้น แต่จริงๆ เป็นเทคโนโลยีที่โซนี่พัฒนาขึ้นมาหลายปีแล้ว แต่ที่เริ่มได้ยินกันแพร่หลายมากขึ้นก็เพราะว่าโซนี่ได้ร่วมกับกูเกิลนำเทคโนโลยีนี้ไปใส่เป็นพื้นฐานให้กับ Android 8.0 Oreo นั่นเอง จากเดิมที่ต้องใช้ Xperia หรือ Walkman เพื่อใช้ LDAC ตอนนี้กลายเป็นเปิดกว้างให้อุปกรณ์ Android ที่รองรับใช้งานได้ด้วยแล้ว

LDAC เป็นเทคโนโลยีการส่งข้อมูลผ่าน Bluetooth ที่โซนี่พัฒนาต่อยอดเพิ่มให้สามารถส่งข้อมูลได้มากขึ้นกว่าการเชื่อมต่อแบบปกติ (SBC Codec) โดยตามสเปคแล้วสามารถส่งข้อมูลเพลงความละเอียดสูงได้ถึงระดับ Sampling rate 96kHz และมี bit depth สูงสุดที่ 24 bit หรือในระดับที่เรียกว่าเป็นไฟล์เพลง Hi-Res นั่นเอง

เพลงความละเอียดระดับ CD

การที่จะใช้งาน LDAC ได้นั้นต้องมีอุปกรณ์ที่รองรับทั้งในฟังของเครื่องเล่นเพลง (มือถือ) และเครื่องเสียง (หูฟัง, ลำโพง) และขณะนี้แม้โซนี่จะเปิดให้มือถือ Android เชื่อมต่อผ่าน LDAC Codec ได้ แต่หูฟังที่รองรับ LDAC ก็ยังมีแต่ของโซนี่เองครับ พูดอีกอย่างคือ ถ้าอยากใช้ ก็ต้องมาซื้อหูฟังโซนี่ไปใช้… ไปร่วมกับกูเกิลเพราะวางแผนยังงี้ไว้สินะโซนี่ ฮ่าๆ

ด้วยความโชคดีที่ผมใช้ Xperia Z5 อยู่ ทำให้ระหว่างการใช้งานผมเปิดการเชื่อมต่อเป็น LDAC ได้ และได้ลองเปรียบเทียบระหว่างการฟังเพลงผ่าน LDAC และ Bluetooth ปกติ (SBC) ก็ฟังออกอยู่ครับว่ามีความแตกต่างกัน คือในแง่ของรายละเอียดเสียงยิบย่อยนั้นไม่แน่ใจนัก เพราะส่วนใหญ่ผมฟังระหว่างเดินทาง แต่สำหรับเรื่องไดนามิค จังหวะเงียบ จังหวะดังของเสียงในเพลงนั้นจะแตกต่างกัน การฟังผ่าน LDAC จะได้ไดนามิคที่กว้างกว่า SBC เวลาเงียบจะเงียบกว่า ดังจะดังกว่าและเสียงแต่ละเสียงนั้นมีความเป็นเอกเทศจากกันชัดกว่า เสียงไม่ตีกันนัก โดยรวมฟังแล้วก็ชอบ LDAC ครับ

 

Noise Canceling และ Ambient Sound

ไมโครโฟนอยู่หลังหูฟัง ใช้ทั้งกับ NC และคุยโทรศัพท์

หนึ่งในฟีเจอร์หลักของ WI-1000X ก็คือการตัดเสียงรบกวน (Noise Canceling: NC) และการเปิดให้รับเสียงภายนอกเข้าไป (Ambient Sound) ทั้ง 2 อย่างนี้เป็นการใช้งานไมโครโฟนที่อยุ่หลังตัวหูฟังในการรับเสียงภายนอกเข้ามา ตัว NC คือการสร้างคลื่นเสียงส่วนกลับให้เกิดการหักล้างเสียงภายนอก ทำให้เราไม่ได้ยินเสียงภายนอก หรือได้ยินเบาลง ส่วน Ambient Sound นั้นก็คือการปล่อยให้เสียงเข้าไมโครโฟนมาเป็นเสียงที่เราได้ยินจากหูฟังนั่นเอง

จากที่ผมทดลองใช้มาสักพักก็พบว่าการทำงานส่วนของ NC นั้นทำให้เราได้ยินเสียงเพลงชัดขึ้นเยอะเลยครับ แต่สังเกตว่าการตัดเสียงรบกวนของหูฟังกลุ่ม 1000X จะแตกต่างไปกับตอนตระกูล h.ear รุ่นก่อน (h.ear in NC, h.ear on NC) นั่นก็คือเหมือนมีการไล่ระดับ ในย่านความถี่ต่ำนั้นจะเงียบกว่าแบบเดิม ส่วนย่านความถี่สูงจะได้ยินมากกว่า แต่ก็ยังถือว่าเงียบอยู่ครับ

สำหรับโหมด Ambient Sound ที่เปิดให้เราได้ยินเสียงภายนอก ผมได้ทดสอบตั้งค่าให้เปิดรับเสียงแบบสูงสุดและเน้นที่เสียงพูด พบว่าถ้าเราไม่หรี่เสียงเพลงลงหน่อย เสียงที่เข้ามาก็จะโดนเสียงเพลงกลบไปมากอยู่ครับ ถ้าจะให้พอดีๆ แบบฟังเพลงได้แต่ไม่ดัง และได้ยินคนข้างๆ คุยกันผมก็จะปรับความดังเพลงอยู่ที่ราว 4-5 จากสุดที่ 15

 

ระหว่างใช้เจอปัญหาอะไรบ้าง ?

  • LDAC นั้นได้คุณภาพเสียงดีก็จริง แต่แลกกับความเสถียรในการเชื่อมต่อ ฟังตอนเดินห้างนี่เสียงขาดหายแทบตลอดครับ ปรับเป็น SBC แล้วฟังได้ไม่ติดขัดเลย
  • ช่วงที่ผมต่อกับ Xperia Z5 พบว่าเครื่องร้อนง่ายมากและแบตไหลค่อนข้างเร็ว เข้าใจว่า LDAC ใช้งาน CPU หนักกว่าการเชื่อมปกติ แต่ที่ร้อนอาจจะเพราะ Snapdragon 810 เพราะว่าตอนไปต่อกับ Xperia XZ1 นั่นไม่พบปัญหานี้
  • มีปัญหาการทำงานกับแอป Headphones ตอนใช้กับ Xperia Z5 คือเปิดมาบอกว่าต่อกับหูฟังไม่สำเร็จ บ่อยมาก แก้ไขด้วยการรีเครื่อง Xperia Z5 แต่พอทดสอบใช้กับ Xperia XZ1 กลับไม่มีปัญหา อันนี้แนะนำว่าให้โหลดแอปไปลองกับที่สโตร์ดูครับว่าเจอปัญหาหรือเปล่า
  • เครื่องเล่นเพลง (มือถือ) มีผลในการใช้งานแบบรู้สึกได้ ผมลองหยิบ Xperia XZ1 ของออฟฟิศมาเป็นเครื่องเล่นแทน Xperia Z5 แล้วพบว่าฟังผ่าน LDAC เสถียรกว่า แทบไม่เจอเสียงขาดเลย ไม่แน่ใจว่าเพราะชิปสัญญาณดีกว่า หรือเพราะเครื่องเล่นที่เป็น Bluetooth 5 จะมีผล
  • ผมนั่งรถเมล์ “บางคัน” แล้วพบว่ามีปัญหากับระบบ NC ด้วยแรงสั่นระหว่างอยู่บนรถเมล์ (เข้าใจว่าจังหวะวิ่งบนลูกคลื่นชะลอความเร็ว) ทำให้เกิดเสียงของระบบ NC ที่เหมือนผิดจังหวะ กลายเป็นเสียง วี้ๆ ไม่ดังมาก เวลาที่รถสั่น แต่พอลองเปลี่ยนจุกหูฟังเป็นแบบโฟมที่แน่นขึ้นกลับไม่ยินเสียงแล้ว
  • NC Optimizer ไม่ควรไปกดเล่น เพราะบางทีกลายเป็นตัดเสียงซ้าย-ขวาไม่ค่อยเท่ากัน เหมือนมันจะฟังความดังของเสียงรอบข้างเราไปประกอบการปรับด้วย
  • ตำแหน่งพอร์ท Micro-USB ประหลาด เวลาชาร์จะจะกินที่ ต้องหาที่วาง, น่าจะปรับมาใช้ USB-C แทนเลย

จุดเด่นที่ชอบ

  • เบาสบาย ห้อยคอได้ทั้งวัน ถ้ากลัวสายห้อยก็กดรูดให้เข้าล็อกเก็บสายไปชิวๆ และถ้าเดินทางก็ยังมีซองซิปให้ใส่เก็บได้อีก
  • แบตเตอรี่ได้ตามที่เคลม ต่อ Bluetooth พร้อมเปิด NC ตั้งแต่ 11 โมง ไม่หยุดกลางคัน เล่นเพลงเกือบตลอด แบตหมดตอนเกือบๆ 4 ทุ่ม
  • ชาร์จค่อนข้างเร็ว เสียบชาร์จสัก 10 นาที ก็ใช้ต่อได้นานแล้ว (สเปคระบุว่าชาร์จ 15 นาทีใช้ได้ 70 นาที / 3.5 ชั่วโมงเพื่อชาร์จเต็ม)
  • Adaptive Sound Control ปรับได้ค่อนข้างแม่นยำ ทั้งช่วงเดิน-วิ่ง และการที่ยืนบนรถไฟฟ้าก็รู้ว่าเป็นการเดินทาง
  • ระบบ NC ตัดเสียงได้ดี แม้ว่าโทนเสียงสูงจะเข้าเยอะกว่ารุ่นก่อน แต่ย่านต่ำนั้นเงียบกว่าเก่าเยอะ เสียงเครื่องยนต์เวลาเดินทางจะเงียบไปมาก ทำให้ฟังเบสจากเพลงได้ชัดขึ้นกว่าเดิม
  • เป็นหูฟัง Wireless ตัวแรกที่ฟังแล้วชอบ ฟังสนุก ได้เสียงที่มีคุณภาพดีที่สุดเท่าที่เคยลองมา
  • แม้จะเป็น Wireless แต่ก็มีสายให้เลือกต่อ ทำให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีขึ้นอีก (เปิดใช้ไฟหูฟัง) รวมถึงหมดห่วงเวลาแบตหูฟังหมดก็ยังใช้ได้

 

สำหรับ WI-1000X นั้นมีค่าตัวที่สูงพอตัวครับ อยู่ที่ 11,990 บาท หาซื้อได้ตามโซนี่สโตร์หรือร้านตัวแทนจำหน่ายครับ หรือใครเป็นนักส่องโปรออนไลน์ก็หาส่วนลดพอได้อยู่ครับ วันก่อนผมเองก็เพิ่งจัดมาใช้เอง (ตัวที่ริวิวเป็นเครื่องจากทางโซนี่ให้ยืมมา) ไปอย่างรวดเร็วเพราะเจอโปรลดไปเยอะอยู่

อ้อ แล้วก็ WI-1000X ตัวนี้จะได้อัพเดตจากทางโซนี่ให้รองรับการใช้งานกับ Google Assistant ด้วยครับ ซึ่งคาดว่าอัพเดตจะมาภายในไม่เกินเดือนนี้ ถ้าผมได้ทดลองใช้แล้วจะมาเขียนอธิบายเพิ่มเติมครับว่าทำอะไรได้ขนาดไหน ส่วนสำหรับการรีวิวเรื่องอื่นๆ ก็คงจบเพียงเท่านี้ครับ ใครมีคำถามสงสัยอะไรคอมเมนท์ถามได้เลย ถ้าผมตอบได้จะตอบให้ครับ