TCL และ Hisense กำลังเผชิญคดีฟ้องร้องแบบกลุ่มในสหรัฐฯ (คนละคดี – คนละศาล แต่รายละเอียดสำคัญเหมือนกันเกือบทั้งหมด) ในข้อหา ‘โฆษณาหลอกลวง’ โดยกลุ่มลูกค้าอ้างว่าทีวี QLED ของทั้ง 2 ค่าย ไม่มีเทคโนโลยี quantum dot (QD) ที่ให้สีสันสดใสโดดเด่นอย่างที่นำเสนอ หรือมีอยู่ในปริมาณที่น้อยมากจนแทบไม่ต่างจากทีวี LCD (LED) ทั่วไป

อนุภาค quantum dot ทำหน้าที่บล็อกแสงจากแบ็กไลต์ตามความยาวคลื่นต่าง ๆ ที่แตกต่างกันไป จนเกิดเป็นสีสันตามต้องการ

ตัวแทนโจทก์บอกว่าการกระทำของ TCL และ Hisense เป็นการฉ้อโกงโดยเจตนา หากลูกค้ารู้ความจริงว่าประสิทธิภาพการแสดงผลของทีวีไม่ได้ดีจริงตามที่อวดอ้าง หลายคนคงไม่หลวมตัวซื้อแต่แรก สู้กำเงินไปสอย LCD ระดับรองลงมาที่ไม่แปะป้าย QLED ไว้ อาจประหยัดเงินได้อีกหลายพันบาท

คดีนี้มีการเรียกร้องให้ TCL และ Hisense หยุดเผยแพร่โฆษณาที่เป็นเท็จ พร้อมเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นตามจริงโดยไม่ระบุจำนวนเงิน และค่าชดเชยอื่น ๆ ตามที่ศาลเห็นว่าเหมาะสม หาก TCL และ Hisense ถูกตัดสินว่าผิดจริง

TCL ถูกแฉมาตั้งแต่ปีก่อนแล้ว

กรณีของ TCL ในคำฟ้องมีการอ้างอิงถึงผลทดสอบทีวีจำนวน 3 รุ่น ได้แก่ C655, C655 Pro และ C755 ที่ Hansol Chemical ซัปพลายเออร์พาเนล QLED ของซัมซุง ส่งให้หน่วยตรวจสอบมาตรฐานและออกใบรับรองชั้นนำ 2 แห่ง คือ SGS และ Intertek ทำการตรวจสอบในสหรัฐฯ มาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีก่อน

เมื่อผลออกมาว่าทีวี QLED ของ TCL มีสารแคดเมียมและอินเดียม ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของ quantum dot ไม่ถึงเกณฑ์ทั้งคู่ โดยมีปริมาณต่ำกว่า 0.5 มก./กก. และต่ำกว่า 2 มก./กก. ตามลำดับ ทาง Hansol Chemical จึงยื่นฟ้องต่อคณะกรรมการการค้าของสหรัฐ (FTC) ในเวลาต่อมา เท่ากับว่าตอนนี้ TCL มีคดีพัวพันเกี่ยวกับทีวี QLED ในสหรัฐฯ อยู่ 2 คดี

TCL อาจทำไปโดยไม่ตั้งใจ

โฆษกของ TCL แก้ต่างว่าทีวี QLED ของค่าย รับฟิล์ม quantum dot มาจากซัปพลายเออร์อีกทอด ปริมาณแคดเมียมอาจแตกต่างกันไปตามผู้ผลิตแต่ละราย แต่ยืนยันว่ามีแคดเมียมเป็นส่วนประกอบอย่างแน่นอน ไม่ใช่ QLED เก๊ ตามที่ถูกกล่าวหา ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ ไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อคดีที่ยังอยู่ในชั้นศาล

ประเด็นคือ TCL อ้างข้อมูลโดยอิงจากซัปพลายเออร์ของตน ในขณะที่ Hansol Chemical ส่งทีวีเครื่องที่วางขายจริงไปให้ SGS และ Intertek ตรวจสอบ ดังนั้นความเป็นไปได้ที่ TCL จะถูกต้มโดยซัปพลายเออร์ก็ไม่ได้เป็นศูนย์เสียทีเดียว (หากเป็นเช่นนั้น TCL ก็ต้องไปไล่บี้ในกระบวนการตรวจสอบคุณภาพการผลิตกันต่อไป)

ทีวีรุ่นไหนเป็น QLED จริงหรือปลอม

คำนิยาม QLED ที่ขาดความชัดเจน อาจเป็นเรื่องชวนปวดหัวกว่าที่คิด แบบไหนจริง…แบบไหนปลอม

นักวิเคราะห์จาก Counterpoint ให้ความเห็นว่าทีวี QLED ของ TCL ทั้ง 3 รุ่นข้างต้น อาจใช้ฟอสเฟอร์มาช่วยในการแสดงสี แทนที่จะเป็น quantum dot ล้วน ๆ เพื่อควบคุมต้นทุน ทว่าปัญหาจริง ๆ คือตอนนี้ QLED ยังไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจน ถ้ามองในมุมนี้ TCL และ Hisense ก็อาจไม่ผิดในการนำชื่อ quantum dot หรือ QLED มาใช้ในการทำตลาด (ส่วนการโฆษณาเกินจริง ที่บอกว่าภาพแจ่มกว่า สีเด่นกว่า ฯลฯ ก็แยกเป็นอีกประเด็น)

เมื่อคำว่า QLED บนทีวีไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพที่แท้จริงเสมอไป ภาระในการเลือกซื้อทีวีก็จะมาตกอยู่กับผู้บริโภค ใน QLED ระดับเริ่มต้น อาจให้ภาพใกล้เคียงกับ LCD ธรรมดา หรือด้อยกว่า LCD ระดับไฮเอนด์ ดังนั้นคำถามคือ ลูกค้าต้องใช้หลักเกณฑ์ใดในการพิจารณาในการเลือกซื้อทีวี QLED ให้ได้ขอบเขตสีกว้าง – ปริมาณสีสูง อย่างที่ควรจะเป็น

ข้อความบางส่วนที่ TCL อธิบายถึงทีวี QLED บนเว็บไซต์ของตน

สำหรับทางออกระยะสั้น คงต้องพิจารณาจากรีวิวของสื่อที่มีการทดสอบ – เปรียบเทียบ การแสดงผลแบบละเอียด เช่นเว็บไซต์ RTINGS ส่วนในระยะยาว บรรดาผู้ผลิตทีวีอาจต้องจับมือกันกำหนดบรรทัดฐานให้ทีวี QLED มีความชัดเจนและตรงไปตรงมากว่าที่เป็นอยู่

อ้างอิง : Ars Technica | ETNEWS | CHOSUNBIZ