ETDA เผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้เน็ตของคนไทย พบว่าคน Gen Y ใช้เน็ตกันมากที่สุด วันนึงเฉลี่ยใช้สูงถึง 8 ชั่วโมง 55 นาที ในขณะที่คนไทยทั่วไปใช้เน็ตวันละ 7 ชั่วโมง โดยอาชีพที่ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดคือจนท.รัฐหรือข้าราชการ ใช้อินเทอร์เน็ตสูงถึงวันละ 11 ชั่วโมงครึ่ง ส่วนรองลงมาคือนักเรียนนักศึกษาที่ใช้ราว 9 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีการสำรวจเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่นกิจกรรมที่คนมักจะทำผ่านอินเทอร์เน็ต หรือจะเป็นเรื่องแพลตฟอร์มที่นิยมใช้สำหรับซื้อ-ขายของออนไลน์ที่สุด
จำนวนการใช้เน็ตตามพื้นที่
ข้อมูลผลสำรวจจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) พบว่าเฉลี่ยคนไทยใช้เน็ตกันวันละ 7 ชั่วโมง 4 นาที แต่ถ้าเป็นคนที่อาศัยอยู่กรุงเทพจะใช้เน็ตสูงสุดถึง 10 ชั่วโมง 5 นาทีเลยทีเดียว ส่วนพื้นที่ ๆ คนใช้เน็ตน้อยที่สุดคือภาคใต้ ใช้กันเฉลี่ยที่ 5 ชั่วโมง 35 นาทีเท่านั้น ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง และเหนือใช้กันอยู่ไม่แตกต่างกันมากที่ 6 ชั่วโมง 59 นาที, 6 ชั่วโมง 45 นาที และ 6 ชั่วโมง 17 นาที ตามลำดับ
ช่วงอายุ
หากแบ่งตามช่วงอายุจะพบว่า Gen Y หรือช่วงอายุ 22-41 ปี ใช้เน็ตกันมากที่สุด เฉลี่ย 8 ชั่วโมง 55 นาที ส่วนอันดับสองเป็น Gen Z (อายุต่ำกว่า 22) ใช้อินเทอร์เน็ตน้อยลง อยู่ที่ 8 ชั่วโมง 24 นาที อันดับสาม Gen X (อายุ 42-57 ปี) ใช้กัน 5 ชั่วโมง 52 นาที และกลุ่มที่ใช้เน็ตน้อยสุดคือ Baby Boomers (อายุ 58 ปีขึ้นไป) ใช้ราว 3 ชั่วโมง 21 นาที
อาชีพ
ส่วนอาชีพที่ใช้อินเทอร์เน็ตมากสุดตกเป็นของ ข้าราชการ/เจ้าหน้าที่รัฐ ที่ใช้เฉลี่ยวันละ 11 ชั่วโมง 37 นาที เพิ่มขึ้นมาสูงเกินอาชีพอื่นลิ่วเลย โดยเค้าอธิบายว่าแต่ละหน่วยงานเริ่มเปลี่ยนการทำงานเข้าสู่ระบบดิจิทัลมากขึ้น พร้อมทั้งใกล้มีการออกพ.ร.บ. ปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ออกมาใหม่ซึ่งจะบังคับให้หน่วยงานราชการต้องมีบริการผ่านทางออนไลน์ ทำให้ตัวเลขการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้นครับ
ส่วนอาชีพรองลงมาคือพวกนักเรียนและนักศึกษา ใช้กันสูงไม่ใช่น้อย วันละ 8 ชั่วโมง 57 นาที ซึ่งตรงนี้ ผอ. ของ ETDA ก็ออกมาพูดเป็นห่วงว่าเด็ก ๆ จะติดเน็ตกันเกินไป อาจใช้เล่นเกมหรือใช้ดูสื่อบันเทิง ซึ่งก็ต้องมาหาจุดตรงกลางกันว่าความเหมาะสมควรจะอยู่ตรงไหน ไม่ให้สื่ออินเทอร์เน็ตดึงดูดคนใช้งานจนส่งผลเสียต่อสุขภาพครับ
กิจกรรมยอดฮิต
ทางด้านกิจกรรมที่คนไทยใช้อินเตอร์เน็ตทำกัน อันดับ 1 เลยคือการจองคิวและปรึกษากับแพทย์ สูงถึง 85.16% ซึ่งคาดว่ามาจากการที่มีโรคโควิด-19 ระบาดทำให้คนต้องใช้บริการทางการแพทย์กันเยอะ เช่นต้องหาที่รักษาตัว จองฉีดวัคซีน ตรวจโรคและอื่น ๆ อีก อันดับที่ 2 คือใช้เพื่อติดต่อสื่อสาร อย่างการแชทและคอลออนไลน์ 65.70% อันดับ 3 คือการเสพสื่อ อย่างดูหนัง คลิป ทีวี ฟังเพลง 41.51% อันดับ 4 คือใช้ดูไลฟ์ขายของ มีนักช็อปรอดูไลฟ์อยู่ไม่น้อยเลยด้วย 34.10% อันดับ 5 ใช้เพื่อทำธุรกรรมทางการเงิน 31.29%
แพลตฟอร์มยอดฮิตสำหรับนักขาย-นักช้อป
ETDA ยังเลยข้อมูลด้านช่องทางการซื้อของออนไลน์ของคนไทย อันดับ 1 คือ e-Marketplace อย่างเช่น Lazada Shopee Kaidee หรือพวกแอปที่เกิดมาให้ซื้อขายของกันโดยเฉพาะ อันนี้คนนิยมถึง 75.99% อันดับ 2 Facebook คนไทยก็ตามหาซื้อของกันเยอะอยู่ถึง 61.51% อันดับ 3 Website ซื้อของจากหน้าเว็บร้านโดยตรง 39.7% อันดับ 4 LINE ซื้อของเยอะใช้ได้ที่ 31.04% อันดับ 5 Instagram 12.95% ส่วนอันดับ 6 Twitter คนซื้อของกันน้อยลงมามากเพียง 3.81%
ส่วนทางฝั่งพ่อค้าแม่ค้าขายของออนไลน์ ช่องทางนิยมขายของกันอันดับ 1 เป็นของ Facebook มีคนใช้ขายของกัน 66.76% อันดับ 2 เป็น e-Marketplace อย่างเช่น Lazada Shopee Kaidee มีคนนิยมถึง 55.18% อันดับ 3 LINE 32.05% อันดับ 4 Website ขายผ่านตามหน้าเว็บไซต์ 26.67% อันดับ 5 Instagram ที่ทั้งลงภาพให้คนทักมาหรือใช้ตัว Shop ก็ได้ 19.91% และ อันดับ 6 Twitter มีคนใช้อยู่ที่ 9.90% ครับ
ที่มา: etda
Comment