หลังจากดีแทคและทรูได้ดำเนินการควบรวมเป็นบริษัทใหม่เรียบร้อยแล้ว ในชื่อ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 1 มีนาคม 2566 และได้แถลงต่อสื่อมวลชน วันที่ 2 มีนาคม 2566 ถึงการควบรวมบริษัทของ true และ dtac ว่ามีที่มาที่ไปยังไง และมีแผนอะไรในอนาคต ซึ่งชูจุดแข็งมุ่งสู่ผู้นำด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีของไทย ชูแนวคิดชีวิตดีกว่า เมื่อมีกันและกัน (Better Together) ผสานพลังรวมกัน 1+1 เท่ากับ อินฟินิตี้ สร้างศักยภาพความเป็นไปได้ใหม่ที่ไม่รู้จบ ทั้งนี้ ทางผู้บริหารได้ตอบคำถามที่ทุกคนคาใจ ว่ารวมแล้วจะเปลี่ยนไปยังไง เรามาเริ่มกันเลย 

ทีมผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

โดยในการตอบคำถามครั้งนี้ จะมี นาย มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ นายชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหารบริษัททรูคอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) เป็นผู้ตอบคำถาม

True-Dtac

เหตุผลที่เลือก บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นชื่อบริษัทใหม่

เหตุผลแรกที่เลือกใช้ทรูคอร์ปอเรชั่นเป็นชื่อบริษัท ก็เพราะว่าเป็นบริษัทที่มีแบรนดิ้งด้านดิจิทัล นวัตกรรม แล้วก็พอร์ตฟอลิโอหลากหลาย ครอบคลุมเรื่องเกี่ยวกับโมบาย เพราะงั้นแสดงให้เห็นภาพตรงนี้ มันก็จะทำให้บริษัทของเราสามารถเพิ่มมูลค่า เพิ่ม value ได้

หลังจากควบรวมแล้วจะดำเนินการอย่างไร และที่ กสทช.ให้แยกกันทำแบรนด์ภายใน 3 ปี มีแผนยังไง?

คือตอนนี้ เราก็ทำแบรนด์แยกกันไป แต่จะมีการร่วมมือระหว่างแบรนด์ เพื่อที่จะแบ่งปันให้สิทธิประโยชน์ในแต่ละแบรนด์ มีในแผนแล้ว ก็จะมีการคงแบรนด์ไว้ทั้ง 2 ไว้ อย่างน้อย 3 ปี ตามข้อตกลงขั้นต่ำ หลังจากนี้มันคงเป็นเรื่องของอนาคต ที่เราจะพิจารณาต่อครับ ด้าน Growth Engine ช่วงสองถึงสามปีข้างหน้า ในหลักการของเรา เราต้องการจะสร้างและเพิ่มคุณค่าให้ลูกค้า หมายถึงว่าเราจะมีสิ่งที่มอบให้กับลูกค้ามากเพิ่มขึ้น เราต้องการจะให้คุณค่าในสิ่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทไลฟ์ หรือสิ่งที่เป็นคอนเทนต์ความรู้ ความสะดวกสบายมากขึ้น ก็จะทำให้ลูกค้ามี Value added ที่มากขึ้น แล้วถ้าลูกค้าพอใจ ลูกค้าก็เพิ่มการรับบริการกับเรา เพิ่มความพึงพอใจมากขึ้น 

จะไม่มีการรวมคลื่นกันตามที่ กสทช.กำหนดใช่ไหม เป็นเพียงการโรมมิ่งอย่างเดียว?  

ตอนนี้เราโรมมิ่งกัน ลูกค้าดีแทค ได้ใช้คลื่น 2600 MHz เน็ต 90 mb ลูกค้าดีแทคก็เอ็นจอยมาก ลูกค้าทรูตอนนี้ก็ได้ใช้คลื่น 700 MHz ของดีแทค ที่ปูพรมไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ก็มีความสุขมากแล้วนะครับ 

จะมีการควบรวม TUC และ DTN  ไหม?

ส่วนบริษัท TUC และ DTN  เราขอติดไว้ก่อน เรายังไม่มีความคืบหน้าอะไร

การบริหารจัดการโครงข่ายแต่ละคลื่นที่มี จะมีวิธีการยังไง เพื่อจะใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยไม่ขัดมาตรการ

ตอนนี้ เราเริ่มเปิดการโรมมิ่งกันแล้ว สำหรับลูกค้าดีแทคกับทรู เรานำเอาคลื่น 2600 MHz แล้วก็ 700 MHz ที่เรามีโรมมิ่งหากัน เติมเต็มกันและกัน ให้ลูกค้า Dtac สามารถใช้บนคลื่นของทรูได้แล้ว แล้วลูกค้าทรู ก็สามารถเติมเต็มจากคลื่น 700 MHz ของ dtac ที่ปูพรมนำไปก่อนหน้าแล้ว ทำให้ไม่มีช่องว่างเลย ทำให้ 5G เข้าถึงประชากรคนไทยได้เยอะมากมหาศาลเลยครับ ซึ่งอาจจะมีบางพื้นที่บางจังหวัด ที่ dtac ทำ ทรูยังทำไม่ถึง ทรูก็โรมมิ่งไปหา dtac อย่างของดีแทคในกรุงเทพฯ ยังไม่มี 2600 MHz เราก็เปิด 2600 MHz ให้ลูกค้าดีแทคแล้ว ดูบนมือถือตรงคลื่น มันจะมีคำว่า Dtac-True ส่วนลูกค้าทรูจะขึ้นว่า True-Dtac เมื่อโรมมิ่ง ตรงนี้ก็จะทำให้ลูกค้ามีความสุขมากๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากการควบรวมก้าวแรกของเราครับ โดยจะขยายครบทั้ง 77 จังหวัด ประมาณกลางมีนาคมนี้

มีการขยายโครงข่ายไปจำนวนหนึ่งแล้ว ทั้งทรูและดีแทค จะหยุดการขยายโครงข่ายหรือเปล่า?

เราจะไม่หยุดพัฒนาคุณภาพ คือสิ่งที่เราจะไม่ยอมแน่นอน คือเรื่องของคุณภาพ และบริการ พอสองโครงข่ายรวมกัน ผมก็เชื่อว่าคนไทยมีความภาคภูมิใจนะครับ ว่าเราเป็นโครงข่ายระดับต้นๆ ของโลก สิ่งนี้นอกจากเราจะทำให้ลูกค้าคนไทยแล้ว เรายังทำให้เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยอีกด้วย ดังนั้น สิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่เราจะไม่ลดคุณภาพ และจะขยายอย่างต่อเนื่อง อาจจะมีการบริหารจัดการใหม่ เพิ่มหรือลดบางส่วนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อลูกค้าเลยครับ 

5G จะแรงขึ้น เร็วขึ้นไหม?

5G เนี่ย โดยแผนของเรา เราจะมีความครอบคลุมถึง 98% ของประชากร ในปี 2569 คลื่น 5G มีคุณสมบัติที่ต่างจาก 4G หนึ่งเรื่องเลย ทั้งคลื่น 700 MHz และ 2600 MHz คุณสมบัติที่แตกต่างก็คือ เขาเรียกว่ามี  Latency ที่ต่ำ การที่คลื่นมี Latency ที่ต่ำเนี่ย เป็นคุณสมบัติพิเศษ ที่สามารถรับ Super computing ได้ การรองรับ Super computing ได้เนี่ย มันเลยเป็นสิ่งที่เราพูดกันเยอะในเรื่องของการ transformation ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Digital transformation, Cloud Data Center เพื่อที่จะรองรับ Digital Cloud Structure เหล่านี้ ธุรกิจหรือสิ่งที่เราเข้าไปสร้าง iot ไปสร้างที่เก็บข้อมูลขึ้นมาประมวลผลแล้วก็ดูแลเหล่านี้ มีความจำเป็นที่จะต้องใช้คุณสมบัติของคลื่น 5G ที่มี Latency ที่ต่ำ เราก็มีการขยายแล้วก็ครอบคลุม ไม่ว่าจะ 2600MHz หรือ 5G เนี่ยให้มากที่สุด 

แพ็คเกจอินเทอร์เน็ตจะมีการปรับเปลี่ยนไหม เมื่อการแข่งขันน้อยลง แล้วจะเชื่อมั่นได้ยังไง ว่าลูกค้าจะได้สิ่งที่ดีที่สุด?

อันนี้ต้องบอกเลยนะครับว่า เรื่องของค่าใช้จ่าย ผู้บริโภควางใจได้ ว่าเราคงไม่มีทำกระทบกระเทือนกับผู้บริโภค เรามุ่งจะสร้างคุณค่าให้กับแพ็คเกจมากกว่า มุ่งสรรค์สร้าง Value ต่างๆ ให้กับแพ็คเกจที่ลูกค้าจ่าย แล้วก็สร้างประโยชน์ต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์พริวิเลจ อะไรต่างๆ แล้วก็ยังมีเรื่อง Smart Home, Smart Device, iot มันยังมีที่เขาเรียกว่า New Ocean อีกเยอะ มันจะมีไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ที่จะทำให้ลูกค้าของเราเนี่ย อยากเจอความสะดวกสบาย อยากมีไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ มีชีวิตอัจฉริยะ มี Smart Life นะครับ เหล่านี้เป็นปณิธานแล้วก็สิ่งที่เรามุ่งมั่น เรามีภารกิจที่จะสร้างบริษัทเทเลคอมเทคโนโลยีขึ้นมาด้วยเหตุผลประการนี้

หลายคนกังวลว่าพอควบรวมค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้น ให้คำยืนยันได้ไหมว่าจะไม่ขึ้นราคา?

ได้ครับ ไม่สูงขึ้นหรอกครับ ตอนนี้เราแยกกันบริหาร แต่ค่าบริการจะไม่สูงขึ้น

หลังจากควบรวมกัน จะมีโปรโมชั่นพิเศษให้กับลูกค้าไหม จะมีการปรับลดราคาหรือไม่ 

เรามีฉลองควบรวมให้ เรามีให้เน็ต 7GB ใช้ไม่เกิน 7 วัน ให้กับลูกค้าทุกคนเลย เรื่องของแพ็คเกจต่างๆ เนี่ย ผมคิดว่ามันมีความหลากหลายนะครับ แล้วก็ผมคิดว่า เรามีสิ่งที่มันมากกว่าราคา ไม่จะว่าเป็น Better Gift ให้กาแฟชานมไข่มุก 1 ล้านแก้ว เราจะเป็นมากกว่าการแข่งขันในตรงนั้น แต่ต้องบอกตรงๆ ว่า เราคงไม่ทำให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์ แล้วเราก็มีความมุ่งมั่นที่จะให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด

จะมีการแย่งลูกค้ากันเองไหม 

เราจะเสนอบริการที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า แต่สุดท้ายแล้ว ลูกค้าจะเป็นคนเลือก

ความรู้สึกผู้บริโภค มุมมองของผู้บริโภคเปลี่ยนไปไหม? 

สิทธิพิเศษของลูกค้าเดิมก็จะยังจะได้รับอยู่เช่นเดิม แต่จะมีการแบ่งปันคอนเทนต์กันมากขึ้น ได้รับหลายสิ่งหลายอย่างเพิ่มมากขึ้น เช่น ลูกค้าดีแทค ก็จะได้ใช้บริการจากทรู

จำนวนสาขาให้บริการจะลดน้อยลงไหม จะรวมกันไหม แล้วลูกค้าทรูและดีแทคเข้าไปใช้บริการพร้อมกัน จะได้บริการเหมือนกันไหม? 

ต้องเรียนว่า มันมีปัจจัยหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโลเคชั่น ของใครอาจจะเหมาะสมกว่ากัน สัญญาเช่าหมด บางที่ก็มีรีโนเวท แต่โดยรวมๆ แล้ว เราจะไม่บกพร่องต่อการบริการลูกค้า เรื่องที่สองที่สำคัญมากๆ เลย ชีวิตของพวกเราทุกคนวันนี้ มันเปลี่ยนไปเยอะ ชีวิตเราอยู่บนปลายนิ้วมือ ส่วนใหญ่บริการชอบจะขึ้นบนมือถือกันละ สิ่งนี้คือเราต้องการให้การให้บริการไปอยู่ในความสะดวกบนมือด้วยนะครับ หมายความว่าเราจะได้รับบริการได้แค่ปลายนิ้ว ไม่ต้องไปสาขาแล้วก็ได้ มีมือถือเครื่องนึง สมัคร e-SIM สามารถลงทะเบียนได้เอง 

ส่วนจะลดลงไหม มันอยู่ที่ดีมานด์ซัพพลาย แต่ให้คำสัญญาว่า เราจะไม่ทำให้บริการลดลงอย่างแน่นอน ไม่แย่ลงแน่นอน เราให้บริการลูกค้ากว่า 50 ล้านคน ทุกจุดเราจะตรึงไว้ หากว่าผู้มารับบริการมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงก็จะสนองให้ตามที่ต้องการ

แอปพลิเคชั่นการให้บริการจะแยกหรือรวม?

ตัวแอปพลิเคชั่น ยังแยกใช้ของแต่ละแบรนด์เช่นเดิม ลูกค้าทรูใช้แอป true ID ลูกค้าดีแทคให้แอป dtac  

การรักษาส่วนบุคคลของลูกค้า ทั้งสองบริษัทจะมีการจัดการยังไง?

มั่นใจได้ว่า เราบริหารจัดการข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าได้ดีแน่นอน 

ความรู้สึกของพนักงานทั้งสองฝั่งเป็นอย่างไรบ้าง?

แบรนด์ไม่ได้หายไปไหน แบรนด์ของทรูและดีแทคยังอยู่ในตลาด และถึงแม้ว่าชื่อบริษัทเปลี่ยน แต่แบรนด์ยังคงอยู่ อันนี้ก็คือยังคิดว่าสบายใจได้นะครับ แล้วเราก็เชื่อมั่นว่า พวกเราจะเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อที่จะสร้างทั้งสองแบรนด์ให้แข็งแกร่งไปด้วยกัน

พนักงานเหลืออยู่เท่าไร จะมีการโยกย้ายหรือปลดพนักงานไหม บริษัทแม่อยู่ตรงไหน?

เราไม่มีนโยบายปลดพนักงานครับ แต่ว่าเราจะทำให้องค์กรของเราเนี่ยน่าอยู่ขึ้น เราจะทำให้พนักงานของเราประสบความสำเร็จ เรามีสวัสดิการที่ดีให้กับพนักงาน ให้เขาคิดให้เขาร่วมทำ บริษัทสำเร็จเขาก็สำเร็จ เป็นความสำเร็จร่วมกัน ส่วนการทำงานของพนักงาน ยังใช้เป็นสองที่อยู่ ทรูอยู่ที่ทรู ทาวเวอร์ ดีแทค อยู่ที่จามจุรีสแควร์ รับนองว่าไม่มีการปลดพนักงานแน่นอน 

หลังจากควบรวมแล้ว มีหนี้สะสม 3 แสนล้าน จะมีวิธีลดหนี้ยังไง จะกลับมาจะเติบโตด้านไหน?

การที่เรารวมกัน เราก็มั่นใจนะครับว่า จะมีคุณค่าที่มากขึ้น มีศักยภาพในการแข่งขันที่มากขึ้น เราจะมีขีดความสามารถในการลงทุนที่มากขึ้น เรามีความเชื่อว่า การที่เราสร้างคุณค่าบริการต่างๆ ได้ดีขึ้นเนี่ย ลูกค้าก็จะมีความพึงพอใจที่สูงขึ้น ใช้บริการมากขึ้น เราก็จะมีศักยภาพในการบริหารหนี้ได้ดีขึ้น

มีเป้ารายได้ กำไร การเติบโตฐานลูกค้า หลังจากควบรวมยังไงบ้าง

OK คืออย่างนี้นะครับ เรื่องที่หนึ่ง เราจะไม่มีการลดคุณภาพและบริการ 2.ผมก็คิดว่าความเชื่อมั่นของลูกค้าเราเนี่ย ดีขึ้นแน่นอน เรื่องต่อมา เราจะมี Digital transformation ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Smart Life, Smart Home หลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่าง ที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คน เราจะเป็นคนหนึ่งที่นำเสนอสิ่งเหล่านี้ เป็นเทคโนโลยีเหล่านี้ให้กับคนไทยในทุกยุคทุกสมัยอยู่แล้ว ตรงนี้ผมคิดว่าเราไม่เรียกว่าเป็น Blue Ocean เราเรียกว่าเป็น New Ocean สำหรับเรานะครับ เราก็เชื่อว่าเราจะนำเสนอเพื่อที่จะให้ลูกค้าเนี่ยได้มีชีวิตที่สะดวกขึ้นสบายขึ้น กับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นนิดๆ หน่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้เรามีแอปหมอดีนะครับ หาหมอเดี๋ยวนี้หาหมอได้แค่ปลายนิ้วแล้ว คนไทยทั่วประเทศไทยเนี่ยมีสิทธิ์เข้าถึงสาธารณสุขได้ทุกที่  ไม่ว่าคุณจะอยู่อำเภอไหนจังหวัดไหน คุณกดนิ้วเดียวคุณก็หาหมอได้ละ เหล่านี้เป็นต้น นี่คือสิ่งที่ Value ที่เราจะเพิ่มให้กับให้กับลูกค้า ลูกค้าทรูและดีแทคจะได้ใช้บริการทั้งหมด ยิ่งกว่าเท่าเทียมกัน

และจะขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นผู้นำด้านดิจิทัลในภูมิภาค โดยให้ความสำคัญกับดิจิทัลสตาร์ทอัพ บริษัทใหม่จะร่วมกับพันธมิตรระดมทุนจำนวน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7.3 พันล้านบาท จัดตั้งกองทุน Venture Capital (VC) รวมทั้งจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมที่สนับสนุนผู้ประกอบการดิจิทัล เพื่อวางรากฐานสำหรับผลักดันสู่อนาคตของสตาร์ทอัพไทยในระดับยูนิคอร์น

ในส่วนของ ลิซ่า BLACKPINK พรีเซ็นเตอร์ ของทรูไอดี จะมีการแบ่งให้ทางดีแทคด้วยไหม

Lisa True ID

ตอนนี้ส่วนของคุณลิซ่า เราสแตนด์ไว้สำหรับขับเคลื่อนเรื่องของความบันเทิงไม่สิ้นสุดของ true ID ซึ่งจริงๆ ต้องบอกว่า ลิซ่าหยิบอะไรคนเขาก็จะชอบ ก็จะรัก ลูกค้าดีแทคเนี่ย ผมก็คิดว่าเราคงจะให้สิทธิประโยช์ ทั้งบรอดแบนด์ กล่องทรูไอดี ทั้งความบันเทิง ให้กับลูกค้าดีแทคได้ใช้ แต่ไม่มีการใช้ลิซ่าร่วมกับดีแทค

True-Dtac

ทั้งนี้ ได้ชู 7 กลยุทธ์หลัก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายขององค์กร เพื่อนำประเทศไทยสู่อนาคตดิจิทัล  ดังนี้ 

true dtac

1. ผู้นำด้านโครงข่ายโทรคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่างแท้จริง (Be the Undisputed Network and Digital Infrastructure Leader )การผสานศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานของบริษัทใหม่ ทั้งโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัล อาทิ ดาต้าเซ็นเตอร์มาตรฐานสากล ระบบคลาวด์ ไม่เพียงแต่จะสร้างประสบการณ์เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่ยอดเยี่ยม  แต่จะมุ่งสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการต่อยอดนวัตกรรมบริการดิจิทัลต่างๆเพื่อคนไทย ทั้ง IoT, AI Analytic, Machine Learning, Cyber Security ที่จะช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนวิถีดิจิทัล (Digital Transformation) ร่วมยกระดับคุณภาพชีวิต สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

2. เติบโตเป็นผู้นำนอกเหนือจากบริการหลัก เพื่อส่งมอบคุณค่าและประสบการณ์ที่เหนือกว่า (Champion Growth Beyond the Core)นอกจากการเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานแล้ว บริษัทใหม่จะเดินหน้าขยายธุรกิจพร้อมรับมือกับความท้าทายด้านดิจิทัลที่เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยจะมุ่งพัฒนานวัตกรรมด้านดิจิทัล โซลูชัน รวมถึงระบบนิเวศดิจิทัลที่ครบวงจร  พร้อมร่วมขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางดิจิทัลในทุกภาคส่วน (Digital Inclusion ) สร้างประสบการณ์ใหม่ไร้รอยต่อให้กับลูกค้า  รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพให้องค์กรธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนร่วมสนับสนุนประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้เร็วยิ่งขึ้น

3. สร้างมาตรฐานประสบการณ์ใหม่เพื่อลูกค้าในประเทศไทย (Set the Bar for Customer Experience in Thailand)ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาช่วยในการวิเคราะห์ เติมเต็มไลฟ์สไตล์ลูกค้าได้ตรงใจมากขึ้น  ทั้งการนำเสนอสินค้าบริการ การมอบสิทธิพิเศษ ตลอดจนช่องทางการเข้าถึง O2O ผ่านการผนึกพลังทั้งออฟไลน์ในเครือทั่วประเทศและออนไลน์แบบ 24 ชม.ทำให้ลูกค้าจะได้สัมผัสสุดยอดประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง และไร้รอยต่อในทุกจุดบริการ รวมทั้งยกระดับบริการหลังการขายที่นำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ทำให้ลูกค้าใช้งานได้อย่างต่อเนื่องและราบรื่น

4. เติมเต็มชีวิตอัจฉริยะยิ่งขึ้นเพื่อทุกสไตล์ลูกค้าชาวไทย (Enhance Smart Life for Customers)ทรู คอร์ปอเรชั่น จะส่งมอบประสบการณ์ชีวิตอัจฉริยะเพื่อคนไทย ยกระดับวิถีชีวิต และไลฟ์สไตล์ทั้งความสะดวกสบาย การดูแลสุขภาพ ความปลอดภัย และการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ซึ่งจะไม่จำกัดเฉพาะชีวิตคนเมืองเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมคนไทยทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ผ่านเครือข่ายสื่อสารดิจิทัลที่กว้างไกลและครอบคลุมยิ่งขึ้น

5. ยกระดับมาตรฐานสำหรับลูกค้าองค์กร (Raise Standards for Enterprise Customers) บริษัทใหม่จะเร่งขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของภาคธุรกิจทั้งลูกค้า SME ธุรกิจองค์กรและภาคอุตสาหกรรม  นำเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ อาทิ IoT, Robotics, AI Analytics และ Blockchain  พร้อมทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ สู่การพัฒนานวัตกรรมโซลูชันครอบคลุมทุกมิติ เพื่อสร้างความต่างและเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ ยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน  ลดค่าใช้จ่าย ทุกภาคส่วนทั้งอุตสาหกรรม การเกษตร สาธารณสุข และค้าปลีก

6. สร้างสุดยอดองค์กรที่น่าทำงาน (Build the Best Place to Work)บริษัทใหม่จะเป็นองค์กรแนวหน้าที่ขับเคลื่อนด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการทำงาน ดึงดูดคนเก่งที่มีความรู้ความสามารถจากทั่วโลก เป็นองค์กรที่สนับสนุนกลุ่มคนหลากหลาย ผสานความแตกต่าง ควบคู่กับการสร้างคนให้มีจิตวิญญาณเป็นเจ้าของกิจการ เป็นที่ทำงานที่ตอบโจทย์ความคาดหวังของผู้มีความสามารถ (Talent) ทุกเจเนอเรชัน พร้อมกับมีสวัสดิการและสุขภาวะที่ดี (Well Being)    

7. การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพิ่มคุณค่าขับเคลื่อนองค์กรในระยะยาว (ESG Best in class: Sustainable organization to Create Long Term Value) มุ่งเน้นการนำศักยภาพด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม มาร่วมสร้างคุณค่าที่แท้จริงให้กับทุกชีวิต นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ครอบคลุมทั้งมิติด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล