การควบรวมระหว่าง True และ dtac ได้กลายเป็นหนึ่งในประเด็นใหญ่ที่ถูกพูดถึงบนโลกอินเทอร์เน็ตอย่างล้นหลาม ตั้งแต่มีข่าวการควบรวมอย่างไม่เป็นทางการช่วงไตรมาส 3 ปี 2565 เรื่อยมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกระแสเชิงลบ โดยเฉพาะเรื่องการผูกขาด – อย่างไรก็ดี รายงานฉบับล่าสุดของ Wisesight ระบุว่า ‘ภายหลังการควบรวมอย่างเป็นทางการ กระแสโซเชียลเริ่มเปลี่ยนไปเป็นเชิงบวกอย่างชัดเจนแล้ว’

ความสงสัย และความกังวล ก่อนการควบรวม

ข้อมูลที่เก็บรวบรวมโดยโซลูชัน ZOCIAL EYE ของ Wisesight ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 พบว่ามีการพูดถึงประเด็นของการควบรวม True และ dtac มากกว่า 130,000 ข้อความ และมีจำนวนเอนเกจเมนต์สูงกว่า 7 ล้านเอนเกจเมนต์ สะท้อนให้เห็นความสนใจของผู้คนบนโลกอินเทอร์เน็ตในประเด็นดังกล่าว

ตามที่เราทราบกันดี ในประเทศไทยมีผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมที่เป็นยักษ์ใหญ่อยู่ 3 ค่าย คือ True, dtac และ AIS แม้ในความเป็นจริงจะมี NT อยู่อีกค่าย แต่โดยทั่วไปแล้วไม่ได้ถูกนับรวม ดังนั้น เมื่อมีข่าวการควบรวมเกิดขึ้น เท่ากับจะเหลือผู้ให้บริการรายหลักในตลาดเพียง 2 ค่าย จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรนักที่ในช่วงแรกผู้บริโภคจะแสดงความกังวลเกี่ยวกับแรงจูงใจในการพัฒนาบริการหรือสินค้า รวมถึงการตั้งราคาแพ็กเกจต่าง ๆ

หลังการควบรวม คนเลิกกลัวเรื่องการผูกขาด หันมาโฟกัสในข้อดี

จากกราฟข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า กระแสเชิงลบเกี่ยวกับ True และ dtac นั้นรุนแรงมากในช่วงเดือนตุลาคม 2565 จนถึงเดือนมกราคม 2566 แต่ค่อย ๆ เบาบางลงเป็นลำดับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และขณะเดียวกัน กระแสเชิงบวกก็ทยอยเพิ่มขึ้นตาม และเริ่มดีขึ้นอย่างชัดเจนตอนเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ True และ dtac มีการประกาศควบรวมอย่างเป็นทางการ

Wisesight ให้ข้อมูลว่า สาเหตุที่มุมมองของผู้บริโภคเปลี่ยนไปในทิศทางบวก เป็นเพราะผู้บริโภคเริ่มหันมามองเห็นข้อดีของการควบรวม โดยมองว่า True และ dtac มีข้อได้เปรียบเรื่องพื้นที่เสาสัญญาณ ที่แต่เดิมครอบคลุมอยู่แล้ว พอควบรวมก็ยิ่งครอบคลุมขึ้นไปอีก และมีเรื่องของสิทธิพิเศษที่มีความหลากหลายกว่าเดิม เช่น การถ่ายทอดสดฟุตบอล ส่วนลดร้านค้า ร้านอาหาร และร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ ตลอดจนถึงการใช้พอยนต์คะแนนแลกซื้อสินค้าหรือบริการต่าง ๆ

นอกจากนี้ อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดคือ พรีเซนเตอร์คนใหม่อย่างคุณนาย ณภัทร และคุณใบเฟิร์น พิมพ์ชนก นั้นได้รับเสียงชื่นชมเป็นอย่างมาก เพราะสะท้อนให้เห็นถึง ‘ความอบอุ่นของการมีกันและกัน’ และ ‘การรวมกันเพื่อชีวิตที่ดีกว่า’ จนค่อย ๆ กลบกระแสเชิงลบเรื่องการควบรวม และเปลี่ยนมาเป็นกระแสเชิงบวกได้ในที่สุด

สรุปมุมมองของผู้บริโภค ตามผลสำรวจของ Wisesight

กล่าวโดยสรุปตามรายงานของ Wisesight มองภาพรวมกระแสวิจารณ์บนโลกอินเทอร์เน็ตกรณี True ควบรวม dtac แบ่งเป็นก่อนและหลังควบรวม ดังนี้

ภาพรวมก่อนการควบรวม

  • การผูกขาดตลาด จากการที่มีผู้แข่งขันน้อยราย
  • แรงจูงใจในการพัฒนาบริการหรือสินค้าที่อาจลดลงตาม
  • ผู้เกี่ยวข้องที่มีภาพลักษณ์เชิงลบ ที่ยอมให้ 2 ค่ายควบรวมกัน

ภาพรวมหลังการควบรวม

  • ความชื่นชมในส่วนของพรีเซนเตอร์คนใหม่
  • ความหลากหลายของสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้น
  • ประสบการณ์การใช้งานที่ดีขึ้น จากความครอบคลุมของเสาสัญญาณที่เพิ่มมากขึ้น

ทาง Wisesight ทิ้งท้ายว่า ถึงแม้ประเด็นเรื่องการผูกขาดจะไม่ใช่ประเด็นหลักที่คนพูดกันอีกแล้ว แต่ทาง True อาจต้องมีการขยับตัวเพื่อสื่อสารให้ผู้บริโภครับรู้ถึงผลประโยชน์ที่ดีที่สุดที่จะได้รับ พร้อมออกมายืนยันว่าบริษัทยังคงใส่ใจในการพัฒนาบริการและสินค้าต่อไปเหมือนเดิม

ที่มา : Wisesight