หากพูดถึงวิกฤติเซมิคอนดักเตอร์ขาดตลาดที่ดำเนินมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 หลายคนอาจพาลนึกไปถึงชิ้นส่วนสำคัญอย่างซีพียูหรือจีพียู แต่ C. C. Wei ผู้บริหารของ TSMC เปิดเผยว่า แท้จริงแล้วมันเป็นอะไรที่ง่ายกว่านั้นมาก เพราะที่ขาดแคลนจริง ๆ คือพวกชิปพื้นฐาน (เช่นไดรเวอร์ควบคุมหน้าจอและระบบจัดการพลังงาน) ที่มีราคาอยู่ในช่วง 50 เซ็นต์ถึง 10 ดอลลาร์เท่านั้นเอง

ทว่า แม้ชิปเหล่านี้จะมีราคาถูก แต่นั่นก็มากเพียงพอที่จะส่งผลกระทบแบบลูกโซ่ จนนำไปสู่การสูญเสียรายได้อย่างมหาศาลของบริษัทยักษ์ใหญ่ โดยเฉพาะบริษัทในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีความต้องการเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้น 15% ในทุกปี จากการอัปเกรดฟังก์ชันตัวรถให้ทันสมัย ในขณะที่ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนยังมีความต้องการชิปการจัดการพลังงานมากขึ้นเป็น 2 ถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน

ยกตัวอย่างเช่น Apple ที่เป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง มีการประเมินว่ารายได้หดหายไปจากที่ควรจะได้มากถึง 6 พันล้านดอลลาร์ตลอดช่วงสองไตรมาสที่ผ่านมา กล่าวคือไม่ว่าชิ้นส่วนที่ขาดหายไป จะมีความสำคัญมากหรือสำคัญน้อย แต่ในเมื่อไม่มี จัดหามาไม่ได้ ผลลัพธ์ปลายทางก็ลงเอยในทางเดียวกัน คือไม่สามารถผลิตสินค้าออกมาได้

Wei ยังบอกอีกว่า แม้แต่ ASML ที่เป็นบริษัทผลิตเครื่องจักรผลิตชิป ก็ขาดแคลนชิปพื้นฐานสำหรับใช้ในเครื่องจักรเหมือนกัน นั่นทำให้ปัญหาทุกอย่างวนเวียนไม่รู้จบเหมือนกับงูกินหาง

เพราะจากเดิม ในขั้นตอนการจัดซื้อเครื่องจักรผลิตชิปนั้นก็ใช้เวลาพอสมควรอยู่แล้ว ในช่วงที่มีโรคระบาดอาจต้องรอส่งมอบนานเป็นเดือน แต่ตอนนี้อาจขยับไป 2 ถึง 3 ปี ครั้นจะตั้งโรงงานผลิตชิปใหม่มาช่วยบรรเทาวิกฤติ ก็จะมาติดปัญหาที่ตรงนี้อยู่ดี ชิปก็ผลิตได้น้อย เครื่องจักรก็หาไม่ได้

ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตชิปเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับปัญหาด้านการขนส่งและภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก เราจึงได้เห็นสินค้าเทคโนโลยีหลาย ๆ อย่างเริ่มปรับราคาตาม ดังเช่นการขึ้นราคา PS5 ของ Sony ที่เป็นข่าวฮือฮาไปเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และคาดว่าปัญหาจะดำเนินต่อไปตลอดทั้งช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของปี 2565 นี้

 

ที่มา : 9to5Mac | Bloomberg