Unity เป็นเอนจินสร้างเกมที่หลาย ๆ นักพัฒนาเกมอินดี้ รวมถึงเกมดัง ๆ อย่าง Genshin Impact, Pokemon Go และ Amoung Us เลือกใช้ ซึ่งเหตุผลหลัก ๆ เป็นเพราะค่าใช้งานเอนจินค่อนข้างถูก และสำหรับนักพัฒนาเกมเจ้าเล็ก ๆ สามารถใช้งานได้ฟรี แต่อย่างไรก็ตามเมื่อช่วงสัปดาห์ก่อน Unity ได้ประกาศเปลี่ยนนโยบายการใช้งานใหม่ ที่ทำให้วงการเกมถึงกับเดือดเป็นไฟ เรื่องราวทั้งหมดจะเป็นอย่างไร เราจะมาสรุปสั้น ๆ ให้ได้อ่านกัน

จุดเริ่มต้นของ Unity Runtime Fee

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2023 Unity ได้ประกาศนโยบายในการใช้งานใหม่ที่เรียกว่า Unity Runtime Fee โดยทาง Unity จะทำการฝังโค้ดลงไปในเกมที่ใช้เอนจินตัวดังกล่าวในการพัฒนา ซึ่งตัวโค้ดจะคอยเก็บสถิติการติดตั้งของผู้เล่นเกม หากมีการติดตั้งเกินกว่า 200,000 ครั้ง ทาง Unity จะเริ่มเก็บเงินนักพัฒนาครั้งละ 0.20 เหรียญสหรัฐฯ (ราว ๆ 7 บาท) ต่อ 1 การติดตั้ง หรือจะเริ่มเก็บหากทำรายได้ได้เกิน 200,000 เหรียญฯ ขึ้นไปในช่วงระยะเวลา 12 เดือน โดยจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2024 หรือปีหน้านั่นเอง

แน่นอนว่าในเมื่อเรื่องนี้ถึงหูนักพัฒนาเกมอินดี้เจ้าเล็ก ๆ ก็ต่างไม่พอใจ และตั้งข้อสงสัยในตัวกฎที่มีความครุมเครือ เช่นยอดติดตั้ง 200,000 ครั้งที่ว่านี้ นับแค่เฉพาะการติดตั้งครั้งแรกของ User หรือคิดรวมการติดตั้งใหม่ (Re-Install) เข้าไปด้วย และผู้ใช้งานที่ติดตั้งผ่านบริการจ่ายรายเดือน เล่นเกมไม่อั้นอย่าง Xbox Game Pass จะโดนคิดรวมไปด้วยรึเปล่า

เหล่านักพัฒนาเกมอินดี้ต่อต้านอย่างรุนแรง

ถ้ามองในมุมของนักพัฒนาเกมตัวเล็ก ๆ โดยเฉพาะเกมในแบบ Freemium ที่ปล่อยให้โหลดเกมฟรี แต่เน้นเก็บรายได้จากการซื้อไอเทมในเกม หรือ In-App Purchase ต่าง ๆ นโยบายใหม่นี้ ถือว่าไม่แฟร์ต่อพวกเขาเลย ถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพชัด ๆ สมมุติว่าเราสร้างเกมแบบ Freemium ขึ้นมา 1 เกม และตัวเกมเพิ่งสร้างรายได้จากระบบ In-App Purchase ประมาณ 200,000 เหรียญฯ จากผู้เล่นที่ติดตั้งตัวเกมรวม 3 ล้านครั้ง (ซึ่งเกินจากที่นโยบายกำหนดไว้)

กลายเป็นว่าหลังมีการบังคับใช้กฎที่ว่านี้ ทางผู้พัฒนาจะต้องจ่ายค่า License ให้กับ Unity ทั้งหมด 2.8 ล้านการติดตั้ง (0.20USD x 2.8M = 560,000 เหรียญฯ) ดังนั้นจากที่จะได้กำไร จู่ ๆ นักพัฒนาต้องเป็นหนี้ถึง 360,000 เหรียญเลยทีเดียว และถ้าหากยอดติดตั้งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รายได้จาก In-App Purchase ก็ไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้แน่ ๆ

หลังจากเรื่องเริ่มเป็นที่พูดถึงได้ไม่นาน Unity ก็ได้ออกมาชี้แจงในวันที่ 14 กันยายน ว่ายอดการติดตั้งที่ว่านี้ จะนับเฉพาะการติดตั้งเพียงครั้งแรกเท่านั้น และการติดตั้งผ่านช่องทางที่ไม่พึงประสงค์ เช่น Botnet หรือการติดตั้งตัวเกมเวอร์ชั่นทดลอง, การเล่นผ่านเว็บ หรือติดตั้งผ่านบริการสตรีมมิ่งเกม และการติดตั้งที่เกี่ยวกับการกุศล จะไม่ถูกนับรวมในยอด 200,000 ครั้งที่ว่านี้

แต่อย่างไรก็ตาม คำชี้แจงของ Unity ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งความไม่พอใจของเหล่านักพัฒนาเกมอินดี้ โดยผู้พัฒนาเกมเอาชีวิตรอดชื่อดังที่กำลังทำภาคต่ออย่าง Rust 2 ก็ประกาศว่าจะไม่ใช้ Unity ในการพัฒนาเกม และอีกหลาย ๆ บริษัทก็เตรียมหยุดขายเกมที่พัฒนาโดยใช้ Unity ทั้งหมด และล่าสุดในวันที่ 15 และ 16 กันยายนที่ผ่านมา ทาง Unity ต้องสั่งปิดออฟฟิศ 2 แห่งในสหรัฐฯ เพราะโดนส่งจดหมายขู่ฆ่าจากคนในบริษัทตัวเองด้วย

ล่าสุด Unity ยอมยกธงขาวแล้ว

และล่าสุดเมื่อเช้าวันนี้ (18 กันยายน 2023) ทาง Unity ได้ออกมาประกาศขอโทษเหล่านักพัฒนา ยอมยกธงขาวกลับไปพิจารณาและเปลี่ยนแปลงนโยบาย Unity Runtime Fee ใหม่อีกครั้ง โดยจะมีการออกนโยบายฉบับปรับปรุงในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งก็น่าจะช่วยทุเลากระแสด้านลบไปได้บ้าง แต่อย่างไรก็ตาม ข่าวในครั้งนี้ถือว่าส่งผลต่อชื่อเสียง Unity ไปมากพอสมควร

ที่มา: IGN