อัพเดทเรื่องราวการประมูลคลื่นความถี่กันสักหน่อย หลังจากคลื่น 1800 MHz ไม่มีคนเข้าร่วมประมูล ล่าสุดกสทช.จะมีการนำคลื่น 850 MHz ออกมาประมูลต่อ แต่มีเพียง 5 จาก 10 MHz ของคลื่นที่มีเท่านั้น เก็บที่เหลือไว้สำหรับรถไฟฟ้าความเร็วสูง ส่วนคลื่น 1800MHz อยู่ระหว่างขยายเวลาเพิ่ม 30 วัน หากไม่มีใครสนใจอีก อาจปรับเงื่อนไขการประมูลซอยใบอนุญาตให้มากขึ้นจาก 3 เป็น 9 ลดจำนวนคลื่นจาก 15 เป็น 5 MHz ต่อใบเพื่อลดราคาแทน
850 MHz ประมูลแค่ 5 MHz และต้องทำการ์ดแบน
คลื่น 850 MHz ที่กำลังจะหมดสัมปทานส่วนนี้ เป็นคลื่นเดิมที่ทางดีแทคได้สัมปทานจาก CAT มาให้บริการอยู่ ซึ่งจำนวนคลื่นทั้งหมดจะมีอยู่ 10MHz แต่เนื่องจาก กสทช. เตรียมนำเอาคลื่นครึ่งหนึ่งออกไปเพื่อให้ทาง รฟท. ใช้งานสำหรับระบบสื่อสารของรถไฟฟ้าความเร็วสูง หรือ GSM-R โดยคลื่น 5MHz ที่จะถูกนำออกมาประมูลนี้จะมีการจัดสรรความถี่ใหม่ให้เป็นคลื่น 900MHz แทน โดยคลื่นนี้เป็นคลื่นในย่านความถี่ต่ำและดีแทคเป็นเจ้าที่ให้ความสนใจที่สุด เนื่องจากยังไม่มีคลื่นในย่านมาให้บริการ ทำให้ขยายความครอบคลุมของเครือข่ายได้ยากกว่าเจ้าอื่น แต่ปัญหาจะมีอยู่ว่าด้วยความที่คลื่นความถี่นั้นจะต้องติดกับที่ทางรฟท.ใช้งาน ทำให้การขยายเครือข่ายต้องลงทุนสร้างระบบป้องกันคลื่นรบกวนด้วย (การ์ดแบน) เพื่อไม่ให้ส่งสัญญาณกวนกัน อย่างไรก็ดีเงินลงทุนสร้างระบบป้องกันคลื่นรบกวนนี้สามารถนำเอามาหักจากค่าประมูลได้ สำหรับคลื่น 900 MHz ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 37,988 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 76 ล้านบาท โดยวางหลักทรัพย์ค้ำประกันวงเงิน 1,900 ล้านบาท
มูลค่ามหาศาล แต่ไม่ประมูล เก็บให้รถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ยังไม่เกิด
มีข้อถกเถียงถึงเรื่องการเก็บคลื่น 850MHz ที่จะให้ทาง รฟท. นำเอาไปใช้งานกันเล็กน้อย ว่าจะคุ้มค่าและเหมาะสมหรือไม่ เพราะเราทราบกันดีถึงมูลค่าของคลื่นในย่านความถี่ต่ำว่ามันมีมูลค่าสูงแค่ไหน การที่ทางกสทช.เก็บคลื่นนำเอาไปเผื่อเอาไว้แบบนี้จะเป็นการทำให้เสียของหรือไม่ ถ้าจะให้คลื่นอื่นเช่น 1800 MHz แบบเดียวกับที่ Australia ใช้กับทาง รฟท. จะคุ้มค่ากว่าหรือเปล่า และที่สำคัญคือจนถึงปัจจุบันรถไฟฟ้าความเร็วสูงยังไม่มีทีท่าว่าจะได้ข้อสรุปง่ายๆ อีกด้วย
อย่างไรก็ดี ถ้ามองในมุมว่าประเทศไทยยังไม่มีการกันคลื่นสำหรับ GSM-R และเพื่อลดต้นทุนในการวางเสาของ รฟท. หรือเจ้าที่จะเข้ามาให้บริการ การเก็บความถี่ย่านต่ำอย่าง 850MHz เอาไว้ให้สักหน่อยก็ดูจะเป็นเรื่องสมเหตุสมผลอยู่
1800 MHz ขยายเวลาตอบรับ เตรียมปรับเงื่อนไขประมูลหากยังไม่มีคนสน
ส่วนสำหรับคลื่น 1800 MHz นั้นอยู่ในช่วงขยายเวลา 30 วัน ถ้าหมด 30 วันแล้วอาจจะมีการพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์กันใหม่ อาจจะมีการปรับเปลี่ยนจำนวนใบอนุญาจากเดิม 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 15 MHz (3x15MHz) เป็น 9 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 5 MHz แทน (9x5MHz) เพื่อลดค่าใช้จ่ายเบื้องต้น แต่ทาง กสทช. ก็ย้ำว่าจะไม่มีการปรับลดราคาลงอย่างแน่นอน แม้ว่าจะซอยใบอนุญาตให้เล็กลงแล้ว แต่มูลค่าเมื่อรวมออกมาเป็น 15MHz ก็จะเท่าเดิม
เตรียมประมูลอีกรอบ ส.ค.นี้ ไม่มาก็ไม่เยียวยาและต้องรอกสทช.ชุดใหม่
สำหรับการประมูลคลื่น 850 และ 1800 MHz นี้ ทางกสทช. เล็งจะจัดขึ้นในวันที่ 18 ส.ค. สำหรับคลื่น 900MHz และ 19 ส.ค. สำหรับคลื่น 1800MHz ต่อกันไปเลย โดยจะเตรียมการเรื่องอื่นๆตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. เป็นต้นไป โดยล่าสุดทางกสทช. ได้มีการเคลมว่าทางดีแทคได้ส่งจดหมายสนใจจะเข้าร่วมประมูลแล้ว แต่หลังจากนั้นไม่นานทางดีแทคก็ส่งจดหมายถึงสื่อต่าง ๆ เกือบจะทันทีว่าทางบริษัทสนใจจริงแต่ยังต้องรอพิจารณาอีกหลายอย่างยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเข้าหรือไม่เข้ากันแน่ ซึ่งไม่ว่าทางดีแทคจะตัดสินใจอย่างไร หลังจากที่เห็นเงื่อนไขการประมูลในช่วงต้นเดือน ก.ค. นี้ แต่ทางกสทช. ก็ได้ออกมาดักคอเอาไว้ก่อนแล้วว่าหาไม่เข้าร่วมประมูลในรอบนี้ก็อย่าหวังถึงการเยียวยา เพราะกรณีของสองค่ายที่ทาง กสทช. เคยให้นั้นเกิดจากไม่สามารถจัดการประมูลได้ แต่กรณีของดีแทคมีการประมูลแต่เลือกที่จะไม่เอาเอง และจะไม่มีการจัดประมูลอีกต่อไป จนกว่าจะมีคณะกรรมการ กสทช. ชุดใหม่ขึ้นมา
ความถี่ต่ำคราวนี้ ถ้าดีแทคไม่ดิ้น ผมว่ามันมีลางแล้วล่ะ แล้ว AIS อาจจะแอบอยากได้อีกสัก 5mhz ก็เป็นได้
ส่วน 1800 ซอยแต่ราคาเดิม ก็ยังเดาไม่ถูกว่าอีกสองเจ้าอยากได้ไหม แต่อาจจะเฉยๆ มากกว่า เผลอๆ ดีแทคอาจจะบอกว่า ยังไม่เอาก็ได้ ขอความถี่ต่ำก่อน
อยากรู้ว่าการประมูลแต่ละครั้งคณะกรรมการ กสทช ได้เงิน เท่าไหร่
อาจดูไม่เกี่ยว
แต่อาจโยงอะไรบางอย่างได้ไหม
1800 ไม่เอา แต่ไม่เยียวยา อันนี้ dtac คงฟ้องศาลปกครองให้คุ้มครองแน่ๆ แค่ตะสำเร็จไหมต้องรอดู
1800 ไม่เอา แต่ไม่เยียวยา อันนี้ dtac คงฟ้องศาลปกครองให้คุ้มครองแน่ๆ แต่จะสำเร็จไหมต้องรอดู
ต้องถามว่า ตอนนี้ กสทช ทำไมต้องเร่งรีบจัดทำประมูลคลื่นความถี่ด้วย ในเมื่อยังไม่มีความต้องการของตลาด การจัดเตรียมการประมูลก้อมีค่าใช้จ่าย ฤา กสทช กระเป๋าแตก ต้องการเงินจากการประมูลคลื่นไปทำอย่างอื่น ความถี่ที่ทาง ITU จัดสรรให้ มีจำกัด ทำไมจะต้องรีบใช้ หากความต้องการในอนาคตมันเพิ่มขึ้น ราคาที่ปล่อยประมูลวันนี้ อาจเป็นการขายหมูก้อได้นะ