เบื้องหลังการทำงานของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เราใช้งานกันอยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นแชทบอทที่ฉลาดล้ำอย่าง ChatGPT, Gemini หรือแพลตฟอร์มสร้างภาพอัจฉริยะ เช่น DALL-E ล้วนต้องอาศัยเซิร์ฟเวอร์ที่มีกำลังประมวลผลสูงจำนวนมหาศาล และหนึ่งในความท้าทายที่มาพร้อมกับความแรงนี้ คือการจัดการกับความร้อนที่เกิดขึ้นจากการทำงานของชิปประสิทธิภาพสูงที่ใช้พลังงานมากกว่าระบบทั่วไปหลายเท่า
ยิ่งไปกว่านั้นแนวโน้มของฮาร์ดแวร์ AI ในระดับโลกก็ยิ่งตอกย้ำถึงความจำเป็นในการมีระบบระบายความร้อนประสิทธิภาพสูง เช่น NVIDIA Rubin Ultra และ Kyber Racks ที่เปิดตัวในปี 2025 และถูกออกแบบมาเพื่อสร้างซูเปอร์คอมพิวเตอร์ AI ที่ทรงพลังที่สุดในโลก กินไฟสูงถึง 600,000 วัตต์ต่อระบบ การมาถึงของเทคโนโลยีลักษณะนี้ทำให้ดาต้าเซ็นเตอร์ยุคใหม่ต้องเร่งปรับตัว เพื่อรองรับพลังงานมหาศาล
ด้วยเหตุนี้ ST Telemedia Global Data Centres (STT GDC) ผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ชั้นนำในเอเชีย จึงได้นำเทคโนโลยีระบายความร้อนด้วยของเหลวแบบ Direct-to-Chip มาใช้งานจริงในประเทศไทย โดยเปิดตัวอย่างเป็นทางการที่ ศูนย์ข้อมูล STT Bangkok 1 ซึ่งถือเป็นดาต้าเซ็นเตอร์แห่งแรกในประเทศที่ได้รับการรับรองในโปรแกรม NVIDIA DGX-Ready Data Center พร้อมรองรับคลัสเตอร์ AI และเวิร์กโหลดระดับสูงอย่างเต็มรูปแบบ

ทำไมต้องเปลี่ยนจากระบายความร้อนด้วยลมเป็นน้ำ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายคนอาจคุ้นเคยกับภาพของห้องเซิร์ฟเวอร์ที่เต็มไปด้วยตู้แร็คเรียงราย พร้อมเสียงพัดลมระบายความร้อนที่ทำงานตลอดเวลา และระบบปรับอากาศขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่รักษาอุณหภูมิภายในศูนย์ข้อมูลให้คงที่ นั่นเป็นเพราะว่าโดยทั่วไปแล้ว ระบบเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้งานสำหรับบริการต่าง ๆ เช่น Cloud, Web Hosting หรือระบบองค์กรทั่วไป มักใช้การระบายความร้อนด้วยอากาศเป็นหลัก ซึ่งก็เพียงพอต่อภาระงานที่ไม่เน้นการประมวลผลโหด ๆ ตลอดเวลา
แต่การมาถึงของปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการประมวลผลประสิทธิภาพสูง (High Performance Computing: HPC) ได้เปลี่ยนข้อจำกัดเดิมของระบบระบายความร้อนโดยสิ้นเชิง เพราะชิปประมวลผลด้าน AI เหล่านี้ปล่อยความร้อนที่สูงกว่าเดิมหลายเท่า โดยเฉพาะ GPU และ Accelerators ทำให้จำเป็นต้องมีโซลูชันที่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำ และต่อเนื่อง เพื่อรักษาสมรรถนะการทำงานและความเสถียรของระบบ

นั่นจึงเป็นที่มาของการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีระบายความร้อนด้วยของเหลวในระดับศูนย์ข้อมูล โดยเฉพาะในรูปแบบ Direct-to-Chip ที่กำลังกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของดาต้าเซ็นเตอร์ยุค AI
ระบบระบายความร้อนด้วยของเหลวแบบ Direct-to-Chip นี้ มีหลักการทำงานโดยการติดตั้งแผ่นเย็น (Cold Plate) เข้ากับชิปประมวลผลโดยตรง ไม่ว่าจะเป็น CPU หรือ GPU แล้วส่งสารหล่อเย็นให้ไหลผ่านเพื่อดูดซับความร้อนจากอุปกรณ์ ก่อนถ่ายเทความร้อนออกไปยังหน่วยควบคุมการกระจายความร้อน (Coolant Distribution Unit) และระบบหล่อเย็นส่วนกลาง ซึ่งทำให้สามารถจัดการกับพลังงานความร้อนได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพสูง

ต่างกับชุดน้ำในคอมทั่วไปยังไง
ในเชิงแนวคิดระบบนี้มีความคล้ายคลึงกับการระบายความร้อนด้วยน้ำในคอมพิวเตอร์เกมมิ่งที่ผู้ใช้ทั่วไปคุ้นเคย โดยอาศัยของเหลวเป็นตัวนำความร้อนออกจากชิปและส่งต่อไปยังหม้อน้ำเพื่อถ่ายเทออกสู่ภายนอก แต่ในระดับของดาต้าเซ็นเตอร์ การออกแบบจะซับซ้อนและมีความสามารถในการควบคุมที่แม่นยำกว่าอย่างมาก ทั้งในแง่ของการกระจายแรงดัน การจัดการกับความร้อนจำนวนมหาศาลที่เกิดจากการประมวลผลแบบขนานในระดับคลัสเตอร์ และการทำงานร่วมกับระบบหล่อเย็นขนาดใหญ่ของทั้งอาคาร เช่น Cooling Tower หรือระบบน้ำหล่อเย็นส่วนกลาง (Chilled Water Loop)

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในระดับนี้จึงไม่ใช่เพียงแค่การขยายขนาดของระบบจากเครื่องเดสก์ท็อปทั่วไป แต่คือการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของศูนย์ข้อมูลให้สามารถรองรับเทคโนโลยีประมวลผลยุคใหม่ได้ พร้อมสร้างสมดุลระหว่างสมรรถนะ การใช้พลังงาน และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง
ชิป AI จะร้อนขนาดไหนก็เอาอยู่
ระบบดังกล่าวรองรับกำลังไฟฟ้าสูงถึง 150 กิโลวัตต์ต่อแร็ค ซึ่งถือว่ามากกว่าขีดความสามารถของระบบลมแบบดั้งเดิมถึงหลายเท่าตัว อีกทั้งยังช่วยลดการใช้พลังงานในส่วนของระบบระบายความร้อนได้ถึง 20–30% และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานรวมได้มากกว่า 30% ในระดับ Hyperscale ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการลดต้นทุนการดำเนินงาน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

STT GDC กับภารกิจสร้างอนาคตดิจิทัลอย่างยั่งยืน
คุณบุศรินทร์ ประดิษฐยนต์ Country Head ของ STT GDC ประเทศไทย กล่าวว่า “การเปิดตัวระบบระบายความร้อนด้วยของเหลวแบบ Direct-to-Chip ในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของ STT GDC ในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของไทยให้สามารถรองรับการเติบโตของปัญญาประดิษฐ์และการประมวลผลขั้นสูงได้อย่างยั่งยืน เราเชื่อว่าความสามารถด้านพลังประมวลผลต้องมาควบคู่กับความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม และโชว์เคสในวันนี้คือหลักฐานสำคัญของความมุ่งมั่นนั้น”

ปัจจุบัน ศูนย์ข้อมูล STT Bangkok 1 ได้กลายเป็นตัวอย่างของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อรองรับเทรนด์การเติบโตของข้อมูลและ AI ในภูมิภาคอาเซียน โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ภูมิภาคนี้ได้รับการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI รวมกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในตลาดสำคัญที่ได้รับประโยชน์จากแนวโน้มดังกล่าว
การนำเทคโนโลยี Direct-to-Chip มาใช้ยังส่งผลให้สามารถใช้พื้นที่ใน Data Hall ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยลดความต้องการในโครงสร้างพื้นฐานของระบบลม เช่น เครื่องประบอากาศหรืออัตราการใช้ไฟฟ้า และช่วยยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ ด้วยการลดอุณหภูมิแปรปรวนและป้องกันจุดความร้อนเฉพาะจุดซึ่งเป็นสาเหตุของการสึกหรอ

ด้วยเป้าหมายในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2573 STT GDC ยังคงเดินหน้าสู่การสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ที่ทั้งทรงพลัง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถรองรับภารกิจด้านดิจิทัลของประเทศได้ในระยะยาว โดยเทคโนโลยีระบายความร้อนด้วยของเหลวแบบ Direct-to-Chip คือหนึ่งในเครื่องมือหลักที่จะทำให้เป้าหมายนั้นกลายเป็นจริง
บทบาทของดาต้าเซ็นเตอร์โครงสร้างพื้นฐานสำคัญของระบบคลาวด์และ AI
ดาต้าเซ็นเตอร์เปรียบเสมือน “โครงสร้างพื้นฐานเบื้องหลัง” ของยุคดิจิทัล ทำหน้าที่เป็นสถานที่ตั้งเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการคลาวด์ รวมถึงแพลตฟอร์ม AI ที่ต้องการพลังประมวลผลขนาดใหญ่ โดยผู้ให้บริการเหล่านี้มักเข้ามาเช่าพื้นที่เพื่อวางระบบของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเซิร์ฟเวอร์ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล หรือคลัสเตอร์ AI ความเร็วสูง สิ่งที่ดาต้าเซ็นเตอร์ต้องจัดเตรียมให้พร้อมจึงไม่ใช่เพียงแค่ “พื้นที่ว่าง” เท่านั้น
แต่ยังรวมถึงระบบสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ระบบจ่ายไฟฟ้าที่เสถียรและต่อเนื่อง เพื่อรองรับอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานสูง, ระบบระบายความร้อน ที่มีประสิทธิภาพเพื่อจัดการกับความร้อนจากการประมวลผล และ สภาพแวดล้อมที่ควบคุมได้ เช่น ความชื้น ความสะอาด และระบบรักษาความปลอดภัย เพื่อให้เซิร์ฟเวอร์สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง
Comment