เพื่อน ๆ ที่ใช้สมาร์ทโฟน น่าจะมีหลาย ๆ คนที่ชอบศึกษาสเปคเครื่องกันมาก่อน และก็น่าจะรู้ว่ามือถือแต่ละรุ่นมีเซ็นเซอร์ในการตรวจจับอะไรหลาย ๆ อย่างมาด้วย แล้วสงสัยกันไหมว่าเซ็นเซอร์พวกนี้ทำงานอย่างไรบนสมาร์ทโฟน มีไว้ทำไม แล้วใช้ทำอะไรได้บ้าง? เพราะบางรุ่นก็มีเซ็นเซอร์ตัวนี้ แต่บางรุ่นก็ไม่มี วันนี้เราก็เลยขอมาแนะนำเซ็นเซอร์ทั้งหลายที่อยู่ในสมาร์ทโฟนของเราว่าแต่ละตัวมีหน้าที่อย่างไรบ้างค่ะ

เซ็นเซอร์ คืออุปกรณ์หรือโมดูลขนาดเล็กที่จะคอยวิเคราะห์ และตรวจจับสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัว และคอยส่งข้อมูลไปยังหน่วยประมวลผลอีกที โดยเซ็นเซอร์ทั้งหลายของสมาร์ทโฟนจะคอยวัดและตรวจจับลักษณะต่าง ๆ ของสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นแสงโดยรอบ การวางอุปกรณ์ในระนาบหรือทิศทางต่าง ๆ การเคลื่อนไหวของมือถือ ฯลฯ

นอกจากนี้เซ็นเซอร์บางตัวในมือถือยังช่วยเพิ่มฟีเจอร์การใช้งานเฉพาะด้านให้มีความแตกต่างไปจากรุ่นที่ไม่มี ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ที่ต้องการสมาร์ทโฟนที่ทั้งดีในเรื่องการทำงาน ด้านความปลอดภัย หรือด้านความบันเทิง อีกทั้งยังช่วยให้สมาร์ทโฟนสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้ด้วยค่ะ

ประเภทของเซ็นเซอร์

เซ็นเซอร์มือถือจะแบ่งออกเป็นเซ็นเซอร์หลัก ๆ ได้ทั้งหมด 3 ประเภท

1. เซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว

เซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว หรือ Motion Sensors จะตรวจจับความเร่ง และการหมุนตามแกนทั้งสาม (แกน X/Y/Z) ของอุปกรณ์ อาทิ การเอียง, การเขย่า, การหมุน หรือการแกว่ง ซึ่งเซ็นเซอร์เหล่านี้เป็นเซ็นเซอร์ที่ช่วยให้สมาร์ทโฟนของเราสามารถวัดจำนวนก้าวได้, การจับทิศทางที่เรากำลังมุ่งหน้าไป และยังตรวจจับการเอียงเครื่องไปมาเมื่อเราเล่นเกมอีกด้วย

ตัวอย่างของเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว ได้แก่ Accelerometer, Gravity sensor, Gyroscope และอื่น ๆ

 

2. เซ็นเซอร์ตำแหน่ง

เซ็นเซอร์ตำแหน่ง หรือ Position Sensors จะบันทึกตำแหน่งจริง ๆ ของอุปกรณ์เอาไว้ เพื่อใช้สำหรับนำทาง ตรวจจับการหมุนหน้าจอ รวมถึงตรวจจับระยะห่างระหว่างผู้ใช้กับตัวเครื่องสมาร์ทโฟน อย่างเช่นเวลาเราคุยโทรศัพท์แล้วหน้าจอจะดับ เพราะเซ็นเซอร์ตรวจจับระยะห่างของหน้าจอกับใบหน้าของเราได้

ตัวอย่างของเซนเซอร์ตำแหน่ง ได้แก่ proximity sensors, GPS และ magnetometers

 

3. เซ็นเซอร์สิ่งแวดล้อม

เซ็นเซอร์สิ่งแวดล้อม หรือ Environmental Sensors เป็นเซ็นเซอร์ที่จะคอยตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมรอบตัวของสมาร์ทโฟน ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงของแสง ความดัน อุณหภูมิ การปรับความสว่างเมื่อเปิดใช้ความสว่างอัตโนมัติ การแสดงอุณหภูมิ  การวัดความกดอากาศ และอื่นๆ

ตัวอย่างของเซ็นเซอร์สิ่งแวดล้อม ได้แก่ Ambient light sensor สำหรับวัดแสง, เทอร์โมมิเตอร์สำหรับวัดอุณหภูมิ, บารอมิเตอร์สำหรับวัดความดันอากาศ หรือเซ็นเซอร์วัดความชื้นในอากาศเป็นต้น

 

เซ็นเซอร์ที่อยู่บนสมาร์ทโฟน

Accelerometer

เซ็นเซอร์นี้หลาย ๆ คนน่าจะเคยเห็นกันเยอะแล้ว บนมือถือหลาย ๆ รุ่น แต่อาจจะไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วมันมีไปทำไมซึ่งจริง ๆ แล้วมันมีไว้สำหรับตรวจจับการเคลื่อนที่ของตัวมือถือ ตามแกนทั้งสาม โดยแกน X ตรวจจับการเคลื่อนที่ของอุปกรณ์เวลาเคลื่อนที่ไปด้านซ้าย-ขวา, แกน Y วัดการเคลื่อนที่ไปในแนวดิ่งด้านบนและด้านล่าง (รวมถึงตรวจจับแรงโน้มถ่วง) ส่วนแกน Z วัดการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า-ข้างหลัง ตัวอย่างการใช้งานของเซ็นเซอร์นี้ก็คือ พวกแอปฟิตเนสที่จะคอยเช็คว่าเราวิ่งไปทิศทางไหน

 

Gyroscope

Gyroscope หรือ ไจโรสโคป ตรวจจับการหมุนตามแกนทั้งสามของอุปกรณ์ โดยมันจะคอยตรวจจับการหมุนหรือการเอียงของตัวเครื่องไปในทิศทางต่าง ๆ พูดง่าย ๆ คือ Accelerometer จะคอยตรวจจับการเคลื่อนที่ของมือถือในแนวราบ ส่วน Gyroscope จะตรวจจับการเคลื่อนที่ในมุมต่าง ๆ นอกเหนือจากแนวราบ ตัวอย่างการใช้งานก็คือ ฟีเจอร์ Auto-rotate ที่จะคอยหมุนหน้าจอตามการเอียงเครื่องของเรา หรือเป็นพวกเกมขับรถที่ใช้การเอียงเครื่องเพื่อเลี้ยวนั่นเองค่ะ

 

Magnetometer

แมกนีโตมิเตอร์ เซ็นเซอร์ตรวจจับสนามแม่เหล็กจะตรวจจับการวางแนวโทรศัพท์ของเราตามสนามแม่เหล็กโลก ซึ่งเซ็นเซอร์นี้จำเป็นต่อฟีเจอร์การนำทาง เช่นการดูแอปเข็มทิศเนื่องจากช่วยให้โทรศัพท์ของเราระบุทิศทางและปรับตามตำแหน่งได้ ยกตัวอย่าง เมื่อเราใช้ Google Maps ตัวเซนเซอร์จะวัดค่าสนามแม่เหล็กที่บอกว่าทิศเหนืออยู่ที่ไหน เป็นต้น

 

GPS

GPS หรือ Global Positioning System เป็นเซ็นเซอร์ที่ใช้งานร่วมกับเสาอากาศเพื่อช่วยนำทาง จะคอยรับสัญญาณอย่างต่อเนื่องจากดาวเทียมเพื่อช่วยคำนวณระยะทางจากที่นึงไปอีกที่นึงได้ และยังใช้ระบุตำแหน่งของโทรศัพท์เราด้วย

โดยเมื่อมือถือได้รับสัญญาณจากดาวเทียมแล้ว ตัวเซ็นเซอร์ GPS จะบันทึกตำแหน่งปัจจุบันของเครื่องเอาไว้ ซึ่งแอปนำทางจะใช้ทั้งเซ็นเซอร์ GPS และ Magnetometer ร่วมกันในการระบุตำแหน่งและนำทางค่ะ

 

Ambient Light Sensor

Ambient Light Sensor หรือเซ็นเซอร์วัดแสง จะคอยวัดความเข้มของแสงรอบๆ อุปกรณ์ โดยเซ็นเซอร์เหล่านี้จะตรวจจับการเปลี่ยนแปลงความสว่างของสภาพแวดล้อมและบันทึกความเข้มของแสงไว้ ตัวอย่างการใช้งานของเซ็นเซอร์นี้ก็คือฟีเจอร์ปรับความสว่างหน้าจออัตโนมัติ เวลาที่อยู่กลางแจ้งแสงจัด ๆ เมื่อเซ็นเซอร์ตรวจจับได้ก็จะเร่งแสงหน้าจอให้มากขึ้นเพื่อให้มองเห็นจอง่ายขึ้น และหากเป็นที่มืดก็จะลดความสว่างของหน้าจอลง

 

Proximity Sensor

Proximity Sensor คือซ็นเซอร์ตรวจจับระยะห่างระหว่างเซ็นเซอร์กับวัตถุ เช่นหน้าจอโทรศัพท์จะปิดลงเมื่อผู้ใช้งานยกขึ้นมาแนบหูตอนโทรเข้า – ออก ซึ่งจะช่วยประหยัดแบตเตอรี่และหลีกเลี่ยงการแตะโดยไม่ตั้งใจระหว่างการโทรนั่นเอง และพอเอาเครื่องออกห่างจากใบหน้า จอก็จะติดขึ้นมาเหมือนเดิม

 

Hall Sensor

Hall Sensor คือเซนเซอร์ที่คล้ายคลึงกับ Proximity Sensor แต่จะตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กรอบ ๆ อุปกรณ์แทนการตรวจจับระยะห่างระหว่างเซ็นเซอร์กับวัตถุ ตัวอย่างง่าย ๆ ที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยก็คือพวกเคสมือถือหรือแท็บเล็ตแบบที่มีแม่เหล็กอยู่ตรงฝาพับ เวลาพับฝาปิดลงมาหน้าจอก็จะดับ และเวลาเปิดฝาเคสออกจอก็จะติดขึ้นมา

 

Biometric Sensors

Biometric Sensors หรือเซ็นเซอร์ชีวมาตร ส่วนมากเซ็นเซอร์นี้จะนิยมใช้ในสมาร์ทโฟนเพื่อรักษาความปลอดภัยด้วยการยืนยันตัวตนของมือถือเรา และเป็นการเรียกรวมเซ็นเซอร์ประเภทนี้ไว้ด้วยกัน เช่น…

  • เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ : พบได้ในมือถือทั่วไปตั้งแต่ราคาประหยัดจนถึงระดับเรือธง ซึ่งมีทั้งแบบสแกนจากปุ่ม Power หรือสแกนจากเซ็นเซอร์ที่ฝังไว้ใต้หน้าจอ
  • เซ็นเซอร์สแกนม่านตา : เซ็นเซอร์นี้ใช้แสงอินฟราเรดที่มองไม่เห็นเพื่อตรวจจับรูปแบบม่านตาของเรา
  • กล้องเซลฟี่สแกนใบหน้า : สำหรับกล้องเซลฟี่ที่เราใช้ถ่ายรูปกันก็ถือว่าเป็นเซ็นเซอร์ชีวมาตรได้เหมือนกันค่ะ เพราะเราสามารถใช้กล้องสแกนหน้าเพื่อปลดล็อคเครื่องได้ ซึ่งมือถือบางรุ่นจะสแกนหน้าละเอียดกว่าเพราะใส่เซ็นเซอร์ 3D มาใช้ในการตรวจจับความลึกของใบหน้าด้วย
  • ไมโครโฟน : แม้แต่ไมโครโฟนก็ถือว่าเป็น เซ็นเซอร์ชีวมาตร ได้ด้วย เพราะมันใช้ตรวจจับเสียงที่เป็นเจ้าของเครื่องได้ค่ะ

 

Atmospheric Sensors

Atmospheric Sensors หรือเซ็นเซอร์วัดบรรยากาศ ที่จะตรวจจับบรรยากาศลักษณะต่างๆ รอบตัวอุปกรณ์ เช่น ความดันบรรยากาศ อุณหภูมิแวดล้อม ความชื้นในอากาศ ฯลฯ ประกอบด้วย

  • Thermometer : วัดอุณหภูมิของอุปกรณ์และสภาพแวดล้อม
  • Barometer : วัดความกดอากาศโดยรอบ สามารถให้ข้อมูลความสูงจากระดับน้ำทะเลได้ โดยบางแอปจะใช้เซ็นเซอร์นี้ช่วยในเรื่องการเก็บข้อมูลออกกำลังกายทั้งการวิ่ง, การเดิน และการปั่นจักรยานว่ามีการขึ้นเนินหรือลงเนินด้วยหรือไม่
  • Air humidity sensors : เซ็นเซอร์วัดความชื้นในอากาศรอบๆ ตัวเรา

 

NFC Sensor

เซ็นเซอร์ NFC หรือ Near Field Communication Sensor เป็นเทคโนโลยีที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 2 ชิ้นสามารถสื่อสารกันได้ โดยนำอุปกรณ์เหล่านี้มาไว้ห่างจากกันไม่เกิน 4 ซม. จะทำหน้าที่ส่งข้อมูลเข้ารหัสให้กันและกันได้อย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างรายละเอียดการชำระเงิน ปัจจุบันสมาร์ทโฟนหลายรุ่นรองรับ NFC ในตัว สามารถชำระเงินได้โดยแตะที่อุปกรณ์อื่นที่เปิดใช้งาน NFC แค่นั้นก็จ่ายเงินแบบไร้สัมผัสได้อย่างง่ายดาย

 

ที่มา : medium,makeuseof