สังเกตกันบ้างมั้ยคะว่ารอบตัวของเราล้วนมีแต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากมาย ไม่ว่าจะชิ้นเล็กชิ้นใหญ่ เมื่อใช้งานไม่ได้หรือไม่ต้องการแล้ว ต่างก็กลายเป็นขยะที่วางไว้อยู่ในมุมห้องเท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าหลายๆคนก็คงไม่รู้ว่าจะจัดการกับมันอย่างไร และสามารถไปทิ้งตรงไหนได้ ถ้าไม่กองๆไว้ ก็ใส่ถุงมัดรวมกับขยะอื่นๆไป แต่หารู้ไม่ว่า ขยะประเภทนี้จัดเป็นขยะที่อันตรายมาก ถ้าหากกำจัดไม่ถูกวิธีก็จะทำให้มีเคมีรั่วไหล ปนเปื้อนอยู่ในระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม และส่งผลกระทบทางด้านสุขภาพร่างกายของเราทุกคนแน่นอนค่ะ

มาทำความรู้จักขยะอิเล็กทรอนิกส์กันก่อน

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (e-waste) คือ ซากอุปกรณ์ที่ใช้กระแสไฟฟ้าหรือสนามแม่เหล็กในการทำงานที่ไม่ได้ตามมาตรฐาน เรียกง่ายๆว่า เสื่อมสภาพ หรือไม่เป็นที่ต้องการแล้ว นับว่าเป็นขยะประเภทนึงที่เป็นหนึ่งในปัญหาของขยะล้นโลกเนื่องจากว่าทุกวันนี้มีอุปกรณ์ หรือ Gadget ผลิตออกมาใหม่มากมายและพังไปในทุกๆวัน แถมยังเป็นขยะอันตรายถ้าหากทิ้งไม่ถูกที่ หรือใช้วิธีกำจัดที่ไม่ถูกต้อง

Play video

แล้วขยะอิเล็กทรอนิกส์มีอะไรบ้าง?

เอาจริงๆ เครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ต่างๆรอบตัวเราทั้งหลาย นับตั้งแต่อุปกรณ์ชิ้นเล็กอย่าง มือถือ หูฟัง สายชาร์จ พาวเวอร์แบงก์ สมาร์ทวอช ไปจนถึงอุปกรณ์ใหญ่ๆอย่างพวก เครื่องซักผ้า ทีวี ลำโพง เครื่องถ่ายเอกสาร ฯลฯ ถ้าไม่ต้องการหรือเสื่อมสภาพก็กลายไปเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งนั้น แถมยังมีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน รวมกันทั่วโลก 40 ล้านตันต่อปี และมีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ต่อปีไปเรื่อยๆด้วย

ทำไมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ถึงกลายเป็นปัญหาขยะล้นประเทศ?

ลองนึกภาพตามง่ายๆนะคะ อย่างนักศึกษาหรือคนทำงานออฟฟิศทั่วไป 1 คนเนี่ย มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใช้อย่างน้อยๆก็มือถือ 1 เครื่อง โน้ตบุ๊ค 1 เครื่อง บางคนก็มีแท็บเเล็ต หรือไอแพดเสริมอีก ยังไม่นับรวมพาวเวอร์แบงก์ สมาร์ทวอช และหูฟังนะ ซึ่งถ้าอุปกรณ์ดังกล่าวนี้เสียหรือตกรุ่นล่ะ?…ก็ซื้อใหม่สิคะง่ายๆ  แต่ลืมนึกไปรึเปล่าว่า 1 คน ใช้อุปกรณ์ 2- 3 เครื่อง แล้วถ้ารวมกันทั่วโลกเนี่ย จะมีขยะอิเล็กทรอนิกส์เยอะมากแค่ไหน?

ไม่ต้องคิดให้ปวดหัวค่ะ เรามีกราฟและตัวเลขมาให้ดูกันชัดๆ จากสถิติการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะตั้งแต่ปี 2011 มีขยะอิเล็กทรอนิกส์ 41.5 ล้านตัน ไปจนถึงปี 2016 เพิ่มขึ้นมามากถึง 93.5 ล้านตัน และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างจากกรณีของประเทศจีนที่คาดว่าภายในปี 2020 นี้ จะมีการทิ้งโทรศัพท์มือถือ มากกว่า 7 เท่าตัว ส่วนประเทศอินเดียจะทิ้งโทรศัพท์มือถือมากกว่าถึง 8 เท่าตัว

ที่มา : สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ และ ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ

อีกทั้งหลายๆคนก็ยังไม่รู้ว่าถ้าไม่ต้องการหรือมันพังเเล้วเนี่ย จะกำจัดด้วยวิธีใด เพราะไม่มีที่ให้ทิ้งเป็นหลักเป็นแหล่ง ไม่มีถังแยกให้ชัดเจน ส่วนใหญ่ก็มีแค่แยกขยะเปียกกับขยะแห้ง ทำให้บางคนเลือกที่จะกองไว้มุมใดมุมนึงของบ้านดีกว่า พอนานวันเข้า มันก็จะกลายเป็นของเก่าเก็บที่ไม่ต้องการใช้ รวมๆใส่ถุงไปทิ้งก็ได้ ง่ายดี แต่…วิธีที่มักง่ายแบบนี้ส่งผลเสียมหาศาลต่อสิ่งแวดล้อมและตัวเราเลยนะคะ

แค่กำจัดขยะไม่ถูกต้อง มันอันตรายขนาดนั้นเลยหรอ ?

หลายๆคนอาจคิดว่าวิธีกำจัดขยะแบบเดิมๆอย่างการฝังกลบเนี่ย จะปลอดภัย ง่ายและจบ บอกเลยว่าคิดผิดค่ะ!  เพราะว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นขยะที่อันตราย ซึ่งเวลานำไปรวมกันกับขยะมูลฝอยในครัวเรือนเนี่ย ทางเทศบาลหรือกรุงเทพฯเค้าไม่สามารถแยกได้ ก็จะนำไปฝังกลบหรือเข้าโรงเผาขยะต่อไป ซึ่งทั้งสองวิธีนี้ไม่ใช่การกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกต้องเลย

อันตรายของการฝังกลบและการเผาขยะอิเล็กทรอนิกส์

วิธีเหล่านี้เป็นวิธีที่อันตรายมาก (ก ไก่ล้านตัว) เพราะการกำจัดด้วยวิธีฝังกลบอาจทำให้เกิดการรั่วไหลของสารพิษอย่าง ตะกั่ว ปรอท คลอรีน แคดเมียม และโบรมีนลงสู่น้ำและดิน ทำให้ตกค้างตามแหล่งน้ำเหนือผิวดินและแหล่งน้ำใต้ดินที่จะถูกนำไปใช้บริโภคและอุปโภคในชีวิตประจำวัน ส่วนอันตรายของการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปเผาเนี่ย แน่นอนว่าทำให้เกิดควันพิษที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศโดยตรง ก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรคหัวใจ ระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาท ฯลฯ และถ้ายังทำแบบนี้ต่อไป จะทำให้เกิดการปนเปื้อนแทรกซึมเข้าไประบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร ก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสุขภาพได้ในที่สุดค่ะ

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ทิ้งที่ไหนได้บ้าง?

ก่อนหน้านี้การทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นเรื่องที่วุ่นวายและปวดหัวไม่น้อย และไม่มีการประชาสัมพันธ์รวมถึงคนที่รับผิดชอบแบบเป็นรูปธรรมนัก ทางเอไอเอสก็เลยมีการจัดตั้งโครงการที่ชื่อว่า E-Waste Green Network การจัดตั้งจุดบริการรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติขยะอิเล็กทรอนิกส์ล้นประเทศ ลดการก่อให้เกิดสารตกค้างที่จะส่งผลกระทบต่อปัญหาต่อสภาพแวดล้อม สังคม และสุขภาพของมนุษย์ แต่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้จะไม่มีวันสำเร็จได้ หากทุกคนไม่ร่วมมือร่วมใจกัน นำขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่สะสมไว้ไปทิ้งให้ถูกที่ ซึ่งสามารถนำขยะไปฝากทิ้งได้ที่สถานที่ดังต่อไปนี้

พก e-waste ไปทิ้งได้ตามห้าง ไปรษณีย์ หรือมหา’ลัย 

  • AIS SHOP ทั้ง 136 สาขาทั่วประเทศตามห้างทั่วไปที่อยู่ใกล้บ้านของคุณ  

 

  • ศูนย์การค้าในเครือเซ็นทรัลทั้ง 34 สาขา

  • มหาวิทยาลัยลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหิดล และอาคารชุด คอนโด ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ฯลฯ

  • ที่ทำการไปรษณีย์ไทยทั้ง 160 แห่ง

ในวันหยุดสุดสัปดาห์ถ้าเราไปห้างใกล้บ้านหรือเซ็นทรัลก็อย่าลืมหยิบขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ติดมือไป หรือถ้าไม่มั่นใจว่าแถวบ้านเรามีที่ไหนรับฝากขยะบ้างก็สามารถเข้าไปเช็คพิกัดได้ที่ Ewastethiland.com

จุดหมายปลายทางของขยะอิเล็กทรอนิกส์

หลังจากที่เราทิ้งขยะดังกล่าวอย่างถูกที่ถูกวิธีแล้วนั้น รถรับขยะก็จะเดินทางไปสู่โรงงานแยกขยะที่ถูกวิธี ซึ่งเขาก็จะมีการแยกชิ้นส่วนต่างๆของออกมาเป็นวัสดุแต่ละประเภทเป็น แผงวงจร แบตเตอรี่ เหล็ก เงิน ทอง พลาสติก ซึ่งสิ่งเหล่านี้นับว่ามีมูลค่าและสามารถนำมาหลอมเพื่อใช้ใหม่ได้ แทนที่จะมาฝังกลบให้เป็นมลพิษ ก็กลายเป็นทองแท่ง เงินแท่ง เหล็กหล่อ เหล็กแผ่น เมล็ดพลาสติกขึ้นรูปเพื่อใช้ซ้ำ แต่…ถ้ารีไซเคิลไม่ถูกวิธี(อย่างพวกที่เอาขยะไปสกัดเป็นเงิน ทอง ออกมาเอง)ก็มีอันตรายไม่ต่างไรกับการฝังกลบเหมือนกัน เพราะหลังจากสกัดแล้วหากเกิดการรั่วไหลของสารเคมี ก็ทำให้มีการปนเปื้อนและเป็นอันตรายต่อมนุษย์อยู่ดีค่ะ

 

ในระยะเวลา 7 เดือนที่ผ่านมาจนปัจจุบัน มียอดทิ้งขยะรวม 49,952 ชิ้น สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงถึง 499,520 กิโลกรัมคาร์บอนสมมูลย์ หรือเทียบเท่าต้นไม้ขนาดใหญ่ จำนวน 55,502 ต้น ดูดซับ CO2  เป็นเวลา 1 ปี เห็นมั้ยคะว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันให้โทษแก่สภาพแวดล้อมและตัวเรามากขนาดไหน และยิ่งถ้าสะสมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆต่อไป ไม่อยากจะนึกเลยล่ะค่ะว่าโลกของเราจะเป็นยังไง แต่ถ้าร่วมมือร่วมใจคนละไม้คนละมือช่วยกันกำจัดให้ถูกวิธีตั้งแต่วันนี้ อีกไม่กี่ปีปัญหาดังกล่าวจะต้องหมดไปอย่างแน่นอนค่ะ

 

อ้างอิง : Ewastethiland.com