พักหลังๆ นี้ หลายอาจจะเกิดอาการสับสนว่า สรุปแล้ว หน้ากากอนามัยนั้น สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ COVID-19 ได้หรือเปล่า เพราะสื่อบางสำนักก็บอกว่าไม่ได้ แต่บางที่ก็บอกได้ ล่าสุดองค์การอนามัยโลก WHO (World Health Organisation) ก็ได้เปิดบัญชี TikTok เพื่อแนะนำแนวทางวิธีการป้องกันเกี่ยวกับเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ถูกต้อง และได้ผลมากที่สุด

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาเปิดเผยว่า จริงๆ แล้ว หากไม่ได้มีอาการป่วย ก็ไม่ควรสวมใส่หน้ากากอนามัย พร้อมกับเพิ่มเติมว่า บุคคลที่ควรใส่หน้ากากอนามัย จะมีเพียงแค่ พนักงานในโรงพยาบาล อย่างเช่น หมอ และพยาบาล, คนที่ดูแลผู้ป่วย และผู้ที่มีอาการป่วยเท่านั้น อีกทั้งยังแนะนำถึงวิธีใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้องอีกด้วย

  1. ล้างมือให้สะอาด และเช็ดให้แห้ง ก่อนจับหน้ากากอนามัย
  2. ตรวจเช็คว่าหน้ากากอนามัยนั้นมีรอยฉีกขาด หรือรูหรือเปล่า
  3. ตรวจให้แน่ใจว่าด้านไหนเป็นด้านบน สังเกตง่ายๆ ด้านบนจะมีลวดอยู่
  4. ตรวจเช็คอีกรอบว่าด้านไหนเป็นด้านใด หรือด้านนอก โดยด้านในส่วนใหญ่ จะเป็นสีขาว
  5. ใส่หน้ากาก เช็คให้แน่ใจว่าหน้ากากนั้นแนบเข้ากับสันจมูก
  6. อย่าสัมผัสด้านนอกของหน้ากาก โดยหากพลาด ให้รีบล้างมือทันที

โดยองค์การอนามัยโลก ยังแนะนำอีกว่า หน้ากากอนามัยควรใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งทันที ไม่ควรนำมาใช้ซ้ำ และล้างมือหลังจากการสัมผัสหน้ากากอนามัยอยู่เสมอ

วิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธฺุใหม่ 2019 (COVID-19)

  • ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือน้ำและสบู่ เป็นประจำสม่ำเสมอ และอย่าลืมเช็ดมือให้แห้ง
  • เวลาจาม หรือไอ ให้ปิดปากและจมูกด้วยทิชชู่ หรือข้อพับข้อศอก
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับผู้ป่วยที่มีไข้ หรืออาการไอ
  • หากมีไข้, ไอ หรือหายใจลำบาก ให้รีบพบแพทย์ (และถ้าเคยไปประเทศสุ่มเสี่ยง ให้บอกหมอ)
  • หากมีอาการไม่สบาย แต่ไม่เคยไปประเทศสุ่มเสี่ยง ให้นอนพักอยู่บ้าน จนกว่าอาการจะดีขึ้น

ส่วนตัวผมมองว่าการใส่หน้ากากเวลาออกไปข้างนอกยังจำเป็นอยู่นะครับ เพราะเราไม่สามารถทราบได้เลยว่าคนข้างๆ เรา (หรือตัวเราเองนี่แหละ) จะติดเชื้อไวรัส COVID-19 แล้วหรือยัง โดยนอกจากจะใส่หน้ากากแล้ว สิ่งที่ควรทำมากๆ เลยก็คือ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือน้ำและสบู่อย่างเป็นประจำ และสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า หรือดวงตา อีกทั้งปัจจุบัน สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในบ้านเราก็ยังไม่ดีขึ้น การใส่หน้ากากจึงเหมือนเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ปลอดภัยเอาไว้ก่อนดีกว่าครับ

 

ที่มา: WHO