ใครที่เป็นสายติดจอ ชอบดูหนัง และสมัครแอป Streaming ไว้หลาย ๆ เจ้า จะสังเกตได้ว่าในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา แอปสตรีมมิ่ง 2 เจ้ายักษ์ทั้ง Netflix และ Disney+ Hotstar ก็พากันจับมือกันขึ้นราคาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ทำไมจู่ ๆ ทั้ง 2 แอปถึงขึ้นราคาพร้อมกัน เบื้องลึกเบื้องหลังการขึ้นราคาครั้งนี้คืออะไร ส่วนเจ้าอื่น ๆ จะมีสิทธิ์ขึ้นตามหรือไม่ เราจะมาวิเคราะห์ให้ฟังกัน
ทำไม Netflix ถึงขึ้นราคา?
ถึงแม้ Netfllix ในบ้านเราจะยังไม่เคยขึ้นราคาค่าสมาชิกโดยตรง แต่ก็เป็นเจ้าแรก ๆ ที่เริ่มมาตรการจัดการกับบ้านหารด้วยการบังคับให้จ่ายเพิ่มเติมบ้านละ 99 บาท ซึ่งหากใครสงสัยว่าทำไมจู่ ๆ Netflix ถึงกลืนน้ำลายตัวเองที่เคยทวีตซัพพอร์ตการแชร์พาสเวิร์ด ต้องบอกว่าในช่วงกลางปี 2022 Netflix ต้องเผชิญกับยอดผู้ใช้งานที่ลดลงกว่าหลายล้านบัญชี อีกทั้งการแข่งขันก็ยังสูงขึ้นกว่าเมื่อหลายปีก่อน เพราะค่ายหนังยักษ์ใหญ่หลายเจ้าก็ต่างเปิดแพลตฟอร์มเป็นของตัวเอง พร้อมที่จะฉกฐานคนดูจาก Netflix อยู่ตลอดเวลา
และอย่างที่ทราบกันดีว่า Netflix เป็นแพลตฟอร์มที่ทุ่มสุดตัวในด้านคอนเทนต์ออริจินัล ทั้งหนัง และซีรีส์ ซึ่งแต่ละเรื่องต่างใช้ทุนสร้างที่ค่อนข้างสูงมาก ในเมื่อยอดสมาชิกดิ่งลงต่อเนื่องหลายเดือน รายได้บริษัทก็ต้องลดลง ส่งผลให้การลงทุนในการผลิต หรือดึงคอนเทนต์ใหม่ ๆ เข้าแพลตฟอร์ม เป็นไปได้ยากขึ้น ถึงแม้ภายหลัง Netflix จะได้ปรับราคาค่าสมาชิกขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึง ออกแพ็กสมาชิกใหม่แบบมีโฆษณา แต่รายได้จากโฆษณาคิดเป็นเงินแค่ราว ๆ 10% ของรายได้เท่านั้น ซึ่งก็ยังไม่ครอบคลุมค่าลงทุนคอนเทนต์อยู่ดี
นอกจากนี้ Netflix มีเพียงแค่ธุรกิจสตรีมมิ่งที่สร้างรายได้หลัก ๆ ให้กับบริษัทเท่านั้น ส่วนคอนเทนต์ออริจินัลที่เป็นหัวใจหลักของแพลตฟอร์ม ก็ไม่สามารถนำไปฉายในโรงหนังเพื่อเก็บกำไร หรือนำไปขายให้แพลตฟอร์มคู่แข่งได้เหมือนค่ายหนังยักษ์ใหญ่อื่น ๆ ในเมื่อไม่สามารถหารายได้จากทางอื่นเพื่อมาซัพพอร์ตได้เลย ท้ายที่สุดทาง Netflix ก็ต้องหาทางกู้สถานการณ์เพื่อสร้างรายได้เพื่อมาสร้างคอนเทนต์ใหม่ ๆ
และแล้ว Netfilx ก็ได้ไปเห็นช่องทางที่จะเรียกเม็ดเงินกลับมาได้อย่างมหาศาล นั่นก็คือการจัดการกับบัญชีหาร โดย Netflix ได้ระบุไว้ในเว็บไซต์ว่าในเดือน กุมภาพันธ์ 2023 มีสมาชิกที่แชร์รหัสใช้บัญชีร่วมกันกว่า 100 ล้านบัญชี ทางบริษัทดูเหมือนจะมองเห็นเงินที่หล่นหายไปในผู้ใช้งานกลุ่มนี้ จนในที่สุดก็ต้องมารีดเลือดกับปู จัดการกับบัญชีหาร พร้อมเรียกเก็บเงินเพิ่มนั่นเอง
จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้ผู้ใช้งานหลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “Netflix ฆ่าตัวตายชัด ๆ” แต่ความจริงอาจไม่ได้เป็นแบบที่หลายคนคิด เพราะหลังบังคับใช้มาตรการที่ว่านี้อย่างเป็นทางการในวันที่ 23 พฤษภาคม 2023 เว็บไซต์สถิติอย่าง Antenna ได้รายงานว่า ในวันนั้น Netflix ของฝั่ง US มียอดสมัครพุ่งสูงขึ้นทันทีกว่า 105% สูงที่สุด ในรอบ 4 ปีครึ่ง ส่วนยอดยกเลิกสมาชิกสูงกว่าในช่วง 60 วันก่อนหน้าเพียงแค่ 25.6% เท่านั้น
ซึ่งเมื่อเทียบกับยอดสมัครที่พุ่งสูงกว่ามาก ๆ แล้ว Netflix อาจไม่รู้สึกสะเทือนสักเท่าไหร่ แถมยังเป็นการบอกได้แบบกลาย ๆ ว่า Netflix ได้เริ่มเข้ามาเป็นปัจจัยที่ 5 ของผู้คนในยุคนี้ที่ถึงแม้จะต้องจ่ายเงินเพิ่มมากกว่าปกติก็ยอม แต่ในไทยไม่รู้ว่าจะคุ้มเสียมั้ย เพราะและค่าบริการรายเดือนเมื่อเทียบกับค่าครองชีพในบ้านเราถือว่าค่อนข้างสูง คนส่วนอาจตัดสินเลือกที่จะยกเลิกเพื่อลดค่าใช้จ่าย หรือหนีไปแอปอื่นที่ค่าสมาชิกถูกกว่าก็เป็นได้
ทำไม Disney+ Hotstar ถึงขึ้นราคา?
การขึ้นราคาของ Disney+ Hotstar ถือเป็นอีกหนึ่งกรณีเซอร์ไพรส์ตามหลัง Netflix เพราะได้ขึ้นค่าบริการแบบก้าวกระโดดจากเดิม 799 บาทต่อปี พุ่งสูงขึ้นกว่าเดิมถึง 3 เท่าเป็น 2,290 บาท ซึ่งสาเหตุที่ทาง Disney+ Hotstar ต้องประกาศขึ้นราคา อาจเป็นเพราะในช่วงแรกที่เปิดให้บริการ ทางแพลตฟอร์มมีการทำโปรโมชั่นหั่นราคาค่าสมาชิกให้ต่ำลงกว่าปกติมาก ๆ เพื่อดึงผู้ใช้งานจากฝั่งคู่แข่งให้ได้มากที่สุด เพื่อเจาะตลาดระดับแมส
ในระยะ 2 ปีแรกที่เปิดตัวโดยใช้แผนนี้ดูเหมือนจะเป็นไปได้สวย เพราะทำให้ยอดผู้ใช้งานรวมบน Disney+ Hotstar เติบโตสูงต่อเนื่องหลายไตรมาสติด แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมีการหั่นราคาลงแบบสุด ๆ ก็ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยที่ Disney ได้รับจากสมาชิกต่อหัวนั้นค่อนข้างน้อยมากอยู่ที่ราว ๆ 74 เซนต์ หรือประมาณ 25 บาทเท่านั้น (Disney+ อยู่ที่ราว ๆ 4.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อหัว)
อัปเดต Disney+ Hotstar ราคาใหม่ 2023 แพงกว่าเดิม
และเมื่อตอนไตรมาส 4 ของปี 2022 ยอดผู้ใช้งาน Disney+ Hotstar ในตลาดอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลงเป็นครั้งแรกกว่า 3.8 ล้านราย ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในบรรดา Streaming Service ของ Disney ในเมื่อเก็บรายได้ต่อหัวได้น้อย แถมสมาชิกยังมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ แต่ต้นทุนในการผลิตคอนเทนต์ยังคงสูงเสียดฟ้า Disney+ Hotstar อาจจะใช้เทคนิคฟันราคาตีหัวเข้าบ้านไม่ได้อีกต่อไป จนในที่สุดก็ต้องประกาศราคาขึ้นในปีนี้นั่นเอง
ทั้งนี้แนวโน้มในปีหน้าคาดว่าสมาชิกของฝั่ง Disney+ Hotstar ก็อาจยังคงลดลง แต่อาจจะไม่ได้กระทบถึงรายได้มากสักเท่าไหร่ เพราะค่าสมาชิกที่เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 3 เท่าก็อาจทดแทนในฝั่งสมาชิกที่สูญเสียไปได้ เผลอ ๆ อาจจะได้เงินมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ
แพลตฟอร์มอื่น ๆ มีแนวโน้มขึ้นราคาด้วยมั้ย?
ในอนาคตหลายแพลตฟอร์มมีแนวโน้มที่จะขึ้นราคาสูงมากกว่าเดิม เพราะหลายแพลตฟอร์มเริ่มพยุงราคากันไม่ไหว ฟองสบู่พร้อมจะแตกอยู่ตลอดเวลา ซึ่งปัญหาหลัก ๆ เป็นเพราะแทบทุกเจ้าต่างต้องใช้เงินลงทุนทำคอนเทนต์มหาศาล อีกทั้งยังต้องทุ่มเงินซื้อลิขสิทธิ์หนังและซีรีส์ต่างๆมาเติมสต๊อกให้แพลตฟอร์มดูน่าสนใจและโดดเด่นกว่าเจ้าอื่น ๆ จนในที่สุดก็ทำให้ต้นทุนแพลตฟอร์มเพิ่มสูงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้
แต่ทั้งนี้ในบางแพลตฟอร์มเช่น HBO (Warners) หรือ Paramount ก็ยังสามารถสร้างรายได้จากการฉายในโรงหนัง รวมถึงยังขายคอนเทนต์ของตัวเองให้กับสตรีมมิ่งเจ้าอื่น พร้อมขายขาดแบบ Digital และแผ่นแบบ Physical ควบคู่กันไปได้อยู่ ในฝั่ง Disney เองนอกจากจะได้รายได้จากการฉายโรง ยังสามารถเก็บค่าลิขสิทธิ์ของเล่น และของที่ระลึกได้มหาศาล
อัปเดตราคา Netflix, Disney+, Prime, HBO Go, viu, iQIYI, Apple TV+ ครึ่งหลังปี 2023
ส่วนทั้ง Apple TV+ และ Prime Video ก็แทบไม่ต้องพูดถึง เพราะบริษัทแม่ของทั้งสองเจ้าต่างเป็นบริษัท Tech ยักษ์ใหญ่ ทุนหนา มีรายได้จากธุรกิจหลักมารองรับ ผิดกับฝั่ง Netflix ตอนนี้มีเพียงแค่ธุรกิจสตรีมมิ่งที่ทำรายได้ให้บริษัทเป็นหลัก แถมคอนเทนต์ Original ก็ดันเป็นจุดขายหลักเรียกให้คนเข้ามาสมัคร จึงไปได้ยากมากที่บริษัทจะขายคอนเทนต์ที่ตัวเองลงทุนลงแรงเองให้คนอื่น จนท้ายที่สุดก็ต้องผลักภาระด้านราคาให้ผู้ใช้งาน
HBO GO อาจมีสิทธิ์ขึ้นราคา
และในอนาคต แอปที่มีโอกาสจะขึ้นราคาค่าสมาชิกในประเทศไทยมากที่สุดอาจเป็น HBO GO เพราะบริษัทแม่ Warner Bros. Discovery มีแผนที่จะนำแพลตฟอร์มอย่าง MAX ที่เป็นแอปที่รวบคอนเทนต์จากฝั่ง HBO และ Discovery+ มาทำตลาดในไทยแทนที่แอปเดิมในช่วงกลางปี 2024 และหากอ้างอิงตอนที่ MAX เริ่มนำร่องใช้ในสหรัฐฯ ก็ได้มีการเพิ่มแพ็กราคาสูงขึ้นมาแทนที่ของเดิมด้วย
HBO Max เปลี่ยนชื่อเป็น Max หลังรวมกับ Discovery+ เริ่มให้บริการ 23 พฤษภาคมนี้ในอเมริกา
จากเดิมที่ผู้ใช้งาน HBO Max ในสหรัฐฯ เคยจ่ายแพ็กราคาสูงสุดดูหนัง 4K ได้ในราคา 15.99 เหรียญแต่หลังการรีแบรนด์แอปเป็น MAX จู่ ๆ ก็มีแพ็กระดับพรีเมียมราคา 20.99 เหรียญเข้ามาแทนที่ แถมยังลดเกรดให้แพ็กราคา 10.99 เหรียญฯ ดูคอนเทนต์แบบ 4K ไม่ได้ และลดจำนวนจอให้เหลือเพียง 2 จอเท่านั้น ซึ่งคล้ายกับกรณี Disney+ Hotstar ในไทยมาก ๆ ดังนั้นในปีหน้าใครที่เป็นสมาชิก HBO Go อาจจะต้องเตรียมรับแรงกระแทกให้ดี เพราะราคาอาจมีสิทธิ์พุ่งสูงเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาก
ส่วน Amazon Prime Video ในตอนนี้เพิ่งจะเริ่มเข้ามาทำตลาดในไทยใหม่ ๆ อาจจะยังไม่กล้าขยับราคาขึ้นจากเดิมมากเท่าไหร่ แต่ในระยะ 2 ปีข้างหน้า หากยอดผู้ใช้งานในไทย และต่างประเทศไม่ถึงเป้าที่คาดการณ์ไว้ ท้ายที่สุดก็อาจได้เห็นราคาสมาชิกพุ่งสูงเหมือน Disney+ Hotstar ก็เป็นได้
ในอนาคตแพลตฟอร์มอื่น จะยกเลิกแชร์จออีกมั้ย?
ณ ตอนนี้ทั้ง HBO GO, Disney+ Hotstar และ Prime Video ยังไม่มีแผนที่จะจัดการกับการแชร์จออย่างจริงจัง ดังนั้นเรายังสามารถหารบ้านกันได้ตามปกติ ไม่มีปัญหาอะไร แต่ทั้งนี้แต่ละแพลตฟอร์มก็ไม่สนับสนุนการแชร์รหัสให้กับคนที่ไม่ได้อยู่ในครอบครัวเดียวกันสักเท่าไหร่ เพราะอาจเกิดความเสี่ยงต่อข้อมูลของผู้ใช้งานได้
แต่เจ้าที่ออกตัวแรงที่สุด และมีแนวโน้มที่จัดการกับบ้านหารในอนาคตเห็นจะเป็น HBO เพราะในเงื่อนไขการใช้งานในแอปหลักอย่าง MAX ระบุอย่างชัดเจนว่า ไม่อนุญาตให้แชร์รหัสผ่านกับคนที่ไม่ได้อยู่ในครอบครัว แถม CEO ของบริษัทแม่ยังเคยกล่าวด้วยว่า ตัวแอปมีวิธีจัดการกับผู้ใช้งานที่แชร์รหัสผ่าน ซึ่งจะละมุนละม่อม และไม่ส่งกระทบเป็นวงกว้างเท่า Netflix แต่ ณ ตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียดว่า HBO จะจัดการบัญชีหารยังไง แล้วก็เริ่มบังคับใช้กันเมื่อไหร่ ต้องมาจับตาดูกันอีกทีในช่วงปีหน้า
https://t.co/dHgkuwiuHB pic.twitter.com/PkFhbOoWNd
— Prime Video UK (@primevideouk) May 25, 2023
กลับกันในฝั่งของ Prime Video ดูเหมือนจะใจป้ำเป็นพิเศษ เพราะหลังจากที่ Netflix ได้ประกาศบังคับใช้กฎตี้แตก Prime Video สหราชอาณาจักรได้กัด Netflix ผ่าน Twitter ว่า “ทุก ๆ คนที่มีรหัสสามารถเข้าดูคอนเทนต์ในแอปได้” ซึ่งเป็นการบอกแบบกลาย ๆ ว่าทางแพลตฟอร์มสนับสนุนการแชร์จอเต็มที่ เพื่อเป็นการตอกหน้า Netflix ที่เคยทวีตว่า ความรักคือการแชร์รหัสผ่านนั่นเอง แต่สุดท้ายแล้ว Prime Video จะต้องกลับมากลืนน้ำลายตัวเองหรือไม่ ให้เป็นเรื่องของอนาคตแล้วกันนะ
ผลกระทบหาก Streaning Service พากันขึ้นราคา
สำหรับผู้ใช้งานอย่างเรา ๆ ผลกระทบอาจจะมีไม่มากแค่ไม่ได้ดูคอนเทนต์ที่อยู่ในแอป เพราะถ้าราคาเพิ่มขึ้นจนเกินรับไหวยังไงเราก็สามารถตัดสินใจยกเลิกบริการได้อยู่ดี แต่สำหรับฝั่งผู้ให้บริการอาจต้องคิดหนัก เพราะในยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกแบบนี้ อาจส่งผลให้ผู้ใช้งานเกิดภาวะอ่อนไหวต่อราคา (Price Sensitivity) และเป็นการบีบให้ผู้ใช้งานเลือกสมัครบริการที่มีราคาต่ำกว่า และคุ้มค่ากว่า หรือต้องจำใจเลือกเพียงแอปเดียวเท่านั้น และเมื่อรายได้ลดลงคุณภาพคอนเทนต์ต่าง ๆ ก็อาจแย่ลง หรือมีจำนวนน้อยลงด้วย
ส่วนสิ่งที่ร้ายแรงมากที่สุดคงหนีไม่พ้นปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะอย่างที่ทราบกับว่าสตรีมมิ่งแต่ละเจ้ามากับคอนเทนต์ Exclusive ที่ดูได้เฉพาะในแพลตฟอร์มตัวเอง หากมีการปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น ก็มีแนวโน้มที่คนจะละเมิดลิขสิทธิ์แทนที่จะจ่ายเงินเพื่อดูหนังเรื่องเดียว
สรุป
สาเหตุที่สตรีมมิ่งต่าง ๆ พากันขึ้นราคาสรุปได้ง่าย ๆ เลยว่า ในยุคนี้แพลตฟอร์มต่าง ๆ เกิดขึ้นมามากหน้าหลายตาจากที่เคยมี Netflix เพียงเจ้าเดียว แต่ผ่านมาไม่กี่ปีกลับมี Disney+, HBO GO / MAX, Prime Video และอื่น ๆ อีกมากมายพากันเปิดตัวออกมาแข่งกันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด ทำให้แพลตฟอร์มเหล่านี้ต้องทุ่มเงินโปรโมท หั่นราคาแพลตฟอร์ม และทุ่มเงินซื้อ และผลิตคอนเทนต์ให้ยิ่งใหญ่แข่งกันทำให้ต้นทุนการบริการสูงขึ้นเรื่อย ๆ
และแน่นอนว่าในเมื่อยอดสมาชิกเริ่มไม่เป็นไปตามเป้า แถมยังมีแนวโน้มยอดสมาชิกลดลง แพลตฟอร์มต่าง ๆ จึงต้องหาวิธีใหม่ที่จะรีดเงินจากผู้ใช้งาน ท้ายที่สุดก็นำไปสู่การขึ้นราคา ผลักภาระด้านต้นทุนมาให้ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ต้องมารับผิดชอบแทนนั่นเอง
อ้างอิง:
- https://www.antenna.live/post/a-first-look-at-the-impact-of-netflixs-password-sharing-crackdown
- https://www.theverge.com/23460947/netflix-hulu-disney-plus-apple-tv-streaming-price-hikes-truth-behind
- https://www.cnet.com/tech/services-and-software/disney-plus-lost-subscribers-for-the-first-time/
- https://variety.com/2022/digital/news/hbo-max-discovery-plus-merger-2023-1235333314/
- https://www.cnet.com/tech/services-and-software/hbo-max-vs-max-subscriptions-differences-explained/
- https://www.streamtvinsider.com/video/att-hbo-max-has-built-features-mitigate-password-sharing
บาย Netflix