หลายคนอาจจะกำลังลังเลอยู่ว่าถ้าต้องเลือกระหว่างลงทุนกับอุปกรณ์ WiFi รุ่นใหม่อย่าง WiFi 6 เพื่อเน้นใช้ระยะยาว ได้เน็ตที่เร็วแรงขึ้น เทียบกับเลือกใช้ WiFi รุ่นมาตรฐานเดิมอย่าง WiFi 5 และสามารถเอางบไปลงทุนกับเราเตอร์หรือ access point ดี ๆ แทนได้ แบบไหนดูเป็นทางเลือกที่ยังคุ้มกว่าสำหรับปลายปี 2021 แบบนี้ ในบทความนี้อาจทำให้ท่านได้มุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้นครับ

อย่างที่ทราบกันดีว่าเทคโนโลยี WiFi ในปัจจุบันได้พัฒนาขึ้นมาถึงเจเนอเรชันที่ 6 แล้ว อุปกรณ์ต่าง ๆ เริ่มหันมารองรับการใช้งาน WiFi 6 หรือ 802.11ax กันมากขึ้น ปัจจุบันอุปกรณ์ที่รองรับมักจะยังเห็นเป็นมือถือหรือพีซีในรุ่น flagship อยู่เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจาก WiFi 6 ยังถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ต้นทุนราคาค่อนข้างสูง บวกกับเราเตอร์ที่รองรับก็มีราคาแพงกว่า แถมตัวเลือกในท้องตลาดก็ยังมีไม่มากเมื่อเทียบกับ WiFi 5 สำหรับรายละเอียดเชิงลึกเพิ่มเติมเกี่ยวกับ WiFi 6 (และ WiFi 6E) สามารถอ่านต่อได้จากบทความนี้ครับ

รู้จักกับ Wi-Fi 6 และ 6E สู่ยุคใหม่แห่งการเชื่อมต่อไร้สายบนคลื่น 6 GHz

ความแตกต่างระหว่าง WiFi 6 และ WiFi 5

โดยหลัก ๆ แล้ว WiFi 6 ได้รับการพัฒนาให้มีอัตราการรับส่งข้อมูลที่สูงขึ้น มีความจุของสัญญาณมากขึ้น รองรับอุปกรณ์ที่ใช้งานพร้อมกันจำนวนมากกว่าเดิม และใช้พลังงานน้อยลง แน่นอนว่าสิ่งที่คนโฟกัสมากที่สุดก็คงเป็นเรื่องของความเร็ว ในทางทฤษฎี WiFi 6 สามารถทำความเร็วในการส่งข้อมูลได้สูงสุดถึง 9.6 Gbps ขณะที่ WiFi 5 อยู่ที่ 6.9 Gbps

อย่างไรก็ตาม ความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ผู้บริโภคตามบ้านอย่างเรา ๆ ได้รับจาก ISP เฉลี่ยมักจะยังอยู่ที่ราว ๆ ไม่เกิน 2 Gbps เมื่อรวมเข้ากับข้อจำกัดด้านอื่น เช่น คุณภาพเสาสัญญาณของอุปกรณ์ คุณภาพของเราเตอร์ ระยะห่างระหว่างเราเตอร์กับอุปกรณ์ รวมถึงสิ่งกีดขวางภายในอาคาร ซึ่งล้วนทำให้เกิดการสูญเสียข้อมูลระหว่างทางไปค่อนข้างมาก การใช้ WiFi ให้ได้เต็มความเร็วสูงสุดนั้นเรียกว่าแทบจะเป็นโอกาสที่ยากมากภายใต้ข้อจำกัดในปัจจุบัน

หากลองพิจารณาดูก็จะเห็นว่าความเร็วสูงสุดที่ WiFi 5 ทำได้ก็ยังถือว่าเร็วเพียงพอต่อความต้องการอยู่แล้ว จึงเกิดคำถามตามมาว่าการใช้อุปกรณ์ที่รองรับ WiFi 6 เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับ พ.ศ. นี้แล้วจริง ๆ หรือยัง ?

บทความจาก Speedcheck.org ซึ่งเว็บไซต์ทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตชื่อดังแห่งหนึ่ง เผยว่าได้มีการสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต WiFi ในสหรัฐอเมริกา จำนวนทั้งสิ้น 1,682 คน โดยถามคำถามที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าว ซึ่งขอหยิบยกเฉพาะคำถามสำคัญดังนี้

  • ผู้ใช้มีความพึงพอใจแค่ไหนต่อประสบการณ์การใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ของตัวเอง
  • ผู้ใช้พึงพอใจต่อความน่าเชื่อของ WiFi ที่ใช้ตัวเองอยู่มากน้อยแค่ไหน
  • ผู้ใช้มีการจัดวางตำแหน่งเราเตอร์ที่ใช้งานได้ดีเพียงพอหรือไม่

การสำรวจครั้งนี้ได้มีการเก็บบันทึกข้อมูลประเภท WiFi ที่ผู้ตอบแบบสำรวจใช้งานเอาไว้ โดยแบ่งผู้ใช้ออกเป็น 2 กลุ่มตัวอย่าง ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มผู้ใช้ WiFi 6 และกลุ่มที่ใช้ WiFi ต่ำกว่า 6 (ตั้งแต่ WiFi 5 หรือ 4 ลงมา) ผลโหวตถูกแบ่งออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ พอใจมาก, พอใจ, เฉย ๆ, ไม่พอใจ และ ไม่พอใจมาก ซึ่งใช้ลำดับของคำตอบเรียงจากสีของกราฟ ไล่จากเขียวไปแดง ผลลัพธ์ที่ออกมาพบว่าค่อนข้างมีความน่าสนใจในหลายประเด็น

คำถามที่ 1 : ผู้ใช้มีความพึงพอใจแค่ไหนต่อประสบการณ์การใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ของตัวเอง ?

จากกราฟจะเห็นว่า หากไม่พิจารณาที่รุ่นของ WiFi ภาพรวมผู้ใช้ในสหรัฐฯ เกือบ 50% พึงพอใจต่อประสบการณ์การใช้อินเทอร์เน็ตของตัวเอง ซึ่งหากแยกตัวกลุ่มตัวอย่างแล้วจะพบว่าผู้ใช้ในฝั่งพึงพอใจของกลุ่ม WiFi 6 จะอยู่ที่ 55.5% เทียบกับ WiFi รุ่นเก่า ๆ ซึ่งเท่ากับ 44.1% จะคิดเป็นมากกว่า 11.4%

ผลสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่ารุ่นของ WiFi ส่งผลต่อความพึงพอใจในการใช้อินเทอร์เน็ตเพียงเล็กน้อยในระดับ 10% เท่านั้น กลุ่มผู้ใช้งาน WiFi 6 เกือบ 30% ยังคงรู้สึกไม่พึงพอใจกับประสบการณ์ที่ได้รับ ซึ่งหากโฟกัสเฉพาะกลุ่มสีแดงที่พึงพอใจน้อยที่สุด ก็ยังมีสัดส่วนที่มากกว่า WiFi รุ่นเก่าเล็กน้อยอีกด้วย

คำถามที่ 2 : ผู้ใช้พึงพอใจต่อความน่าเชื่อของ WiFi ที่ใช้ตัวเองอยู่มากน้อยแค่ไหน

ผลรวมในฝั่งพึงพอใจของ WiFi 6 อยู่ที่ 57.5% ขณะที่ฝั่ง WiFi รุ่นเก่าอยู่ที่ 43.6% คิดเป็นมากกว่า 13.9% ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อยในระดับเดียวกับคำถามก่อนหน้า ทางด้านกราฟภาพรวมก็มีสัดส่วนใกล้เคียงเดิมเช่นเดียวกัน

เว็บ Speedcheck.org ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อง ค่าสหสัมพันธ์ (correlation) ระหว่างความแรงของสัญญาณ WiFi (หน่วย dBm) กับความเร็วการดาวน์โหลด (หน่วย Mbps) ให้ผลลัพธ์เป็นกราฟเส้นตรง ซึ่งอาจเข้าใจยากสักเล็กน้อย แต่ก็แปลตรงตัวง่าย ๆ ว่าความเร็วอินเทอร์เน็ตของผู้ใช้กับตำแหน่งที่วางเราเตอร์ มีความสัมพันธ์กันอยู่ในระดับที่สูง ดังนั้นตำแหน่งการวางเราเตอร์ของผู้ใช้ WiFi ก็มีความสำคัญต่อการสำรวจความพึงพอใจครั้งนี้ไม่แพ้กัน จึงเกิดคำถามที่ 3 ตามมา

คำถามที่ 3 : ผู้ใช้มีการจัดวางตำแหน่งเราเตอร์ที่ใช้งานได้ดีเพียงพอหรือไม่?

ผลลัพธ์คือกลุ่มผู้ใช้ทั้ง WiFi 6 และ WiFi รุ่นต่ำกว่าให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไม่แตกต่างกันนัก ซึ่งก็ช่วยเน้นย้ำว่าผลลัพธ์เรื่องความพึงพอใจที่สำรวจครั้งนี้มีน้ำหนักที่ชัดเจนขึ้นนั่นเอง

ผลจากการสำรวจครั้งนี้สามารถนำมาสรุปใจความได้ว่า ชาวอเมริกันที่ใช้อินเทอร์เน็ต WiFi เกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมดรู้สึกพึงพอใจกับประสบการณ์ที่ได้รับ โดยที่รุ่นของ WiFi ที่ใช้มีผลต่อความพึงพอใจเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งนี่ก็สะท้อนให้เห็นว่าการเปลี่ยนมาใช้ WiFi 6 ไม่ได้ทำให้คนรู้สึกแฮปปี้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจริง ๆ แล้วแม้ WiFi 6 จะได้รับการปรับปรุงฟีเจอร์ให้สูงขึ้นจากเดิมมาก แต่ในความเป็นจริงคนไม่ได้มีพฤติกรรมการใช้ที่สูงขึ้นตามขนาดนั้นนั่นเอง

แน่นอนว่าหากเราเป็นองค์กรทำงานขนาดใหญ่ การนำมาตรฐานใหม่มาเตรียมความพร้อมไว้ย่อมเป็นเรื่องที่ดี แต่หากเป็น WiFi บ้านทั่วไปที่ชีวิตประจำวันของเราค่อนข้างจะวนเวียนอยู่กับอุปกรณ์เพียงหลัก 10 เครื่อง ใช้งานโปรแกรมหรือแอปทั่วไปเป็นหลัก หรือนาน ๆ ครั้งอาจจะมีโอกาสโหลดเกมไฟล์ขนาดใหญ่ลงเครื่องมาเล่นบ้าง การจะเลือกอัปเกรดจาก WiFi 5 เพื่อมาใช้ WiFi 6 อาจจะยังดูไม่ใช่ทางเลือกที่คุ้มค่าเท่าไหร่

ดังนั้นถ้าเราอยากจะใช้เน็ตบ้านที่เร็วขึ้น อีกตัวเลือกหนึ่งคือการเอางบไปอัปเกรดโปรโมชั่นความเร็วเน็ตโดยตรงกับ ISP หรือซื้อเราเตอร์ WiFi 5 ที่มีคุณภาพดีขึ้นเพื่อขยายสัญญาณ อาจจะเป็นทางเลือกที่ยังเพียงพอและคุ้มค่ากว่าสำหรับการใช้งานทั่วไปในปัจจุบันครับ

 

 

ที่มา : Speedcheck