สัปดาห์ที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวของการประมูลคลื่น 4G กันพอสมควร ด้วยทาง กสทช. ได้เปิดให้รับซองการประมูลคลื่นทั้ง 900 / 1800MHz ที่จะเกิดขึ้นในเดือนหน้าไปเรียบร้อย และแต่ละค่ายต่างก็ตบเท้าเข้ารับซองไปพิจารณากัน ค่ายที่ถูกจับตามองกันมากที่สุด ก็ไม่พ้นดีแทคที่ต้องการคลื่นเข้าไปเติมพอร์ทกว่าใครเพื่อนเพราะสัมปทานคลื่น 850 และ 1800MHz กำลังจะหมดลง แต่ท่าทีของดีแทคกลับไม่คึกคักเช่นเน้นเพราะส่งสัญญาณอาจจะไม่เข้าร่วมอีกรอบ

เตรียมเข้าร่วมประมูล 900MHz แต่ลังเลใจเมื่อเจอเงื่อนไข

หลังจากความล้มเหลวของการประมูลคลื่น 1800MHz ที่ไม่มีใครเข้าร่วมเมื่อครั้งที่ผ่านมาทาง ดีแทคมีการบอกมาตลอดว่าคลื่นที่พวกเค้าต้องการเป็นคลื่นความถี่ย่านต่ำ ซึ่งตอนแรกทาง กสทช. ตัดสินใจไม่นำออกมาประมูลเนื่องจากมีผลการศึกษาจากทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า ถ้าเอาคลื่น 850MHz เดิมของดีแทคนี้มาซอยย่อยแบ่งเป็น 5MHz x2 ใบ โดยใบนึงจะนำไปใช้ทำรถไฟฟ้าความเร็วสูง เหลือเพียง 5 MHz มาประมูลนั้น มีความเสี่ยงว่าจะเกิดคลื่นรบกวนและมีปัญหาในการให้บริการกับทุกฝ่ายได้ แต่ทาง กสทช. ก็เปลี่ยนใจเพราะเห็นว่าทางดีแทคมีความต้องการย่านความถี่ต่ำ ซึ่งทุกอย่างก็ดูเหมือนจะไปได้ด้วยดี เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมามีการยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมจากทางดีแทคเพื่อใช้งานคลื่น 850MHz ต่อไปอีกหน่อยระหว่างรอเสา 900MHz วางเสร็จ ทางกสทช.ก็ดูจะตอบรับแล้ว แต่หลังจากรับซองชี้แจง (16 ก.ค.) เรื่องเงื่อนไขการประมูลแล้วจึงทำให้ทางดีแทคเกิดความลังเลใจขึ้นมา

ดีแทคชี้เงื่อนไขการประมูลคลื่น 900MHz มีความเสี่ยงสูงต่อผู้ชนะ

โดยวันอังคาร (17 ก.ค.) ที่ผ่านมา ทางดีแทคได้มีเปิดโต๊ะแถลงถึงกฎการประมูลที่พวกเค้าเป็นห่วงเพราะมีการระบุเอาไว้ว่าผู้ที่ชนะการประมูลนั้นจะต้องเป็นผู้ที่รับผิดชอบในการใส่ฟิลเตอร์กรองสัญญาณให้กับทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากการให้บริการบนคลื่นนี้ ซึ่งแม้ว่าจะทางผู้ชนะจะสามารถนำเอาค่าใช้จ่ายในการติดตั้งฟิลเตอร์นี้ไปหักลบออกจากเงินค่าประมูลได้ แต่งบที่ทาง กสทช.ให้ไว้ที่ 2,000 ล้านบาทนั้นทางดีแทคมองว่าไม่เพียงพอ และอาจจะเพิ่มขึ้นสูงขึ้นได้เป็นเท่าตัว ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมถึงความเสี่ยงจากการบริหารจัดการที่หากว่าทางดีแทคชนะการประมูลต้องติดต่อประสานงานกับเจ้าของเสารายอื่นๆ เพื่อขึ้นไปติดตั้งในสถานีฐานต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยเพราะการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม อาจจะต้องมีการตรวจสอบเรื่องโครงสร้างของเสาว่ารองรับได้หรือไม่ เจ้าของที่ยินยอมหรือมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมหรือเปล่า และยิบย่อยที่อาจตามมาได้นั่นเอง และข้อที่ทางดีแทคกังวลมากที่สุดคือทางกสทช. สงวนสิทธิ์ที่จะโยกคลื่นความถี่ได้ตามดุลยพินิจ ซึ่งหมายความว่าถ้าดีแทคลงทุนไปแล้วหลายร้อยล้านบาทในอุปกรณ์คลื่นความถี่เดิม ดีแทคอาจต้องทิ้งเงินร้อยล้านนั้นเพื่อเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ทั้งหมดตามความเห็นชอบของทาง กสทช. เพราะอุปกรณ์คลื่นความถี่นี้ไม่สามารถปรับเปลี่ยนคลื่นได้ตามใจชอบนั่นเอง

สรุปความเป็นห่วงต่อเงื่อนไขการประมูลดีแทคในครั้งนี้

  • เงื่อนไขการประมูลคลื่น 900 MHz กำหนดให้ผู้ชนะต้องรับผิดชอบติดตั้งระบบป้องกันคลื่นสัญญาณรบกวนทั้งหมด
  • ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบป้องกันที่ดีแทคประเมินเอาไว้สูงกว่า  2,000 ล้านบาท สูงกว่าที่กสทช.ให้นำเอาไปหักจากค่าประมูลได้
  • กสทช. ยังสงวนสิทธิ์ปรับเปลี่ยนช่วงคลื่นความถี่ได้กรณีจำเป็น เกิดความเสี่ยงต้องซื้ออุปกรณ์ใหม่ทั้งหมด
  • ดีแทคยังไม่ทราบจำนวนที่แน่นอนของระบบป้องกันคลื่นสัญญาณรบกวน ว่าจะต้องติดตั้งให้ใครทั้งหมดกี่เสาบ้าง
  • ความล่าช้าของการเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งอุปกรณ์ ซึ่งถ้าดีแทคทำไม่ได้ตามกำหนดก็มีสิทธิ์ถูกลงโทษได้
  • อุปกรณ์ป้องกันคลื่นมีน้ำหนักมากพอสมควร อาจต้องมีค่าใช้จ่ายในการเสริมโครงสร้างเสาเดิม
  • ข้อพิพาทจากหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการติดตั้งอุปกรณ์ในกรณีไปติดตั้งให้ที่เสาผู้บริการรายอื่น
  • ยังไม่ทราบถึงรายละเอียดของรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่จะเกิดขึ้น 4 โครงการ ซึ่งทำให้ดีแทคไม่ทราบอีกเช่นกันว่าจะต้องลงอุปกรณ์ป้องกันคลื่นรบกวนให้ทั้งหมดกี่เสา

มองมุมต่างเงื่อนไขการประมูลครั้งนี้โอเคแล้ว

อย่างไรก็ดีก็มีการมองมุมต่างในเรื่องกฎเกณฑ์ส่วนนี้กันอยู่บ้าง มีข้อโต้แย้งในเรื่องต่างๆที่ทางดีแทคไม่โอเคเอาไว้ดังนี้

ผู้ชนะต้องรับผิดชอบในการติดตั้งแต่เพียงผู้เดียว

ทางดีแทคมองว่าค่าใช้จ่ายในการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันสัญญาณนี้ควรจะต้องเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายรับผิดชอบร่วมกัน AIS – TrueMove H ก็ควรต้องมีภาระในการติดตั้งอุปกรณ์บนเสาตัวเองด้วย ไม่ใช่เป็นผู้ชนะแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งตรงนี้ก็มีความเห็นว่าตอนแรกทาง กสทช. ไม่ได้กะจะเอาคลื่นออกมาประมูลก็เพราะกลัวปัญหาคลื่นรบกวน แต่เมื่อมีคนแสดงความจำนงว่าต้องการใช้คลื่นช่วงนี้จึงเปิดให้ประมูลได้ แต่เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นในอนาคต จึงต้องเขียนกฎข้อนี้ขึ้นมา

2,000 ล้านบาท ไม่เพียงพอต่อการวางระบบป้องกันสัญญาณกวน

ตัวเลขที่มีการคาดการณ์ค่าใช้จ่ายเอาไว้ บางฝ่ายบอกว่าอาจจะสูงถึง 6,000 ล้านบาทได้ในกรณีที่แย่ที่สุด แต่บางฝ่ายก็บอกว่าตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่เพียงพอมากๆ หากมีการเลือกใช้อุปกรณ์ตามที่ทาง กสทช. คิดคำนวนเอาไว้แล้ว และเพื่อเป็นการป้องกันการตุกติกของใบเสร็จที่นำมาเคลมค่าใช้จ่ายด้วย มิฉะนั้นแล้วทางผู้ชนะก็มีสิทธิ์เคลมตัวเลขได้ตามใจชอบได้ นอกจากนี้หากว่ารถไฟฟ้าความเร็วสูงไม่เกิดขึ้นก็อาจจะใช้เงินไม่ถึงเลยด้วยซ้ำไป

อีกประเด็นหนึ่งงดีแทคมองว่าเรื่องอุปกรณ์ป้องกันสัญญาณรบกวนนี้นอกจากแต่ละฝ่ายจะติดตั้งเองแล้ว ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแต่ละบริษัทก็น่าจะต้องทำเรื่องเบิกกับทาง กสทช. กันเองไม่ใช่ทางดีแทคเป็นคนรับผิดชอบแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งข้อคัดค้านของบางฝ่ายคือเป็นการผลักภาระให้ทางกสทช.เป็นคนทำหน้าที่ตรวจสอบเอกสาร และกำลังคนอาจจะไม่เพียงพอได้นั่นเอง

ปัญหาในการดำเนินการ จะทำได้อย่างล่าช้าและลำบาก

ดังที่บอกไปแล้วว่าในการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันนั้น ต้องมีการติดต่อประสานงานกับหลายฝ่าย และคาดว่าจะมีความวุ่นวายในการดำเนินการขอติดตั้งต่างๆ แต่ในทางกลับกันก็มองกันว่าถ้า กสทช. เป็นเจ้าภาพและมีคำสั่งแล้วนั้น ทุกฝ่ายก็ควรจะต้องให้ความร่วมมือในการติดต่อเป็นอย่างดี ไม่สามารถขัดขืนได้นั่นเอง

ทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อโต้แย้งที่มีการถกเถียงกันอยู่ว่ากฎการประมูลนี้เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมอย่างไรนะครับ สำหรับคนทั่วไปที่คอยสังเกตการณ์กันก็คงได้แต่คิดหาคำตอบในใจกันไปแต่สุดท้ายแล้วกฎเกณฑ์การประมูลในครั้งนี้ดูเหมือนจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ยาก เนื่องจากประกาศออกมาเป็นราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการแล้วนั่นเอง การจะเพิ่มเติมอะไรเข้าไปอีกนั้นไม่น่าจะทำได้ คงมีแต่เพียงการประกาศจากทาง กสทช. เพิ่มเติมซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเพียงพอกับดีลหมื่นล้านระดับนี้ครับ

dtac ไม่เข้าประมูล กสทช.ไม่ยอมเยียวยา

ถ้าเงื่อนไขการประมูลยังเป็นเช่นนี้อยู่ ก็มีความเป็นไปได้ยากที่ทางดีแทคจะเข้าร่วมประมูลคลื่น 900MHz ที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 18 สิงหาคมนี้ เพราะทางบริษัทน่าจะประเมินว่าความเสี่ยงมีสูงเกินกว่าที่จะรับไหวนั่นเอง แต่ถ้าระหว่างนี้มีอะไรเปลี่ยนแปลงก็อาจจะเห็นเซอร์ไพรส์ได้ หรือไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เห็นดีแทคกลับลำไปจับคลื่น 1800MHz ก็เป็นได้ และด้วยความที่คลื่น 1800MHz มีการซอยคลื่นให้เหลือใบอนุญาตละ 5MHz แล้วนั้น ก็มีลุ้นว่าจะได้เห็น AIS กับ TrueMove H เข้าร่วมการประมูลด้วยอีกครั้ง เพื่อจะซื้อเข้าไปเติมพอร์ท 1800MHz ให้กลายเป็น 20MHz เพื่อให้บริการได้เต็มความสามารถที่สุดนั่นเอง

อย่างไรก็ดีหากว่าครั้งนี้ดีแทคเล่นแง่ไม่เข้าประมูลอีก ทางกสทช. เตรียมหาเรื่องไม่ให้ทางดีแทคเยียวยาใช้คลื่นต่อไปแน่นอน โดยใช้เหตุผลในเรื่องที่ก่อนหน้านี้ยอมเยียวยาให้ทั้งเอไอเอสและทรูเนื่องจากมีความจำเป็น ไม่สามารถจัดประมูลได้ทันหมดสัมปทาน ต่างจากกรณีดีแทคที่ไม่เข้าร่วมการประมูลเอง เล็งจะขอการเยียวยามากกว่าจะยอมจ่ายเงินก้อนเพื่อซื้อใบอนุญาต ซึ่งแน่นอนว่าถ้าทาง กสทช. ตัดสินใจแบบนั้นจริงเรื่องต้องจบที่ศาล แต่ว่าจะได้รับการคุ้มครองเหมือนเมื่อคราวเอไอเอสและทรูหรือไม่นั้น คงต้องรอติดตามต่อไปครับ