อย่างที่เห็นกระแสกันว่าปัจจุบันผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการทั่วโลกต่างเริ่มหันมาให้ความสนใจกับสถาปัตยกรรม ARM มากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ OS ฝั่งพีซีที่ครองตลาด x86 มานานนับ 40 ปีก็เริ่มถูกผลักดันเวอร์ชัน ARM ตามออกมา โดยเฉพาะ macOS บน ARM ตัวใหม่ของ Apple ที่เพิ่งเปิดตัวพร้อมกับชิป M1 ได้ไม่นาน แต่ปัจจุบันก้าวขึ้นมาประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วจนแทบจะเป็นกระแสหลักแทน Mac Intel ไปแล้ว

กลับกันในฝั่ง Windows ซึ่งจริง ๆ เริ่มรุกตลาด ARM มาก่อน Mac สักพักตั้งแต่สมัย Windows RT (ยุค Windows 8) แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่าก็ยังไปได้ไม่สวยเหมือนคู่แข่งสักที ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้ใช้เคยชินกับระบบ x86 มากเกินไป ไม่ก็ยังไม่มีชิปฝั่ง ARM ตัวไหนแรงพอที่จะเรียกคะแนนความสนใจจากผู้ใช้ตอนนี้ได้

ปัจจุบัน Microsoft ยังคงยืนยันจะผลักดัน Windows on ARM ต่อด้วยการเปิดตัว Surface ตระกูล Pro X ซึ่งเป็น Surface รุ่นแรกที่มาพร้อมกับ Windows 10 แบบ ARM (ปัจจุบันมีรุ่นอัปเกรด Windows 11 ออกมาแล้ว) แม้ยอดขายอาจจะไม่ได้ปังซะทีเดียวเหมือน MacBook Air M1 แต่ก็ถือเป็นต้นแบบสำคัญที่ทำให้ตอนนี้หลายแบรนด์เริ่มขยับตามมาทำโน้ตบุ๊คหรือแท็บเล็ตพีซีที่เป็นไส้ใน ARM มากขึ้น

โน้ตบุ๊ค/แท็บเล็ตร่างซีพียู ARM ที่เพิ่งมีเปิดตัวออกมาในปีนี้ ได้แก่ Lenovo ThinkPad X13s, HP Elite Folio และ ASUS ExpertBook B3 Detachable (B3000) ซึ่งเป็นตัวที่ทีมงานได้เอามาลองใช้เอง วันนี้เลยจะหยิบมาถอดความรู้สึกและประสบการณ์ที่ได้รับจากการใช้ Windows 11 ARM ให้ฟังกันว่า ปี 2022 นี้ Windows ARM พัฒนาไปไกลถึงไหนแล้ว, น่าใช้พอหรือยัง, รองรับโปรแกรม x86 ได้มั้ย และมีความแตกต่างจาก Windows x86 ที่เราคุ้นเคยกันแค่ไหน ใครที่สงสัยคำถามเหล่านี้อยู่เดี๋ยววันนี้มารู้ไปพร้อม ๆ กันครับ

หน้าตาของ Windows 11 on ARM

โดยภาพรวมต้องบอกว่า Windows 11 ธรรมดาและ Windows 11 ARM ไม่มีความแตกต่างกันเลยในเรื่อง UI ไม่ว่าจะเป็นหน้าต่าง Start Menu, หน้า File Explorer, หน้าต่างแอป native ที่เขียนรองรับ ไปจนถึงการตอบสนองคลิกสั่งงาน ทุกอย่างให้สัมผัสเดียวกับ Windows x86 เกือบหมด เรียกว่าใครที่ใช้คอม Windows 11 เดิมอยู่แล้วสลับมาใช้ตัวนี้คงไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงอะไร

 

ส่วนแตกต่างที่สังเกตเห็นได้ชัดจริง ๆ จะมีเรื่องเดียวคือในไดรฟ์ C จะมีโฟลเดอร์ Program Files แยกเพิ่มออกมาอีก 1 โฟลเดอร์คือ “Program Files (Arm)” ซึ่งมีไว้สำหรับเก็บไฟล์ข้อมูลของโปรแกรม Desktop App ทั้งหมดที่เป็น ARM native โดยเฉพาะ

 

กินสเปคน้อยกว่า Windows x86 จริงหรือไม่ ?

เครื่องที่ได้มาทดสอบนี้ใช้สเปคเป็นซีพียู Snapdragon 7c Gen 2 (7W) ซึ่งถือเป็นซีพียูระดับเริ่มต้น (รุ่นท็อปจะเป็น 8c และ 8cx) มาพร้อมจีพียู Adreno 618 และแรมตัวเครื่อง 8GB LPDDR4 การใช้งานจริงให้ความรู้สึกว่าอยู่ในระดับกลาง ๆ ไม่ได้ลื่นไหลกว่าโน้ตบุ๊ค x86 ที่สเปคใกล้เคียงกันเป็นพิเศษ มีแอบหน่วงหรือเปิดโปรแกรมช้าให้เห็นบ่อยด้วย ซึ่งเอาตรง ๆ เลยน่าจะพอ ๆ ตัว ASUS ExpertBook L1 สเปค Ryzen 3 3250U (2C/4T) + แรม 4GB ที่เรทราคาแค่ 15,000 บาทด้วยซ้ำ

 

การใช้งานโปรแกรม ARM native โดยเฉพาะแอปของ Microsoft เองอย่างเช่น Office, Edge หรือพวก bloatware ที่ติดมากับเครื่อง พวกนี้เปิดได้ลื่นไหลกว่าโปรแกรม x86 จริงเนื่องจากไม่ต้องผ่านการแปลงโค้ดใด ๆ ก่อนใช้ แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้รู้สึกว่าประหยัดแรมลงไปมากกว่าการรันแอป x86 บนเครื่อง x86 เท่าไหร่เลย เพราะจากที่ลองเองพบว่าแรมที่ให้มา 8GB ก็ยังไม่พออยู่ดี ถ้าเปิดแท็บ Edge ไว้สักเกิน 10 แท็บพร้อมกับแอป native สัก 2-3 ตัวก็เริ่มมีอาการรีเฟรชให้เห็นว่าไม่พอได้เหมือนกัน

 

ใช้งานแอป x86 ได้รึเปล่า ?

หลายคนมีภาพจำไม่ดีมาจาก Windows RT ที่ลงได้เฉพาะแอปบน Windows Store แบบ ARM native อย่างเดียว แต่ปัจจุบัน Windows 11 on ARM สามารถรันโปรแกรม 32-bit และ 64-bit ได้แล้ว ผ่านการแปลงโค้ดด้วยตัวซอฟต์แวร์ emulator ในตัว ซึ่งเวลาเราโหลดโปรแกรม x86 ที่เป็น setup.exe จากเว็บต่าง ๆ มาก็สามารถลงติดตั้งได้ปกติเหมือนบน Windows ธรรมดาเลย (รองรับแม้กระทั่งซอฟต์แวร์เก่า ๆ ด้วย)

จากที่ลองติดตั้งพวกโปรแกรม x86 แท้ ๆ อย่าง Steam, Epic Games และ Origin พบว่าสามารถเปิดใช้งานได้ตามปกติ และกดดาวน์โหลดเกมย่อยด้านในที่เป็น x86 เหมือนกันมาลงในเครื่องได้หมด

 

อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของการรันแอป x86 ที่เจอก็คือ ใช้เวลาในการเปิดนานกว่าแอป ARM native มากแบบสังเกตได้ เชื่อว่าน่าจะเกิดจากการที่โปรแกรมต้องถูกรอแปลงโค้ดก่อน และจะช้าแบบนี้ทุกครั้งเวลาโปรแกรมโดนปิด-เปิดใหม่ ไม่ได้เหมือน Rossetta 2 ของฝั่ง Mac ที่เปิดครั้งที่ 2 ได้เร็วกว่าเดิมเพราะมีการเก็บแคชเอาไว้

อีกข้อสังเกตหนึ่งคือแม้จะรันแอป x86 ได้แล้ว แต่ต้องยอมรับว่าปัจจุบันยังได้ไม่ครอบคลุมทุกแอป ทีมงานได้ลองติดตั้งโปรแกรม Photoshop และ Lightroom Classic แบบ x86 ผ่าน Adobe Creative Cloud ดู พบว่าลงได้ แต่เปิดโปรแกรมไม่ติด โดยฟ้อง error ว่า “the application was unable to start correctly (0xc00007b)” ซึ่งหมายถึงตัว Windows ยังขาดไดรเวอร์สำคัญในการใช้รันโปรแกรมนี้อยู่ ดังนั้นหากใครจะซื้อมาใช้ทำงานด้วยซอฟต์แวร์ Adobe เป็นหลักอาจจำเป็นต้องหาเวอร์ชัน ARM native มาใช้แทน

 

เล่นเกมได้มั้ย ?

อย่างที่กล่าวไปว่าตอนนี้ Windows 11 on ARM สามารถรันแอป 32-bit และ 64-bit ได้ นั่นหมายความว่าใช้เปิดเกมที่เป็น x86 เล่นได้เกือบทุกเกมแล้ว แต่ไอ้คำว่าเล่นได้ในที่นี้อาจไม่ได้หมายถึงเล่นได้ดี เพราะ ARM พีซียังมีข้อจำกัดอื่นทั้งเรื่องฮาร์ดแวร์การ์ดจอแยกที่ยังไม่ค่อยมีใครผลิตออกมา รวมถึงเกมที่เป็นแบบ ARM native ก็ยังไม่ค่อยมีด้วย ลำพังแค่ชิปจีพียูออนบอร์ด Adreno ตอนนี้อาจไม่เพียงพอต่อการแบกรับเกม x86 ที่ต้องอาศัยการแปลงโค้ดไปพร้อมกันด้วยเท่าไหร่

จากที่ได้ทดลองเล่นเกม Among Us ซึ่งเป็นเกม x86 ที่ไม่ได้อาศัยพลังจีพียูสูง พบว่าก็สามารถรันบนชิปออนบอร์ดของซีพียู ARM ได้ แม้แต่โปรแกรมมอนิเตอร์ฮาร์ดแวร์อย่าง MSI Afterburner ก็ใช้เปิดวัดเฟรมเรตไปพร้อม ๆ กันได้ด้วย แต่ปัจจุบันยังเปิดดูได้เฉพาะ FPS และการใช้แรมเท่านั้น ไม่รองรับการวัดในส่วนของคอร์ซีพียูและจีพียู

ขยับมาเป็นเกมที่หนักเครื่องขึ้นอย่าง The Sims 4 พบว่าเกมนี้พอปรับ Settings แบบ medium ก็ยังสามารถเล่นได้พอไหว วัดเฟรมเรตได้เฉลี่ยราว ๆ 25-43 FPS ซึ่งถือว่าค่อนข้างน่าทึ่งกับเกมที่ไม่ใช่ native และรันบนเครื่องที่ไม่มีการ์ดจอแยกแบบนี้ ทางทีมงานได้ลองลงเกมเก่ามากอย่าง The Sims 2 ด้วย ซึ่งก็เปิดเล่นได้เหมือนกัน แต่บั๊คค่อนข้างเยอะ

 

ส่วนเกมอื่น ๆ อย่าง Dota 2, Cities: Skylines และ Just Die Already พวกนี้กลับเจอปัญหาภาพค้างกระตุกและหน่วงหนักตลอดเวลา และก็ใช้ Afterburner วัดเฟรมเรตไม่ได้เหมือน 2 เกมด้านบน (แต่ดูแล้วไม่น่าถึง 1 FPS) ซึ่งส่วนตัวก็ยังไม่ทราบสาเหตุเหมือนกันว่าทำไมบางเกมถึงเล่นได้ปกติ แต่บางเกมที่เบากว่ากลับค้างหนักซะงั้น ๆ ทั้ง ๆ ที่ก็เป็น x86 เหมือนกันหมด ตอนนี้คงยังทำอะไรไม่ได้นอกจากนั่งลุ้นแบบนี้กันเป็นเกม ๆ ไป

 

ข้อดีที่ Windows 11 on ARM เหนือกว่า x86

  • แบตเตอรี่อึดกว่ามาก ข้อนี้แทบจะเป็น winning criteria อันดับต้น ๆ เลยที่ทำให้คนสนใจอยากมาใช้ Windows ฝั่ง ARM มากขึ้น ซึ่งมันก็เป็นแบบนั้นจริง ๆ เพราะเครื่องที่ทดสอบมีแบตแค่ 38 Wh แต่ใช้จริงได้นานถึง 10 ชั่วโมง ดูวิดีโอได้ 21 ชั่วโมง หรือสแตนด์บายต่อเนื่องได้หลายวัน เทียบกับโน้ตบุ๊ค Windows 11 ธรรมดาที่สเปคแบตเท่ากันอาจจะอยู่ได้ไม่ถึง 6 ชั่วโมงเท่านั้น
  • เปิดสแตนด์บายได้ยาว ๆ ไม่ต้อง Shut Down เครื่อง ชิป ARM บน Windows กินไฟแค่หลักไม่ถึง 10W เท่านั้น แถมทำงานในลักษณะเดียวกับพวกสมาร์ทโฟนคือไม่จำเป็นต้องปิดเครื่องทุกครั้งหลังใช้ แค่ปิดจอด้วยปุ่ม Power หรือสั่ง Sleep ไว้เฉย ๆ เครื่องก็แทบไม่ใช้พลังงานแล้ว
  • บูตเครื่องติดได้เร็วกว่า ถือเป็นข้อดีอีกอย่างที่ต่อให้ Shut Down ไปแล้วเครื่องก็ยังเปิดติดกลับได้เร็วกว่า Windows x86 อยู่ดี ด้วยพื้นฐาน OS ที่มีความซับซ้อนน้อยกว่า
  • รองรับซิม และการเชื่อมต่อ 4G/5G ชิปฝั่ง ARM ทุกรุ่นโดยเฉพาะของ Qualcomm ถูกออกแบบมาให้รองรับการเชื่อมต่อสัญญาณ 4G และ 5G เหมือนมือถือ ซึ่งแทบจะเป็นข้อดีใหญ่อีกข้อหนึ่งที่ปัจจุบันซีพียู x86 ยังไม่มี

 

สรุปความน่าใช้ของ Windows 11 on ARM

อย่างที่กล่าวไปว่า Microsoft กำลังพยายามทำให้ Windows on ARM มีความไร้รอยต่อกับ Windows x86 เดิมมากที่สุด ด้วยการทำหน้าตา UI ออกมาให้ไม่มีความแตกต่างกัน และทำให้รองรับการใช้งานแอป x86 ได้ค่อนข้างสมบูรณ์ขึ้น ซึ่งแม้ตอนนี้จะยังไม่ครบทุกแอป แต่ก็ต้องยอมรับว่าทำได้ดีกว่าแต่ก่อนเยอะ

ในทางกลับกันตัว OS เองก็ยังมีข้อบกพร่องอยู่หลายด้าน เช่นยังแปลงแอปได้ไม่ลื่นไหลพอ แอบใช้เวลาโหลดเปิดหน้าต่างอยู่นานกว่าปกติ รวมถึงยังรองรับการเล่นเกมได้ไม่เสถียร มีบางเกมที่กินสเปคหนักแต่กลับเล่นได้ปกติ แต่บางเกมที่ดูไม่ใช้ทรัพยากรเลยกลับเจออาการหน่วงจนเล่นไม่ได้ ซึ่งส่วนนี้ก็คงต้องรอให้มีการอัปเดตเพิ่มขึ้นจากฝั่งผู้พัฒนาเกมด้วยเช่นกัน

จากทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามาถ้าถามว่าจะแนะนำให้คนรอบตัวหันมาใช้งาน Windows on ARM แทน x86 เลยรึเปล่า ก็คงตอบตามตรงตอนนี้ว่ายัง ถ้าคุณเป็นคนที่กะจะซื้อโน้ตบุ๊คมาเพื่อทำงานเอกสาร, ใช้งานแต่เบราว์เซอร์ หรือใช้แค่แอป native ของ Microsoft อย่างเดียว อันนี้คงไม่มีปัญหาอะไร แถมจะได้ข้อดีในเรื่องของแบตอึดด้วย

อย่างไรก็ดี ถ้าหวังเอามาใช้งานกว้าง ๆ เผื่อรองรับโปรแกรมหลากหลายทั้งเก่าและใหม่ด้วย อันนี้ Windows x86 เดิมน่าจะยังตอบโจทย์ได้ดีกว่าเหมือนเดิม แนะนำว่าควรรอดูทิศทางจากนี้เพิ่มขึ้นอีกสัก 1-2 ปีก่อน เชื่อว่าน่าจะเป็นปีที่ Windows on ARM พัฒนาขึ้นจนสมบูรณ์กว่านี้ ถึงตอนนั้นก็น่าจะยังไม่สายที่จะเปลี่ยนไปลองกันครับ