จะเรียกว่าตอนนี้เราเข้าสู่ยุค AI แล้วก็ไม่ผิด ไม่ว่าจะหันไปทางไหน หลายๆ ผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นมือถือ คอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อย่างทีวี ตู้เย็น ต่างก็นำ AI เข้ามาเป็นส่วนประกอบ ระบบการบริการต่างๆ ก็นำ AI เข้ามาใช้งาน เพื่อลดเวลาการทำงานลง แล้วเมื่อเป็นเช่นนี้ AI จะเข้ามาแย่งงานคนจริงไหม? แล้วจะทำยังไงให้ตัวเองไม่ตกงาน? เราจะพาไปดูงานวิจัย Work Trend Index 2024 ที่ไมโครซอฟท์ ร่วมกับ LinkedIn ได้สำรวจออกมา ส่วนจะมีรายละเอียดยังไง ไปดูกัน

งานวิจัย Work Trend Index 2024 คืออะไร?

AI กับการทำงาน

Work Trend Index 2024 เป็นงานวิจัยเกี่ยวกับเกี่ยวกับสถานะความคืบหน้าของคนทำงานในประเทศไทยและทั่วโลก ในการนำนวัตกรรม AI มาใช้ในที่ทำงาน ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นว่า ในช่วงระยะเวลาเพียง 1 ปีที่ผ่านมา นวัตกรรม AI ได้มีอิทธิพลต่อรูปแบบการทำงาน การบริหาร และการจ้างงานของผู้คนทั่วโลกอย่างไร ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลจาก 3 แหล่งด้วยกัน

  1. จากการสำรวจพนักงานและผู้บริหารกว่า 31,000 คน ใน 31 ประเทศ ทั่วโลก
    • ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินเดียอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม
  2. แนวโน้มตลาดแรงงานและเทรนด์การจ้างงานผ่านทาง LinkedIn
  3. ข้อมูลที่เก็บรวบรวมมานับล้านล้านรายการจากการใช้งาน Microsoft 365 และการศึกษาวิจัยลูกค้าของบริษัทที่อยู่ใน Fortune 500

ผลสำรวจงานวิจัย Work Trend Index 2024 ของคนไทย

หากจะพอแยกผลการสำรวจ Work Trend Index 2024 ที่เกี่ยวกับประเทศไทย ทั้งผู้บริหารและพนักงานในประเทศไทย จะมีผลสำรวจที่เด่นๆ และน่าสนใจ ดังนี้

1.ทักษะการใช้งาน AI เป็นปัจจัยสำคัญในตลาดแรงงาน

  • ผู้บริหารในไทยกว่า 74% ไม่ต้องการจ้างพนักงานที่ไม่มีทักษะทางด้าน AI
  • หากต้องเลือกระหว่างทักษะ AI กับประสบการณ์การทำงาน
    • ผู้บริหารไทยกว่า 90% ก็เลือกที่จะจ้างพนักงานที่มีประสบการณ์น้อย แต่มีทักษะด้านการใช้ AI แทนที่จะเลือกพนักงานที่มีประสบการณ์สูงกว่า แต่ขาดทักษะในด้านนี้

2.พนักงานต้องการนำนวัตกรรม AI มาช่วยในการทำงานโดยไม่รอให้บริษัทมีความพร้อม

AI กับการทำงาน
  • พนักงานคนไทยกว่า 92% นำนวัตกรรม AI มาใช้ในการทำงานแล้ว เพื่อรับมือกับงานที่ล้นมือ สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 75%
  • ในกลุ่มผู้ใช้งาน AI ยังพบอีกว่า 81% เลือกนำเครื่องมือ AI ของตนเองมาใช้งาน เสี่ยงต่อการรั่วไหลของข้อมูล เหตุเพราะบริษัทยังขาดทิศทางและกลยุทธ์ในระดับองค์กร
  • ด้านผู้บริหาร พบว่า 91% ของผู้บริหารในประเทศไทย เชื่อว่าบริษัทของตนจำเป็นต้องนำนวัตกรรม AI มาใช้ เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันกับตลาด
  • แต่ยังมีผู้บริหารในประเทศไทยกว่า 64% ที่มีความกังวลว่าองค์กรของตนยังขาดแผนงานและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในด้านการนำ AI มาใช้

3.ผู้ใช้งาน AI ในระดับ Power Users มีเพิ่มมากขึ้น  อาจช่วยเปลี่ยนแปลงในอนาคต

  • กลุ่มพนักงานที่เป็น AI Power Users หรือผู้ใช้งาน AI ระดับสูง มักจะนำเครื่องมือและบริการ AI ต่างๆ มาปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานในแต่ละวัน
  • สามารถลดเวลาที่ใช้ทำงานที่มีอยู่เดิมลงได้วันละ 30 นาที หรือเฉลี่ยออกมาเป็น 10 ชั่วโมงต่อเดือน
  • กว่า 86% ของพนักงานกลุ่มนี้เลือกที่จะเริ่มและจบวันทำงานด้วย AI สอดคล้องกับค่าเฉลี่ยของ AI Power Users ทั่วโลกที่ 85%
  • แต่ในทางกลับกัน ผู้ใช้ AI ระดับสูงในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะทดลองใช้ AI ในรูปแบบหรือวิธีการใหม่ๆ เพียง 45% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระดับโลกที่ 68% 
  • กลุ่ม AI Power Users ในไทย มีเพียง 28% เท่านั้นที่มีโอกาสได้ฟังเนื้อหาสาระหรือความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับบทบาทของ AI ในการทำงานจากแผนกหรือฝ่ายที่ตนเองทำงานอยู่
  • พบว่ามีผู้ใช้งาน AI ระดับสูงในประเทศไทยเพียง 22% เท่านั้นที่ได้รับโอกาสจากองค์กรให้ฝึกฝนทักษะด้าน AI เพิ่มเติม

ข้อมูลจากผู้ใช้ LinkedIn ทั้งในระดับองค์กรและคนทำงาน

AI กับการทำงาน
  • ข้อมูลจากช่วงปลายปีที่แล้ว พบว่าจำนวนของสมาชิก LinkedIn ทั่วโลก ที่ใส่ข้อมูลเกี่ยวกับทักษะการใช้งาน AI อย่าง ChatGPT และ Copilot ในโปรไฟล์ของตนเอง มีมากขึ้นถึง 142 เท่าตัว
  • ในช่วง 2 ที่ผ่านมา พบว่าตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัครทาง LinkedIn หากมีการระบุถึงทักษะการทำงานที่เกี่ยวกับ AI ด้วย จะมีผู้สมัครเพิ่มขึ้นถึง 17%
  • ในกลุ่ม 10 ตำแหน่งงาน ที่เพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับทักษะด้าน AI มากที่สุดนั้น พบว่าเป็นตำแหน่งในสายงานด้านเทคโนโลยีโดยตรงเพียง 2 ตำแหน่ง (นักพัฒนา ระบบ Front-End และนักพัฒนาเว็บ) ขณะที่ 3 อันดับแรกเป็นตำแหน่งงานด้านการเขียนคอนเทนต์ กราฟฟิกดีไซน์ และการตลาด
นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย

นายธนวัฒน์ กล่าวเสริมอีกว่า “เราต้องเริ่มที่จะนำ AI เข้ามาเป็นตัวช่วยในการทำงานและใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาข้อมูลหรือไอเดียต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว เพิ่มผลิตภาพ และความคิดสร้างสรรค์ ให้ AI เป็นหนึ่งในผู้ช่วยของเรา ดังนั้น องค์กรจึงควรที่จะตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการนำ AI มาใช้ช่วยแก้ปัญหาและปลดล็อคอุปสรรคต่างๆ ในการทำงานของพนักงาน ในขณะเดียวกัน ผู้บริหารจะต้องคิดว่าควรทำอย่างไรที่จะช่วยเพิ่มทักษะด้าน AI ให้กับบุคลากรของเรา และเตรียมความพร้อมในการจัดหาเครื่องมือ AI ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยในการใช้งาน รวมถึงให้ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับทำงานร่วมกันในการกำหนดนโยบายหรือทิศทางการใช้งาน AI ในองค์กรเพื่อให้เกิดความชัดเจนและเห็นผลสำเร็จได้จริงในทุกตำแหน่งและสายงาน”

คุณสมบัติใหม่ๆ ในบริการ Copilot for Microsoft 365

Copilot for Microsoft 365

Copilot for Microsoft 365 ออกแบบมาเพื่อช่วยสนับสนุนการเริ่มต้นใช้งาน AI ในที่ทำงาน

  • Copilot จะโต้ตอบกับผู้ใช้งานมากขึ้น โดยระบบจะแนะนำชุดคำสั่งถัดไปหรือถามคำถามเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถตอบสนองคำสั่งของผู้ใช้งานและสร้างผลงานให้ออกมาดีที่สุด
  • หน้าจอแช็ตแบบใหม่ ของ Copilot จะเสนอคำแนะนำตามสถานการณ์ปัจจุบันหรือกิจกรรมล่าสุดของผู้ใช้งาน เช่น อาจมีข้อความแจ้งเตือนว่า “คุณพลาดการประชุมของทีมฝ่ายขายเมื่อวันอังคารนะ อ่านสรุปการประชุมนี้ได้ที่นี่” รวมถึงคัดเลือกอีเมลที่สำคัญมาให้ผู้ใช้งานติดตามอ่าน
  • ช่องพิมพ์คำสั่งของ Copilot จะมีระบบเติมคำอัตโนมัติ (auto complete) เพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิมในการป้อนคำสั่ง นอกจากนี้ ยังมีฟีเจอร์สำหรับช่วยเขียนคำสั่งที่พร้อมขยายคำสั่งพื้นฐานทั่วไปให้สมบูรณ์และมีรายละเอียดมากขึ้น โดยเขียนขึ้นใหม่ด้วยข้อมูลจากการประชุม เอกสาร และอีเมลของผู้ใช้แต่ละคน
  • อัปเดตใหม่สำหรับ Copilot Lab เปิดให้พนักงานสามารถเขียน แชร์ และจัดการกับคำสั่งสำเร็จรูปที่เขียนขึ้นเพื่อตอบโจทย์เฉพาะทางของแต่ละทีม

เตรียมพบกับคอร์สเรียน AI กว่า 600 รายการ จาก LinkedIn

AI Upskilling

LinkedIn เตรียมคอร์สอบรมเกี่ยวกับ AI กว่า 600 รายการ เพื่อให้คนทำงานสามารถก้าวต่อไปบนเส้นทางในสายอาชีพได้อย่างมั่นใจ โดยล่าสุดได้เปิดให้ผู้ใช้ LinkedIn ทุกคนสามารถร่วมเรียนรู้จาก คอร์สเกี่ยวกับ AI จำนวน 50 หลักสูตร โดยไม่มีค่าใช้จ่ายนับตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 8 กรกฎาคมนี้

  • นอกจากนี้ LinkedIn ยังมีบริการแนะนำหลักสูตรด้วย AI ที่สามารถคัดเลือกและนำเสนอคอนเทนต์ที่ตรงกับความสนใจและสายงานของผู้ใช้แต่ละคน พร้อมด้วยการเรียนรู้ผ่านบทสนทนากับ AI
  • สำหรับผู้ใช้งาน LinkedIn Premium ยังมีฟีเจอร์ AI สรุปใจความสำคัญใน LinkedIn Feed ที่ช่วยเผยข้อมูล แนะนำไอเดียใหม่ๆ และกิจกรรมที่น่าสนใจ
  • เครื่องมือ AI ของ LinkedIn ช่วยให้คุณสามารถประเมินความเหมาะสมของตนเองเมื่อเทียบกับตำแหน่งงานได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที โดยอ้างอิงจากข้อมูลประสบการณ์และทักษะของคุณ นอกจากนี้ คุณยังสามารถขอคำแนะนำในการเขียนโปรไฟล์ให้โดดเด่น และช่องทางในการพัฒนาทักษะที่สำคัญอีกด้วย

ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงาน Work Trend Index 2024 ได้ที่บล็อกของไมโครซอฟท์ พร้อมด้วยบทความสรุปรายงานฉบับเต็ม หรือพบกับบทวิเคราะห์เพิ่มเติม จาก LinkedIn โดย คาริน คิมเบรอ หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์