กลายเป็นประเด็นให้พูดถึงบนโลกออนไลน์ เมื่อ Zack Nelson มือชำแหละสมาร์ทโฟนจากช่อง JerryRigEverything จับเอา Xiaomi 12S Ultra มาแกะดูไส้ใน แล้วพับกับความจริงที่ว่า เซนเซอร์กล้องหลักของมันไม่ได้มีขนาด 1 นิ้วเหมือนอย่างที่ Xiaomi โฆษณา ไม่ว่าจะเป็นการวัดตามแนวกว้าง 8.8 มม. แนวยาว 13.2 มม. หรือแม้แต่แนวทแยง 15.86 มม.ก็ตาม ยังห่างไกลกับตัวเลข 25.4 มม.ที่แปลงมาจาก 1 นิ้วมากนักในทุกมิติ
ทำไม 1 นิ้วของเราไม่เท่ากัน
จะวัดจากมุมไหนก็ไม่ใกล้เคียง 1 นิ้วเลยสักนิด
หากได้ดูคลิปของ Zack จนจบ อันที่จริงเจ้าตัวก็อธิบายถึงสาเหตุที่ว่า “ทำไมเซนเซอร์กล้อง Xiaomi 12S Ultra มีขนาดไม่ถึง 1 นิ้ว” เอาไว้เรียบร้อยแล้วในช่วงท้ายของวิดีโอ
Zack อธิบายว่า ขนาด 1 นิ้วที่ว่า เป็นการวัดแบบสมัย 80 กว่าปีก่อน ซึ่ง ณ ตอนนั้นกล้องวิดีโอจะใช้หลอดไฟสุญญากาศ หรือที่รู้จักกันในชื่อหลอดรังสีแคโทด บ้างก็เรียกหลอดกล้องวิดีโอ เพื่อส่งผ่านอิเล็กตรอนไปยังเซนเซอร์ภาพ หากทำการวัดจากหลอดที่มีรูปร่างเป็นทรงกระบอกซึ่งครอบคลุมเซนเซอร์ขนาดเดียวกับที่ Xiaomi 12S Ultra ใช้ ก็จะได้ตัวเลข 1 นิ้วพอดิบพอดี
แท้จริงแล้ว เป็นการวัดด้วยวิธีลักษณะนี้
ขนาดที่แท้จริงของเซนเซอร์ภาพ วัดยังไง
เซนเซอร์ 1 นิ้ว จริง ๆ มีขนาดเท่าไหร่
คำถามต่อไปที่น่าสนใจคือ เซนเซอร์ 1 นิ้ว หรือในขนาดอื่น ๆ ที่ผู้ผลิตพูด ๆ กัน มันมีขนาดทางกายภาพจริง ๆ เท่าไหร่กันแน่
เกี่ยวกับเรื่องนี้ PetaPixel เคยเขียนอธิบายไว้แล้วตอนที่ Sony เปิดตัว Xperia PRO-I ซึ่งชูจุดเด่นเรื่องเซนเซอร์กล้อง 1 นิ้วเหมือนกับ Xiaomi 12S Ultra โดยวิธีการคือ “เอา 2/3 มาคูณเข้ากับขนาดเซนเซอร์ตามที่ผู้ผลิตบอก”
เช่นกรณีที่เป็นประเด็นอยู่นี้ คือ 1 นิ้ว ก็จะได้ว่า 1 × 2/3 = 0.66 นิ้ว หรือคิดเป็น 16 มม. โดยประมาณ ซึ่งจะเป็นผลลัพธ์ที่สอดคล้องใกล้เคียงกับเส้นทแยงมุม 15.86 มม. ตามที่กล่าวไปข้างต้น และเนื่องจากเป็นการวัดจากรูปวงกลม ตัวเลขจึงมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้างนั่นเอง
ได้ผลลัพธ์ออกมา 0.66 นิ้ว ตรงตามทฤษฎีที่คูณด้วย 2/3
สิ่งตกทอดจากอดีต ที่สร้างความสับสนในปัจจุบัน
สรุปคือ Xiaomi ไม่ได้หลอกเรา และไม่ได้โฆษณาเกินจริง เพียงแค่ใช้วิธีการระบุขนาดเซนเซอร์กล้องในอดีตที่ยังคงใช้ต่อ ๆ กันมาถึงปัจจุบัน ถึงแม้หลอดรังสีแคโทดจะไม่ได้มีการใช้งานกันแล้วหลังจากมีเซนเซอร์ CCD และ CMOS เข้ามาแทนที่ในปี 2523 ก็ตาม และผู้ผลิตสมาร์ทโฟนหรือผู้ผลิตกล้องรายอื่น ๆ ก็ใช้วิธีระบุขนาดในลักษณะเดียวกันนี้ไม่ต่างกัน
ที่มา : JerryRigEverything
อ้างอิง : Wikipedia | PetaPixel
กล้องถ่ายรูปเขาก็ใช้มาตรฐานนี้นี่แหละครับ
ุรุ่นต่อไปก็มีคนผลิต ที่ผลิตได้ 1นิ้ว มาเคลมต่อว่า เป็น 1 นิ้วแท้ๆ