แม้จะมียอดขายถล่มทลาย แต่รถยนต์ไฟฟ้าดีไซน์ทรงสปอร์ตสุดเท่ SU7 ของ Xiaomi กลับถูกวิจารณ์อย่างหนักในเรื่องคุณภาพ อิงจากข้อมูลล่าสุด รายงานจัดอันดับคุณภาพรถยนต์ไฟฟ้าขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ในจีน ประจำไตรมาส 1 ปี 2025 ปรากฏว่า SU7 ได้อันดับที่ 29 จากทั้งหมด 29 รุ่น
วิธีการจัดอันดับคะแนนคุณภาพรถ
โดยรายงานนี้จัดทำโดย China Automobile Quality Network อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานกำกับดูแลตลาดแห่งประเทศจีน (China Market Supervision Administration) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาล จัดทำโดยใช้ข้อมูลจากแพลตฟอร์มการร้องเรียนจากผู้ใช้รถที่รายงานปัญหาต่างๆ เข้ามา โดยอ้างอิงจาก
- ดัชนีความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์รถยนต์
- แนวทางการตัดสินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของรถยนต์สำหรับผู้บริโภค
- ข้อมูลด้านความน่าเชื่อถือ, ความปลอดภัย, ความทนทาน, ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
แล้วแปลงเป็น “คะแนนบทลงโทษ” โดยคะแนนสูง หมายถึงมีความเสี่ยงพบข้อบกพร่องเยอะ โดยใช้หลักการประเมินที่โปร่งใส เป็นกลาง และยุติธรรม จากทั้งหน่วยงานของรัฐและสถาบันวิจัยอิสระ เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์รุ่นต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ จะประเมินเฉพาะรถยนต์ที่วางจำหน่ายและมีระยะเวลาการขายเกิน 3 เดือน ในไตรมาสแรกของปีนี้เท่านั้น รถรุ่นที่เปิดตัวใหม่หลังจากนั้นจะไม่ถูกรวมในลิสต์นี้
โดยในไตรมาสแรกของปี 2025 มีรถยนต์ไฟฟ้าขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ถูกประเมินรวมทั้งสิ้น 29 รุ่น โดยมี 15 รุ่น ที่มีคุณค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ย และ 14 รุ่น ที่มีคุณค่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ย โดยค่าเฉลี่ยกลางคือ 183

ซึ่ง Xiaomi SU7 ได้คะแนนสูงถึง 239 คะแนน มากกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มถึง 56 คะแนน ซึ่งหมายถึงมีความเสี่ยงที่อาจเกิดข้อบกพร่องมากที่สุดนั่นเอง และอัตราส่วนการร้องเรียนต่อยอดขายที่สูงยังส่งผลต่อผลการประเมินคุณภาพโดยรวมของโมเดลบางรุ่นในระดับหนึ่งด้วย
ขณะที่ GAC Hyptec GT ได้อันดับ 1 ด้วยคะแนน 149 รองลงมาคือ Voyah Passion (152 คะแนน) และ Avatr 12 จาก Changan (153 คะแนน) ส่วนแบรนด์อื่นๆ ที่คะแนนดีกว่า SU7 อย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ Nio ET7, ET9 (183 คะแนน), Zeekr 001 (185 คะแนน), Lotus Emeya (185 คะแนน), BYD Han (194 คะแนน) และ Denza Z9 GT (214 คะแนน)

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน 2025 รถไฟฟ้า Xiaomi SU7 สามารถขายได้ถึง 104,454 คัน
ลูกค้า SU7 Ultra รวมตัวฟ้องร้อง ปมฝากระโปรงคาร์บอนไฟเบอร์แบบมีช่องระบายอากาศคู่

นอกจากการประเมินคุณภาพ ยังมีรายงานว่า เจ้าของ SU7 Ultra กว่า 400 ราย กำลังรวมตัวกันฟ้อง Xiaomi โดยแต่ละคนลงขันกันคนละ 3,000 หยวน (ประมาณ 13,900 บาท) เพื่อใช้ในกระบวนการทางกฎหมาย ประเด็นสำคัญในการยื่นฟ้อง คือฝากระโปรงหน้าแบบคาร์บอนไฟเบอร์แบบมีช่องระบายอากาศคู่ ราคา 42,000 หยวน (ราว 194,000 บาท) ที่โฆษณาว่ามี “ช่องลมคู่” ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านหลักอากาศพลศาสตร์และการระบายความร้อน
แต่ลูกค้ากลับพบว่า ช่องลมที่กล่าวอ้างอาจไม่ได้ทำงานจริง โดยมีเจ้าของรถถ่ายวิดีโอทดสอบแสดงให้เห็นว่าโครงสร้างภายในฝากระโปรงไม่ต่างจากเวอร์ชันอะลูมิเนียมธรรมดา บางรายใช้เครื่องเป่าลมและกระดาษทิชชูทดสอบการไหลของอากาศ แต่กลับพบว่าไม่มีการไหลของอากาศผ่านท่อ และใช้กล้องถ่ายภาพความร้อน แต่ไม่พบความแตกต่างด้านการระบายความร้อนอย่างมีนัยสำคัญ
Xiaomi ออกมาขอโทษ แต่ลูกค้ายังไม่พอใจ
Xiaomi ออกแถลงการณ์ขอโทษเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยยอมรับว่า คำอธิบายผลิตภัณฑ์ไม่ชัดเจน พร้อมเสนอให้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ เลือกเปลี่ยนฝากระโปรงเป็นรุ่นอะลูมิเนียม พร้อมรับแต้ม Loyalty จำนวน 20,000 คะแนน อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอนี้ถูกลูกค้าหลายรายปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า ต้องรออะไหล่นานถึง 30-40 สัปดาห์ และยัง ไม่ถือเป็นการชดเชยที่คุ้มค่า กับการซื้ออุปกรณ์ที่คาดว่าจะช่วยเพิ่มสมรรถนะ
ประเด็นที่เกินกว่าเรื่องเงิน
สำหรับลูกค้าหลายราย ประเด็นนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่เป็นเรื่องของ ความเชื่อมั่นและความรับผิดชอบของแบรนด์
เจ้าของรถรายหนึ่งให้ความเห็นทางออนไลน์ว่า: “พวกเราซื้ออุปกรณ์ที่ถูกโฆษณาว่าเป็นฟีเจอร์ด้านสมรรถนะ Xiaomi ควรพิสูจน์ให้ได้ว่าช่องลมทำงานจริง หรือยอมรับความผิดหากไม่เป็นเช่นนั้น”
การดำเนินการทางกฎหมายได้เริ่มขึ้น ขณะที่แผนกยานยนต์ของ Xiaomi ต้องเผชิญกับการตรวจสอบที่เข้มงวดยิ่งขึ้น
ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและแผนอนาคตของ Xiaomi Auto
เหตุการณ์นี้ส่งผลอย่างมากต่อชื่อเสียงของ Xiaomi Auto โดย Lei Jun ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Xiaomi Auto ออกมาระบุเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมว่า เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด ตั้งแต่ก่อตั้ง Xiaomi ทั้งในด้านส่วนตัวและด้านธุรกิจ
นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมบางรายได้ชี้ให้เห็นถึงความคล้ายคลึงกับข้อพิพาทในอดีต ที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจีนอื่นๆ เช่นกรณีของแบรนด์ Avatr ที่เคยเผชิญข้อสงสัยลักษณะคล้ายกัน และเลือกใช้วิธีทดสอบสาธารณะเพื่อเคลียร์ข้อครหา
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมองว่า หากมีการพิสูจน์โดยบุคคลที่สาม ว่าส่วนประกอบดังกล่าวไม่ทำงานตามที่โฆษณา Xiaomi อาจถูกลงโทษตาม กฎหมายโฆษณาอันเข้มงวดของจีน
ก่อนหน้านี้ ทางแบรนด์ก็เคยเป็นประเด็นเรื่องความปลอดภัย กับ อุบัติเหตุชนแผงกั้นทางด่วน ขณะคนขับใช้ระบบ Autopilot เมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา
และจากกรณีนี้ อาจส่งผลกระทบต่อการเปิดตัว SUV รุ่นใหม่ อย่าง Xiaomi YU7 รวมถึงแนวทางการทำตลาดของผู้ผลิตรถ EV รายอื่น ๆ ในอนาคต โดยเฉพาะการโฆษณาส่วนประกอบเสริมที่เกี่ยวข้องกับสมรรถนะ ซึ่งผู้บริโภคอาจเริ่มเรียกร้องให้มีการพิสูจน์การใช้งานอย่างโปร่งใสมากยิ่งขึ้น
ที่มา : carnewschina 1, 2, arenaev, aqsiqauto
Comment