โซนี่ได้นำเสนอ Xperia ตระกูล Premium ออกมาอีกครั้งในปีนี้ โดยนอกจากจะเป็นรุ่นที่ใช้หน้าจอความละเอียดสูงถึง 4K ที่เป็นจุดเด่นของซีรีส์นี้แล้ว Xperia XZ2 Premium ยังคงเป็นมือถือรุ่นแรกของโซนี่ที่ใส่กล้องหลังมาเป็นกล้องคู่พร้อมความสามารถในการถ่ายภาพในที่มืดที่มีความไวแสงสูงสุดเท่าที่โซนี่เคยทำมา และทำให้หลายๆ คน (โดยเฉพาะเหล่าสาวก) สนใจกันเป็นอย่างมาก หลังจากผมได้ใช้มาพักหนึ่งแล้วจึงนำมารีวิวให้อ่านกันครับ
มาเริ่มกันด้วยการทบทวนสเปค Xperia XZ2 Premium กันก่อนดังนี้ครับ
- หน้าจอ 5.8 นิ้ว ความละเอียด 4K รองรับการแสดงผลแบบ HDR
- ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon 845
- RAM 6GB, หน่วยความจำภายใน 64GB UFS พร้อมช่อง micro SD
- กล้องหลังคู๋ Motion Eyes Dual 19 ล้านพิกเซล f/1.8 + กล้องขาวดำ 12 ล้านพิกเซล f/1.6
- เมื่อใช้งานกล้องคู่พร้อมกับ ภาพนิ่งรองรับ ISO สูงสุด 51200, วิดีโอรองรับ ISO สูงสุด 12800
- กล้องหน้า 13 ล้านพิกเซล
- แบตเตอรี่ 3540 มิลลแอมป์
- น้ำหนัก 236 กรัม
- Android 8.0 Oreo และจะได้ Android 9.0 Pie ช่วงพฤศจิกายน 2018
ในแง่ของสเปคนั้นมีอยู่หนึ่งจุดที่ทำให้ผม (และเชื่อว่าหลายๆ คนด้วย) ขัดใจก็คือเรื่องของหน่วยความจำภายในที่ให้มาเพียง 64GB เท่านั้น เพราะหากเทียบกับเรือธงยี่ห้ออื่น จะเห็นว่ามีตัวเลือก 128GB ออกมาค่อนข้างเยอะแล้วนั่นเอง และแม้จะเพิ่ม micro SD Card ได้ แต่สำหรับ micro SD Card ที่ความจุเกิน 128GB ก็ยังมีราคาสูงมาก และความเร็วไม่สู้หน่วยความจำ UFS ในเครื่อง
ดีไซน์
หลังจากที่โซนี่ได้นำเสนอแนวทางการออกแบบมือถือแบบใหม่ที่เรียกว่า Ambient Flow ตอนเปิดตัว Xperia XZ2 โซนี่ก็ได้นำมาใช้งานกับรุ่นต่อๆ มาด้วย โดย Xperia XZ2 Premium ก็เป็นหนึ่งในนั้น และอาจจะบอกได้ว่าแทบไม่มีความเปลี่ยนแปลงเลยนอกจากขนาดที่ต่างกัน เมื่อไปเทียบกับ Xperia XZ3 ที่เปิดตัวจะเห็นว่ามีการปรับดีไซน์เพิ่มเติมแล้วดูเหมือนจะลงตัวกว่า
ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมไม่ได้จะบอกว่าดีไซน์นั้นไม่ดีซะทีเดียว เพราะหลังจากผมใช้งานมาสักพักหนึ่งก็พบว่ามีเด่นที่น่าสนใจ และจุดด้อยที่น่าสังเกตหลายอย่างครับ มาทยอยๆ ดูกันไปทีละจุดละกันครับ
หลังโค้งของ Xperia XZ2 Premium นั้นทำให้เวลาจับถือมันจะยึดเกาะกับมือดีที่เดียวครับ เทียบกับมือถือที่หลังแบนๆ จะผมว่าหลังโค้งลักษณะนี้มันจะเหนียวมือขึ้นมาก และยังทำให้เครื่องไม่รู้สึกว่าหนาเท่าไรอีกด้วยเพราะส่วนโค้งตามขอบนั่นเอง
ตำแหน่งเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือนั้นเป็นหนึ่งในจุดที่ถูกตำหนิตั้งแต่ Xperia XZ2 ซึ่งตอนแรกที่ผมเห็นดีไซน์ก็ตะหงิดอยู่เหมือนกันว่าใช้งานจริงจะเป็นยังไง พอได้มาจับก็พบว่ามันไม่ได้ใช้ยากครับ และในหลายๆ สถานการณ์พบว่ามันสะดวกกว่าแบบที่จัดไว้ด้านบนกว่านี้ด้วย เช่นเวลาหยิบเครื่องขึ้นมาจากโต๊ะ เวลาผมหยิบจะหยิบและปลายนิ้วอ้อมไปกลางหลังเครื่อง แล้วพบว่านิ้วไปแตะสแกนนิ้วได้พอดีเป็นส่วนใหญ่ของการหยิบ รวมถึงเวลาหยิบออกมาจากกระเป๋ากางเกงก็สามารถจัดวางนิ้วไปพอดีเช่นกัน และความรู้สึกส่วนตัวของผมคือ เคยใช้มือถือที่สแกนนิ้วอยู่ด้านบนแล้วเวลาถือใช้งาน นิ้วจะไปพักบริเวณนั้นตลอดแล้วผมไม่ชอบครับ (ฮา)
จุดที่ผมไม่ค่อยชอบก็เป็นเรื่องของความเทอะทะของตัวเครื่อง ที่เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่แลกมาเพื่อตอบโจทย์ที่โซนี่ต้องการเน้นความบันเทิงนั่นเอง หน้าจอของเครื่องมีขนาด 5.8 นิ้วและเป็นสัดส่วน 16:9 ซึ่งจากที่ผมหาข้อมูลมาเข้าใจว่าประสิทธิภาพของ Snapdragon 845 นั้นคงไม่ดีพอที่จะทำ 4K 18:9 ที่ความละเอียดต้องเพิ่มขึ้นไปอีก บวกกับการเลือกใช้หน้าจอ LCD ก็คงไม่ใช่ความคิดที่ดีนักหากเป็น 18:9 เพราะขอบข้างนั้นจะมีแสงลอดออกมาอย่างแน่นอน และทำให้อรรถรสการดูคอนเทนท์ 16:9 ต้องโดนรบกวนเป็นแน่แท้
แต่ถึงจะเข้าใจเหตุผลที่ทำให้เครื่องเทอะทะ ก็ยังหนีไปพ้นความจริงที่ว่าเครื่องมันถือยากอยู่ดีครับ การใช้งานมือเดียวกันเป็นไปอย่างค่อนข้างลำบาก หลายครั้งที่ผมต้องการความรวดเร็วเลยเลือกปัดแถบ Navbar เพื่อให้เป็น one-hand mode แต่ก็ด้วยความโชคดีทีหลังเครื่องมันเกาะมือ ทำให้เครื่องไม่ค่อยเลื่อนและไม่หล่นง่ายครับ
การออกแบบอื่นๆ อย่างเรื่องปุ่มกดนั้นโอเคครับ ตำแหน่งปุ่มพาวเวอร์กดง่าย มีปุ่มชัตเตอร์ที่สะดวกสำหรับกดเข้ากล้องง่าย
แต่ปุ่มปรับเสียงนั้นอยู่สูงไปหน่อย ต้องขยับมือเพิ่มเอื้อมไปปรับ และถาดซิมอันเป็นเอกลักษณ์ของโซนี่ที่ใครๆ ก็ชื่นชอบ เพราะดึงออกมาได้เลย ไม่ต้องหาเข็มจิ้ม
อ้อ แล้วในเชิงของวัสดุกับงานประกอบ บอกเลยว่าดีมากครับ กระจก Gorilla Glass 5 โค้งหน้าหลังแข็งแรงดี แน่นหนา และขอบเครื่องเป็นอลูมิเนียมที่ฟีลลิ่งดี บวกกับตัวเครื่องยังกันน้ำกันฝุ่นมาตรฐาน IP65/68 ทำให้หายห่วงเรื่องอุบัติเหตุเบาๆ ได้สบายเลย
แล้วก็กระจกครอบเลนส์กล้องนั้นดูแข็งแรงดีครับ เข้าใจว่าเกรดเดียวกันหรือดีกว่าของ Xperia XZ2 ที่โดนนาย JerryRigEverything ลองขูดแล้วไม่เป็นรอยครับ
ประสิทธิภาพ
ROM ของโซนี่ยังคงความโดดเด่นที่มีความใกล้เคียง Pure Android มากๆ ทำให้มีความลื่นไหลในทุกการใช้งาน บวกกับ Snapdragon 845 และ RAM 6GB ที่มั่นใจได้ว่าไม่มีกระตุกแน่นอน หลังจากใช้งานมาก็ยังไม่เจอปัญหาหน่วงใดๆ ครับ ส่วนเรื่องของคะแนน Benchmark ก็มีดังนี้เลยครับ ไล่จากซ้ายไปขวาก็คือ AnTuTu, Geekbench, 3D Mark แล้วก็ Androbench ครับ
Xperia Actions ของดีที่คนไม่รู้ โซนี่ก็ไม่โฆษณา
หนึ่งในฟีเจอร์ที่ผมพบว่ามีประโยชน์มากกว่าที่คิดก็คือ Xperia Actions ที่โซนี่เริ่มใส่มาให้ตั้งแต่ช่วงประมาณ Xperia XZ (ถ้าผมจำไม่ผิดนะ) ซึ่งจะเป็นเหมือน preset ว่าสถานการณ์นี้จะให้เครื่องปรับการตั้งค่าเป็นแบบไหน โดยเข้าไปตั้งได้ที่ Settings > Xperia Assist > Xperia Actions โดยประเภทที่โซนี่จัดเอาไว้มีดังนี้ครับ
- Good Night ช่วงเวลานอน เช่น สั่งให้เปิด Do not disturb, เปิดโหมดจอกลางคืน, ปิดไฟโนติ
- Focus ช่วงเวลาทำงาน เช่น เปิด Do not disturb, ซ่อนโนติชั่วคราว, ปรับการใช้งานเพื่อประหยัดแบต
- Commute ช่วงเดินทาง เช่น เปิด Bluetooth, เปิดแอปเล่นเพลง
- Gaming ช่วงเล่นเกม เช่น ปิดการใช้เน็ตของแอปเบื้องหลัง, เปิดจอไว้ตลอดเมื่อถือเครื่องอยู่
- Abroad ช่วงเดินทางต่างประเทศ กำหนดแอปที่ใช้งาน Roaming ได้, ประหยัดแบตสำหรับการเดินทาง
ผมได้ลองใช้สำหรับ 3 สถานกาณ์คือ Good Night, Focus และ Commute แล้วก็ว่ามันทำให้ประสบการณ์การใช้งานมือถือดีขึ้นครับ อย่างช่วงเดินทางผมจะไม่ต้องมาคอยดูว่า Bluetooth เปิดหรือยัง ผมก็แค่เปิดหูฟัง มันก็จะต่อเอง ไม่ต้องหยิบเครื่องมากด, หรือช่วงทำงานก็ทำให้ไม่มีเสียงโนติรบกวน แถมยังประหยัดแบตในจังหวะที่เราไม่ได้ต้องการใช้เครื่องได้อีกด้วย วันไหนทำงานสมาธิลึกๆ นี่เลิกงานมาแบตเหลือเยอะกว่าปกติเป็น 10% เลยครับ แล้วถ้าลืมชาร์จแบตก่อนนอน การตั้งค่าประหยัดแบตของ Good Night ก็ช่วยได้มาก
มีวันนึงที่ช่วงทำงานไม่ค่อยได้หยิบมือถือมาดู ผมสามารถใช้ Xperia XZ2 Premium ต่อเนื่องได้ถึงอีกวันนึงเต็มๆ โดยไม่ชาร์จแบตได้เลยครับ แนะนำว่าสำหรับคนใช้ Xperia น่าลองตั้งค่าพวกนี้ดูจริงๆ
แบตเตอรี่
สำหรับการใช้งานทั่วไป ต่อหูฟัง Bluetooth (LDAC) เล่นเน็ต โซเชียล ถ่ายรูป สามารถใช้งานตลอดทั้งวันครับ โดยส่วนใหญ่แล้วผมถอดสายชาร์จช่วง 7 โมงครึ่ง กลับถึงบ้านช่วง 2-3 ทุ่มจะเหลือแบตราว 40% ครับ เรียกว่าเอาตัวรอดทั้งวันโดยไม่ชาร์จไหวอยู่ และถ้าอาศัยเอา Xperia Actions มาประกอบช่วงที่เราไม่ได้จับเครื่องด้วย อย่างช่วงเวลาทำงานก็จะยืดแบตได้อีกพอสมควร กลับถึงบ้านแบตเหลือมากกว่า 50% สบายๆ ครับ
หรือถ้าใช้งานหนักขึ้นหน่อย เปิดจอนานขึ้น เล่นกล้องมากขึ้น ก็ยังถือว่าทำได้ไม่เลวครับ สามารถพ้นวันได้แบบค่อนข้างเฉียดฉิวด้วยสถิติหน้าจอ 4 ชั่วโมง 42 นาที
จากที่ Droidsans เคยได้ทดสอบเปรียบเทียบแบตในกลุ่มเรือธงแล้วก็จะพบว่าส่วนที่กินแบตสุดของ Xperia XZ2 Premium นั้นน่าจะเป็นส่วนของการเปิดกล้องทิ้งเอาไว้ครับ แม้ว่าจะจอความละเอียด 4K แต่เปิดดูคลิปนานๆ ก็ยังไม่ได้กินแบตเยอะเท่ากล้องอยู่ดี เพราะฉะนั้นถ้าจับเอาไปถ่ายรูปถ่ายวิดีโอรัวๆ แบตก็อาจจะไม่พ้นวันได้เหมือนกัน
กล้อง
กล้องของ Xperia XZ2 Premium นับว่าเป็นจุดเด่นที่สุดของรุ่นนี้เลยก็ว่าได้ครับ เพราะทางโซนี่ได้จัดเต็มใส่ทั้งกล้องคู่ และชิปประมวลผลภาพ AUBE สำหรับการรวมภาพจากเซนเซอร์ RGB และเซนเซอร์ Monochrome ขาวดำเข้าด้วยกันออกมาแสดงภาพบนหน้าจอเครื่องแบบ real-time ให้เห็นว่าภาพที่กำลังจะถ่ายออกมาด้วยความไวแสงสูงนั้นจะเป็นอย่างไร โดยเซนเซอร์ RGB นั้นจะมีขนาดพิกเซลอยู่ที่ 1.22 ไมครอน และมีรูรับแสงอยู่ที่ f/1.8 และสำหรับฝั่ง Monochrome นั้นมีขนาดพิกเซลที่ 1.55 ไมครอน ใช้รูรับแสงขนาด f/1.6 ครับ เป็นครั้งแรกของโซนี่เลยทีเดียวที่ปรับรูรับแสงมาด้วย
โดยโหมดกล้องของ Xperia XZ2 Premium นั้นจะแบ่งออกได้ตามนี้ครับ
- กลุ่ม Full-HD 1080p
- Full-HD 1080p
- Full-HD 1080p 60fps
- Full-HD 1080p + Dual Camera (ISO สูงสุด 12800)
- Full-HD 1080p HDR
- Super slow motion Full-HD 1080p / HD 720p
- กลุ่ม 4K
- 4K ธรรมดา
- 4K HDR
- โหมดกล้องคู่
- Bokeh
- Monochrome
บอกตามตรงว่าเงื่อนไขการกดตั้งค่าในแอปกล้องของ Xperia มีความวุ่นวายอยู่พอสมควร ทำให้ผมดีใจมากเมื่อเห็น Xperia XZ3 มาพร้อมแอปกล้องที่ปรับใหม่
ในส่วนของผลงานกล้องของ Xperia XZ2 Premium นั้นถือว่าทำผลงานได้ดีครับ ภาพถ่ายช่วงกล่างวันนั้นจะได้สีสันที่สมจริง ภาพมีความคมละเอียด เรียกว่าถ้าเทียบกับรุ่นทอปตัวอื่นๆ ก็ไม่ต้องเป็นห่วง แต่ขึ้นกับสไตล์ภาพที่คนใช้ชอบมากกว่า เพราะจะมีบางจุดอย่างรายละเอียดพวกใบไม้ตามต้นไม้ที่ Xperia อาจจะถ่ายออกมาดูมีการทำ sharpen เยอะไปหน่อย และหลายๆ ครั้งที่กล้องส่องเจอพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของรายละเอียด ระบบออโต้อาจมองว่าเป็นภาพประเภทเอกสาร ทำให้เร่งความคมภาพขึ้นมาได้
ว่าแล้วก็พูดถึงระบบออโต้ของโซนี่กันสักหน่อย เพราะหลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า Xperia นั้นใช้ระบบ scene recognition ตรวจสอบประเภทของภาพมาตั้งแต่ประมาณรุ่น Xperia Z1 ในชื่อ Superior Auto ซึ่งช่วยในการถ่ายภาพแบ่งหมวดหมู่ได้ ถ้าพูดให้ทันสมัยหน่อยก็คือมีระบบ AI มาช่วยแยกแยะภาพนั่นแหละครับ ซึ่งจะประกอบไปด้วยประเภทภาพนับสิบ และโหมดถ่ายภาพอีก 2 คือ กล้องเคลื่อนที่เร็ว (วิ่ง), เคลื่อนที่ช้า (เดิน) หรือวางอยู่บนขาตั้งกล้อง (วางนิ่งกับที่) ทำให้การปรับค่ากล้องทั้ง shutter speed, ISO และจุดโฟกัสแตกต่างกันไปในแต่ละสถานการณ์โดยอัตโนมัติ และดูเหมือนว่าใน Xperia XZ3 โซนี่ก็ได้พัฒนาส่วนนี้เพิ่มขึ้นไปอีก คาดว่าตระกูล XZ2 ก็จะได้อัพเดตนี้ตอน Android Pie 9.0 ออกมาให้เหมือนกันครับ
กลับมาที่ภาพถ่ายในช่วงกลางคืนกันต่อ ลักษณะของภาพถ่ายกลางคืนของโซนี่ที่แตกต่างจากเรือธงอื่นไม่ว่าจะเป็น Galaxy S9, Note9 และ Huawei P20 Pro ก็คือภาพถ่ายที่ได้นั้น โซนี่จะพยายามรีดรายละเอียดออกมาให้ได้มากที่สุดด้วยการเกลี่ยนอยส์ให้น้อยที่สุด หากเทียบกันและ Xperia XZ2 Premium นั้นจะได้ภาพที่อาจจะมีนอยส์ หรือมี grain ปรากฏขึ้นจนภาพอาจจะไม่ดูนวลตาเท่ารุ่นอื่น แต่รายละเอียดถูกเก็บไว้พอสมควรเลยครับ ส่วนคู่แข่งนั้นจะได้ภาพที่นอยส์ไม่ค่อยมี แต่จะพบว่ามีปื้นสีเกิดขึ้นบ่อยในภาพถ่ายทำให้สูญเสียรายละเอียดส่วนนั้นไป ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจจะยกเว้นโหมดกลางคืนของ P20 Pro เพราะมีการเปิดหน้ากล้องนานกกว่ามาก และแต่งภาพออกมาได้โหดจริงๆ
เรื่องของความสว่างนั้นยอมรับครับว่า Xperia XZ2 Premium นั้นสามารถดึงแสงในที่มืดได้ดีมาก แต่ก็พบว่าหากถ่ายภาพในที่มืดมากๆ จะมีเหตุการณ์ overexpose แหล่งกำเนิดแสงได้ครับ คล้ายกับว่าไม่ได้ทำ HDR เพิ่มเพื่อเก็บรายละเอียดสีสันส่วนนั้น เช่นภาพดอกลั่นทมข้างล่างครับ มืดจนโหมด Ultra sensitivity ทำงาน ทำให้สีเหลืองของดอกลั่นทมโดนสีขาวสว่างกลบหมดเลย
ส่วนโหมดพิเศษที่มาจากกล้องคู่อย่าง Bokeh และ Monochrome ผมก็เก็บภาพมาเล็กน้อย จากที่ทดสอบพบว่าโหมด Bokeh นั้นจะพยายามสร้าง portrait effect แบบชัดตื้น จนหลายครั้งทำให้รู้สึกว่าภาพจะไม่คม เพราะจุดโฟกัสนั้นจะน้อยกว่าภาพที่ถ่ายด้วยแบบธรรมดา (ในที่นี้เทียบกับโหมดออโต้) ลองดูภาพ 3 ชุดนี้ครับ โดยภาพแรกจะเป็น Bokeh ภาพถัดไปคือถ่ายด้วยออโต้
ภาพจากโหมด Bokeh นั้นจะดูมีรายละเอียดน้อยกว่า โทนสีก็จะต่างไปด้วย โดยขะออกสีอุ่นขึ้น แต่เมื่อดูการละลายหลังก็พบว่า แม้โหมดออโต้ที่ถ่ายติดเป็นโหมดมาโครแล้ว ก็ยังเบลอได้ไม่ละลายเท่ากับโหมด Bokeh ครับ เอาจริงๆ รายละเอียดของโหมด Bokeh มีบอกว่าแนะนำให้ถ่ายที่ระยะห่าง 1 เมตรจากวัตถุเป้าหมาย ผมเลยคิดว่าจริงๆ อาจจะเหมาะกับการถ่ายคนเป็น Portrait มากกว่าถ่ายมาโครนั่นเอง
อีกจุดที่ไม่พูดแล้วน่าจะถือว่าพลาดก็คือการถ่ายวิดีโอของ Xperia XZ2 Premium ครับ ในส่วนกลางวันนั้นถือว่าไม่เลว แต่ก็มีเรื่องการโฟกัสที่อาจจะไม่ไวเท่าคู่แข่ง กับการปรับ exposure ของวิดีโอที่ไม่เร็วนัก ส่วนการกันสั่นถือว่าทำมาได้ดีทีเดียวครับ
จุดที่ผมจะลงประเด็นก็คือการถ่ายวิดีโอกลางคืนที่สามารถเก็บภาพวิดีโอได้ที่ ISO 12800 สูงกว่าทุกรุ่นในตลาดตอนนี้ และพบว่าทำผลงานออกมาได้ดีมากด้วย จนผมมองว่าบางจังหวะนี่สวยกว่าถ่ายภาพนิ่งเองซะอีก (ฮา) สำหรับโหมด Full-HD นั้นสามารถเลือกได้ทั้งถ่ายธรรมดา, ถ่ายด้วยกล้องคู่ และถ่ายแบบ HDR โดยผมจะจิ้มเปิดเป็นแบบกล้องคู่เอาไว้ครับ เพราะไม่รู้จะเปิดแบบธรรมดาทำไม และยังไม่ค่อยเจอสถานการณ์ให้ลองถ่ายแบบ HDR ด้วย
การเปิดโหมดถ่ายวิดีโอด้วยกล้องคู่นั้นทำให้เมื่อแสงน้อยถึงจุดนึง กล้องก็ปรับ ISO เพิ่มขึ้นให้เองได้ถึง 12800 ตามสเปคที่ว่าครับ และทำให้การถ่ายวิดีโอกลางคืนออกมาสวยงามมาก จุดควรรู้ก็คือผมสังเกตว่าจังหวะแพนกล้องนั้นกระบวนการประมวลผลภาพเหมือนจะทำงานไม่ดีเท่าจังหวะถือเฉยๆ เพราะภาพตอนที่ถืออยู่กับที่จะมีความคมชัดสูงกว่ามากเลยทีเดียว ใช้แค่มือถือนี่แหละครับ ไม่ต้องอาศัยขาตั้งหรือ Stabilizer ช่วยก็ยังได้วิดีโอกลางคืนที่รายละเอียดและสีสันมาเต็มๆ ได้ง่ายๆ เลย
อันนี้ลองโหมด Dual Camera พร้อมกับดูว่ากันสั่นเป็นยังไงบ้าง
ในปีนี้ Xperia รุ่นทอปทุกตัวสามารถถ่ายวิดีโอได้ถึงระดับ 4K HDR ซึ่งเป็นแบรนด์เดียว ณ ตอนนี้ และยังใช้เป็น format Hybrid Log Gamma (HLG) ด้วยย่านสี Rec. 2020 ที่เป็นมาตรฐานที่ทีวีที่รองรับ HDR ในตลาดสามารถแสดงผลได้เต็มช่วงสี และ YouTube เองก็รองรับแล้วด้วย ทำให้คนที่ใช้หน้าจอ HDR สามารถนำมาดูและได้รับภาพและสีที่ครบถ้วนกว่าการถ่ายวิดีโอปกตินั่นเอง ตัวหน้าจอ Xperia XZ2 Premium เองก็รองรับการแสดงผลนี้เช่นกัน เรียกว่าถ่ายมาดูได้เลยนั่นเองครับ
อันนี้เป็นตัวอย่างที่ผมหาจังหวะถ่ายมาลองเทียบดูระหว่าง FHD ธรรมดากับ FHD HDR ครับ จะเห็นว่าแบบธรรมดานั้นส่วนใบไม้บนต้นไม้จะมืดดำไปเลย แต่ของ HDR จะเก็บรายละเอียดเรื่องสีไว้ได้ดีกว่า อ้อ จะดูเทียบกันต้องเปิดด้วยจอคอม/ทีวี/มือถือที่รองรับ HDR ด้วยนะครับ ไม่เช่นนั้นอาจจะเห็นเป็นภาพสีหม่นๆ ทึมๆ
อันนี้ FHD ปกติ
อันล่างนี่เป็น FHD HDR
ตัวอย่างตะกี้อาจจะยังสังเกตยากอยู่ ผมมีอีกตัวอย่างให้ลองเทียบกันครับ เป็นการส่องป้ายไฟโฆษณาตอนมืดเทียบระหว่างโหมดธรรมดา (ในที่นี้เปิด Dual Camera ไว้) กับ HDR ครับ ลองสังเกตรายละเอียดบนป้ายโฆษณาที่กล้องส่องอยู่ แล้วก็เทียบกับแสงและสีสันรอบๆ ไปด้วย อย่างแสงสีบนสะพานลอยและป้ายโฆษณาอีกอันที่ขวาล่างวิดีโอครับ
FHD ปกติ
FHD HDR
ตัวอย่างนี้น่าจะเห็นได้ชัดว่าการเก็บสีและความสว่างแสงนั้นดีขึ้นมาก แต่ถ้าดูคลิป HDR ผ่านจอที่ไม่รองรับอาจจะรู้สึกสีเพี้ยนๆ ครับเพราะย่านสีมันถูกปรับลงมาให้แสดงผลได้ ถ้าเป็นจอที่รองรับจะได้สีสันที่สมจริงเหมือนตาเห็นมากกว่าวิดีโอธรรมดาอีกด้วยครับ แถมรายละเอียดอย่างบริเวณจมูกในภาพโฆษณายังมาแบบครบถ้วนพร้อมกับป้ายขวาล่างนั้นก็ได้สีฟ้าสีสดกว่ามาก
จุดสังเกตและข้อควรรู้อื่นๆ
- ฝาหลังติดลายนิ้วมือง่ายมาก
- พื้นที่สำหรับการวางเครื่องควรเป็นบริเวณราบเรียบ เพราะไม่เช่นนั้นเครื่องอาจจะไหลได้ง่าย
- แม้ว่าวัสดุและงานประกอบจะดีและครอบกล้องจะแข็งแรง แต่การวางเครื่อง ด้านหลังบริเวณกล้องจะสัมผัสพื้นผิวก่อน แนะนำให้ระวังการขูดขีดเผื่อไว้ก็จะดีกว่า
- ถ้าเล่นเพลงอยู่แล้วกดโฟกัส/ถ่ายภาพในแอปกล้อง เพลงจะหยุด ผมไม่แน่ใจว่าเป็นมากี่รุ่นแล้ว แต่ Xperia เครื่องเก่าผมไม่เป็น ทำให้แอบรำคาญเล็กน้อยเวลาเดินทางฟังเพลงแล้วหยิบกล้องมาถ่าย
- ช่องใส่ซิมมีรอยต่อที่กว้างพอให้เศษกระดาษยุ่ยๆ หรือทิชชู่ติดเข้าไปได้ อาจจะต้องแกะมาปัดบ่อย
- ควรเช็ดขอบเฟรมเครื่องเป็นครั้งคราว เพราะถ้าเลอะมัน ตอนหยิบเครื่องอาจเสียงทำหลุดมือ
- ลำโพงเสียงดัง ย่านกลางและสูงใส รายละเอียดดีมาก แต่ไม่มีเบส เหมือนโซนี่ให้เปิด Dynamic Vibration System ที่เป็นระบบสั่นตามเสียงแก้ขัดไป ซึ่งมันก็ไม่สนุกเหมือนเบสจริงอยู่ดี
- แต่ถ้าต่อหูฟัง แล้วเปิด Dynamic Vibration System ไปด้วยจะช่วยให้สนุกกับเบสมากขึ้น หรือถ้าดูหนังแอคชันก็มันส์ใช้ได้เลยครับ อันนี้ผมใช้จนรู้สึกชอบไปแล้ว
- Dynamic Vibration System ทำงานกับแอปวิดีโอต่างๆ ได้ค่อนข้างครบ รวมถึง YouTube, Netflix แต่สำหรับเกมนั้นเหมือนจะยังไม่ค่อยมีเกมรองรับ (ROV ไม่รองรับ)
- เหมือนว่าจะทำงานกับ LDAC ได้ดีขึ้น เดินห้างด้วยหูฟังต่อ LDAC แทบไม่มีอาการเสียงกระตุกเลย
- กล้องโหมดพาโนรามาไม่สามารถใช้แบบกล้องคู่ได้ ถ้าถ่ายกลางคืนคุณภาพจะสู้ไม่ได้เลย
- เครื่องไทยรองรับ VoLTE, VoWiFi ในไทยครบ
สรุป
หลังจากที่ผมใช้งานมาหลายสัปดาห์โดยถือ Xperia XZ2 Premium เป็นเครื่องหลัก ใช้เต็มรูปแบบเลยก็พบว่ามันในเชิงซอฟต์แวร์ ประสิทธิภาพ แบตเตอรี่มันตอบโจทย์ความต้องการที่คาดหวังสำหรับเรือธงได้หมดเลย มีหน้าจอ 4K HDR ของเครื่องก็ให้สีสันที่สวยงามและรายละเอียดที่คม แถมยังไม่ได้เป็นปัจจัยกินแบตมากขึ้นเท่าไรนักด้วยถือเป็นจุดเด่นที่โซนี่ทำออกมาได้โดดเด่นจากแบรนด์อื่นๆ
ส่วนของกล้องนั้นก็ไม่ได้ด้อย แต่ก็มีจุดที่ควรปรับปรุงอย่างเรื่องกันสั่นตอนกลางคืน, การกันสั่นโหมด HDR ที่น่าจะดีได้อีก และกันสั่นในโหมด 4K ที่เรือธงเจ้าอื่นเริ่มทำได้ดีกว่าแล้ว แต่ภาพรวมของกล้องก็ถือว่าประทับใจสำหรับ Xperia ครับ และคนใช้ Xperia XZ2 Premium ก็สบายใจได้ไปอีกปีเพราะตัวนี้เป็นกล้องคู่ตัวเดียวของปี 2018 แล้ว
สำหรับใครที่สงสัยในประเด็นไหน อยากให้ลองอะไรเพิ่มเติมสามารถคอมเมนท์มาได้เลยนะครับ ถ้าอันไหนตอบได้จะทยอยตอบให้ อันนี้ทดสอบเพิ่มได้ก็จะเก็บข้อมูลมาให้อีกครับผม
จัดมาแล้วครับ คุ้มค่าจริงๆ ในไทยถือว่าขายถูกมากๆ แค่ 27990 ที่อื่นขายกันประมาณ 33000
GPS ในอาคารเป็นไงบ้างครับ ถ้าเปิด wifi hotsport กับปิด bluetooth
จากที่ไปลองมาคร่าวๆ ด้วยการเดินในพารากอน เปิด hotspot (และไม่ได้เปิด bluetooth) มันก็จะช้าๆ หน่อยครับ แล้วก็มีดีดๆ ออกไปนอกห้างบ้าง พอปิด hotspot ปุ๊บ กลับมาอยู่ในห้างเดินไปค่อนข้างแม่นและนิ่งเลย